Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เข้าสู่หน้าแล้งเกิดไฟป่าขึ้นในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงฝุ่นควันพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีความพยายามในการแก้ปัญหา ตั้งแต่เรื่องเร่งด่วนอย่างการดับไฟป่า การป้องกันเช่นการทำแนวกันไฟและการจัดการเชื้อเพลิง รวมถึงการควบคุมการเผา-ปลอดการเผา กระทั่งการกำหนดนโยบายและแนวทางที่จะจัดการกับไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ  

บทเรียนการจัดการไฟป่าจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งทางภาคเหนือ อาจเป็นทางออกของปัญหาไฟป่านี้ 

ชุมชนบ้านขอใต้ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบตามลำน้ำแม่ตุ๋ย สายน้ำเล็กๆ ที่ไหลผ่านหมู่บ้าน  ประชากรส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำนาปลูกข้าว ข้าวโพด และเลี้ยงวัว ชุมชนดูแลรักษาป่าชุมชนซึ่งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ตุ๋ยพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ป่าแห่งนี้ผ่านการทำสัมปทานไม้สักตั้งแต่ก่อนปี 2500 และยุคพัฒนาจนป่าเกิดความเสื่อมโทรม ก่อนถูกจับจองทำไร่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ชุมชนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำแล้ง และไฟป่า ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร เกิดความร่วมมือในการรักษาป่า พัฒนาและจัดตั้งคณะกรรมการป่า พร้อมกำหนดกติการการใช้ประโยชน์จากป่า กระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นป่าชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแล  ลักษณะป่าชุมชนบ้านขอใต้ มีหลากหลายได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเต็งรังผสมเบญจพรรณ  

อย่างไรก็ตาม ชุมชนยังประสบปัญหาไฟป่าทุกปี เช่นเดียวกับชุมชนในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ แต่ชุมชนบ้านขอใต้สามารถควบคุมและลดการเกิดไฟป่าที่สร้างความเสียหาย ตั้งแต่ปี 2553–2563 เป็นเวลากว่า 10 ปี  ป่าชุมชนจึงยังอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพร เสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่ายแก่ครอบครัว ผลจากความสำเร็จทั้งในการอนุรักษ์ป่าและการจัดการไฟป่า ทำให้ชุมชนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ทั้งประเภทชุมชนและประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน โดยในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการไฟป่า 

แนวทางการจัดการไฟป่าไม่ใช่การต่อสู้กับไฟ (Fire Fighting) หรือการระดมคนและเครื่องมือดับไฟอย่างที่เห็น ๆ กันเท่านั้น โดยชุมชนบ้านขอใต้สามารถดำเนินกิจกรรมที่สำคัญประกอบด้วย การป้องกัน (Prevention) และการดับไฟป่า (Suppression)  โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันไฟป่าที่มีสอดคล้องกับฤดูกาลและทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี ช่วงเริ่มเข้าสู่หน้าแล้งตั้งแต่มกราคมจะทำแนวกันไฟ และเฝ้าระวังไปถึงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงเสี่ยงการเกิดไฟป่า หลังจากนี้เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝน กระทั่งสิ้นปี  จะเป็นงานตรวจตรา ซ่อมแซมแนวกันไฟและทางลาดตระเวน การทำฝายและปลูกต้นไม้เสริมเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ระบบนิเวศ รวมถึงการอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่อาสาสมัครดับไฟป่าและชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยป้องกันไฟป่า อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน 


เมื่อเกิดไฟป่า อาสาสมัครดับไฟป่าที่เรียกกันว่า “ม้าเร็ว”  จะขี่มอเตอร์ไซต์ล่วงหน้าขึ้นไปยังจุดที่เกิดไฟก่อน คนเหล่านี้มีทักษะและความชำนาญในการดับไฟ สามารถใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ  ได้อย่างดี ที่สำคัญคือรู้จักไฟและประเมินความรุนแรงไฟ เพื่อการควบคุมและดับไฟมิให้สร้างความเสียหายได้ โดยในพื้นที่สูง การดับไฟเป็นการกำจัดเชื้อเพลิง ทำได้โดยกวาดเศษใบไม้ กิ่งไม้เป็นแนวขนานกันกับแนวไฟ ระยะห่างประมาณ 100 เมตร หรือ จุดไฟขึ้นไปชนกับไฟที่กำลังไหม้ เรียกว่า “ไฟชนไฟ” (Backfire) การใช้วิธีการใดขึ้นอยู่กับการประเมินลักษณะไฟที่เกิดขึ้น 

หัวใจสำคัญการจัดการไฟป่ายังอยู่ที่การวิเคราะห์รูปแบบการเกิดไฟป่า และการจัดทำแผนที่จุดเสี่ยงที่จะเกิดไฟ โดยไฟป่าของบ้านขอใต้ มีสาเหตุจากการจุดไฟหาของป่า ล่าสัตว์ และการเผาหญ้าเพื่อเปิดทางเข้าป่า สอดคล้องกับภาพรวมการเกิดไฟไหม้ป่าทั่วประเทศจากกิจกรรมของมนุษย์ การเกิดไฟป่าที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนแล้วลามเข้ามาในป่าชุมชน ชาวบ้านเรียกว่า “ไฟนอกเขต” หรือไฟที่เกิดนอกเขตป่าชุมชน ชุมชนได้เจรจากับอุทยานฯ ขอขยายพื้นที่ในการดูแลป่า จากป่าชุมชนในเขตป่าสงวน จำนวน 1,500 ไร่ เพิ่มอีก 4,000 ไร่ รวมเป็น 5,500 ไร่ ให้ครอบคลุมพื้นที่สันเขา และทำแนวกันไฟตลอดแนวรอยต่อระหว่างป่าชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมระยะทาง 7.5 กิโลเมตร โดยตั้งจุดเฝ้าระวังเป็นระยะ 



ความสำเร็จในการจัดการไฟป่าของบ้านขอใต้ เกิดจากความรู้ความเข้าใจเรื่องการเกิดไฟป่า การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านง่าย ๆ ในการเฝ้าระวังและป้องกันไฟ  และการจัดการไฟป่าที่ไม่ใช่แค่การดับไฟ ซึ่งเป็นการทุ่มเทกำลังและทรัพยากรมาก โดยอาจให้ผลเฉพาะหน้า แต่ไม่สามารถจัดการไฟป่าได้อย่างเหมาะสม วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือการให้ความสำคัญกับการป้องกัน และการใช้ประโยชน์ของไฟอย่างที่ไม่เป็นอันตราย เพราะในการทำการเกษตรบนพื้นราบและการทำไร่หมุนเวียน ยังต้องใช้การเผาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต 

สิ่งที่ต้องเน้นอย่างยิ่ง นั่นคือ การจัดการไฟป่าควรเป็นการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการการสนับสนุนของรัฐ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะที่จำเป็น เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงงบประมาณดำเนินการ เช่น หน่วยงานป้องกันไฟป่า อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดกิจกรรมการฝึกอบรมแก่ชาวบ้านชุมชนบ้านขอใต้ และสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง 

ด้วยความร่วมมือกันเช่นนี้จึงเกิดผลสำเร็จในการจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืน

 

 


สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดเอกสารรายงานการจัดการไฟป่า บ้านขอใต้ จ.ลำปาง ได้ที่ 
https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/Content.aspx?ContentID=07304ed6-1ec3-4f19-8c1a-d380a50ce504 

และติดตามความสำเร็จการจัดการไฟป่าบ้านขอใต้ ในรายการคน ค้น คน ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=hfhaxn4eaR0

 

   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net