Skip to main content
sharethis

ศาลอาญานัดไต่สวนคดีกรณีกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องปิดกั้นคลิปเพลง ‘ปฏิรูป’ ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนเว็บไซต์ยูทูป อ้างเนื้อหาไม่เหมาะสม เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และมีเมนต์ใต้คลิปเพลงพาดพิงถึงกษัตริย์เป็นจำนวนมาก ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 7 ก.ค. 2565

 

12 พ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนกรณีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง Rap Against Dictatorship (R.A.D.) บนเว็บไซต์ยูทูป โดยผู้ร้องอ้างว่ามีเนื้อเพลงไม่เหมาะสม เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และคอมเมนต์ใต้คลิปเพลงพาดพิงสถาบันกษัตริย์จำนวนมาก หลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ในคดีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ระงับการเผยแพร่ URLs คลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. บนเว็บไซต์ยูทูป จากนั้น ศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 25 พ.ย. 2563 ให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ URLs ดังกล่าว โดยเป็นการไต่สวนฝ่ายผู้ร้องฝ่ายเดียว ซึ่งฮอคกี้ – เดชาธร บำรุงเมือง ศิลปินวง R.A.D. และเจ้าของบัญชียูทูปไม่เคยรับทราบ กระทั่งต้นปี 2564 พบว่าคลิปวิดีโอเพลงดังกล่าวถูกปิดกั้นการเข้าถึง โดยมีข้อความระบุว่า “วิดีโอนี้ไม่สามารถเข้าถึงได้จากโดเมนในประเทศเนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล”

ฮอคกี้ เดชาธร ตัวแทนวง R.A.D. และทนายความจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าว เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปิดกั้นการเข้าถึงคลิปเพลงปฏิรูป พร้อมทั้งยืนยันว่าคำร้องให้ระงับการแพร่หลายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาฝ่ายเดียว ฝ่ายผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นศิลปินเจ้าของผลงาน ไม่มีโอกาสได้โต้แย้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่เพลง “ปฏิรูป” และได้นัดไต่สวนคำร้องให้ปิดกั้น URLs เพลงดังกล่าวตามคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ อีกครั้ง

คลิปเพลง “ปฏิรูป” ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูป เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2563 มีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาทางการเมือง วิจารณ์การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม โดยก่อนถูกปิดกั้นมียอดผู้ชมกว่า 9 ล้านครั้ง  

ศาลไต่สวนกระทรวงดิจิทัลฯ ร้องปิดเพลง “ปฏิรูป” อ้างเนื้อเพลง-คอมเมนต์ใต้คลิปไม่เหมาะสม

ณ ห้องพิจารณาคดี 707 ตัวแทนผู้ร้องจากกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้คัดค้าน และทนายความมาศาล โดยการไต่สวนครั้งนี้มีพยานเข้าเบิกความทั้งหมด รวม 3 ปาก เป็นพยานผู้ร้อง 2 ปาก ได้แก่ นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ และนางสาวปริญญา ก้อยจะบก พยานผู้คัดค้าน 1 ปาก ได้แก่ นายเดชาธร บำรุงเมือง 

การไต่สวนครั้งนี้ ทั้งพยานผู้ร้องและพยานผู้คัดค้านได้ยื่นเอกสารคำเบิกความต่อศาลแทนการเบิกความทั้งหมด การไต่สวนในวันนี้จึงเหลือเพียงการถามค้าน-ถามติงของผู้ร้องและทนายฝ่ายผู้คัดค้านเท่านั้น

พยานผู้ร้องปากที่ 1 ปริญญา ก้อยจะบก (ตัวแทนผู้ร้อง) 

พยานตอบทนายผู้คัดค้านว่า ปัจจุบันพยานรับราชการ อยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ มีหน้าที่ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 

ในคดีนี้พยานได้รับแจ้งว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนสื่อโซเซียลมีเดียล จำนวน 2 URLs ซึ่งได้แก่ คลิปมิวสิควิดีโอเพลง “ปฏิรูป”บนเว็บไซต์ยูทูป และอีกกรณีเป็นข้อความไม่เหมาะสมบนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นของผู้อื่นไม่ใช่ของผู้คัดค้าน จากนั้นพยานได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ระงับการเผยแพร่เนื้อหาทั้ง 2 URLs ดังกล่าว

พยานไม่ใช่ผู้ตรวจสอบเนื้อหาเพลง เป็นเพียงผู้ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลระงับการเผยแพร่เนื้อหาเท่านั้น เนื่องจากมิวสิควิดีโอเพลงปฏิรูปมีเนื้อหาเพลงที่ ‘ไม่เหมาะสม’

ในกระบวนการยื่นคำร้อง กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด โดยหลังจากศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้น URLs คลิปเพลงดังกล่าวก็ถูกปิดกั้นเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ แม้ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงคลิปเพลงตาม URLs เดิมได้ โดยพยานอ้างว่าได้แจ้งไปยัง YouTube เพื่อให้ยกเลิกการระงับการเผยแพร่ตามที่ศาลมีคำสั่งแล้ว

พยานไม่รู้จักผู้คัดค้านซึ่งเป็นศิลปินเจ้าของเพลงปฏิรูปนี้ พยานไม่ทราบว่าหน้าเว็บไซต์บัญชียูทูปของผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นบัญชีที่เผยแพร่เพลงปฏิรูปนั้นมีการเขียนอธิบายประวัติศิลปินเจ้าของเพลง รวมถึงช่องทางการติดต่ออื่นๆ เช่น อีเมล ที่อยู่ เบอร์โทร เป็นต้น

พยานได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องในคดีนี้กับผู้คัดค้านเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ไปดำเนินการทางกฎหมายใดๆ กับผู้คัดค้านอีก และไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารในคดีนี้ทั้งหมด แต่ก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาลได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาในเอกสารทั้งหมดและทำการเปรียบเทียบเนื้อหาเพลงบนเว็บไซต์ YouTube ตาม URLs ที่ได้รับการร้องเรียนแล้ว

จากนั้นทนายผู้คัดค้านได้เปิดคลิปเพลงปฏิรูปเพื่อให้พยานตรวจสอบ 2 ช่วงนาทีด้วยกัน ซึ่งพยานได้กล่าวอ้างว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

ทนายความถามว่าเนื้อเพลงทั้งหมดของเพลงปฏิรูป ไม่มีคำว่า “กษัตริย์” เลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “จำไม่ได้” ทนายถามอีกว่าเนื้อเพลงที่อ้างไม่ได้มีการระบุว่าเป็นชื่อของผู้ใดโดยเฉพาะใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” และตอบเพิ่มเติมว่าแต่ก็สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าเป็นรัชกาลปัจจุบัน

พยานทราบว่าเมื่อมีผู้มารับชมผลงานวิดีโอในแพลตฟอร์มยูทูป เจ้าของบัญชีที่เผยแพร่วิดีโอนั้นก็จะได้รับค่าตอบแทนไปด้วยและพยานเห็นด้วยกับทนายผู้คัดค้านว่า ถ้าวิดีโอที่ถูกเผยแพร่บนยูทูปมียอดผู้ชมจำนวนมากก็จะถูกค้นพบง่ายกว่าวิดีโอที่มียอดเข้าชมน้อย

ขณะพยานดำเนินการยื่นคำร้องในคดีนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ไม่ได้ประกาศแจ้งต่อสาธารณชนว่าได้ดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับใครบ้างและเนื้อหาใดบ้าง

พยานรู้จักแอพพลิเคชั่น JOOX แต่ไม่ทราบว่าเพลงปฏิรูปถูกเผยแพร่อยู่ในแอพดังกล่าวด้วย และไม่ทราบว่าเนื้อเพลงบนแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะตรงกันกับเนื้อเพลงที่ถูกเผยแพร่บนยูทูปหรือไม่ อีกทั้งพยานไม่ได้ทำการตรวจสอบความตรงกันของเนื้อหาเพลงที่ถูกเผยแพร่อยู่บนยูทูป กับเพลงที่ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นอื่น สุดท้ายพยานไม่ได้เป็นผู้แกะเนื้อเพลงตามเอกสารที่ได้ส่งศาลไป แต่เป็นเจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นผู้จัดทำ

พยานปากที่ 2 สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ (ตัวแทนผู้ร้อง)

พยานตอบทนายผู้คัดค้านว่า พยานรับราชการอยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในตำแหน่งผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ มีหน้าที่กำกับดูแล ให้ข้อมูลแก่ตำรวจ และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม คดีนี้พยานได้รับร้องเรียนว่าเนื้อเพลงมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม จึงส่งให้เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น พยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบด้วยตัวเอง 

การจะเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องได้รับการแต่งตั้งในประกาศราชกิจจานุเบกษา การดำเนินการยื่นคำร้องขอระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อศาลนั้น พยานจะพิจารณาดูจากเนื้อหาเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของเนื้อหาดังกล่าว

ขณะพยานดำเนินการขอให้ศาลปิดกั้นเนื้อหา พยานไม่ได้แจ้งให้เจ้าของเนื้อหาทราบเลย ทั้งไม่ทราบว่าเจ้าของเนื้อหาเป็นผู้ใด จนกระทั่งผู้คัดค้านยื่นเพิกถอนคำสั่งต่อศาลนี้

ขณะพยานดำเนินการตรวจสอบเพื่อขอให้ศาลปิดกั้น URLs นั้น ไม่ทราบว่าวิดีโอเพลงปฏิรูปมียอดจำนวนผู้เข้าชมและผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นเท่าใด พยานไม่ได้ตรวจสอบดูทุกความคิดเห็นใต้วิดีโอเพลงปฏิรูป ทนายผู้คัดค้านถามว่า การกระทำตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องดำเนินการโดยระมัดระวังเพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพใช่หรือไม่ พยานตอบเห็นด้วย 

ทนายผู้คัดค้านถามว่า “หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งระงับการเผยแพร่ URLs วิดีโอเพลงปฏิรูป พยานได้ดำเนินการแจ้งกับผู้ให้บริการเว็บไซต์เพื่อให้กลับมาเผยแพร่วิดีโอเพลงตาม URLs เดิมหรือไม่” ในการตอบครั้งแรกพยานตอบว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” จากนั้นพยานกลับคำให้การใหม่ว่า “ ได้แจ้งทางยูทูปให้กลับมาเผยแพร่แล้ว แต่ในขณะนี้ในประเทศไทยยังเข้าถึง URLs ดังกล่าวไม่ได้ 

พยานทราบว่าเจ้าของผลงานวิดีโอบนเว็บไซต์ยูทูป จะได้รายได้จากยอดเข้าชมวิดีโอ พยานไม่ได้ตรวจสอบว่ามีเพลงปฏิรูปปรากฏอยู่บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นอื่นอีกหรือไม่ 

พยานเห็นด้วยว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นใต้คลิปเพลงปฏิรูปนั้นป็นผู้อื่น ไม่ใช่เจ้าของผลงานหรือผู้คัดค้านในคดีนี้ และที่พยานเห็นว่าเป็นเนื้อเพลงที่ไม่เหมาะสมนั้น ไม่ใช่ความเห็นของพยานแต่เพียงคนเดียว แต่พยานได้สอบถามหลายคนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน

พยานไม่ได้ให้ “นักภาษาศาสตร์” ตรวจสอบดูข้อความซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมของคนทั่วไปที่ได้แสดงความเห็นไว้ใต้คลิปเพลงปฏิรูปว่าไม่เหมาะสมอย่างไร ปกติแล้วเมื่อพยานได้รับแจ้งว่ามีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม พยานจะแจ้งเจ้าของเว็บไซต์ให้ลบวิดีโอต้นเรื่อง ไม่ใช่ลบข้อความที่มีการแสดงความคิดเห็น

พยานบอกว่าตามหนังสือคำเบิกความที่ส่งศาลไปนั้น พยานได้ยกตัวอย่างข้อความที่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทำนองไม่เหมาะสมใต้คลิปเพลงปฏิรูป โดยทั้ง 10 การแสดงความคิดเห็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น แม้จะไม่ได้เป็นข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 แต่ก็เป็นข้อความที่สื่อความหมายและเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

พยานไม่ได้ตรวจสอบว่า ผู้ที่มาแสดงความคิดเห็นข้างต้นทั้ง 10 ตัวอย่างที่ยกมาเป็นผู้ใดบ้าง ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จริง พยานจะดำเนินการแจ้งความตามมาตรา 112 โดยตรง

นอกจากคดีนี้พยานไม่ได้ดำเนินคดีอื่กับผู้คัดค้านจากเหตุเพลงปฏิรูปอีก พยานไม่ได้มีการประกาศการระงับการเผยแพร่เนื้อหาตาม URLs ไม่ว่ากรณีใดๆ อย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน พยานอ้างว่าเมื่อเนื้อหาถูกปิดกั้นและเข้าไปยัง URLs นั้นก็จะทราบได้ทันทีจากข้อความที่เจ้าของเว็บไซต์แจ้งไว้ 

พยานปากที่ 3 เดชาธร บำรุงเมือง (ผู้คัดค้าน) – ก่อนเพลงถูกปิดกั้นมียอดวิวกว่า 9 ล้าน ชี้ตรวจดูทุกเมนต์ไม่ได้เพราะคนเมนต์เยอะเป็นปกติ ถ้ากระทรวงดิจิทัลฯ แจ้งคอมเมนต์ไหนไม่เหมาะสมตนยินดีลบให้ แต่ไม่เคยได้รับแจ้งเลย  

เดชาธร บำรุงเมือง เบิกความในฐานะผู้คัดค้านว่า ก่อนที่วิดีโอเพลงปฏิรูปของตนจะถูกระงับการเผยแพร่และปิดกั้นการเข้าถึงนั้น คลิปเพลงมียอดผู้เข้าชมประมาณ 9 ล้านกว่าครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 10,000 ครั้งขึ้นไป ในบัญชีเว็บไซต์ YouTube ของผู้คัดค้านนอกจากจะเผยแพร่วิดีโอเพลงปฏิรูปแล้ว ยังมีคลิปวิดีโออื่นๆอีกประมาณ 15 ชิ้น โดยเพลงที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดคือมิวสิควิดีโอเพลงที่ชื่อ “ประเทศกูมี” มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดประมาณ 100,000,000 ครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 100,000 ครั้ง

ผู้คัดค้านเป็นผู้ดูแลบัญชียูทูปดังกล่าวแต่เพียงคนเดียว หากจะให้ตรวจสอบดูข้อความที่มีผู้มาแสดงความคิดเห็นทั้งหมดก็คงจะทำไม่ได้ แต่หากได้รับแจ้งว่ามีคอมเม้นต์ที่ไม่เหมาะสม ก็ยินดีจะลบให้ในทันที แต่ในคดีนี้ไม่มีการติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด

 

หลังดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net