Skip to main content
sharethis

รัฐบาล โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประณามว่าการที่รัฐบาลพม่ากดขี่ปราบปรามชาวโรฮิงญามาเป็นเวลานานหลายปีนั้นนับเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ฮิวแมนไรท์วอชท์วิจารณ์ประณามไม่พอ ต้องมีมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มและต้องนำกรณีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งสหรัฐอเมริกา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลง ระบุว่าการที่กองทัพพม่ากดขี่และกระทำโหดร้ายทารุณต่อชาวโรฮิงญานานนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คำแถลงของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะการเพิ่มมาตรการเข้มงวดชุดใหม่ต่อรัฐบาลทหารของพม่าแต่อย่างใด จากที่เดิมทีสหรัฐฯ ได้ทำการคว่ำบาตรรัฐบาลพม่าอยู่แล้วในหลายระดับเพื่อโต้ตอบเรื่องการใช้กำลังต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560

อย่างไรก็ตามคำประกาศล่าสุดจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจจะส่งผลทำให้เกิดการกดดันจากนานาชาติต่อรัฐบาลพม่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเดิมทีพม่าก็ต้องเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) อยู่ก่อนแล้ว กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักการเมืองเคยพยายามกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ และในสมัย โจ ไบเดน ให้ประกาศว่าสิ่งที่รัฐบาลพม่าทำต่อชาวโรฮิงญาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

มีสมาชิกสภาคองเกรสอย่างน้อย 1 รายที่แสดงความชื่นชมต่อคำประกาศในครั้งนี้ คือ เจฟฟ์ เมิร์กลีย์ วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐโอเรกอน นอกจากนี้องค์กรเรฟิวจีอินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และคนไร้รัฐ ก็แสดงความพอใจต่อเรื่องนี้ด้วย

"ผมขอชื่นชมรัฐบาลไบเดนที่ยอมรับในที่สุดในเรื่องที่ว่าการกระทำโหดร้ายทารุณต่อชาวโรฮิงญานับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" เมิร์กลีย์ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาทันทีหลังจากที่กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศว่าบลิงเคนจะประกาศในเรื่องนี้ที่พิธีจัดแสดงนิทรรศการ "เส้นทางสู้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของประเทศพม่า" ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวแห่งสหรัฐอเมริกา

เมิร์กลีย์กล่าวอีกว่าถึงแม้คำประกาศที่ตัดสินรัฐบาลพม่าเช่นนี้จะใช้เวลานานมากกว่าจะออกมา แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ทรงพลังและเป็นก้าวที่สำคัญในการทำให้รัฐบาลที่โหดเหี้ยมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เมิร์กลีย์กล่าวอีกว่ากระบวนการเช่นนี้ควรจะมีการดำเนินการอย่างยุติธรรม อย่างคงเส้นคงวา และในลักษณะที่ข้ามพ้นการพิจารณาในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง

องค์กรเรฟิวจีอินเตอร์เนชันแนลแถลงชื่นชมคำประกาศของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าเป็น "ก้าวที่มีความหมายอย่างลึกซึ้ง" และระบุว่า "มันยังเป็นสัญญาณที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับพันธกรณีต่อความยุติธรรมสำหรับทุกคนที่ยังคงเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเผด็จการทหารจนถึงทุกวันนี้"

เมิร์กลีย์เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกดดันต่อพม่าต่อไปเรื่อยๆ โดยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่ารวมถึงภาคส่วนน้ำมันและก๊าซ โดยระบุว่า "อเมริกาควรจะเป็นผู้นำในการทำให้โลกเห็นอย่างชัดเจนว่า การกระทำทารุณโหดร้ายเช่นนี้จะไม่ถูกกลบฝังโดยไม่เป็นที่รับรู้ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม"

ทั้งนี้นอกจากเสียงชื่นชมแล้วการแถลงครั้งนี้ก็ยังคงถูกวิจารณ์ว่ายังไม่เพียงพอ จอห์น ซิฟตัน จากฮิวแมนต์ไรท์วอชต์ กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐยังจำเป็นจะต้องมีทำมากกกว่านี้รวมถึงการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย และเขายังแสดงความผิดหวังที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงโดยน้ำมือของกองกำลังความมั่นคงของพม่าขึ้นในเดือน ส.ค. 2560 ก็มีชาวโรฮิงญามุสลิมมากกว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ โดยที่กองกำลังของพม่าถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนหมู่ สังหารผู้คน และเผาบ้านเรือนหลายพันหลัง

 

เรียบเรียงจาก

US Declares Rohingya Repression in Myanmar a 'Genocide', Voice Of America, 20-03-2022

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net