Skip to main content
sharethis

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ศาลไม่ให้ประกันตัว 'เวหา' หลังถูกจับคดี ม.112 แชร์เพจ ‘เยาวชนปลดแอก’ พร้อมเผยสถิติจนถึงวันนี้มียอดผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ตั้งแต่หลังเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 180 ราย ในจำนวน 191 คดีแล้ว

11 มี.ค.2565 วันนี้ (11 มี.ค.) เมื่อเวลา 20.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ รายงานความคืบหน้า หลัง เวหา แสนชนะศึก หลังวานนี้ (10 มี.ค.) ถูกจับกุมบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบจะนำตัวขึ้นรถไปยัง สน.พญาไท ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

ความคืบหน้าวันนี้ เวลา 11.30 น. หลัง ร.ต.อ.อรุณ สืบสิงห์ พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขัง เป็นระยะเวลา 12 วัน เนื่องพนักงานสอบสวนอ้างว่าจะต้องทําการสอบสวนพยานอีก 4 ปาก, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จนกระทั่ง เวลา 16.30 น. ชาญชัย ณ พิกุล ผู้พิพากษา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลนี้ ในคดีที่มีลักษณะข้อหาอย่างเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามผู้ต้องหากระทําการใดในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาอีก กรณี มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้เวหาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีมาตรา 112 ที่เขาเคยถูกจับกุมและกล่าวหาในช่วงปี 2564 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ที่ทวิตข้อความเล่าเรื่องประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา โดยครั้งนั้นเขาถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 53 วัน

เกี่ยวกับการจับกุมเวหานั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ดังนี้ว่า 

10 มี.ค. 65 เวลา 15.40 น. เฟซบุ๊กส่วนตัวของ เวหา ไลฟ์เหตุการณ์ที่ตนเองถูกจับกุมบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) หลังจากเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก ก่อนตำรวจนอกเครื่องแบบจะนำตัวขึ้นรถไปยัง สน.พญาไท โดยการจับกุม ตำรวจได้แสดงหมายจับจากจอมือถือ ซึ่งออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 65 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายจับที่เป็นตัวเอกสารแต่อย่างใด ทั้งขณะทำการไลฟ์สด ตำรวจได้แจ้งขอตรวจยึดโทรศัพท์โดยอ้างว่าเป็นของกลางที่ใช้กระทำความผิด

18.30 น. ทนายความได้รับแจ้งว่าเวหา ถูกนำตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ไม่ได้นำตัวไปที่ สน.พญาไท ที่เป็นเจ้าของคดีแต่อย่างใด

เวลา 19.20 น. ทนายความได้เข้าพบผู้ถูกจับกุม โดยภายในห้องสอบสวนพบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 20 คน ทั้งนี้โทรศัพท์ของเวหาได้ถูกเจ้าหน้าที่ยึดไว้โดยไม่มีหมายเพื่อการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์จากศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่ตำรวจให้เหตุผลว่ายึดไว้เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่ใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33

พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศรี พนักงานสอบสวน ได้เป็นผู้แจ้งข้อหาทั้งสองข้อหาแก่เวหา เหตุจากการแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ โดยมีรายละเอียดกล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ได้แชร์เพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก’ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวมีรูปภาพศพและกำแพง มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า “อ่านดู แล้วจะรู้ว่าเด็กๆมันคิดอะไร พิทักษ์รักษากันไว้แทบตาย ชิบหายด้วยมือตัวเอง #เหนื่อยจนท้อ #พอกันที”

2. เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 00.36 น. มีการโพสต์ ข้อความว่า "ประกาศ ปี พ.ศ. 2565 จะเป็นปีสุดท้ายของชีวิตกู กะให้ทุกวินาทีในชีวิตของหน้าบัลลังก์ศาลเล่าขานความเหี้ยห่าจัญไรให้จดจำกูไว้ จะใช้ชีวิตเข้าต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยการแลกด้วยเลือดและจิตวิญญาณ กูจะให้ความตายปลดเปลื้องกูออกจากพันธนาการแห่งความอยุติธรรมทั้งหมดก่อนที่โซ่ตรวนและกรงขังจะมาพรากอิสรภาพด้วยคําพิพากษาอันมาภายใต้นามของใครบางคน”

อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการระบุว่าข้อความส่วนใดในทั้งสองโพสต์ เป็นข้อความที่เข้าข่ายมาตรา 112

เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า การจับกุมเป็นไปโดยมิชอบ ขณะจับกุมไม่ได้แสดงหมายจับเพียงแต่ให้ดูเอกสารหมายจับจากโทรศัพท์มือถือและไม่ได้พาผู้ต้องหาไปยังท้องที่ที่ถูกจับ (สน.บางซื่อ) หรือไปยังท้องที่ที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ (สน.พญาไท) กลับนำตัวมาควบคุมและสอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ พนักงานสอบสวนจะอ้างว่าเป็นระเบียบข้อตกลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็รับฟังไม่ได้เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญาว่าด้วยการจับกุม คุมขัง และการสอบสวน นอกจากนี้เวหาจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป

เวหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส. ในคืนที่ผ่านมา ก่อนจะถูกฝากขังผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันต่อมา

ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า จนถึงวันนี้มียอดผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 180 ราย ในจำนวน 191 คดีแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net