Skip to main content
sharethis

 

คริส ซิโดติ ผู้ร่วมก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษเพื่อประเด็นพม่า (Special Advisory Council for Myanmar) เขียนบทความในสื่ออัลจาซีรา เรียกร้องให้อังกฤษมีมาตรการจริงจังในการต่อต้านเผด็จการทหารพม่า และวิจารณ์ว่าก่อนหน้านี้อังกฤษเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กรณีความทุกข์ร้อนของประชาชนในพม่ามาตลอดเพียงเพราะกลัวว่าจะไปทำให้รัสเซียและจีนไม่พอใจ

 

22 เม.ย. 2565 เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา สื่ออัลจาซีรารายงานว่า คริส ซิโดติ เป็นสมาชิก ผู้ร่วมก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษเพื่อประเด็นพม่า (Special Advisory Council for Myanmar) และในอดีตยังเคยเป็นสมาชิกของผู้แทนอิสระด้านการสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพม่าของสหประชาชาติ (UN Independent International Fact-Finding Mission on Myanmar) เขาเขียนบทความเรียกร้องให้อังกฤษมีมาตรการต่อต้านเผด็จการทหารพม่าอย่างจริงจังมากขึ้นกว่านี้

ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการลงมติในที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเพื่อสนับสนุนการประณามรัสเซียกรณีก่อเหตุรุกรานยูเครน มีเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติชื่อ Kyaw Moe Tun กล่าวต่อผู้แทนอื่นๆ ในที่ประชุมว่า "พม่าเข้าใจดี และมีความรู้สึกร่วมมากกว่าที่อื่นๆ เกี่ยวกับความทุกข์ยากที่ประชาชนยูเครนกำลังประสบ"

ตลอดช่วง 14 เดือน ที่ผ่านมาประชาชนชาวพม่าตกอยู่ภายใต้การโจมตีของรัฐบาลทหารที่โหดเหี้ยม นำโดยเผด็จการเน้นตัวบุคคลผู้เลอะเลือนอย่างนายพลอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้ที่ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ทำให้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในพม่าที่ดำเนินมา 10 ปีสิ้นสุดลง

จากนั้นกองทัพพม่าก็ใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมเพื่อตอบโต้พลเรือนที่ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยกระทำอย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่, การทารุณกรรม, การใช้ความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ ในฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล กองทัพพม่าก็ทำการเผาเมืองหรือหมู่บ้านลงจนราบเป็นหน้ากลองและทำการสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้เพื่อต้องการบีบให้ผู้คนหิวโหยจนยอมจำนน

เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ทั้งเมืองหลวงของรัฐต่างๆ และพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพม่าถูกทิ้งระเบิด มันสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่านายพลเหล่านี้สูญเสียการควบคุมในสงครามภาคพื้นดินไปแล้ว ค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศก็กลายเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศและการระดมยิงปืนใหญ่ อีกทั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาการสังหารหมู่ประชาชนที่ไม่มีอาวุธก็เริ่มจะกลายเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่านายพลในพม่ามีความป่าเถื่อนโหดร้ายมากขึ้น

แต่การโต้ตอบจากนานาชาติก็กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับการที่พวกเขาโต้ตอบการรุกรานของรัสเซีย สิ่งที่นานาชาติโต้ตอบต่อการที่มินอ่องหล่ายโจมตีประชาชนชาวพม่านั้น อย่างดีที่สุดก็เป็นแค่โวหารปากเปล่า

ซิโดติระบุถึงการที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ใช้เวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงในการออกมติประณามการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการโต้ตอบที่ทันท่วงทีและมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับไม่มีสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงรายใดเลยที่จะออกร่างมติเกี่ยวกับพม่า ถึงแม้ว่ากองทัพพม่าจะก่อเหตุโหดเหี้ยมต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว รวมถึง "ปฏิบัติการกวาดล้าง" ต่อชาวโรฮิงญาในปี 2559-2560 ที่ถูกระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย และในช่วงไม่นานนี้กองทัพพม่าก็มีปฏิบัติการแบบเดียวกันต่อประชาชนทั้งประเทศ

ในแง่นี้ทำให้ซิโดติวิจารณ์ว่า UNSC  "ล้มเหลวในการปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบภายใต้กฎบัตรของสหประชาชาติที่ระบุว่าจะต้องปฏิบัติการเพื่อสันติภาพและความมั่นคงนานาชาติ" นอกจากนี้ UNSC ยัง "ล้มเหลวในด้านความรับผิดชอบในการคุ้มครองประชาชนชาวพม่า จากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, จากอาชญากรรมสงคราม, จากการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ และจากอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ"

ซิโดติระบุว่าในฐานะที่ประเทศอังกฤษเคยเป็นประเทศที่เป็นเจ้าอาณานิคมพม่ามาก่อน ในเชิงหลักการแล้วพวกเขาจึงควรมีความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้มากเป็นพิเศษเทียบกับประเทศตะวันตกอื่นๆ ในยูเอ็น เพราะในประวัติศาสตร์ อังกฤษเป็นประเทศที่นำการร่างมติเกี่ยวกับพม่าได้ดีในที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ และในคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งถือว่าอังกฤษทำได้ดี

แต่ซิโดติวิจารณ์ว่าอังกฤษก็ทำได้ไม่ดีนักในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อังกฤษยึดติดในเรื่องฉันทามติมากเกินไปและกลัวว่าจะความล้มเหลวจะทำให้พวกเขาดูไร้สมรรถภาพในประเด็นพม่า ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ความกลัวนี้ทำให้อังกฤษไม่ยอมเสนอมติตั้งแต่แรกแทนที่จะยอมเสนอมติแล้วถูกโหวตวีโต้โดยสมาชิกถาวรรายอื่นๆ ของคณะมนตรีฯ คือ รัสเซียกับจีน ซึ่งสองประเทศนี้มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารพม่าผู้ไร้ความชอบธรรมรวมถึงยังเป็นกลุ่มที่ขายอาวุธให้กับพวกเขาด้วย

การที่อังกฤษยึดติดในเรื่องฉันทามติทำให้พวกเขากระทำอะไรที่เล็กน้อยกว่าการเสนอมติหนึ่งในนั้นคือการแถลงการณ์ในแบบที่ไม่มีผลผูกมัดใดๆ กับพม่า ซึ่งไม่ต่างอะไรกับแค่การใช้คำพูดสวยหรู

เมื่อเทียบกับกรณีร่างมติเกี่ยวกับการที่รัสเซียรุกรานยูเครนแล้ว สหรัฐฯ กับอัลแบเนียซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างมติกับยูเครนไม่ได้สนใจเรื่องฉันทามติมากเท่าอังกฤษ พวกเขาเสนอออกมาแม้จะรู้ดีว่าจะถูกคัดค้านและวีโต้จากรัสเซีย แต่มันก็เแสดงให้เห็นว่ารัสเซียเริ่มถูกโดดเดี่ยวในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้ทำให้ซิโดติตั้งคำถามต่ออังกฤษว่า "ทำไมอังกฤษยังคงปล่อยให้พันธมิตรของเผด็จการทหารอย่างรัสเซียและจีนยังคงลอยนวลอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง ไม่ต้องถูกทำให้รับผิดชอบต่อเรื่องนี้ แทนที่อังกฤษจะทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินการแทนประชาชนชาวพม่า ทำไมอังกฤษถึงปล่อยให้นายพลทรราชยังคงก่อเหตุโหดร้ายทารุณต่อไปได้โดยไม่ถูกหยุดยั้ง"

ซีโดติชี้ว่าอังกฤษมีโอกาสในการออกตัวแทนประชาชนชาวพม่าได้จากการที่อังกฤษได้รับตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงฯ เมื่อต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ตำแหน่งนี้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปทุกเดือน มันเป็นโอกาสที่อังกฤษจะได้แสดงความเป็นผู้นำเพราะประธานคณะมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดวาระประจำเดือนได้ในหลายแนวทาง เช่น การเสนอในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งว่าพวกเขาวางลำดับความสำคัญลำดับต้นๆ ไว้ที่ประเด็นใด และต้องการทำเรื่องไหนให้สำเร็จ

ซิโดติ เสนอแนวทางว่าเริ่มแรกอังกฤษควรจะทำงานร่วมกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ อื่นๆ ให้มีการจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการแบบที่เรียกว่า "Arria Formula" เกี่ยวกับประเด็นพม่า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่เข้าใจสถานการณ์ในพม่าดีนำเสนอข้อมูลคร่าวๆ แก่สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไม่สามารถนำเสนอประเด็นในที่ประชุมเป็นทางการได้

ขั้นตอนต่อมาที่อังกฤษควรทำคือควรเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับประเด็นพม่า อังกฤษควรเสนอมติเกี่ยวกับพม่าในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ แล้วก็ทำให้มีการโหวตมติในที่ประชุม เรื่องนี้จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าใครที่อยู่ข้างเดียวกับประชาชนชาวพม่า และใครที่อยู่ข้างเดียวกับนายพลมินอ่องหล่ายกับนายพลกระหายเลือดคนอื่นๆ ในพม่า

มติที่อังกฤษเสนอยังควรจะเรียกร้องให้รัฐบางทหารที่ไร้ความชอบธรรมของมินอ่องหล่ายหยุดใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ควรจะเรียกร้องให้ทั่วโลกมีการคว่ำบาตรอาวุธการค้าอาวุธต่อพม่าอย่างครอบคลุมและให้มีการคว่ำบาตรแบบเจาะจงเป้าหมายต่อเผด็จการทหารและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนรัฐบาลพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย เพื่อที่จะทำให้มินอ่องหล่ายและผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเข้าสู่การไต่สวนดำเนินคดีจากกรณีที่พวกเขาก่ออาชญากรรมโหดเหี้ยมรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าจีนหรือรัสเซียอาจจะโหวตคัดค้านมติ แต่มันก็จะทำให้พวกเขาเผชิญกับการถูกประณามและเผชิญกับผลที่ตามมาในระยะยาว

ซิโดติบอกว่าการที่อังกฤษมุ่งเน้นรอจะทำให้เกิดฉันทามติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันหมดมากเกินไปนั้นจะยิ่งทำให้พวกนายพลผู้ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่าฮึกเหิม และทำให้พวกประเทศสมาชิกบางประเทศที่ได้ประโยชน์จากความโกลาหลในพม่าย่ามใจ "ความรับผิดชอบในเชิงหลักการของอังกฤษไม่ใช่การปกป้องจีนหรือรัสเซีย มันคือการปกป้องคุ้มครองประชาชนชาวพม่า มันยังไม่สายเกินไปที่อังกฤษจะแสดงให้เห็นความกล้าหาญและแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นผู้นำบ้าง เกือบจะสายเกินไปแล้วแต่ก็ยังไม่ถือว่าสายเกินไป" ซิโดติระบุในบทความ

 

 

 

เรียบเรียงจาก

It is high time for the UK to take action on Myanmar at the UNSC, Chris Sidoti, 18-04-2022
https://www.aljazeera.com/opinions/2022/4/18/its-high-time-for-the-uk-to-take-action-on-myanmar-at-the-unsc

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net