เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (จำลอง) หวังผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และสภาพลเมืองเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (จำลอง) คู่ขนานการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ หวังเรียกร้องให้ทุกจังหวัดมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นของตนเอง และผลักดันให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นปัญหาของประเทศ

24 พ.ค. 2565 เมื่อวันที่ (22 พ.ค. 2565) เวลา 16.00  - 19.30 น. ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และสภาพลเมืองเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ปักหมุดกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่” ขึ้นที่ลานท่าแพ จำลองการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ คู่ขนานกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

โดยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (จำลอง) ทั้งหมด 5 หมายเลข

1. นายคำ ณ ป่าแห่วง อายุ 50 ปี

นโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 20% ใน 4 ปี, จัดตั้งสภาพลเมือง, เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, โรงเรียนคุณภาพประจำจังหวัดเชียงใหม่

2. นางคำเกี๋ยง ฮักเจียงใหม่ อายุ 39 ปี

นโยบายหลักสูตรรักษ์เชียงใหม่ทุกโรงเรียน, หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลผลิต, หนึ่งตำบล หนึ่งอ่างเก็บน้ำ, ขนส่งสาธารณะจากในเมืองสู่ 25 อำเภอ

3. นายจั๋นเป็ง กระจายอำนาจ อายุ 51 ปี

นโยบายศูนย์เด็กเล็กคุณภาพทุกแห่ง, ตลาดกลางเพื่อเกษตรกร, ทะเบียน คทช. เต็มพื้นที่ใน 4 ปี, ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

4. นายมา แจ๊ะแฮะ อายุ 59 ปี

นโยบายผู้ว่า ฯ มีอำนาจเด็ดขาด, ตีกรอบความคิดท้องถิ่นฟังเสียงส่วนกลาง, อยู่ 2 ปีต้องได้ย้ายและเกษียณ, ประชาสัมพันธ์งานต่อเนื่อง

5. นางธรรมนูญ ปลดล็อก อายุ 46 ปี

นโยบายเพิ่มเบี้ยสูงอายุ 200 บาท, พัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่นให้เข้มแข็ง, ขยะครบวงจร เพิ่มมูลค่า, คนเชียงใหม่จบแล้วมีงานทำ

ธเนศวร์ เจริญเมือง ประธานภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่

ธเนศวร์ เจริญเมือง ประธานภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ได้กล่าวเปิดงานใจความว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครเมื่อพ.ศ. 2522 โดยที่คนกรุงเทพมิต้องเรียกร้อง อยู่มาวันหนึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการขึ้น แต่ในต่างจังหวัด ไกรสร ตันติพงศ์ และทองดี อิสราชีวิน ส.ส. เชียงใหม่ได้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯ มาตั้งแต่พ.ศ. 2518 ในวันที่คนกรุงเทพไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตนเอง คนเชียงใหม่ยังไม่เคยได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ สักครั้ง ทั้งที่คนต่างจังหวัดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน วันนี้จึงอยากจะขอเชิญชวนให้คนเชียงใหม่และคนต่างจังหวัดมารณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง ผลักดันให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นปัญหาของประเทศให้ได้

ด้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (จำลอง) มีความคิดเห็นต่อประเด็นว่า เหตุใดจึงควรมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัด ดังนี้

ศักดิ์ดา แสนมี่

           

ศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้ประสานงานชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีความคิดว่า

“ประเด็นนี้เป็นการสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ ที่คนเราเป็นประชาชนคนหนึ่งควรจะมีสิทธิ โดยเฉพาะการปกครองระดับท้องถิ่นแบบระดับจังหวัดแบบนี้เป็นความท้าทาย เพราะประเทศที่เจริญเขาก็มีการเลือกตั้งแบบนี้ เพื่อจะนำไปสู่การมีกลไกที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงไปพัฒนาในพื้นที่ในท้องถิ่นตนเอง ถ้าจังหวัดเรามีจะเห็นภาพของความเป็นเชียงใหม่ที่แตกต่างจากเชียงใหม่ที่มีผู้ว่าฯ หรือมีหน่วยงานภายนอกมาหนุนเสริมการจัดการบริหารอาจจะไม่ได้ตรงตามความต้องการหรือสิ่งที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ต้องการจริงๆ ตรงนี้ก็จะเป็นตัวสะท้อนว่าจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง

อีกสิ่งหนึ่งเสียงของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งคือประชาชน ผมคิดว่าเขาจะกำหนดอนาคตการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเมื่อมีการเลือกตั้ง ตอนนี้เรามีโอกาสเลือกตั้งท้องถิ่นแบบ อบต. อบจ. ก็เป็นระดับหนึ่ง แต่ว่าภาพรวมของความเป็นเชียงใหม่ เราก็อยากจะมีส่วนรวมในการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้สิทธิ เสียง ของพวกเราได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาของจังหวัด และที่สำคัญ ผมคิดว่าความเป็นเชียงใหม่คือความสวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยว และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่างๆ มากมาย ถ้าเชียงใหม่ได้เริ่มต่อเนื่องจากที่กรุงเทพ ที่พัทยาอันนี้เป็นความท้าทาย คิดว่าถ้าเราจะใช้เชียงใหม่เป็นพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าฯ เราน่าจะทำได้ดีกว่าที่กรุงเทพ ที่พัทยา เนื่องจากคนเชียงใหม่มีความเกาะติดประเด็นปัญหาในพื้นที่อยู่แล้ว”

 

สิตานันท์ กันทะกาศ

สิตานันท์ กันทะกาศ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดว่า

“หนูมาอยู่ตรงนี้ในฐานะที่หนูเป็นเยาวชน หนูอยากพูดถึงอนาคตของหนู และหนูอยากมาทวงคืนสิทธินั้น เรามองว่าท้องถิ่นควรมีอำนาจในการจัดการตนเอง แบบที่ไม่ได้มาจากส่วนกลาง คำถามที่ง่ายที่สุดก็คือว่าเราเป็นคนเชียงใหม่ ทำไมผู้ว่าฯ ของเรา คนกรุงเทพถึงเป็นคนเลือกให้นี่เป็นคำถามหลักที่เราสงสัยอยู่ทุกวัน และเราเห็นว่าคนกรุงเทพได้เลือกตั้งแล้วทำไมคนเชียงใหม่อย่างเราๆ ถึงไม่มีโอกาสนั้นเลย

เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมกับเชียงใหม่มากๆ เพราะเราไม่ได้แค่มาเรียน เรามาอยู่ด้วย มันเป็นเมืองที่ทำให้เราเติบโต และเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทั้งปัญหาคนจนเมือง ปัญหาชาติพันธุ์ และปัญหาฝุ่นควันที่มันเกิดขึ้น แต่ท้องถิ่นไม่เคยจัดการตนเองได้เลยสักทีเดียว ทำให้คนเชียงใหม่เกิดภาวะท้อ เราอยู่ไปนานๆ บางทีหนูอาจจะท้อเลยก็ได้ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่า ไม่มีการจัดการ ไม่มีนโยบายจากท้องถิ่นขึ้นมาจริงๆ

ไม่มีการฟังเสียงของประชาชน ยิ่งประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างหนู”

ธนาธร วิทยเบญจางค์

ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความคิดว่า

“ส่วนหนึ่งการที่เราได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นของตนเองมันช่วยสร้างตัวเลือก สร้างโอกาสให้ตัวเองให้จังหวัดเชียงใหม่ เพราะว่าที่ผ่านมาคนเชียงใหม่เองไม่มีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่จะมาทำงานในเชียงใหม่เลย และมันยังมีปัญหาอื่นๆ ทับซ้อนอีกทั้งงบประมาณ ผู้ว่าฯ บางคนอาจเข้ามาเพราะตั้งใจทำงานจริงๆ ก็ได้ แต่ประเด็นคือตัวงบประมาณที่ส่งมามันน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ที่เขาสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้

ถ้าเทียบสัดส่วนงบประมาณที่สามารถเอาไปทำโครงการใหญ่ๆ เพื่อพลิกโฉมเมืองได้จริงๆ เกิดได้ยาก สัดส่วนที่ผมเคยได้ยินมางบ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเงินเดือนแล้ว มันทำให้ไม่สามารถทำนโยบายยาวๆ ได้ และผู้ว่าฯ บางคนก็มาไวไปไว ก่อนเกษียณทำให้ปัญหาต่างๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้

ผมจึงอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และจัดตั้งสภาพลเมือง หรือปรับสัดส่วนภาษีให้รายได้ที่ได้จากจังหวัดวนกลับมาสู่ท้องถิ่นหรือจังหวังเชียงใหม่มากขึ้น ในเมื่อคนจังหวัดเชียงใหม่เป็นคนหาเงินเหล่านี้มา ผมก็อยากให้มันวนกลับมาและปรับเปลี่ยนเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้คุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่เราดีขึ้น”

ชาติชาย ธรรมโม

ชาติชาย ธรรมโม เลขาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ มีความคิดว่า

“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จำเป็น เพราะเราต้องการคนที่เข้าใจปัญหาของเมืองเชียงใหม่จริงๆ ถ้าเราเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ เขาก็จะเข้าใจปัญหาต่างๆ เช่น การขนส่ง การศึกษา ปากท้องคนในพื้นที่ ที่ดินทำกิน น้ำท่วม ฯลฯ ถ้าเราเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ เราก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพ เราแก้ไขปัญหาที่เชียงใหม่

ถ้าเราเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ภาคประชาสังคมก็จะสามารถทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ที่เข้าใจปัญหาของเราได้เลย และถ้าเราเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ผู้ว่าฯ จะเข้าใจว่าทุกคนสามารถจัดการศึกษาได้ กระทรวงศึกษาในส่วนกลางจะไม่เข้าใจประเด็นนี้ และก็จะเข้าใจว่าหลักสูตรไม่จำเป็นต้องเอาหลักสูตรกลางจากกรุงเทพมาใช้ แต่เชียงใหม่ก็มีประเพณี สังคม และวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ เรื่องประวัติศาสตร์เราก้ไม่ต้องอ้างส่วนกลาง แต่เชียงใหม่ก็มีประวัติศาสตร์ที่จะเรียนรู้”

 

 

ไพรัช ใหม่ชมภู

เลขานุการคณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มีความคิดว่า

“ปัญหาหลักๆ ของเชียงใหม่ที่กระทบถึงชีวิตประชาชนเชียงใหม่ไม่มีใครที่แก้ไขได้ เช่น ปัญหาฝุ่นควัน ผู้ว่าฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งส่วนราชการนั้น ส่วนราชการนี้ เพราะส่วนราชการเขามีผู้บังคับบัญชาเป็นอธิบดีอยู่กรุงเทพ ผู้ว่าฯ เดี๋ยวนี้ก็คอยประสานงานเท่านั้น ถ้าเขาไม่ทำก็ไม่มีสิทธิทำอะไรเขา ปัญหาต่างๆ ในเชียงใหม่ไม่ได้รับการแก้ไขเพราะไม่มีใครสั่งการที่เด็ดขาดได้”

คำว่า ผู้ว่าฯ แต่งตั้งแจ๊ะแฮะ คืออะไร

“แจ๊ะแฮะแปลว่ามาแปบเดียว ผู้ว่าฯ แต่งตั้งของเชียงใหม่ถ้าดูย้อนหลังไป 25 ปี มีผู้ว่าฯ ถึง 16 คน เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งมาเป็นผู้ว่าฯ ปีกว่าๆ มาแปบเดียว ปกติข้าราชการระดับสูงเช่นนี้ต้อง 4 ปี มาแปบเดียวไปยังไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวในเชียงใหม่ แก้ปัญหาก็ไม่ได้

มาแปบเดียวเดี๋ยวเขาก็วางนโยบายนั่นนโยบายนี้ ผู้ว่าฯ คนใหม่มาใหม่ก็ทำเรื่องใหม่ อย่างแผนพัฒนาเชียงใหม่ผู้ว่าฯ คนใหม่มาก็มารื้อใหม่ ผลเสียก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีความต่อเนื่อง และผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกเขามา”

 

สรุปผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (จำลอง) นางธรรมนูญ ปลดล็อก ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (จำลอง) ไปด้วยคะแนน 30 เสียง

1.นายคำ ณ ป่าแห่วง ได้คะแนนเสียง  20 คะแนน

2.นางคำเกี๋ยง ฮักเจียงใหม่ ได้คะแนนเสียง  25 คะแนน

3.นายจั๋นเป็ง กระจายอำนาจ ได้คะแนนเสียง  25 คะแนน

4.นายมา แจ๊ะแฮะ ได้คะแนนเสียง   6  คะแนน

5.นางธรรมนูญ ปลดล็อก ได้คะแนนเสียง  30 คะแนน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท