Skip to main content
sharethis

ศาลสงขลามีคำสั่ง ‘อีซอมูซอ’สมองบวม ขาดออกซิเจนเสียชีวิตแต่ระบุไม่ได้ว่าเกิดเพราะอะไรเนื่องจากหลักฐานไม่พอชี้ว่าทำโดยเจ้าหน้าที่ “ก้าวไกล” ชี้กระบวนการยุติธรรมที่คลุมเครือจะกระทบกระบวนการสันติภาพ “โรม” จี้กองทัพต้องพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายยุติอุ้มหายและซ้อมทรมาน

10 พ.ค.2565 Patani NOTES รายงานว่าเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายของอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร 

ศาลวินิจฉัยสาเหตุการตายว่าเป็นเพราะสมองบวม ขาดออกซิเจนในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนพฤติการณ์ที่ทำให้ตายศาลระบุว่าไม่รู้สาเหตุ เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความของครอบครัวอีซอมูซอระบุว่าคำพิพากษาวันนี้ศาลชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้ อับดุลเลาะเกิดอาการสมองบวม ขาดออกซิเจนนั้นไม่อาจบอกได้ชัดเจน แพทย์ที่ให้การในชั้นศาลระบุว่าสามารถเกิดได้หลายสาเหตุเช่นโรคดั้งเดิมหรือความเครียด ดังนั้นจึงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นผลอันเนื่องมาจากการถูกทำร้าย แม้ว่าแพทย์ที่ตรวจสุขภาพอับดุลเลาะในวันที่นำตัวเข้าศูนย์ซักถามจะระบุว่าอับดุลเลาะมีสุขภาพดีก็ตาม แต่พยานหลักฐานที่มีไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่าอาการสมองบวมที่เกิดขึ้นมาจากการขาดออกซิเจนนั้นเป็นเพราะถูกกระทำ ส่วนร่องรอยบาดแผลที่ขาก็ไม่เกี่ยวข้องกับที่สมอง

“ศาลเห็นว่าถ้าจะสรุปว่าเป็นเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีหลักฐานชัดเจนกว่านี้ ส่วนที่มีพยานฝ่ายญาติให้การเรื่องเคยถูกกระทำมาก่อน ศาลก็เห็นว่าเป็นแต่เพียงพยานหลักฐานแวดล้อม ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีนี้”

อับดุลกอฮาร์ชี้ว่า การที่หลักฐานในคดีออกมาได้แค่นี้ก็เนื่องจากทีมทนายเองก็เข้าไม่ถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษสามารถดำเนินการได้หลายอย่าง แต่เมื่อเกิดกรณีมีผู้เสียหายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กลับยึดหลักตามกฎหมายอาญาทั่วไปคือให้ฝ่ายผู้เสียหายเป็นผู้พิสูจน์จนกว่าจะสิ้นสงสัย หลักการของกฎหมายอาญาเมื่อนำมาใช้เช่นนี้ทำให้เป็นภาระผู้เสียหายในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีอำนาจมากกว่า ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงแรกฝ่ายครอบครัวแทบเข้าไม่ถึงหลักฐานต่างๆ แม้แต่ข้อมูลเรื่องใครบ้างที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคดีก็ไม่มีข้อมูล แม้จะมีการตั้งกรรมการสอบก็ไม่ได้ลงลึกแต่อย่างใด สิ่งที่ควรจะเป็นคือในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่นำหลักฐานของตนที่มีออกมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

อับดุลกอฮาร์ระบุว่า คิดเหมือนกันว่าจะออกมาแบบนี้ เขาชี้ว่าในขณะเกิดเรื่องช่วงแรก กระแสสังคมในพื้นที่ค่อนข้างแรง ผู้คนให้ความสนใจเพราะเคยมีเรื่องราวและคำบอกเล่าของคนที่ถูกกระทำมาก่อนแล้วแม้ว่าจะไม่เป็นข่าวก็ตาม แต่ผู้คนในพื้นที่รับรู้ทั่วไป ดังนั้นเมื่อมีเรื่องอับดุลเลาะสมองบวมและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงทำให้ความรู้สึกของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถูกกระตุ้นขึ้น เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็พยายามดำเนินการเพื่อลดกระแสสังคมและลดอารมณ์ของคนในพื้นที่ เช่นมีการตั้งกรรมการสอบ ส่วนฝ่ายผู้เสียหายก็เดินเรื่องร้องเรียนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรมของรัฐ

“เราไปไกลมาก เราไปร้องเรียนถึงกรรมาธิการของสภาฯ ทุกหน่วยงานเรื่องความยุติธรรมเราไปหมด เราพยายามบอกกับสังคมว่าเราพยายามเพื่อให้ได้ความเป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมมันพึ่งได้ และเรื่องความไม่เป็นธรรมมันไม่ได้เป็นประเด็นในเรื่องความขัดแย้งหรือเป็นปัญหาในกระบวนการสันติภาพ กระบวนการสันติภาพเองก็ไม่ได้แตะ ไปไม่ถึง ไม่ได้พูดเรื่องความยุติธรรมในพื้นที่ คุยกันเรื่องลดความรุนแรงและอื่นๆ แต่ประเด็นเรื่องกลไกทางกฎหมายว่าจะควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ยังไงไม่มีการคุยกัน”

ทนายอับดุลกอฮาร์ชี้ว่า ผลการไต่สวนการตายเช่นนี้น่าจะกระเทือนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของคนในพื้นที่

“มันเหมือนเป็นวงจร เราทำงานตรงนี้มานาน เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย เราใช้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทำงาน เราใช้กลไกของรัฐ อยากให้เห็นว่ามีทางออก ก็เข้าใจว่ามันยาก เพราะต้องสู้กับระบบโครงสร้างเก่าๆ แต่พอมาถึงตรงนี้เราไม่รู้ว่าจะอธิบายให้ญาติเขายังไงให้เขาเชื่อมั่น ผมคิดว่าเขาอยากรู้สาเหตุ”

รายงานข่าวระบุว่า ระหว่างสืบพยานญาติของอับดุลเลาะเบิกความกับศาลว่าเห็นร่องรอยถลอกที่ข้อเท้า แต่แพทย์ให้การกับศาลว่าเป็นแผลเก่าที่ติดตัวก่อนเข้าสู่การซักถาม อย่างไรก็ตามเรื่องมีรอยถลอกนี้ไม่ได้ระบุไว้ในบันทึกการตรวจสุขภาพวันรับเข้าสู่สถานที่คุมตัวซึ่งก็ดำเนินการโดยแพทย์รายเดียวกัน ส่วนศาลให้น้ำหนักกับคำให้การในชั้นศาลของแพทย์ที่ว่าเป็นแผลเก่า

ส่วนทางด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งศาลในวันนี้ว่า “เหมือนกลไกตุลาการยังไม่ช่วยชาวบ้านค้นหาความจริงเท่าที่ควร คำสั่งคดีไต่สวนการตายวันนี้ได้ความจริงเท่ากับที่เคยได้จากแพทย์มาตั้งแต่วันเกิดเหตุที่ค่ายอิงคยุทธบริหารว่า นายอับดุลเลาะสมองบวมจากการขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลที่สงขลาในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่ญาติและสาธารณชนต้องการคำตอบคือ มีใครทำให้นายอับดุลเลาะขาดอากาศหายใจจนสมองบวมหรือไม่ ซึ่งการไต่สวนของศาลเป็นเวลาสองปีไม่ได้ให้คำตอบนี้ แล้วญาติต้องไปร้องเรียนที่ไหนอีก และใครต้องรับผิดชอบต่อการควบคุมตัวของรัฐจนทำให้นายอับดุลเลาะเสียชีวิตในค่ายทหาร”

“ก้าวไกล” ชี้ความคลุมเครือในกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอุปสรรคสร้างสันติ

รอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานยุทธศาสตร์และนโยบายชายแดนใต้/ปาตานี พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีศาลมีคำสั่งคดีไต่สวนการตาย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ว่า สาระของคำสั่งยังไม่อาจให้ความกระจ่างถึงสาเหตุการตายได้ ยังมีข้อเท็จจริงแวดล้อมที่น่ากังขาหลายประเด็น รวมไปถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงหลักฐาน โดยเฉพาะบันทึกกล้องวงจรปิดในสถานที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตาม ผลการไต่สวนที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ได้แตกต่างไปจากคำแถลงที่มีมาก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะใช้เวลาถึงสองปี

"กรณีนี้ยังคงต้องติดตามต่อไป เพราะทางญาติกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการดำเนินการฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในคดีทางแพ่งหรือไม่ คำสั่งของศาลในวันนี้ถือเป็นก้าวแรก ๆ ของเส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงถามความจริงและความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีผลต่อเฉพาะกรณีของอับดุลเลาะเท่านั้น แต่จะเป็นการต่อสู้ที่จะวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปะทะกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแพร่ระบาดและซึมลึกในสังคมไทย"

รอมฎอน ยังระบุอีกว่า กรณี อับดุลเลาะ เป็นหนึ่งในกรณีที่มีการหยิบยกมากล่าวถึงอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาที่สังคมไทยเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีตัวบทกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามพฤติกรรมที่ไร้มนุษยธรรมอย่างการบังคับสูญหายและการซ้อมทรมาน

"กรณีของ อับดุลเลาะ ถูกปักหมุดเอาไว้ในแผนที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการหยุดยั้งไม่ให้เกิดการใช้อำนาจข่มเหงประชาชนตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย กรณีนี้ยังเผยให้เห็นข้อกังขาต่อการใช้อำนาจที่เกินเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในทางปฏิบัติที่ปกป้องคุ้มกันเจ้าหน้าที่ให้ลอยตัวพ้นไปจากภาระความรับผิดชอบที่ควรจะเป็น "

รอมฎอน กล่าวอีกว่า สำหรับคำสั่งศาล แม้ผลที่ออกมาจะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ไม่อาจไขปริศนาการตายได้ แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมที่ติดตามและรับรู้ความคืบหน้าล่าสุดนี้จะไม่ได้คาดหวังว่าคำสั่งศาลจะสามารถชี้ไปถึงสาเหตุการตายในค่ายทหารของอับดุลเลาะได้อย่างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตความเชื่อมั่นต่อกองทัพและสถาบันตุลาการในสังคมวงกว้างไม่เพียงเกิดแต่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เผชิญความรุนแรงทางการเมืองมาเกือบ 20 ปี

รอมฎอน ทิ้งท้ายว่า สิ่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า การสร้างสันติภาพที่จะคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้โดยความเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่ายยังคงเป็นเรื่องลำบากยากเย็น แม้ว่าเราจะมีกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าความไม่เป็นธรรมในแต่ละกรณีจะถูกให้น้ำหนักที่มากพอ ที่สำคัญความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนจะมีต่อรัฐคือฐานสำคัญการแสวงหาทางออกและความชอบธรรมของอำนาจรัฐ หากความเชื่อมั่นเหล่านี้พร่องลงไป ผู้คนจะยอมรับอำนาจรัฐน้อยลงไปตามกัน

"แต่ดูเหมือนว่าการสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอำนวยความยุติธรรมในฐานะที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐเองนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเสียเอง กรณีของ อับดุลเลาะ เป็นข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าหากจะมุ่งคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้อย่างจริงจัง ต้องอาศัยความกล้าหาญและเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยอย่างถึงที่สุดในการที่จะขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เปิดเผยความจริงและทำให้งานความมั่นคงโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะปูทางไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป" รอมฎอน ระบุ

“โรม” จี้กองทัพต้องประกาศจุดยืนพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายยุติอุ้มหายและซ้อมทรมาน

รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยสรุปว่าตายเพราะสมองบวม ขาดออกซิเจน และหัวใจหยุดเต้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการที่นำไปสู่การตาย เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ไปไม่ถึงจุดที่จะให้สรุปได้ว่าเป็นการถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่

รังสิมันต์ กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลจากทนายความผู้แทนของครอบครัวอีซอมูซอ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้มีหลักฐานในคดีออกมาเพียงเท่านี้ เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษสามารถดำเนินการได้หลายอย่าง เมื่อฝ่ายผู้เสียหายเสียชีวิตในระหว่างการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้พิสูจน์จนกว่าจะสิ้นสงสัย ทำให้เป็นภาระผู้เสียหาย จึงแทบเข้าไม่ถึงหลักฐานต่างๆได้เลย แม้แต่ข้อมูลว่ามีใครบ้างเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่สามารถทราบได้

“ซึ่งใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับที่ผ่านการปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ วาระ 3 เมื่อเดือน ก.พ. 65 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มเติมกลไกต่างๆ ที่จะตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นในค่ายทหาร แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้เพิ่งจะผ่านสภา แต่ก็อยากให้กองทัพนำแนวปฏิบัติของกฎหมายมาใช้ทันที โดยใช้ย้อนหลังกับคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในค่ายของกองทัพด้วย เพื่อยืนยันว่า จากนี้ไปพวกท่านจะเป็นกองทัพที่ปกป้องและไม่ละเมิดประชาชนเสียเอง”

ทั้งนี้ รังสิมันต์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีหลายส่วนที่จะคุ้มครองประชาชนได้มากขึ้น เช่น หมวดที่ 2 ว่าด้วยการมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อำนาจหน้าที่ด้านหนึ่งคือ ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน และตรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวหรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวโดยพลันเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด

หรือ หมวดที่ 3 ว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดให้ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที ส่วนในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งคณะกรรมการฯ ทราบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว ญาติ ผู้แทนหรือทนายความ หรือคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ เช่น ชื่อ นามสกุล หรือตำหนิรูปพรรณของผู้ถูกควบคุมตัว วัน เวลาและสถานที่ของการถูกควบคุมตัว รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการควบคุมตัว คำสั่งที่ให้มีการควบคุมตัว เหตุแห่งการออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกคำสั่ง ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งก่อนถูกควบคุมตัวและก่อนการปล่อยตัว และในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตายระหว่างการควบคุมตัว จะต้องระบุถึงสาเหตุแห่งการตายและสถานที่เก็บศพด้วย

รังสิมันต์ กล่าวว่า ยังมีข้อกำหนดอีกหลายประการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะช่วยเพิ่มการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจเป็นที่ลึกลับอย่าง หน่วยงานทหาร ให้มีความโปร่งใส ลดความเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานหรือกระทำมิชอบอื่นๆ ได้

“ผมเห็นช่วงนี้กองทัพขยันออกมาประกาศจุดยืนกันทุกเหล่าทัพ จึงอยากให้กองทัพช่วยประกาศจุดยืนอีกสักเรื่องว่า จะสนับสนุนและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยุติการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ฉบับนี้ รวมถึงเปิดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายในอดีตที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝีมือทหาร ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดให้ดำเนินการได้ด้วย ทั้งนี้ไม่ถือเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเนื่องจากไม่มีการพิจารณาคดีและพิพากษาโทษ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ ผมเชื่อมั่นหากท่านทำจะส่งผลดีในหลายด้าน ไม่ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ และผมเชื่อจริงๆโดยบริสุทธิ์ใจว่า จุดยืนในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่าการประกาศแบนลาซาด้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจัดการความขัดแย้งที่ชายแดนใต้นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระบวนการยุติธรรมและบทบาทของกองทัพ คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net