Skip to main content
sharethis

2 มิ.ย. 2565 ในสัปดาห์สุดท้ายของ พ.ค. 2565 สื่อที่ถูกแจ้งความแล้วได้แก่ The METTAD (เมตตาดี) และ The Standard ขณะที่ Catdumb ยังไม่มีอัพเดตว่าจะถูก Top News ฟ้องหรือไม่ 'ไทยโพสต์' ก็รอดถูก 'สฤณี อาชวานันทกุล' ฟ้องหวุดหวิด จากพาดหัวที่ชวนให้เข้าใจผิด หากเทียบกับในต่างประเทศจะเห็นว่า กรณีเหล่านี้สอดคล้องกับแนวโน้มของการใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในช่วงหลัง แต่องค์กรสิทธิก็เคยแสดงความกังวลเช่นกันว่าผู้มีอำนาจอาจใช้กฎหมายอย่างผิดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อได้ 

ทั้ง 4 กรณีที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาสัปดาห์เดียว นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. ถึง 31 พ.ค. มีรายละเอียดดังนี้

  • กลุ่มพิทักษ์สถาบันแจ้งความ The Standard: เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา 'ทรงชัย เนียมหอม' ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันได้เข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) โดยกล่าวหา สำนักข่าว The Standard ว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 หลังนำเสนอข่าวครบรอบเหตุการณ์การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และกล่าวหาอีกด้วยว่ารับงานมาลงข่าวให้ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' กลุ่มอ้างว่าประเด็นข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคือ คสช. ไม่ได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและตัดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปก่อนแล้ว 
  • Top News ขู่ฟ้อง Catdumb: เมื่อ 24 พ.ค. 2565 สันติสุข มะโรงศรี และอุบลรัตน์ เถาว์น้อย พิธีกรรายการ 'ข่าวเป็นข่าว' ของ Top News ชี้แจงว่าการรายงานข่าวของ Catdumb มีลักษณะทำให้คนเข้าใจผิด หลังวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. Catdumb นำเสนอข่าวพาดหัวว่า "เปิดโพลทุกสำนัก ชัชชาตินำโด่งทุกโพล ยกเว้น Top News" ในกรณีนี้ Top News ชี้แจงว่าข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงการเปิดโหวตเท่านั้น ไม่ใช่การทำโพลเหมือนสำนักอื่นๆ หากพบว่าคนทำมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ อาจดำเนินคดีตามกฎหมาย
  • ผอ. UDDC แจ้งความ THE METTAD (เมตตาดี): กรณีเกิดขึ้นเมื่อ 25 พ.ค. 2565 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทต่อคู่กรณี หลังถูกกล่าวหาจากเพจว่าเป็นคนออกแบบสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีและเป็นผู้ช่วยของ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ทำให้ผู้ติดตามเพจกว่า 2 แสนคนเข้าใจผิดและด่าทอจนชื่อเสียงได้รับผลกระทบ ทั้งที่ ดร. นิรมล ก็เคยตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว
  • 'ไทยโพสต์' รอดถูกฟ้องหวุดหวิด: วันที่ 28 พ.ค. 'สฤณี อาชวานันทกุล' โพสต์บนเฟสบุ๊คว่าขอให้สำนักข่าวไทยโพสต์ลบข้อความ จากการนำเสนอข่าวโดยพาดหัวเขียนว่า "'สฤณี' หนุนแคมเปญ เลิกใช้ 'เลขไทย' ในเอกสารราชการ กองเชียร์เฮลั่น! ให้เลิกใช้ 'พ.ศ.' ยัน 'ภาษาไทย' ด้วย" กรณีนี้สฤณีอธิบายว่าชวนให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเพราะตนเองไม่ได้สนับสนุนให้ยกเลิกภาษาไทยแต่อย่างใด และหากไม่ลบข้อความจะฟ้องร้องในหาข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เมื่อผู้สื่อข่าวประชาไทเข้าไปอ่านในเนื้อหาก่อนการถูกลบพบว่า ไทยโพสต์ยกข้อความต่างๆ มานำเสนอ โดยระบุว่าเป็นการแสดงความเห็นของกลุ่มผู้ใช้เฟสบุ๊คที่เป็น "กองเชียร์" ไม่ใช่สฤณีที่เป็นผู้เรียกร้องให้เลิกใช้พุทธศักราชและภาษาไทย ในวันต่อมา สฤณีโพสต์ว่าไทยโพสต์ลบข่าวดังกล่าวออกโดยไม่มีการชี้แจงและขอโทษ หลังจากผ่านไป 20 ชั่วโมงและมีผู้แชร์ไปวิจารณ์อย่างผิดๆ จำนวนมากแล้ว อย่างไรก็ตาม สฤณีจะยังไม่ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท แต่จะสงวนสิทธิในการฟ้องร้องในอนาคต หากมีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก  

ตัวอย่างทั้งหมดนี้อยู่ในนิยามของ "สื่อ" ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ โดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ให้ความหมายเอาไว้ว่า หมายถึง "หน้าที่หนึ่งที่กระทำร่วมกันโดยตัวแสดงหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น นักข่าวมืออาชีพที่เป็นลูกจ้างเต็มเวลา นักวิเคราะห์ ไปจนถึง บล็อกเกอร์ และคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมในการเผยแพร่สารของตัวเอง ในรูปแบบสิ่งพิมพ์ ในอินเตอร์เน็ตหรือที่อื่น ๆ" ทั้งนี้ กฎหมายระบุไว้ด้วยว่าการขึ้นทะเบียนกับรัฐจะถูกนำมาใช้เพื่อนิยามสื่อมิได้ 

กรณีต่างๆ เหล่านี้เป็นแนวโน้มของการใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงในช่วงหลัง แต่บางกรณีก็อาจเป็นการฟ้องเพื่อปิดปากสื่อได้เช่นกัน หากมองย้อนกลับไปจะเห็นว่ากรณีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น เมื่อ พ.ค. ปีที่แล้ว (2564) กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ฟ้องนักข่าวไทยพีบีเอสคนหนึ่งในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการนำเสนอข้อมูลของผู้หญิงคนหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค และแต่ภาพที่ใช้กลับเป็นของผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาคนหนึ่งในจังหวัดลพบุรี 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ กรณีที่นักข่าวสิ่งแวดล้อมก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทเมื่อ ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา หลังนำเสนอข่าวว่า "ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง" เป็นต้น แนวโน้มเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการใช้กฎหมายเพื่อต่อสู้กับข้อมูลเท็จและการปิดปากสื่อ และอะไรคือจุดเหมาะสมของการใช้กฎหมายเพื่อฟ้องร้องเอาผิดจากการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดของสื่อ ทั้งโดยเจตนาและโดยไม่เจตนา

กรณีศึกษา: การฟ้องหมิ่นประมาทสื่อเพื่อปกป้อง 'ความจริง' ในสหรัฐอเมริกา 

เมื่อ ก.พ. ปีที่แล้ว The New York Times ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับการฟ้องร้องสื่อฝ่ายขวาในสหรัฐอเมริกา โดยพาดหัวว่า "การฟ้องร้องเป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับการบิดเบือนข้อมูล (Lawsuits Take the Lead in Fight Against Disinformation)" รายงานฉบับนี้พูดถึงการฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อสำนักข่าว Fox News, Newsmax และ One America โดยผู้ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงจากการกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐาน 

รายงานดังกล่าวนำเสนออย่างน่าสนใจว่า ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ การฟ้องร้องคดีและการขู่ว่าจะฟ้องคดีสามารถทำให้สื่อฝ่ายขวาที่นำเสนอข้อมูลเท็จสามารถปรับปรุงพฤติกรรมได้อย่างทันตา เพราะการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นการโจมตีไปที่กระเป๋าตังของสื่อเหล่านี้โดยตรง วิธีการฟ้องร้องคดีเช่นนี้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับความพยายามในการคว่ำบาตรธุรกิจโฆษณา และการกดดันสาธารณะที่ฝ่ายเสรีนิยมใช้ต่อสู้มาเป็นเวลาแรมปี แต่กลับได้รับการตอบรับจากคู่กรณีเป็นเพียงการเพิกเฉย  

ผู้ฟ้องคดีเหล่านี้ในปี 2564 ได้แก่บริษัทเอกชนที่ทำเทคโนโลยีการเลือกตั้ง ซึ่งถูกกล่าวหาอย่างปราศจากหลักฐานโดยฝ่ายขวาว่ามีส่วนพัวพันกับการโกงเลือกตั้งให้ 'โจ ไบเดน' เป็นผู้ชนะเมื่อปลายปี 2563 ข้อมูลเท็จเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการบิดเบือนข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว จนนำไปสู่เหตุการณ์บุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภาของมวลชนอนุรักษ์นิยม ในวันที่ 6 ม.ค. 2564 เพื่อพยายามยึดอำนาจคืนให้แก่โดนัล ทรัมป์ ระหว่างการถ่ายโอนอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประธานาธิบดีคนใหม่

บริษัท Smartmatics ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีในการเลือกตั้งได้ฟ้องร้องต่อ Fox News โดยเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 2.7 พันล้านดอลล่าร์ฯ จากการเผยแพร่เสนอข้อมูลเท็จโดยกล่าวหาว่า 'ฮิวโก ชาเวส' อดีตประธานาธิบดีของเวเนซูเอลามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งบริษัท คดีดังกล่าวส่งผลให้ Fox Business ยกเลิกรายการ Lou Dobbs Tonight ซึ่งมียอดผู้ชมสูงสุดของช่อง ขณะเดียวกันบริษัท Smartmatics ก็ฟ้องร้อง Newsmax ในข้อหาเดียวกันจนทำให้มีการตัดส่วนที่แขกผู้รับเชิญวิพากษ์วิจารณ์การโกงเลือกตั้งออกจากรายการ

บริษัท Dominion ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเลือกตั้ง และถูกกล่าวหาโดย 'โดนัล ทรัมป์' และพรรคพวกว่ามีส่วนพัวพันในการโกงเลือกตั้ง ก็ฟ้อง Fox News, Newsmax และ One America ในข้อหาหมิ่นประมาทเช่นกัน ขณะที่ Fox News มีเจ้าของคือมหาเศรษฐีอย่าง 'รูเพิร์ต เมอร์ดอก' มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 18 พันล้านดอลล่าร์ Newsmax และ One America ซึ่งมีฐานผู้อ่านขนาดเล็กกว่าอาจได้รับผลกระทบต่อรายได้อย่างมาก 

ปกติแล้วสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ให้คุณค่ากับเสรีภาพสื่อเป็นอย่างมาก แนวโน้มการฟ้องร้องเหล่านี้จึงนำไปสู่คำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมของวิธีการ นักกฎหมายบางส่วนในสหรัฐอเมริกาเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีฟ้องร้องเพราะเป็นการล่วงละเมิดเสรีภาพสื่อ และควรเปิดกว้างให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและถกเถียงอภิปรายมากขึ้น ภายใต้ความคุ้มครองตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก (First Amendment) และแนวคิดว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขการพูดที่ไม่ดีคือการส่งเสริมการพูดให้มากขึ้น (the best antidote to bad speech is more speech) 

อย่างไรก็ตาม 'โรเบอร์ตา เคปแลน' ทนายความของ 'แมรี่ แอล. ทรัมป์' หลานสาวของ 'โดนัล ทรัมป์' ซึ่งประกอบอาชีพนักจิตวิทยาและนักเขียน และออกมาวิพากษ์วิจารณ์ครอบครัวของตนเองผ่านหนังสือชื่อ "Too Much and Never Enough" ในปี 2563 ทำให้เธอต้องอยู่ในข้อพิพาททางกฎหมายกับอดีตประธานาธิบดี แสดงความเห็นว่าบางครั้งการฟ้องร้องก็อาจเป็นวิธีการที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับนักกฎหมายคนอื่นๆ ที่อาจไม่เห็นด้วยกับการฟ้องหมิ่นประมาทสื่อ เคปแลนบอกกับ New York Times ว่า "หากคุณมาถามฉันเมื่อ 15 ปี หรือ 5 ปีก่อน ว่าฉันจะเข้ามาพัวพันกับคดีหมิ่นประมาทหรือไม่ ฉันคงบอกกับคุณว่าไม่" เนื่องจากการฟ้องหมิ่นประมาทเป็นวิธีการปิดปากสื่อโดยผู้มีอำนาจประเภทหนึ่ง และในปี 2563 ทรัมป์เองก็ฟ้องสื่อหลายแห่งขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 

อย่างไรก็ตาม เคปแลนกล่าวว่า "สิ่งที่เปลี่ยนไป และเราได้เห็นมันเกิดขึ้นแล้วต่อหน้าต่อตา คือข้อเท็จจริงที่ว่ามีคนมากมาย รวมถึงคนที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อยากพูดอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจว่ามันจะมีความสัมพันธ์ใด ๆ กับความจริงหรือไม่" และปัญหานี้แย่ลงอีก เมื่อข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงแพร่กระจายเข้าสู่การถกเถียงของสาธารณะอย่างรวดเร็วผ่านช่องทางต่างๆ ตั้งแต่โทรทัศน์เคเบิลไปจนถึงเพจเฟสบุ๊คของคนใกล้ตัวอย่างรวดเร็ว

"นี่ [การฟ้องร้อง] ไม่ควรเป็นวิธีการควบคุมการพูดในประเทศของเรา" เคปแลนกล่าว "มันไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพหรือสร้างสรรค์ในการส่งเสริมการพูดความจริง หรือมาตรฐานสื่อที่มีคุณภาพเลยโดยผ่านการฟ้องร้องหมิ่นประมาทในชั้นศาล แต่ฉันคิดว่ามันมาถึงจุดที่ปัญหาเลวร้ายอย่างมากแล้วในปัจจุบัน จนทำให้ไม่มีวิธีการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาอีก" 

ผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมของการดำเนินคดีเหล่านี้คือการที่สื่อฝ่ายขวาต่างๆ ต้องรัดกุมมากขึ้นในการนำเสนอ และสื่อเหล่านี้จะต้องเพิ่มส่วนของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการนำเสนอรายการ โดยเฉพาะเวลาที่แขกรับเชิญพูดข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องคดีเพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น ในการนำเสนอข่าววันหนึ่งของช่อง Newsmax ได้มีการตัดการนำเสนอของแขกรับเชิญที่กล่าวหาบริษัท Dominion ว่าพัวพันในการเลือกตั้งในทันที โดยบ๊อบ เซลเลอร์ส์ ผู้ประกาศข่าวได้อ่านแถลงการณ์ว่า Newsmax ยอมรับผลการเลือกตั้งว่า "ถูกต้องตามกฎหมาย"
 
โยไช เบนเคลอร์ อาจารย์ของ Harvard Law School ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลในการเมืองอเมริการะบุว่าการฟ้องร้องลักษณะนี้ช่วยให้สื่อฝ่ายขวาเข้าร่องเข้ารอยขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเรียกการฟ้องร้องเช่นนี้ว่าเป็น "การแตะเบรก" และทำให้สื่อเหล่านี้ต้องจ่ายต้นทุนความเสียหายที่พวกเขากระทำต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในอุตสาหกรรมสื่อฝ่ายขวามีการแข่งขันสูงอย่างมาก ส่งผลให้สำนักข่าวฝ่ายขวาแข่งกันสร้างความโกรธให้ผู้อ่านมากขึ้นจนทะลุเพดาน 

อย่างไรก็ตาม เบนเคลอร์กล่าวเช่นกันว่า "เราต้องระมัดระวังอย่างมากในการแสดงความดีใจของเราต่อการฟ้องร้องเหล่านี้ เพราะประวัติศาสตร์ของการฟ้องหมิ่นประมาทแน่นอนว่าคือเรื่องราวที่ผู้มีอำนาจพยายามเพื่อกดปราบผู้วิพากษ์วิจารณ์" ดังนั้น การฟ้องร้องสื่อควรกระทำด้วยความยับยั้งชั่งใจ และอยู่บนหลักการของการคุ้มครองเสรีภาพสื่อเป็นสำคัญ

องค์กรสิทธิแสดงความกังวล

กรณีศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นแล้วว่าการฟ้องสื่อควรเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ เมื่อไม่สามารถรับมือด้วยวิธีการอื่นๆ ได้แล้วเท่านั้น และตัวบทที่ถูกใช้ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นเพียงกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายอย่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อที่อาจเข้าสภาเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม แม้แต่กฎหมายหมิ่นประมาทก็อาจถูกใช้อย่างผิดๆ โดยผู้มีอำนาจได้ และองค์กรคุ้มครองสิทธิก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด

"กฎหมายหมิ่นประมาทที่เป็นความผิดทางอาญามักถูกใช้อย่างผิดวิธีได้ง่ายๆ โดยเจ้าหน้าที่เพื่อลดการตรวจสอบและยับยั้งการถกเถียงของสาธารณชน และมักถูกใช้กับนักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับประเด็นซึ่งเป็นที่โต้เถียงอย่างมาก หรือกับสมาชิกของสาธารณชนที่แสดงออกบนโลกออนไลน์" Article 19 องค์กรสิทธิที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกกล่าวในบทนำของส่วนเก็บบันทึกการละเมิดเสรีภาพสื่อบนเว็บไซต์ 

"ขณะเดียวกัน กฎหมายที่ทำให้สิ่งที่เรียกว่า "ข่าวเท็จ" เป็นความผิดทางอาญา ได้มอบเครื่องมือที่มีอำนาจอย่างมากให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อควบคุมกิจกรรมของนักข่าว โดยการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดว่าอะไรนับว่าเป็นความจริงบ้างนั้น ไม่ต่างจากการยอมรับว่าคนที่อยู่ในอำนาจมีสิทธิในการปิดปากผู้ต่อต้าน เช่นเดียวกันกับคำว่า "คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง" หรือการก่อการร้าย คำว่า "ข่าวปลอม" คลุมเครือเกินไปในการป้องกันไม่ให้เกิดการตีความแบบอัตวิสัยหรือตามอำเภอใจ" Article 19 ระบุ

อีกด้านหนึ่ง บทความของ Media Defence องค์กรสิทธิที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองทางกฎหมายของนักข่าว นักข่าวพลเมือง และสื่ออิสระ ระบุว่า "นักข่าวกำลังเผชิญกับคดีความที่ปราศจากมูลความจริงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน" โดยคดีความเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ SLAPPS (Strategic Lawsuits Against Public Participation) 

"คดีความเหล่านี้...ถูกออกแบบมาเพื่อข่มขู่นักข่าวและคนอื่นๆ ที่แสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของบุคคลหรือบริษัทของผู้มีอำนาจ คดีความมักมาจากข้ออ้างที่ปราศจากมูลความผิด ไม่สลักสำคัญ หรือเกินจริง และถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อกดดันนักข่าวหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แทนที่จะใช้เพื่อปกป้องสิทธิ" Media Defence กล่าว

อ้างอิงจาก
https://prachatai.com/journal/2022/05/98742
https://prachatai.com/journal/2022/05/98762
https://prachatai.com/journal/2022/05/98763
https://prachatai.com/journal/2022/01/97022
https://www.facebook.com/SarineeA/posts/pfbid05V6Shvma2dP7K5vKbDuFXxh6fw6d3sQN4ab7cHroadc1gZ9mzGpkriNdStpTvBWLl
https://www.nytimes.com/2021/02/06/business/media/conservative-media-defamation-lawsuits.html
https://www.nytimes.com/2021/11/03/business/media/smartmatic-newsmax-oan.html
https://www.article19.org/issue/censorship
https://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/docs/gc34.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net