Skip to main content
sharethis

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่/ภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคม ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องร้องคดีฝุ่น PM2.5 ชี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังละเลยและล่าช้าในการดำเนินงานแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง และมีอายุขัยที่สั้นลง

22 มี.ค. 2565 ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักกิจกรรมทางสังคม และนันทิชา โอเจริญชัย เยาวชนนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมเดินทางไปที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีปกครองต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักที่ละเลยการปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้ง 2 แห่งปฎิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 ต่อมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตอบกลับ และแจ้งเพียงว่าได้มีการวัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งเป็นการวัดฝุ่นละอองโดยภาพรวม ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน แต่อย่างใด รวมถึงกรณีแผนการแก้ปัญหาฝุ่นละออง พ.ศ.2563 ได้แจ้งว่าดำเนินการร่างยังไม่แล้วเสร็จ แม้ปัจจุบันจะเป็น พ.ศ.2565 แล้วก็ตาม สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นได้แจ้งว่า การกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภท PM2.5 จากโรงงาน อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมจะปรับค่าให้เป็นมาตรฐานสากลต่อไป โดยมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังละเลยและล่าช้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง ทำให้ประชาชนต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง และมีอายุขัยที่สั้นลง

สำหรับคำขอท้ายฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็นคือ

  1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกหรือแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล(WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  2. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานควบคุมมลพิษฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนจากโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งกำเนิดอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ออกสู่สิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
  3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
  4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษ หรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบ การปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมได้

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้ร่วมเป็นโจทก์ กล่าวว่า “ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในประเทศไทยยังสูงเกินไปและสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงเกือบ 5 เท่า เป็นมลพิษที่น่ากลัวที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เพราะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนสามารถรวมตัวกันกลายเป็นฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ ในทางการแพทย์ แม้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอลซิลอ้างว่าได้ปล่อยมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ แต่ทุกความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่เพิ่มขึ้น แม้คุณภาพอากาศไม่เกินมาตรฐานแต่ประชาชนก็มีอาการป่วยซึ่งเกิดมาจากการรับมลพิษต่ำแต่เป็นระยะเวลานานได้ ซึ่งเรียกว่า chronic low dose exposure”

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง “ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2563” ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งกำหนดให้อาการผิดปกติทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เป็นโรคจากสิ่งแวดล้อม ยิ่งย้ำเตือนให้ หน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมต้องกยระดับมาตรฐาน PM2.5 ให้เข้มงวดขึ้น ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมผลกระทบจากโรคสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยยังใช้มาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้น PM2.5 ที่ 91 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรขึ้นไปว่า “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” มาเป็นเวลา 10 ปี กลายเป็นช่องว่างทั้งการเฝ้าระวัง (Surveillance) การแจ้งเตือน (Alert) และการเตือนภัย (Warning) ในช่วงวิกฤตฝุ่น และการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ในเชิงรุกเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยโดยรวม

 

นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์และนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมเป็นโจทก์ กล่าวว่า “ปัจจุบัน เด็กที่เกิดใหม่ในประเทศไทยต่างถูกบังคับให้ต้องสูดหายใจอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป เด็กมากมายอาจไม่ได้รู้จักว่าอากาศที่ ‘สะอาด’ นั้นเป็นอย่างไร เราทุกคนล้วนต้องหายใจเพื่อมีชีวิต ซึ่งการเพิกเฉย และการดำเนินงานที่ล่าช้าของหน่วยงานของรัฐทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างอากาศที่สะอาดถูกริดรอนไป”

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “นอกจากการแก้ไขค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไปแล้ว การแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดเพราะการป้องกันไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ และยังช่วยป้องกันผลกระทบต่อประชาชนทุกคนได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ เมื่อปี 2562 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแผนนี้เพิ่มเติมจากหน้าที่ตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย โดยแผนดังกล่าวได้มีการแบ่งมาตรการออกเป็นมาตรการระยะสั้น (2562-2564) และมาตรการระยะยาว (2565-2567) ซึ่งปี 2564 ที่เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้นได้ผ่านไปแล้ว และหน่วยงานรัฐต้องเริ่มการดำเนินการตามมาตรการระยะยาวแล้ว แต่ยังมีการดำเนินการของรัฐที่ล่าช้า และไม่เป็นไปตามแผน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามแนวทางการดำเนินงานระยะสั้น (2562-2564) ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ-การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM2.5 รัฐบาลต้องมีการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ตามแผนแล้ว และควรจะมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดีร่างกฏหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำขึ้นและเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามการชี้แจงของกระทรวงอุตสาหกรรมลงวันที่ 14 ก.พ. 2565 นั้นไม่มีข้อกำหนดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณสารมลพิษที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของกฎหมาย PRTR ที่ทั่วโลกใช้บังคับอยู่  นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มี “ฝุ่น PM2.5” รวมอยู่ใน “บัญชีสารมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย” ที่จะต้องตรวจวัดอีกด้วย คำชี้แจงดังกล่าวจึงคลุมเครือมาก”

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา สภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า “ทุกๆ ปี จังหวัดเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือจะต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระดับวิกฤต พวกเราไม่สามารถทนได้แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความจริงจังในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะประชาชนทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียม ”

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังดำรงอยู่ กระทบต่อสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน การลุกขึ้นตรวจสอบอำนาจรัฐให้ปฎิบัติหน้าที่ จึงเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน การฟ้องร้องคดีนี้มุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายรับรองและคุ้มครองไว้”

ทั้งนี้ กรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดทำแคมเปญเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 โดยเปิดให้ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินหน้าที่ตามกฎหมาย และให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม หยุดละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ได้ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net