Skip to main content
sharethis

ประมวล 8 ปีความพยายามต้านรัฐประหารและลบล้างผลพวงหลังจากนั้น ที่ยังไม่จบ ตั้งแต่หาทางออกในระบบอย่างการเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว, เปิดศึกชิงคูหา-ฝ่าดงตีนไปเลือกตั้ง 2 กุมภา, ชุมนุมค้านกฎอัยการศึก, เมื่อเกิดรัฐประหารประชาชนต้านทันที, บางส่วนขัดคำสั่ง รายงานตัวของ คสช., 'พลเมืองฟ้องกลับ' เอาผิดประยุทธ์และพวกข้อหากบฏ รณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญ คสช. จนถึงร่าง รธน.ฉบับใหม่ เป็นต้น

 

22 พ.ค.2565 เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี การรัฐประหารของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และต่อมายังดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหลังได้เสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองและ ส.ว. 250 เสียง ที่ คสช.แต่งตั้งเองมากับมือ รวมทั้งเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญ 60 ถือได้ว่าระบอบรัฐประหารยังไม่หายไปไหน หากแต่มันยังอยู่ในรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองที่ถูกออกแบบโดย คสช.ผ่านรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ต่อรัฐธรรมนูญ 60 นั้น ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มราษฎร ซึ่งมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากนายกฯ แก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัติรย์ โดยเฉพาะการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีทั้งเสนอแก้ทั้งฉบับและแก้รายมาตรา จากหลายกลุ่ม โดย เช่น มีการล่ารายชื่อเสนอต่อสภาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญโดยให้เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)มาจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ถูกสภาโหวตคว่ำในวาระที่ 3 เมื่อมี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนรายมาตรานั้น เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว สภาผ่านวาระ 3 แก่รัฐธรรมนูญให้มีการปรับแก้เป็นให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ขณะนี้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ....) พ.ศ….. เพื่อลงรายละเอียดหลังแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมาคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ นำ 70,500 รายชื่อประชาชน เข้ายื่อนต่อประธานสภาแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ในช่วงนี้ เป็นต้น

การรัฐประหาร 57 ที่ถูกองค์กรต่างๆ พยายามบีบให้การเมืองในระบบมาสู่ทางตัดและเปิดทางให้ คสช. เข้ามา ทั้งการบอยคอตการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ของพรรคประชาธิปัตย์ การปิดคูหาเลือกตั้งหลายพื้นที่ของ กปปส. ขณะนั้น ซึ่งภายหลัง นสพ.บางกอกโพสต์ รายงานว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม กปปส. ได้ให้คำแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และวิธีการโค่นล้มระบอบทักษิณตั้งแต่ปี 53 แม้หลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 จะมีบางพื้นที่จะถูกปิดคูหาจากกลุ่มต่อต้าน แต่ก็มีผู้มาใช้สิทธิถึง 20 ล้านคน หรือ47.72% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงความพยายามเลือกตั้งซ่อมในบางพื้นที่ แต่ต่อมา 21 มี.ค.57 ศาลรัฐธรรมนูญกลับมีมติ 6:3 เสียงให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยอ้างว่าไม่ได้มีการเลือกตั้งวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ขณะที่ กปปส.ยังชุมนุมกดดัน กับสภาพรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่แทบไม่เหลืออำนาจสั่งการกลไกรัฐต่างๆ ทหารได้เข้ามายึดพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และ 2 วันก่อนรัฐประหารพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร พร้อมกับกองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ปิดควบคุมสื่อ ก่อนเชิญแกนนำฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน กลุ่ม กปปส.และกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนรัฐบาล เพื่อหาทางออก แต่อ้างการประชุมไม่เป็นผลจึงรัฐประหารเย็นวันที่ 22 พ.ค.57 พร้อมคุมตัวแกนนำที่มาประชุมทั้งหมด

ในโอกาส 8 ปีรัฐประหารนี้หลายที่รำลึกรัฐประหารครั้งนั้นแล้ว หากแต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือความพยายามต่อต้านรัฐประหารทั้งก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 หลังวันนั้นรวมทั้งต่อต้านผลพวงของการรัฐประการอย่างการร่างรัฐธรรมนูญและทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 60 โดยมีปรากฏการที่น่าสนใจดังนี้

 

 

เครือข่ายนักวิชาการตั้ง สปป. หนุนพื้นที่ประชาธิปไตย ค้านทหารแทรกแซงการเมือง

10 ธ.ค.2556 สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ก่อตั้งโดยเครือข่ายนักวิชาการ กว่า 150 คน อ่านแถลงการณ์ โดยมีจุดร่วมเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย

  • กลุ่มนักวิชาการตั้ง 'สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย' เห็นต่างข้อเสนอ กปปส.-ทปอ. (แถลงการณ์เต็ม) https://prachatai.com/journal/2013/12/50321

เสื้อแดง-นักเคลื่อนไหวตั้งพรรคทางเลือก

หลังจากยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาวันที่ 9 ธ.ค.56 เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 นอกจากพรรคการเมืองเก่าๆ เช่น พรรคเพื่อไทย แล้ว นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็รวมตัวกันตั้งพรรคขนาดเล็กขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกตั้ง เช่น 13 ธ.ค.56 มีการจัดแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ของคนเสื้อแดงชื่อ “พรรคพลังประชาธิปไตย” (Democratic Force Party – DFP)  นำโดย ประแสง มงคลศิริ ประธานที่ปรึกษาพรรค จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาพรรค และ สุรชาติ เวชกามา แกนนำ นปช.ยโสธร ในฐานะหัวหน้าพรรค ชู 4 นโยบายเบื้องต้น คือ สร้างรัฐสวัสดิการ ต่อต้านคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น จัดสรรทรัพยากรของประเทศใหม่และการกระจายอำนาจการปกครอง โดยสร้างพรรคให้เป็นพรรคมวลชน มีการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิกในอัตราก้าวหน้าตามรายได้ พร้อมลงเลือกตั้ง 2 ก.พ.

  • ‘จิตรา-ประแสง’เปิดพรรคใหม่ ชูรัฐสวัสดิการ ต้านคอรัปชั่น กระจายอำนาจ https://prachatai.com/journal/2013/12/50435

กลุ่มพอกันที “จุดเทียนเขียนสันติภาพ”

27 ธ.ค.2556 กลุ่มประชาชนประมาณ 80 คน รวมตัวกันที่หน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ จากการนัดหมายกันทางเฟซบุ๊กภายใต้ชื่อกิจกรรม “พอกันที! หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง!” เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงอันเกิดจากการปลุกปั่นของแกนนำ กปปส. และเครือข่าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง เสนอให้ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ ซึ่งถือเป็นทางออกที่สันติและเสมอภาค

หลังจากนั้นกลุ่มพอกันทีก็ดำเนินการจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อเนื่องจนมาผู้ร่วมกิจกรรม “จุดเทียนเขียนสันติภาพ” จำนวนมากและขยายไปตามพื้นที่และกลุ่มต่างๆ

  • ประชาชนชุมนุมจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตวอนหยุดความรุนแรง เดินหน้าเลือกตั้ง https://prachatai.com/journal/2013/12/50764

ศึกชิงคูหา-ฝ่าดงตีนไปเลือกตั้ง

ตั้งแต่ 26 ธ.ค.56 ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร หรือสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มีการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการจับสลากหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่กลับมีแนวร่วม กปปส.อย่าง เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เดินทางมาสกัดกั้นจนนำมาสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย

1 ก.พ.57 ก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน เกิดเหตุเผชิญหน้ากันของกลุ่ม นปช. กับกลุ่ม กปปส. หรือที่เรียกกันว่าศึกชิงคูหาหลักสี่ บริเวณใกล้ห้างไอทีสแควร์ หลักสี่ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย และหนึ่งในนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาคือ  อะแกว แซ่ลิ้ว วัย 72 ปี โดยในเหตุการณ์นั้นยังมีภาพจำจากฝั่ง กปปส. คือ มือปืนป๊อบคอร์น ที่นำปืนใส่ถุงกระสอบป๊อบคอร์นยิงใส่อีกฝ่าย

การเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้ง 2 ก.พ. มีความพยายามปิดคูหาเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. หลายพื้นที่ ทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเผชิญความยากลำบากในหารเข้าคูหา จนปรากฏภาพการปะทะคารมกัน หรือภาพจำอย่าง ‘ป้าไฟฉาย’ ที่ถือไปฉายมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขณะที่ กปปส.พยายามขัดขวางความพยายามเข้าไปใช้สิทธิฯ

  • ประมวลภาพ: สถานการณ์ปะทะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง https://prachatai.com/journal/2013/12/50673
  • ศึกชิงคูหาเลือกตั้งระอุแล้วที่หลักสี่ เสียงดังคล้ายระเบิด-ยิง เจ็บหลายราย https://prachatai.com/journal/2014/02/51559
  • คลิปวิดีโอ ‘ป้าไฟฉาย’ ฝ่าม็อบไปเลือกตั้ง และบรรยากาศที่ ร.ร.เซนต์จอห์นโปลีเทคนิค https://prachatai.com/journal/2014/01/51440

เสื้อแดงชุมนุม ถ.อักษะ

5 เม.ย.57 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมใหญ่ที่ถนนอักษะ พุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา แสดงพลังคัดค้าน กปปส. เรียกร้องให้เคารพการเลือกตั้ง 2 ก.พ.

ชุมนุมค้านกฎอัยการศึก – การบุกเดี่ยวของ ‘ลีน่า จัง’

20 พ.ค.57 ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึก เย็นวันเดียวกัน นักกิจกรรมนัดรวมตัวผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ จัดกิจกรรมต่อต้านและคัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ก่อนรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง วันที่ 22 พ.ค. ‘ลีน่า จัง’ หรือลีนา จังจรรจา บุกเข้าไปหา พล.อ.ประยุทธ์ ที่สโมสรกองทัพบก วิภาวดี ในช่วงบ่าย เพื่อทวงคืนสถานีของเธอที่ถูกสั่งปิด ก่อนที่จะมีประกาศยึดอำนาจโดย คสช. ในเย็นวันเดียวกันนั้น

ปชช.ต้านรัฐประหารทันที

22 พ.ค.57 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหาร รวม 16.30 น. จากนั้นเวลา 17.00น.ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  ประชาชนและนักวิชาการราว 30-40 คน ซึ่งเดิมนัดรวมตัวต้านการประกาศกฎอัยการศึก แต่หลังทราบข่าวการรัฐประหารจึงเปลี่ยนมาเป็นต้านรัฐประหาร โดยใช้เวลาปราศรัย ราว 15 นาทีก่อนยุติการรวมตัว

หลังจากนั้นมีการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ท่ามกลางการควบคุมจับกุมดำเนินคดีของทหารอย่างเข้มข้น  รวมทั้งต่างประเทศ เช่น การชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อนุสาวรีย์ชัยฯ หรือต่างจังหวัดอย่าง จ.เชียงใหม่ จ.ขอนแก่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการกลับมาอดอาหารอีกครั้งของ ฉลาด วรฉัตร เพื่อต้านรัฐประหาร หรือกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกมาชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารเรียกร้องการเลือกตั้งในหลายๆ ครั้ง เป็นต้น

  • นักวิชาการสับ 'รัฐประหาร' ทำลายโอกาสแก้ปัญหาด้วยสันติ พาประเทศถอยหลัง https://prachatai.com/journal/2014/05/53398
  • เชียงใหม่รวมตัวเป็นวันที่ 3 ชูป้าย-จุดเทียนค้านรัฐประหาร https://prachatai.com/journal/2014/05/53411
  • เปิดใจ 'ฉลาด วรฉัตร' กับการอดอาหารต้านรัฐประหาร(อีกครั้ง) ในวัย 71 https://prachatai.com/journal/2014/06/53872
  • วุ่น! ทหารจับผู้ประท้วงหน้าหอศิลป์ ยังไม่ทราบชะตากรรม https://prachatai.com/journal/2014/05/53449
  • ประมวลภาพ ปชช.นับพันต้านรัฐประหาร ขอเลือกตั้ง อนุสาวรีย์ฯ และเผชิญหน้าที่สนามเป้า https://prachatai.com/journal/2014/05/53502

ขัดคำสั่ง รายงานตัว

หลังรัฐประหาร นอกจากจับกุ่มนักการเมืองและแกนนำฝ่ายต้านรัฐประหารเข้าค่ายทหารในทันทีแล้ว คสช. ยังออกคำสั่งเรียกผู้มีบทบาททางการเมืองทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักข่าว หลายรายที่มีแนวโน้มต่อต้านรัฐประการเข้ารายงานตัวหรือควบคุมตัวโดยเรียกว่า “ปรับทัศนคติ” ซึ่งมีทั้งเข้ารายงานตัว ทั้งลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังมีรายที่แสดงตัวขัดขืนคำสั่งดังกล่าว จนนำมาสู่การดำเนินคดี เช่น  จาตุรนต์ ฉายแสง ที่แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) หลังการรัฐประหาร รวมทั้ง สมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด สิรภพ หรือ  'รุ่งศิลา' ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง โดยสิรภพยังถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อีกด้วย ทั้งนี้หลายรายที่ถูกเรียกรายงานตัวหลังจากรายงานตัวและถูกคุมตัวในค่ายทหารแล้ว จากนั้นยังถูกดำเนินคดีต่อโดยเฉพาะ ม.112 โดยที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

  • ยกฟ้องจาตุรนต์ ฉายแสง คดีแถลงข่าวต้านรัฐประหาร ศาลชี้ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย https://prachatai.com/journal/2020/12/90927
  • ศาลปรับ 500 บาท 'สมบัติ บุญงามอนงค์' ไม่มารายงานตัว คสช. https://prachatai.com/journal/2015/09/61508
  • คำสั่ง คสช.26/2557 ระงับทำธุรกรรม 'จ่าประสิทธิ์-บก.ลายจุด' เหตุไม่มารายงานตัว https://prachatai.com/journal/2014/05/53596

พลเมืองฟ้องกลับ เอาผิดประยุทธ์และพวกข้อหากบฏ

'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' ดำเนินมาตรการ “พลเมืองฟ้องกลับ” พล.อ.ประยุทธ์  และพวก ในข้อหาเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหาร เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่วันที่ 22 มิ.ย.61 ศาลฎีกาให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องไม่รับไต่สวนมูลฟ้อง

  • เปิดคำฟ้องย่อ ‘พลเมืองฟ้องกลับ’ พล.อ.ประยุทธ์และพวกข้อหากบฎฯ https://prachatai.com/journal/2015/05/59293

ต่อต้านรัฐธรรมนูญ คสช. จนถึงร่าง รธน.ฉบับใหม่

หลังรัฐประหาร คสช. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แต่กลับถูกตีตกโดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่คสช.แต่งตั้ง ด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง จากนั้นมีการตั้งคณะร่างขึ้นมาใหม่ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ก่อนลงประชามติ 7 ส.ค.59 ซึ่งเป็นการทำประชามติที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เปิดเสรีในการรณรงค์ให้โหวตไม่รับและฝ่ายไม่ยอมรับการทำประชามติดังกล่าว รวมทั้งไม่เป็นธรรมที่รัฐในกลไกต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ยังมีภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผลลงมติที่ฝ่ายมีอำนาจไม่ให้ข้อมูลว่าหากร่างฉบับนี้ไม่ผ่านจะดำเนินการอย่างไรหรือนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ต่อ

อย่างไรก็ตามร่างฉบับนี้ผ่านประชามติแล้ว ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเปิดเผยหลัง ว่า องคมนตรีได้มาพบเนื่องจากทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้ทำเรื่องมาที่รัฐบาลว่ามีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางฝ่ายองคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว และมีพระราชกระแสลงมาว่ามี 3-4 รายการที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ด้วย ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปรับแก้ดังกล่าวในปี 60 โดยที่ปัจจุบันมีการรณรงค์เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทั้งแก้รายมาตราหรือร่างใหม่ หรือล่ารายชื่อเสนอต่อสภา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net