Skip to main content
sharethis

ประชาชนจัดงานวางดอกไม้ และ 'ยืน หยุด ขัง' ณ สกายวอล์กปทุมวัน ให้กำลังใจ และเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ถูกคุมขังจากคดี มาตรา 112 ผู้จัดย้ำ ผู้ที่ออกมาสู้เพื่อ ปชต.และความเท่าเทียมควรได้รับกำลังใจ และไม่มีใครควรถูกฝากขังเพราะใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. 

 

7 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 16.20 น. ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน จ.กรุงเทพฯ 'แอมป์' ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับคณะราษฎร เมื่อปี 2563 และเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดี ม.112 ออกมาเชิญชวนประชาชนทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการวางดอกไม้ เพื่อส่งต่อกำลังใจถึงนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมือง และมาตรา 112 

วางดอกไม้ ส่งต่อกำลังใจถึงผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมือง 

"ร่วมวางดอกไม้ให้กำลังใจเพื่อนที่ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย และกำลังถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ" เสียงของแอมป์ที่กำลังตะโกนเชิญชวนคนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ 

วันนี้เขามาเชิญชวนประชาชนวางดอกไม้ที่สกายวอล์กปทุมวัน กทม. ตั้งแต่เวลา 15.00-18.00 น. เพื่อให้กำลังใจนักกิจกรรมรวม 11 คน ที่กำลังถูกจองจำในเรือนจำ 

แอมป์ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่เขามาทำกิจกรรมวันนี้ เพราะอยากให้กำลังใจ และกระตุ้นเตือนสังคมว่า ยังมีผู้ที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับวิธีการเขาหรือไม่ แต่พวกเขาเหล่านี้กำลังถูกฝากขังอย่างไม่เป็นธรรม 

"เรารู้สึกว่าการที่เราออกมาให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกฝากขังอย่างไม่เป็นธรรม มันควรเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และมันควรเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมของฝั่งประชาธิปไตย การที่คุณจะเป็นใครก็แล้วแต่ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ และเพื่อประชาธิปไตย คุณควรที่จะได้รับการให้กำลังใจ และไม่ควรมีใครต้องถูกฝากขังอีกจากการออกเรียกร้องตามสิทธิรัฐธรรมนูญ" แอมป์ ระบุ 

แอมป์ กล่าวต่อว่า ที่เขาเลือกวิธีให้กำลังใจโดยการวางดอกไม้ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่ใครก็สามารถมีส่วนร่วมได้ และวันนี้แอมป์นำดอกไม้เบญจมาศสีขาว และเหลือง มาร่วมทำกิจกรรมด้วย 

"ดอกไม้มันมีความหมาย อย่างดอกที่เราเลือกมา (วาง) คือดอกเบญจมาศ สีขาว ตามความเชื่อจีนคือ 'ความบริสุทธิ์' ก็เหมือนคนเหล่านี้ ที่ออกมาเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ และอยากเห็นสังคมมันดีขึ้นจริงๆ" 

"ดอกเบญจมาศ สีเหลือง เป็นดอกไม้ที่สื่อถึงความโชคดี ... เราไม่รู้ว่าเราจะพึ่งกระบวนการศาลได้แค่ไหน เราก็อยากให้เพื่อนเราได้พบกับความโชคดี คือได้มีสิทธิการประกันตัวออกมาสักที 

เรายอมรับตามตรงว่าคน (ที่ถูกฝากขัง) เหล่านี้ไม่ได้มีแสงเท่ากับแกนนำหลักหลายๆ คน แต่การที่รัฐเลือกฝากขังกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะว่าต้องการสกัดการเคลื่อนไหวทำกิจกรรม" แอมป์ กล่าว 

'แอมป์' ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมอิสระ

นักกิจกรรมอิสระระบุว่า เขาวางแผนว่าจะทำกิจกรรมนี้ อาจจะทุกวันเสาร์ จนกว่าเพื่อนจะได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด 

ทั้งนี้ ตอนช่วงแรกที่มีการทำกิจกรรม แอมป์ เล่าให้ฟังว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดหน่วยสืบสวน สน.ปทุมวัน มาพูดคุย และบอกว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แอมป์ จัดกิจกรรม 

แอมป์ กล่าวต่อว่าเขาไม่กังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะว่าที่เป็นสิทธิเรียกร้องตาม รธน. ซึ่งไม่ควรถูก จนท.สกัดกั้นแต่แรก 

นักกิจกรรมอิสระ เผยว่า เขาค่อนข้างกังวลเรื่องที่เพื่อนอดอาหารในเรือนจำมากกว่า อย่างตะวัน อดอาหารมาแล้วครึ่งเดือน ขณะที่ 'เก็ท' กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เพิ่งประกาศอดอาหาร เขาจึงกังวลว่าการอดอาหารจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา แต่เขาก็เคารพการตัดสินใจของเพื่อนนักกิจกรรม และมองว่าเป็นการต่อสู้อย่างสันติวิธีหนึ่งจากในเรือนจำ 

"เราเชื่อว่า มันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งเสียงออกมาถึงด้านนอกได้ว่าเขากำลังต่อสู้อยู่ แม้อยู่ในเรือนจำ" 

"เราอยากให้กำลังใจแก่ทุกคนที่ยังทำกิจกรรมอยู่ เราเชื่อมั่นว่า การที่คุณออกมาแสดงเสียง และเรียกร้องสิทธิในเรื่องไหนก็แล้วแต่ มันสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย" แอมป์ ทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ ในเวลา 17.00 น. เป็นกิจกรรมยืน หยุด ขัง นำโดยกลุ่ม 14 ขุนพลคนของราษฎร กลุ่มทะลุแก๊ซ ก็มาดิแก๊ซ และทะลุคุก เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนที่ถูกคุมขังอย่างอยุติธรรม

กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ได้ ต้องคุ้มครองประชาชน

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ ‘ปราง’ กับ ‘ยูฟ่า’ คนรุ่นใหม่อายุ 20 ปี ซึ่งกำลังสัญจรผ่านสกายวอล์กปทุมวัน และเข้ามาดูกิจกรรมวางดอกไม้  

ยูฟ่า เผยว่า การที่เห็นคนออกมาจัดกิจกรรมทำให้เธอตระหนักว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาแม้จะผ่านมา 8 ปี เช่น เรื่องคอรัปชัน และ ม.112 ซึ่งเธอมองว่ามีการบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม และมีตัวบทกฎหมายที่คลุมเคลือ ตีความได้กว้างขวาง 

ปราง (ซ้าย) และยูฟ่า (ขวา) ประชาชนอายุ 20 ปี

ขณะที่ปราง ซึ่งเป็นเพื่อนของยูฟ่า มองว่า พอได้เห็นคนทำกิจกรรมแบบนี้ เธอดีใจที่คนรุ่นใหม่ออกมาพูดอะไรแบบนี้ ซึ่งมันเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานแล้ว 

“เห็นแล้วก็รู้สึกว่า ควรจะมีการปรับเปลี่ยน ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เข้าถึงทางรัฐได้อย่างโดยตรง แต่มันเป็นหนึ่งกระบอกเสียงที่ได้ช่วยกัน และดีใจที่ทุกคนได้ออกมามีส่วนร่วม” ปราง กล่าว

ยูฟ่า ให้ความเห็นต่อมาตรา 112 ว่า การมีกฎหมายตัวนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนทั่วไปและตัวเธอเองโดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ หรือในที่สาธารณะ 

“อย่างหนูเป็นเด็กรุ่นใหม่เหมือนกัน พอดีพ่อหนูก็มีอาชีพเกี่ยวกับ ‘military’ (กองทัพ) เหมือนกัน มันค่อนข้างที่จะยากที่จะพูดออกทางสื่อ ใครใกล้ตัวเราเห็นว่าแบบมีมาตรานี้อยู่นะ อย่าทำสื่ออย่างนี้… ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น มันทำให้เราแบบ พูดออกมาอย่างไม่มีอิสระมากพออย่างที่เราควรจะทำได้” ยูฟ่า ระบุ

ขณะที่ปรางมองประเด็นนี้ว่า โลกสมัยใหม่ที่พัฒนาไปมากแล้ว ประชาชนต้องการรับรู้ข่าวสารที่มีความเป็นจริง และมาประมวลผลว่ามันจริงหรือเท็จ การที่มีกฎหมาย 112 มันทำให้เราขาดกรอบที่จะไปถึง ณ ตรงนั้น เช่น เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ แต่กลับกัน ทั่วโลกสามารถพูดได้หมดแล้ว

“ม.112 มันเป็นการตีกรอบความคิดของคนในสังคม ที่ไม่สามารถจะแสดงสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย”

“สิทธิเสรีภาพมันเป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตย นี่คือพื้นฐานสำคัญ และตราบใดที่เราไม่สามารถพูดอะไรได้มากมายขนาดนั้นเราไม่สมควรที่จะใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ได้” ปราง กล่าวเพิ่ม 

ยูฟ่า มองด้วยว่า การมีกฎหมายแบบนี้ทำให้ไทยเหมือนกับประเทศรัสเซีย สมัยยังเป็นสหภาพโซเวียต ซึ่งสมัยนั้นรัฐบาลมีอำนาจเด็ดขาดในการคุมสื่อทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ไทยอยู่จุดเดียวกับโซเวียต ซึ่งตอนนี้มันผ่านมานานมากแล้ว ทำไมเราถึงยังไม่สิทธิที่จะพูด บอกความจริง จะมาควบคุมหรือจะมาบังคับอะไรกัน มันไม่ควรเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

สุดท้าย ปราง มองเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของ มาตรา 112 ช่วงที่ผ่านมา จนนำไปสู่การจับนักกิจกรรมหลายคนว่า จะทำให้กฎหมายหมดความศักดิ์สิทธิ์ และประชาชนจะไม่เคารพกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้

“กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ถ้าคนยังยึดมั่นในกฎหมายนั้น ปัจจุบัน เราความเหลื่อมล้ำมากมายในเรื่องของการใช้กฎหมาย ทำให้กฎหมายไม่รู้สึกว่ากฎหมายศักดิ์สิทธิ์ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกเคารพกับกฎหมายว่า มันมีไว้ทำไม มีก็ไม่สามารถปกครองตัวของประชาชนได้เอง ในเมื่อประชาชนเป็นคนที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ เพราะฉะนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้กฎหมายมันศักดิ์สิทธิ์จริงๆ อย่างที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็กๆ ไม่ใช่การที่ลิดรอนสิทธิ” ปรางกล่าว

“ขอให้เด็กรุ้นใหม่สู้ๆ และก็ช่วยกันอย่างให้มากที่สุด อนาคตต้องเปลี่ยนแปลงให้หนูเชื่ออย่างนั้น ไม่ว่าช้าหรือเร็วมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง” ยูฟ่า ทิ้งท้ายเป็นกำลังใจต่อคนรุ่นใหม่ที่กำลังสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

"ยืน หยุด ขัง"

เมื่อเวลา 17.44 น. ตี้ พะเยา หรือวรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรมรุ่นใหม่ กล่าวปราศรัยระหว่างทำกิจกรรมยืน หยุด ขัง บนสกายวอล์ก ปทุมวัน 

ตี้ กล่าวว่านักกิจกรรมทุกคนไม่สมควรถูกดำเนินคดี ม.112 เลย และกล่าวถึงผู้ต้องหาทางการเมืองที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรมในช่วงที่ผ่านมา เช่น สมบัติ ทองย้อย จากกรณีโพสต์ข้อความ กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ และสองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ที่ออกมาทำโพลขบวนเสด็จและถูกศาลตัดสินถอนประกัน 

ตี้ มองว่า สิ่งที่ทะลุวังทำคือการถามคำถามเท่านั้น ไม่มีข้อความชักจูง จงใจให้ประชาชนเกลียดสถาบันกษัตริย์ แต่พอออกมาตั้งคำถามก็ถูกใช้อำนาจปิดปาก และถามว่านี่หรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

วรรณวลี ธรรมสัตยา นักกิจกรรม

เธอกล่าวต่อว่า นักกิจกรรมไม่ควรถูกยัดคดี 112 และนักกิจกรรมไม่สมควรถูกยัดคดี ม.112 ด้วยความรู้สึกของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น 

ตี้ กล่าวต่อว่า ปัญหาของ ม.112 คือการเป็นอาวุธทำลายฝ่ายตรงข้าม เพียงแค่รู้สึกว่าสิ่งที่เขา/เธอกระทำ เป็นการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ และเธอเองสามารถใช้กฎหมาย ม.112 เล่นงานใครก็ได้เหมือนกัน แต่เธอจะไม่ทำแบบนั้น เพราะจะทำให้กฎหมายมีมลทิน และไม่ศักดิ์สิทธิ์

ขณะที่แอมป์ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา กล่าวเสริมว่า เขาขอยืนยันว่านักกิจกรรมและประชาชนทุกคนไม่ควรถูกฝากขังจากคดี ม.112 และคดีการเมืองอื่นๆ และกลุ่มนักกิจกรรมไม่เคยคิดทำกิจกรรมที่จะสร้างความเสื่อมเสียถึงขั้นทำให้สถาบันล้มลงได้ เพราะนักกิจกรรมทำกิจกรรมเรียกร้อง 3 ข้อหลักๆ เท่านั้น โดยเฉพาะข้อ 3 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ดำรงอยู่สังคมไทยได้ตามบริบทเดียวกันกับโลกสมัยใหม่ และนี่ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน

'แอมป์' ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

สุดท้าย หลายคนยังถูกฝากขังและตะวันตอนนี้ประกาศอดอาหารมานานกว่าครึ่งเดือน เพื่อเรียกร้องการประกันตัว ตอนนี้เธอไม่สามารถทรงตัวได้ตามปกติ และมีอาการเซเวลาเดิน 

“เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งลุกขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงสิ่งที่เขาสงสัย กลับถูกฝากขัง แต่เขายังยืนยันยืนหยัดที่จะต่อสู้ และเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเอง ถ้าเกิดว่าสิ่งๆ นี้ไม่สามารถส่งสัญญาณไปถึงคนในสังคมได้ มันน่าเสียใจ” แอมป์ กล่าว พร้อมระบุว่า เขาหวังว่าหลังจากนี้จะเกิดการรวมตัวของประชาชนและลุกขึ้นสู้อีกครั้งเหมือนการประท้วงเมื่อปี 2562-2564

ต่อมา ตี้ พะเยา กล่าวปราศรัยว่า มีหลายคนสงสัยว่าทำไมเธอถึงไม่ไปร่วมกิจกรรม ‘ทัวร์มูล่าเธอ’ หน้าเรือนจำคลองเปรม เธอกล่าวว่า เนื่องจากเธออยากให้มีการกระจายข่าวในวงกว้างว่ามีคนถูกฝากขังเพราะความอยุติธรรมอยู่

“เราเชื่อว่าที่สกายวอล์กแห่งนี้ มีผู้คนอีกมากได้รับรู้ว่ามีคนถูกฝากขังจากคดีนี้ เพราะอะไร เหตุใด เราไม่ได้เรียกร้องให้มวลชนมาในวันนี้ เพราะว่าเราเป็นห่วง เรามาเพื่อกระจายข่าวให้คนอีกมากที่ไม่รู้ และเราก็ไม่รู้ว่า เขาจะเปิดใจรับฟังหรือไม่ด้วย” ตี้ พะเยา กล่าว 

ตี้ พะเยา เชื่อว่า ต่อให้มีการฝากขังอีก ก็จะมีคนออกมาเรียกร้องเรื่อยๆ เพื่ออนาคตของตัวเอง ออกเพื่อประเทศนี้ด้วยตัวเอง อย่างแอมป์ ณวรรษ อัยการจะนัดส่งฟ้องจากคดี "Saveนิว มธ." และไม่รู้ชะตากรรมว่าจะถูกฝากขังหรือไม่ แต่เขาก็อยากจะออกมากระจายข่าว เพื่อให้คนได้รับรู้ถึงปัญหาในวงกว้าง

เธอระบุว่า ไม่มีใครอยากเข้าเรือนจำ หรืออยากโดนคดี แต่ถ้าไม่ออกมา ปัญหาสังคมจะไม่ได้รับการแก้ไขและจะคาราคาซัง เธอตั้งคำถามว่าทำไมต้องสู้กันมานานนับ 20-30 ปี ทำไมถึงต้องกลับมาสู้อีก และคำตอบที่เธอคิดได้ คือ พวกเราไม่เคยแก้ปัญหาที่ต้นตอเลย แต่พอพูดถึงปัญหาที่ต้นตอคืออะไร และควรแก้ปัญหายังไง ก็ถูกใช้อำนาจปิดปาก

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง ณ สกายวอล์กปทุมวัน เมื่อ 7 พ.ค. 2565

ตี้ พะเยา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคนถามว่าทำไมม็อบซาลง คนออกมาน้อยลง แต่เธอกลับมองว่า การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดประสบความสำเร็จ เนื่องจากทำให้ตุลาการที่ตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรมกลัวประชาชน ถึงขนาดต้องพยายามปกปิดชื่อตัวเองเวลาเซ็นถอนประกันตัว หรือเซ็นฝากขังนักกิจกรรม

“จงปรบมือให้ตัวเอง หน้าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีตุลาการหน้าไหนกลัวประชาชนเท่านี้มาก่อน หน้าประวัติศาสตร์ไม่เคยมีตุลาการหน้าไหนปกปิดชื่อตัวเอง เพราะเขารู้ว่าตัวเองทำผิด เขากลัวการประณามจากสังคม จำไว้นะว่าพวกสามกีบเก่งแค่ไหน ปิดชื่อให้ตาย แต่สามกีบและคนในสังคมก็สามารถขุดได้ รู้ว่าท่านเป็นใคร ท่านอาจจะยิ้มเยาะสะใจว่าท่านเองทำตามธรรมเนียม แต่ตราบใดที่ท่านก้าวออกมาจากศาล ท่านไม่ได้เป็นคนในสังคมนี้ และคนในสังคมนี้ไม่มีใครยกย่องท่าน” ตี้ พะเยา ทิ้งท้าย 

สุดท้าย แอมป์ กล่าวย้ำถึงจุดประสงค์ของกิจกรรมว่า เขาต้องเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 และเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นสังคมดี และสังคมที่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน และไม่มีใครอยากเป็นฝุ่นอีกครั้ง 

แอมป์ ขอให้ประชาชนตะโกนว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” 3 รอบ ก่อนยุติการทำกิจกรรมยืน หยุด ขัง

ภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง ณ สกายวอล์กปทุมวัน เมื่อ 7 พ.ค. 2565

บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ (7 พ.ค.) เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด

สำหรับกิจกรรมยืน หยุด ขัง โดยนักกิจกรรมทะลุคุก ทะลุแก๊ซ ก็มาดิแก๊ซ และ 14 ขุนพลคนของราษฎร จัดขึ้นเป็นประจำทุกวัน เวลา 17.00-18.00 น. โดยสถานที่ทำกิจกรรมจะแจ้งบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก 'ทะลุคุก' แต่ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเกาะกลางวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยฯ 

หมายเหตุ - มีการอัปเดตเนื้อหาเป็นปัจจุบัน เมื่อ 8 พ.ค. 2565 เมื่อเวลา 13.54 น. 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net