Skip to main content
sharethis

พชร คําชํานาญ นักกิจกรรมภาคเหนือและภาคี save บางกลอย ขึ้นป้าย “วิมานใต้เท้าอยู่กลางป่า (แหว่ง) แต่คนจนโดนแจ้งความ 4.6 หมื่นคดี” หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทางเข้าหมู่บ้าน “ป่าแหว่ง” ตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรม เหตุใดบ้านพักผู้พิพากษาจึงอยู่กลางป่าได้ แต่คนจนในพื้นที่ป่ากลับถูกดำเนินคดี

12 เม.ย. 2565 พชร คําชํานาญ นักกิจกรรมภาคเหนือและหนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี แขวนป้ายผ้าเขียนข้อความ “วิมานใต้เท้าอยู่กลางป่า (แหว่ง) แต่คนจนโดนแจ้งความ 4.6 หมื่นคดี” หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทางเข้าบ้านพักผู้พิพากษาศาล หรือ หมู่บ้าน “ป่าแหว่ง” ในวาระครบรอบ 4 ปี ป่าแหว่ง ตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมเหตุใดบ้านพักผู้พิพากษาจึงอยู่กลางป่าได้ แต่คนจนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ากลับถูกดำเนินคดี หรืออภิสิทธิ์ชนสามารถดำเนินการใดที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอันทรัพย์สินส่วนรวมของประเทศได้

พชรออกแถลงการณ์ผ่าน Facebook ส่วนตัว ระบุว่า

ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คือคำถามถึงความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้างการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ไทย 

นี่คือถ้อยแถลงของตนต่อกรณีบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 รุกเข้าไปในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ แน่นอนว่าสถานะที่ดินบริเวณนั้นถูกอ้างว่าเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือ ที่ดินทหาร อย่างไรก็ตามพวกเราชาวเชียงใหม่ต่างรู้ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ว่าผืนดิน ผืนป่าบริเวณนั้นคือป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิตและจิตวิญญาณของคนเชียงใหม่เป็นอย่างมาก จนเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติโครงการบ้านพักดังกล่าว รื้อถอน ตลอดจนให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิมในที่สุด

แต่สำหรับตนแล้ว นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์เพียงเพื่อป่าและสัตว์เท่านั้น เพราะเหตุการณ์ที่กลุ่ม “อภิสิทธิ์ชน” สามารถครอบครองและดำเนินการใดอันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่ควรจะเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของประเทศนั้นมิได้เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เรายังพบว่ากลุ่มชนชั้นนำไทยยังคงถือครองที่ดินจำนวนมหาศาล ไร้การตรวจสอบและจำกัดการถือครองที่ดิน นั่นทำให้ประชาชนหลายล้านคนทั่วประเทศที่อาจเข้าถึงเอกสารสิทธิได้ต้องตกอยู่ในสถานะที่ต้องอยู่อาศัยและทำกินอย่างผิดกฎหมาย บนที่ดินที่รัฐประกาศทับลงไปบนหัวของเขา

พชร คําชํานาญ นักกิจกรรมภาคเหนือและภาคี save บางกลอย

ในยุคทรราชย์ครองเมือง หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความเดือดร้อนอันเกิดแก่ประชาชนทวีความรุนแรงขึ้นทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่ในผืนป่า อันเป็นดินแดนที่บรรพชนก่นสร้าง ตั้งถิ่นฐาน ใช้ประโยชน์ สืบทอดผืนดินผืนป่านั้นให้เป็นมรดกสู่พวกเราลูกหลาน ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลเผด็จการอ้างอำนาจการเป็นรัฐาธิปัตย์ ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” กล่าวอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าจากนายทุน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ พี่น้องคนในเมืองบางส่วนอาจคิดว่านี่คือนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ชาวบ้านต้องเผชิญความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เป็นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งไม่พึงจะได้รับ

นโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและการถูกดำเนินคดีที่ยังคงเป็นข้อพิพาทในพื้นที่จนคาบเกี่ยวมาถึงช่วงของการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิด ว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่พี่น้องคนจน พี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าทั้งนั้นที่ต้องสูญเสียที่ดินและตายทั้งเป็น

เหตุการณ์โศกนาฎกรรม อาชญากรรมโดยรัฐเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่บ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็สามารถสร้างได้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำชั้น 1A ที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กำลังจะถูกแย่งยึดและสัมปทานเป็นเหมืองแร่ถ่านหิน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมจะดำเนินการกระทบกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาตินับไม่ถ้วน ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำ คือกระจกที่ฉายชัดว่าพวกเรา “ประชาชน” ไม่เคยมีส่วนแบ่งบนผืนแผ่นดินนี้ ที่ดินในประเทศนี้ทุกตารางนิ้ว ถ้าไม่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว ก็เป็นที่ดินของรัฐเท่านั้น ประเทศนี้มันกลายเป็นของกลุ่มชนชั้นนำและหมู่อภิสิทธิ์ชนทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ตนจึงอยากชวนสังคมกลับมาตั้งคำถามถึงกรณีนี้อีกครั้ง เนื่องจากวันที่ 29 เมษายนนี้ จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี การเริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนผืนป่าเชิงดอยสุเทพดังกล่าวจากบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่กรณีนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป เรื่องนี้เป็นเรื่องในระดับโครงสร้างการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ไทย ที่พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เรียกร้องเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ในวันนี้ตัวเลข 46,600 คดียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกร คนจน กลุ่มชาติพันธุ์มากมายที่ต้องไร้ที่ดิน ล้มละลาย ตายทั้งเป็น เราจะยินยอมก้มหัวอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่คนจน ประเคนกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเช่นนี้ไปได้อย่างไร

เราจึงออกมาตั้งคำถาม เพรียกหาจินตภาพการจัดการที่ดิน-ป่าไม้ใหม่ๆ ที่สามารถทำให้พวกเรามีส่วนร่วมในการเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และจัดการร่วมกันได้อย่างแท้จริง

 

 

ร่วมกันออกมายืนยันอีกครั้ง ว่าประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดิน ที่ดินเป็นของราษฎร

พชร คำชำนาญ

ประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net