วันแรกสนามสอบพิเศษ GAT/PAT พบปัญหาเด็กเพิ่งรู้ว่าติดเชื้อโควิด-19

วันแรกสนามสอบพิเศษ GAT/PAT สำหรับเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงสูง พบปัญหาเด็กเพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ แต่ชื่ออยู่ในสนามสอบปกติ จึงไม่สามารถเข้าสอบที่สนามสอบพิเศษได้ เพราะไม่รับแบบวอล์คอิน


ที่มาภาพ: Thai PBS

12 มี.ค.2565 Thai PBS รายงานว่าที่อาคารยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็น 1 ใน 32 สนามสอบพิเศษสำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูง และติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ จัดเป็นผู้ป่วยสีเขียว สามารถเข้าสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นคะแนนสอบที่นักเรียนชั้น ม.6 ต้องใช้สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบ TCAS

ก่อนหน้านี้ การสอบ GAT/ PAT เป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไม่อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูงและติดเชื้อเข้าสอบ คนที่ขาดสอบให้เลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสอบ หรือสอบใหม่ปีหน้า จนทำให้ ทปอ.ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดสนามสอบพิเศษขึ้น การสอบ GAT/PAT มีขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 มี.ค.นี้

นักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ให้ลงทะเบียนที่ www.mytcas.com ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.จนถึงก่อนถึงวันสอบ 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มพบปัญหาเด็กเพิ่งทราบว่าติดเชื้อแต่ชื่ออยู่ในสนามสอบปกติ จึงไม่สามารถเข้าสอบที่สนามสอบพิเศษได้ เพราะไม่รับแบบวอล์คอิน

สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้เข้าสอบให้เดินทางมาโดยรถส่วนตัว แต่งกายและเตรียมอุปกรณ์เช่นเดียวกับการสอบปกติ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ต้องเตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์มาด้วย สนามสอบจะแยกจากอาคารทั่วไป ใช้ห้องขนาดใหญ่ ที่นั่งสอบเว้นระยะห่าง 2 เมตร ส่วนผู้คุมสอบจะใส่ชุด PPE ป้องกันการติดเชื้อ และควบคุมการสอบผ่านวงจรปิด เพื่อลดระยะเวลาอยู่ในห้องสอบนาน

ทั้งนี้ ทั่วประเทศมีนักเรียนลงทะเบียนเข้าสอบพิเศษ 1,712 คน แบ่งเป็นเข้าสอบวันนี้ 1,689 คน เป็นผู้ติดเชื้อ 1,422 คน และกลุ่มเสี่ยงสูง 267 คน

มูลนิธิราชวิถี รับส่งเด็กป่วยโควิดสอบ TCAS เริ่มพรุ่งนี้

สำนักข่าวไทย รายงานว่านพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการควบคุมป้องกันโรคในสนามสอบ TCAS ซึ่งจะเริ่มสอบตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. เป็นต้นไป ว่า การจัดสนามสอบจะมี 2 ส่วนคือ 1. สนามสอบปกติ สำหรับคนเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยง เน้นสถานที่จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีระบบระบายอากาศที่ดี โดยเฉพาะห้องแอร์  นักเรียน ผู้คุมสอบต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น โดยสามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ทุกชนิด แต่ถ้าเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ก็ดี แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ N95

2. เด็กที่ติดเชื้อโควิด หรือเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ความรุนแรงของโรคน้อย สถานที่สอบต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร มีระบบระบายอากาศที่ดี ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสนามสอบพบว่าผ่านมาตรฐานที่กำหนด และทำได้ค่อนข้างดี ทั้งนี้ นักเรียนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยกำหนดให้เป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เท่านั้น เพราะสามารถป้องกันได้ดีกว่า แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ 2  ชั้นแต่อย่างใด เพราะทำให้หายใจลำบากเป็นการรบกวนการสอบ ในส่วนของผู้คุมสอบต้องให้การดูแลนักเรียนที่เข้าสอบแบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด -19 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดให้เด็กรวมกลุ่ม

นพ.สราวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจ ATK ที่สนามสอบไม่ได้เป็นมาตรการหลักว่าจะต้องตรวจก่อนเข้าห้องสอบ แต่ให้เน้นตรวจในกลุ่มเสี่ยงสูง หรือคนที่มีอาการ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าร่วมการสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกังวล ส่วนเด็กที่ติดเชื้อในกทม.  ได้ร่วมกับมูลนิธิราชวิถีจัดรถฉุกเฉิน รับน้องจากที่บ้าน หรือฮอทพิเทลไปที่สนามสอบ ซึ่งมีลงทะเบียนเกือบร้อยกว่าคนแล้ว สำหรับจำนวนเด็กติดเชื้อที่มีการคาดการณ์ โดยคำนวณจากจำนวนเด็กอายุ 17-18 ปี ทั่วประเทศ มีการติดเชื้อประมาณวันละ 100-200 คน  ดังนั้นหากนับย้อนหลังกลับไปในรอบ 10 วัน  คาดการณ์ว่าจะมีเด็กติดเชื้อประมาณ 1,000-2,000 คน ซึ่งสนามสอบที่เตรียมไว้มีเพียงพอ ทั้งนี้ขอให้นักเรียนมีการเตรียมหน้ากากสำรองไปด้วย 2-3 ชิ้น เผื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน และขอให้พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท