Skip to main content
sharethis

ศาลยังไม่อนุญาตให้ "รวิสรา" คดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เดินทางไปเรียนที่เยอรมนีเมษาฯ นี้เป็นครั้งที่สาม แต่สั่งให้เอาหนังสืออนุญาตจากมหาลัยที่ยืนยันว่าจะอนุญาตให้กลับมาร่วมการพิจารณาคดีในเดือนมีนา 66 

15 มี.ค.2565 รวิสรา เอกสกุล จำเลยในคดีมาตรา 112 จากการร่วมกิจกรรมที่หน้าสถานทูตเยอรมันและอ่านแถลงการณ์เมื่อ26 ต.ค.2563 เธอโพสต์คำสั่งของศาลกรุงเทพใต้ในกรณีที่เธอยื่นคำร้องขออนุญาตศาลเดินทางไปเรียนที่เยอรมนี โดยศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะอนุญาตหรือไม่แต่สั่งให้ขอเอกสารเพิ่มจากมหาวิทยาลัยเพื่อยืนยันว่าจะให้เธอพักการเรียนมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี

สรุปคำสั่งศาลโดยสรุปได้ว่า ตามคำร้องของรวิศรา จำเลยที่ 11ในคดีที่ระบุว่าระหว่างไปเรียนปรับพื้นฐานในช่วง 1 เม.ย.-30 ก.ย.2565 จำเลยจะแจ้งมหาวิทยาลัยเพื่อขอพักการเรียนและเดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีที่จะมีขึ้นในช่วง 2-23 มี.ค.2566 และรอฟังคำพิพากษาของศาลนั้น

ศาลเห็นว่ายังไม่แน่ชัดว่าทางมหาวิทยาลัยได้รับทราบถึงกำหนดวันที่ศาลนัดพิจารณาคดีดังกล่าวหรือไม่ และทางมหาวิทยาลัยจะอนุญาตให้จำเลยพักการเรียนกลับมาร่วมการพิจารณาคดีและรอฟังคำพิพากษาที่ศาลอาจต้องใช้เวลาในการเขียนคำพิพากษานานหลายวันหรือไม่

ศาลจึงเห็นควรให้จำเลยนำหนังสืออนุญาตจากมหาวิทยาลัยให้จำเลยพักการเรียนหรือหยุดการศึกษาไว้ชั่วคราวเพื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยเพื่อร่วมการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษาในช่วงวันข้างต้นมายื่นต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศของจำเลยต่อไป

การยื่นคำร้องของรวิสราในวันนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเรียนที่เยอรมนีนับเป็นครั้งที่สามแล้ว จากการที่รวิสราได้รับทุนจากศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) สำหรับโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ ในระดับชั้นปริญญาโท หลักสูตรมหาบัณฑิตด้านการจัดการในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Master of Management in Non-Profit Organisations) ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรีค (University of Applied Science Osnabruck) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม ในคำร้องของรวิสราที่ยื่นขอตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่าขอออกเดินทางไปต่างประเทศนี้เป็นการออกไปเพื่ออบรมเตรียมความพร้อมในการเข้าเรียนนี้มีระยะเวลาห่างจากวันนัดสืบพยานยาวนานย่อมไม่กระทบต่อการพิจารณาคดี และเธอต้องติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อขอขยายระยะเวลาการศึกษาโดยต้องรวิสราต้องดำเนินการเองที่มหาวิทยาลัย อีกทั้งเธอจะกลับมาประเทศไทยในวันที่ 15 ก.พ.2566 เพื่อกลับมาร่วมการพิจารณาคดีและขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้อยู่นอกประเทศได้จนถึง 15 ก.พ. 2566 เท่านั้นและระหว่างศึกษาอยู่จะไปรายงานตัวต่อศาล ณ สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลไทย ประจำประเทศเยอรมันทุก 30 วัน

ทั้งนี้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยอ้างว่ารวิสรายังไม่ผ่านการคัดเลือกและนายประกันก็อยู่ในประเทศไทยส่วนรวิสราอยู่ต่างประเทศจึงไม่หนักแน่นพอที่จะแสดงให้เห็นว่ารวิสราจะปฏิบัติตามเงื่อนไข

เมื่อศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตทำให้รวิสรายื่นคำร้องอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.อีกครั้ง โดยระบุว่าต้องการกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลจริง และเธอได้ขออนุญาตต่อต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้เมื่อครบกำหนดแล้วเธอจะไม่สามารถอยู่ในเยอรมนีต่อได้ และถ้าศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพิ่มก็ยินดีทำตามคำสั่งศาล แต่ครั้งนี้เธอขอถอนคำร้องคืนเพื่อเตรียมเอกสารเพิ่มเติมเนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่าศาลต้องการให้ยื่นเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าได้รับทุนจริงและการตั้งผู้กำกับดูแลต้องมีคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้นั้นมาด้วย โดยที่ศาลไม่มีอำนาจตั้งเอกอัครราชทูตให้เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยเองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net