Skip to main content
sharethis

19 มี.ค. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ยืนยัน RT-PCR 25,804 ราย ATK 16,658 ราย เสียชีวิต 87 ราย - สธ.ขออย่าด้อยค่ายาฟาวิพิราเวียร์ ผลศึกษากินแล้วอาการดีขึ้น 79%

19 มี.ค. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ยืนยัน RT-PCR 25,804 ราย ATK 16,658 ราย รักษาหาย 18,801 ราย เสียชีวิต 87 ราย

ผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 25,804 ราย จำแนกเป็น

ผู้ป่วยจากในประเทศ 25,778 ราย
ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 26 ราย
ผู้ป่วยสะสม 1,105,538 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
หายป่วยกลับบ้าน 18,801 ราย
หายป่วยสะสม 898,798  ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
ผู้ป่วยกำลังรักษา 237,519 ราย
เสียชีวิต 87 ราย
จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,414 ราย (เฉลี่ยจังหวัดละ 18 ราย) อัตราครองเตียง 25.6%

โดย 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,345 ราย 2.นครศรีธรรมราช มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,633 ราย 3.ชลบุรี มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,422 ราย 4.สมุทรปราการ มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 941 ราย 5.สมุทรสาคร มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 867 ราย 6.นครปฐม มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 642 ราย 7.ร้อยเอ็ด มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 623 ราย 8.นนทบุรี มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 587 ราย 9.นครราชสีมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 568 ราย และ 10.ราชบุรี มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 545 ราย

สธ.ขออย่าด้อยค่ายาฟาวิพิราเวียร์ ผลศึกษากินแล้วอาการดีขึ้น 79%

สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงในประเด็น ประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ตามหลักการกำหนดแนวทางการนรักษาการใช้ยาต่อโรคระบาดนั้นจะต้องคำนึง เช่น ประสิทธิภาพของยา ยาต้องปลอดภัย และคำนึงถึงสถารการณ์ระบาดด้วย โดยเฉพาะหากมีผู้ป่วยจำนวนมาก ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่สามารถหาได้ง่าย ราคาไม่สูง และหากได้รับตั้งแต่เนิ่นๆก็พบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น หายกลับบ้านได้เร็ว ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการใช้ยาใดๆ มีการพิจารณาผ่านคณะผู้เชี่ยวชาญมาเป็นระยะๆ และมีการศึกษาศูนย์วิจัย ของหลายหน่วยงาน

พร้อมยกการศึกษาวิจัยการใช้ยาฟาวิฯ กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง ประเมินผลจากอาการโควิดและปริมาณไวรัสในโพรงจมูกเปรียบเทียบ ผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับยาฟาวิฯ และอีกกลุ่มไม่ได้รับ โดยผลการศึกษาใน 14 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาฟาวิฯ มีอาการดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยา โดยเป็นการได้รับยาในสูตรปกติที่ใช้ในขณะนี้ คือ ให้ฟาวิพิราเวียร์วันละ1800 มก.วันละ2 ครั้งในวันแรก ต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน จากข้อมูลวิจัยจากการใช้ที่ผ่านมาจึงยืนยันได้ว่า เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และที่ผ่านมา ใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยไปมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว ยืนยันขอให้เชื่อมั่นในยาที่ สธ.พยายามจัดหาที่ดีที่สุด

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรักษาโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสในภาพรวม โดย สธ.มีการติดตามและปรับแนวทาง รักษาเป็นระยะ ยาฟาวิพิราเวียร์ ไทยใช้มา 2 ปี ซึ่งยาช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและที่ผ่านมาใช้ได้ผลดีช่วยให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หาย เป็นยาแบบทาน สำหรับกลุ่มอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ยาเรมดิซิเวียร์ ออกฤทธิ์จุดเดียวกับฟาวิฯ แต่จุดเด่นตัวนี้ ให้ทางหลอดเลือดดำ ใช้สำหรับกลุ่มที่ทานยาไม่ได้ หรือมีปัญหาดูดซึม หรือกลุ่มตั้งครรภ์, โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาที่ไทยอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมของการกระจายหากได้รับการอนุมัติจาก EOC สธ.และ ศบค. ตัวนี้เป็นยาสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง, แพกซ์โลวิด เป็นอีกตัวที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง กลไกออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ ทำให้เชื่อลดจำนวนลง และยังพบว่ายาตัวนี้มีประสิทธิภาพสูง จึงเตรียมสำรองไว้ใช้สำหรับประชาชน คาดกลางเดือนหน้าจะได้รับนำเข้ามาและกระจายใช้ต่อไป

นพ.มานัส เผยยาแต่ละตัวมีข้อดีเสียต่างกัน แพทย์จะพิจารณาตามกลุ่มอาการ ขณะที่อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาในการจัดหา คือความพร้อมการใช้งาน การจัดหาได้สะดวก และเรื่องของราคายาที่ต้องพิจารณาประกอบเป็นภาพรวม เช่น ยกตัวอย่างยา 1 คอร์สการรักษา ฟาวิพิราเวียร์อยู่ที่ 800 บาท เรมดิซิเวียร์ 1,512 บาทต่อครอส ส่วน โมลนูพิราเวียร์ และแพ็กโลวิด อยู่ที่ประมาณถึง 10,000 บาทครอสการรักษา

กรมการแพทย์ ยืนยันฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพใช้ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศก็ยังใช้ การได้มาของแนวทางการรักษาก็จะมีการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงได้ จำแนกตามแนวทางโรค แบ่งตามกลุ่มอาการ ขอให้มั่นใจว่า สธ.มีแนวทางการรักษาที่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และประเมินปรับเปลี่ยนแนวทางที่ดีที่สุดอยู่เสมอ

สธ.รับมอบยาโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านแคปซูล ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 Thai PBS รายงานว่ากรมการแพทย์รับมอบยา โมลนูพิราเวียร์ จำนวน 2 ล้านแคปซูล หรือ 50,000 คอร์สการรักษา ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดรับประทาน จำนวน 2 ล้านแคปซูล หรือ 50,000 คอร์สการรักษา เพื่อเตรียมกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดภายในสัปดาห์หน้า รอบแรกกระจายจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุและคนที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่ยังไม่ใช้เครื่องออกซิเจน ซึ่งโมลนูพิราเวียร์มีข้อบ่งชี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และคนที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ

ผู้ป่วยต้องได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 4 แคปซูล ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันจนครบ 40 แคปซูล จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิต ในผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรง หากได้รับยาภายใน 5 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ 

ขณะที่สัดส่วนการกระจายยาจะอยู่ในกรุงเทพฯมากที่สุด เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด และคาดว่าหากผู้ป่วยทั้งประเทศยังเพิ่มขึ้น ยาโมลนูพิราเวียร์อาจใช้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนจะจัดซื้อเพิ่มหรือไม่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้พิจารณา และในอนาคตหากมียามากขึ้น อาจพิจารณาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net