ชำนาญ จันทร์เรือง: นายกฯ รักษาการยุบสภาได้หรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คอการเมืองทั้งหลายต่างลงความเห็นกันว่าอย่างไรเสียรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ครบวาระอย่างแน่นอน แต่จะอยู่ได้นานขนาดไหน หรือมีอันเป็นไปด้วยเหตุอะไรนั้นก็เป็นไปได้หลายทาง คือ 

1.อยู่จนเกือบครบวาระแล้วยุบสภาฯ เพราะหากครบวาระจะทำให้ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาฯ สิ้นอายุ (รธน.ม. 102)และผู้ที่สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่หากยุบสภาจะทำให้มีระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 45-60 วัน (รธน.ม. 103) และ ผู้ที่จะสมัคร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองลดลงเหลือเพียงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำให้สะดวกต่อการย้ายพรรค แต่หากอยู่จนครบวาระคือ 23 มีนาคม 2566 จะทำเช่นว่านี้ไม่ได้

2.ยุบสภาภายในปี 2565 นี้ ซึ่งอาจจะเป็นก่อนการยื่นเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะมีการลงมติด้วย เพราะหากมีการยื่นฯ แล้วจะยุบสภาไม่ได้ และมีโอกาสที่จะถูกน็อกได้เหมือนกัน แม้ว่าโอกาสจะน้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ หรือหากยืดออกไปอีกหน่อยหนึ่งคือชิงยุบสภาก่อนวันที่ 24 สิงหาคมซึ่งเป็นเดือนที่ครบวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ได้กังวลในประเด็นนี้เท่าไหร่ ซึ่งหากเลยช่วงระยะนี้ไปแล้วก็คงอยู่ยาว

3.ลาออก ซึ่งประเด็นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เว้นเสียแต่ว่าเกิดเหตุการณ์พิเศษที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เมื่อยุบสภาหรือถูกมติอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือลาออกก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีจะต้องทำหน้ารักษาการต่อไป (เว้นเสียแต่จะสละสิทธิเช่นสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังเหตุการณ์พฤษภา 35) ข้อสงสัยที่ตามมาก็คือประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการจะยุบสภาได้หรือไม่ซึ่งเราต้องมาดู

1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 และ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 41 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 151 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
เมื่อได้มีการเสนอญัติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ...

มาตรา 167 วรรคหนึ่ง รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตำแหน่งเมื่อ

(1)ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170

(2)อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(3)คณะรัฐมนตรีลาออก

(4)พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามาตรา 144 (การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดทำโคงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญบัญว่าด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ -ผู้เขียน)

มาตรา 168 ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) (2) หรือ (3) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง)นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

(2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (4) คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ตาม (2) หรือคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปลาออกทั้งคณะ และเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือยังดำเนินการตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ไม่แล้วเสร็จ ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

มาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

กล่าวโดยสรุปก็คือนายกรัฐมนตรีที่จะต้องรักษาการฯ มีอำนาจเต็มทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงมี ยกเว้นตามข้อห้ามในมาตรา 168 และ 169  และการห้ามยุบสภาปรากฏในรัฐธรรมนูญเพียงในช่วงระยะเวลาที่มีการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 และนายกฯ รักษาการในกรณีของการยุบสภาเพราะไม่มีสภาให้ยุบแล้วเท่านั้น ฉะนั้น นายกฯ รักษาการจึงมีอำนาจเต็มเหมือนตัวจริง ทุกอย่างรวมถึงการยุบสภาฯ ก็ย่อมกระทำได้อย่างแน่นอน ส่วนว่าจะเหมาะสมหรือไม่ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

อ้อ นายกฯ รักษาการกับรักษาการนายกฯ นั้นไม่เหมือนกันนะครับ เพราะนายกฯ รักษาการ คือการพ้นจากตำแหน่งแล้วนายกฯ คนเดิมยังทำหน้าที่รักษาการต่อไป ส่วนรักษาการนายกฯ คือนายกฯ คนเดิมไม่อยู่ เดี้ยงหรือไม่มีแล้ว คนอื่นมาทำหน้าที่รักษาการแทนคนเดิมน่ะครับ

เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท