Skip to main content
sharethis

ปล่อยตัว 'บุรินทร์ อินติน' ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ถูกศาลทหารพิพากษาโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือนเมื่อ พ.ศ.2560 จากเหตุคอมเมนต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษช่วงโควิด-19 เหลือโทษจำคุก 5 ปี 11 เดือน เจ้าตัวเผยพร้อมสู้ต่อเพื่อต่อต้านความอยุติธรรม

23 มี.ค. 2565 วันนี้ (23 มี.ค. 2565) บุรินทร์ อินติน ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ถูกจับกุมตัวขึ้นศาลทหารเมื่อปี 2559 และถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว โดยได้รับการพระราชทานอภัยโทษ 4 ครั้งขณะอยู่ในเรือนจำในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 จนเหลือโทษจำคุกที่ 5 ปี 11 เดือน จากไล์ฟ์เฟซบุ๊กของสำนักข่าวราษฎร บุรินทร์แสดงใบบริสุทธิ์ต่อหน้าสื่อมวลชนเพื่อยืนยันว่าขณะนี้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีคดีใดๆ ติดตัวแล้ว นอกจากนี้ เขายังแสดงใบรับรองผ่านการอบรมโครงการโคกหนองนา ซึ่งเป็นหลักสูตรพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ที่ถูกบรรจุไว้ใบพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564

บุรินทร์ ขณะแสดงใบรับรองอบรมโครงการโคกหนองนาต่อหน้าสื่อมวลชนบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ที่มา ไลฟ์เฟซบุ๊กของแหวน ณัฎฐธิดา มีวังปลา)
 

บุรินทร์กล่าวว่านับตั้งแต่ศาลทหารอ่านคำพิพากษาจำคุกในปี 2560 เขาไม่มีโอกาสได้ออกมาข้างนอกเรือนจำ แต่เขารับทราบข่าวการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วง 1-2 ปีนี้อยู่บ้าง รวมถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่หน้าเรือนจำ ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้น เขาได้พบกับปฏิภาณ ลือชา หรือหมอลำแบงค์ ในช่วงปี 2563 เพราะถูกคุมขังอยู่ในแดนเดียวกัน ส่วนนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ นั้นไม่ได้พบกันเพราะถูกคุมขังอยู่คนละแดน

บุรินทร์บอกว่าเขาอยู่ในเรือนจำมานานเกือบ 6 ปี น้ำหนักลดไปประมาณ 30 กก. ส่วนความรู้สึกเมื่อได้รับอิสรภาพนั้นเป็นความรู้สึก “เฉยๆ” ไม่รู้จะดีใจอย่างไร บุรินทร์ยืนยันว่า “อุดมการณ์ยังเหมือนเดิม” และพร้อมจะเดินหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรมโดยไม่กลัวว่าจะมีคดีตามมาในอนาคตหรือไม่ และถ้าหากโดนคดีอีก เขาก็พร้อมกลับมาเข้าเรือนจำอีกครั้ง ไม่ได้กลัวหรือกังวลแต่อย่างใด

“มันเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม” บุรินทร์กล่าว

บุรินทร์กล่าวขอบคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและอดีตผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยบุรินทร์กล่าวว่าเมื่อสมยศพ้นโทษไปแล้วก็ยังกลับมาเข้าเยี่ยมเขาอยู่เสมอ ทั้งนี้ สมยศกล่าวต่อสื่อมวลชนว่าเขาได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อคืนวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ขอสมทบทุนจากประชาชนเพื่อนำเงินบริจาคมามอบให้บุรินทร์เป็นเงินก้อนแรกในการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ โดยมียอดบริจาค 32,000 บาท และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันบริจาคเข้ามา

สำหรับความเป็นมาของคดีนี้ บุรินทร์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 59 จากการเข้าร่วมกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับซึ่งจัดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของจำเลยในคดี 8 แอดมิดเพจเรารักพล.อ.ประยุทธ์ หลังจากเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไทก็มีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวออกไปจากห้องสอบสวนกลางคันโดยไม่มีใครทราบจุดหมายปลายทาง

ต่อมาวันที่ 29 เม.ย.59 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชา คณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คสช. นำตัว บุรินทร์ อินติน ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร ข้อหาตาม มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นำส่งให้พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รอง ผกก. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ดำเนินคดี และบุรินทร์ถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 30 เม.ย.2559 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน เขายื่นประกันตัว 5 ครั้งแต่ศาลทหารปฏิเสธ นับจนถึงวันนี้เขาอยู่ในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน

บุรินทร์ อายุ 29 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดพะเยา จบการศึกษาชั้นป.6 และเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 14 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างร้านถ่ายรูป จนกระทั่งมายึดอาชีพเป็นช่างเชื่อมโลหกและสแตนเลส ครอบครัวมีฐานะยากจน แม่ของเขาทำไร่นา ส่วนแฟนมีอาชีพเป็นแคดดี้สนามกอล์ฟ เขาให้ข้อมูลว่า เขาเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่เด็กจากการอ่านหนังสือวิชาประวัติศาสตร์การเมือง จากนั้นจึงเริ่มต้นศึกษาเองจากการอ่านหนังสือการเมืองและท่องอินเทอร์เน็ต เขาติดตามการเมืองแต่ไม่เคยออกไปชุมนุมทางการเมืองกับฝ่ายใด แต่หลังรัฐประหารปี 2557 เขาเริ่มไปร่วมทำกิจกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะที่หน้าหอศิลป์ เช่นการรำลึกครอบรอบการรัฐประหารวาระต่างๆ และล่าสุดคือ การออกไปเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับ 8 แอดมินเพจการเมืองเพจหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หลังจากเขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัว มีการบังคับให้บอกรหัสเฟซบุ๊กแต่เขาไม่ได้บอก อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปริ๊นท์มาแสดงนั้นปรากฏข้อความการแชทแล้วซึ่งทำให้เขาประหลาดใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net