แรงงานหลายกลุ่มจัดกิจกรรมวันแรงงาน 1 พ.ค.

แรงงานหลายกลุ่มจัดกิจกรรมวันแรงงาน 1 พ.ค. - คสรท. และ สรส. เรียกร้อง 11 ข้อ ขอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ - 'ประยุทธ์' รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 8 ข้อ ของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง - 'สุชาติ' ยันปรับแน่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ 492 บาท ใช้สูตร 'ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ' มาตรฐานทั่วโลก -'พิธา' นำทีม 'แรงงานก้าวไกล' ร่วมขบวนหน้าทำเนียบ เนื่องในวันแรงงานสากล


ที่มาภาพ: สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

1 พ.ค. 2565 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันกรรมกรสากล ยื่น 11 ข้อเรียกร้องต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ในทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในอดีตของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อยื่นข้อเสนอของคนงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ต่างๆ ต่อรัฐบาล โดยข้อเรียกร้องหลักเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นทุกเถียงในสังคม คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งขอปรับขึ้นเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้ทำโครงสร้างค่าจ้าง ขอให้หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ รวมทั้งจัดตั้งธนาคารแรงงาน โรงพยาบาลประกันสังคม รับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 98 183 189 และขอให้ยกเลิกการจ้างงานระยะสั้น ซึ่งไม่มั่นคง พร้อมขอให้ลูกจ้างของรัฐฯ ได้รับการบรรจุ เพื่อเป็นหลักประกันในคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอสำหรับแรงงานข้ามชาติด้วย โดยขอรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หยุดขูดรีดแรงงานข้ามชาติ ไม่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ขอให้ลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารประจำตัวแรงงานข้ามชาติ และคุ้มครองไม่ให้แรงงานข้ามชาติตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เป็นต้น

ขณะบริเวณเดียวกัน ที่ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. นำโดย นางอภันตรี เจริญศักดิ์ จัดกิจกรรม “เนื่องในวันกรรมกรสากล” ก่อนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไทย ไปยังประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ปี 2565 "ยกเลิกการจ้างงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การจ้างงานแบบเหมาค่าแรง และสัญญาจ้างระยะสั้น - ส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รับรอง ILO 87, 98

-ปฏิรูป ปตท. เป็นองค์กรของประชาชนเพื่อประชาชน โดยลดราคาน้ำมัน เกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม - ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน-ภาษีในตลาดหลักทรัพย์ -สร้างสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มและขยายสิทธิ์ประโยชน์กองทุนประกันสังคม - ลาคลอด 180 วัน ได้รับค่าจ้าง 100% -หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งเสริมและคุ้มครองระบบสหกรณ์ เรียนฟรี อนุบาลถึงปริญญาตรี - หยุดการโกงกินทุกรูปแบบ ไม่โกงกิน ไม่สิ้นชาติ" ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมร้องเพลงประสานเสียงเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลร่วมกัน

'ประยุทธ์' รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ 8 ข้อ ของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตลอดจนผู้ใช้แรงงาน (กลุ่ม 15 สภาองค์การลูกจ้างเป็นหลัก) มาร่วมงานด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ทั้ง 8 ข้อ (เป็นข้อเรียกร้องของกลุ่ม 15 สภาองค์การลูกจ้าง) ได้แก่ 1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ให้เร่งดําเนินการนําร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาโดยเร่งด่วน 3. ให้ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 4. ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 5. ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม 6. เร่งรัดออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ 7. ให้จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อการเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และ 8. แต่งตั้งคณะทํางานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2565

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเปิดงานวันนี้ ยืนยันว่าไม่เคยทอดทิ้งแรงงาน และในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ก็จะเป็นโอกาสดีที่ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงสิทธิและความปลอดภัยของพี่น้องแรงงาน ย้ำว่า ต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ตนทราบดีว่า แรงงานคือกำลังหลักที่ทำให้ประเทศเข้มแข็งมาถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่า ที่เป็นห่วงคือชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของแรงงาน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามดูแลทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขณะนี้ก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกใบนี้ ซึ่งกระทบกับทุกห่วงโซ่การผลิต เพราะวัตถุดิบต้องมาจากหลายประเทศ เมื่อมีสถานการณ์ขัดแย้งก็ต้องเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับด้วย และที่สำคัญประเทศกำลังจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบด้วย พร้อมยอมรับว่า เวลานี้ค่าใช้จ่ายของแรงงานก็เกิดปัญหาเงินเฟ้อ รัฐบาลจึงระมัดระวังมากที่สุด เพื่อไม่ให้มากจนเกินไป ย้ำว่ารัฐบาลไม่ทิ้งแรงงาน แต่ได้หารือกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีมาตลอดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ประเทศไทยยังส่งสินค้านวัตกรรมเดิมๆ จึงเร่งเดินหน้าใช้เทคโนโลยีในการผลิต ใช้นวัตกรรมเข้ามาส่งเสริมการลงทุน

“แม้ว่าจะมีสงคราม แต่เชื่อมั่นว่าพวกเราจะรักและสามัคคี เพราะรัฐบาลเดินเพียงลำพังไม่ได้ ท่านก็เดินคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน ที่สำคัญมีสถาบันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและศูนย์รวมของคนทั้งประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่ดีที่สุด คือ รักและสามัคคี พัฒนาตัวเอง ทุกคนต้องร่วมมือกัน ส่วนตัวยินดีรับข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อไปพิจารณา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การหารายได้เข้าประเทศ แต่ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยลืมแรงงาน ส่วนการคุ้มครองแรงงาน กำลังพิจารณากันอยู่ ย้ำว่าไม่ทอดทิ้งประชาชน อะไรที่ทำให้ได้ จะทำให้เต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาถึงกระทรวงแรงงาน ก็ได้เข้าไปพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ภายในห้องพักรับรอง เป็นเวลา 10 นาที ก่อนจะเดินเข้าห้องประชุมกระทรวงแรงงานบริเวณที่จัดงานพร้อมกัน

'สุชาติ' ยันปรับแน่ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ 492 บาท ใช้สูตร 'ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ' มาตรฐานทั่วโลก

มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงถึงข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศอัตรา 492 บาท ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน ที่ให้มีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน กรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนไม่เข้าใจ เพราะสมมุติเช่าบ้านอยู่ลำปาง 2,000 บาท ค่าเช่าที่ชลบุรี กรุงเทพฯ ก็อีกราคาหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกัน ฉะนั้นจะต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณ

นายสุชาติกล่าวว่า ตนเคยเป็นลูกจ้างอยู่ในมาตรา 33 มาก่อนเข้าใจทุกอย่าง แต่ข้อเรียกร้องนั้นบางครั้งตนจะต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย หยิน หยางต้องสมดุล การระบาดของโควิด-19 ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถามว่า นายจ้างบาดเจ็บเท่าไร เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคอง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริงๆ 48 เปอร์เซ็นต์ ไหวหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องเอาค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อมาเป็นตัวพิจารณาประกอบกัน ซึ่งมาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า ตนอธิบายตลอดอยู่แล้ว แต่ปรับเท่าไรให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ถามตนที่มาเรียกร้องที่มาหาตนว่าเขาได้ค่าแรงเท่าไร พบว่า ได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่า จริงๆ เขาก็กลัวว่าการปรับฐานค่าจ้างแล้วจะกระทบไปหมดเป็นลูกโซ่ วันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้างค่าแรงขั้นต่ำ วันนี้ต้องยอมรับว่าพี่น้องเราทำงานในออฟฟิศ

“อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการปรับตามข้อเสนอของหลายๆ ท่านเพราะมองว่าค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามาจากกรณีสงครามรัสเซียยูเครนด้วย เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราต้องให้ความเป็นธรรม หลายคนกลัวว่าเราจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ปิดกิจการไปจะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมเพียงพอหรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ถ้าทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง” นายสุชาติ กล่าว

'พิธา' นำทีม 'แรงงานก้าวไกล' ร่วมขบวนหน้าทำเนียบ เนื่องในวันแรงงานสากล

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย สุเทพ อู่อ้น , ทวีศักดิ์ ทักษิณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ จรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี เขต 6 ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส.ที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิเเรงงาน พรรคก้าวไกล ร่วมกันเดินขบวนไปพร้อมกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่มารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องสิทธิ เนื่องในวันเเรงงานแห่งชาติ และวันเเรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2565 

พิธา กล่าวว่า ถึงเวลาที่พวกเราต้องสู้ในเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องเริ่มจากการลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ไม่ว่างบประมาณด้านความมั่นคง หรืองบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ตรวจสอบไม่ได้ เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประเทศไทย พรรคก้าวไกล เสนอให้มีเบี้ยบำนาญเพื่อคนหลังวัยเกษียณถ้วนหน้า 3,000 บาท เสนอให้มีการจ้างงานและระบบพัฒนาคนทำงานเพื่อไปดูเเลผู้สูงอายุ เพราะด้วยงบประมาณก้อนนี้ ทำให้คนอีกจำนวนมากที่ต้องยอมออกจากงานไปดูแลพ่อแม่หรือผู้สูงอายุที่บ้านได้รับศักยภาพของเขากลับคืนมาแล้วออกไปทำงานได้อีกครั้ง 

“ที่สำคัญ เราต้องส่งเสริมให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายและทำได้สะดวก เพราะเมื่อการจัดตั้งเกิดขึ้น เมื่อนั้นเเรงงานในประเทศไทยจะมีกำลังวังชาในการสร้างประเทศ สร้างเศรษฐกิจ และนำพาแรงงานไทยผ่านวิกฤตร้ายและโรคระบาดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เขาต้องต่อสู้เพื่อแรงงานของเขา ต่อสู้เพื่อแก้เงื่อนไขสัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมเพื่อปฏิวัติชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  สิ่งที่แรงงานเรียกร้องคือตัวเลข 8 ชั่วโมง หมายถึง 8 ชั่วโมงในการทำงาน , 8 ชั่วโมงในการพักผ่อน , 8 ชั่วโมงในการหาความรู้เพิ่มเติม แต่ 136 ปีผ่านไป ยังไม่มีอะไรคืบหน้า คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เเรงงานไทย มีเเต่ล้าหลัง”

พิธา กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลขอร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิไปกับผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานอิสระ แรงงานข้ามชาติ แรงงานในกรุงเทพมหานครกว่า 5 ล้านคน เเรงงานในภาครัฐราชการจำนวน 12 ล้านคน แรงงานในภาคเหนือ 16 ล้านคน แรงงานภาคอีสาน 12 ล้านคน เเรงงานในภาคใต้ 5 ล้านคน ทุกคนคือประชาชน เเละพรรคก้าวไกลพร้อมต่อสู้เพื่อพี่น้องแรงงานทุกคนแน่นอน  

พิธา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สิทธิในการทำงานด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีและสิทธิในการรวมตัวกัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับตามรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลได้ยื่น ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนสิทธิดังกล่าวที่เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลเข้าสู่สภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนตาม มาตรา 77 จึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนเข้าไปแสดงความเห็นกันให้มากๆ เพื่อส่งเสียงถึง ส.ส.ในสภาไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลให้ช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานทุกคน และสำหรับตนสัญญาว่า ทุกปีจะมาเจอในการเดินขบวนแบบนี้แน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท