ผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ต่อตลาดแรงงานไทย

การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงานไทย พบช่วงปี 2563 ผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้าง-ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน สูงสุดตั้งแต่ประกันสังคมเก็บข้อมูลมา - ธปท. ชี้ตั้งแต่ไตรมาส 1/2564 แม้ธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาทำกำไรได้มากกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว แต่งบลงทุนและการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 - สภาพัฒน์ฯ ประเมินไตรมาส 3/2564 อัตราว่างงานในไทยสูงสุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 เป็นต้นมา – พบการจ้างงาน ‘ระยะสั้น-ฟรีแลนซ์-แพลตฟอร์ม-ไม่มั่นคง’ ในตลาดแรงงานไทยพุ่งสูงขึ้นจากวิกฤต COVID-19

Summery

  • การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อตลาดแรงงานไทยตั้งแต่การเริ่มใช้มาตรการ ‘ล็อคดาวน์’ หรือการปิดเมืองอย่างจริงจังและมีการห้ามเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งได้ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจบริการและท่องเที่ยว
  • ช่วง COVID-19 ผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้าง-ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสูงสุด ตั้งแต่ประกันสังคมเก็บข้อมูลมา โดยสถิติเลิกจ้างสูงสุดอยู่ที่ 242,114 คน ในเดือน ก.ย. 2563 และสถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสูงสุดสูงสุดอยูที่ 491,662 คน ในเดือน ต.ค. 2563
  • ตลอดทั้งปี 2563 นั้นมีผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้างรวมกันทั้งสิ้นถึง 1,686,230 คน ต่อมาในปี 2564 ถูกเลิกจ้าง 1,172,603 คน ส่วนในปี 2562 ที่ตลาดแรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั้นตลอดทั้งปีมีผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้างรวมกันเพียง 325,242 คน เท่านั้น
  • ช่วงปี 2563 จำนวนพนักงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลดลงจากปี 2562 ถึง 119,109 คน กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด ส่วนบริษัทในภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุด สอดคล้องกับหลายอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก
  • ช่วงปี 2564 สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่าในไตรมาส 3/2564 คนไทยว่างงานสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.25% (ใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งรวมผู้ที่ทำงานนอกระบบประกันสังคมด้วย) ตัวเลขนี้ยังสูงสุดในรอบหลังจากที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2552
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ COVID-19 สร้าง 'หลุมรายได้ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย' ประเมินปี 2563-65 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
  • การจ้างงานถูกกระทบรุนแรงโดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52%
  • แม้ธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม โดยในไตรมาส 1/2564 ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์กลับมาสูงกว่าระดับก่อน COVID-19 แล้ว แต่งบลงทุนยังหดตัวจากช่วงก่อน COVID-19 อยู่ถึง 49% และการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 ที่ 4.7%
  • สำหรับอนาคตตลาดแรงงานไทย จากการปรับตัวของธุรกิจทำให้ความต้องการแรงงานลดลง หลายธุรกิจต้องปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อลดการพึ่งพิงแรงงานลง - ต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น แรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง

ช่วง COVID-19 ผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้าง-ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสูงสุด ตั้งแต่ประกันสังคมเก็บข้อมูลมา

แม้การระบาดของ COVID-19 จะเริ่มขึ้นในเดือน ธ.ค. 2562 ที่ประเทศจีน และพบผู้ป่วยรายแรกในไทยเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2563 แต่ผลกระทบอย่างชัดเจนต่อตลาดแรงงานไทยเริ่มในช่วงไตรมาส 2/2563 เหตุจากการเริ่มใช้มาตรการ ‘ล็อคดาวน์’ หรือการปิดเมืองอย่างจริงจัง มีการห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนดตามคำสั่งผู้ว่าราชการของจังหวัดต่างๆ และมีการห้ามเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งได้ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจบริการและท่องเที่ยว

สำหรับผู้ประกันตน ม.33 ในระบบประกันสังคมนั้น โดยปกติแล้วผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสาเหตุเลิกจ้างจะอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 คนต่อเดือน แต่จากผลกระทบจาก COVID-19 เริ่มเห็นได้ชัดในเดือน เม.ย. 2563 ที่ตัวเลขผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสาเหตุเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 47,236 คน และพุ่งขึ้นไปแตะหลักแสนเป็นครั้งแรกเท่าที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บข้อมูลไว้ในเดือน พ.ค. 2563 ที่ 105,488 คน และขึ้นไปแตะในระดับสูงสุดที่ 242,114 คน ในเดือน ก.ย. 2563 ก่อนที่ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงมา

โดยตลอดทั้งปี 2563 นั้นมีผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้างรวมกันทั้งสิ้นถึง 1,686,230 คน ต่อมาในปี 2564 ถูกเลิกจ้าง 1,172,603 คน ส่วนในปี 2562 ที่ตลาดแรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั้นตลอดทั้งปีมีผู้ประกันตน ม.33 ถูกเลิกจ้างรวมกันเพียง 325,242 คน เท่านั้น

เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ที่ในสถานการณ์ปกจะอยู่ที่ไม่เกิน 200,000 คนต่อเดือน แต่เมื่อผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลต่อตลาดแรงงานนั้น ตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 215,652 คน ในเดือน เม.ย. 2563 และขึ้นไปแตะในระดับสูงสุดที่ 491,662 คน ในเดือน ต.ค. 2563 ก่อนที่ตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงมา โดยตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในช่วงนี้ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บข้อมูลมาด้วยเช่นกัน

ปี 2563 พนักงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ลดลงถึง 119,109 คน

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่รายงานข้อมูลจำนวนพนักงานต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี (2561-2563) จำนวน 619 บริษัท ณ สิ้นปี 2563 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,263,634 คน ลดลงจากปี 2562 ถึง 119,109 คน หรือคิดเป็น 9%

เมื่อพิจารณาการจ้างงานของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารพบว่าลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ประกอบกับบางบริษัทมีธุรกิจที่มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางกิจการต้องปิดสาขา หรือหยุดดำเนินกิจการในบางส่วน เป็นเหตุให้บริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง

เมื่อพิจารณารายพื้นที่พบว่าในภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุด สอดคล้องกับหลายอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก รองลงมาคือกรุงเทพฯ หนึ่งในศูนย์กลางทางธุรกิจที่มีบริษัทกระจุกตัวอย่างหนาแน่น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากขึ้นหากการแพร่ระบาดยังคงต่อเนื่องยาวนาน

สภาพัฒน์ฯ ประเมินไตรมาส 3/2564 คนไทยว่างงานสูงสุดตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ส่วนข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าสถานการณ์การว่างงานในไตรมาส 3/2564 นั้นอยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.25% (ใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งรวมผู้ที่ทำงานนอกระบบประกันสังคมด้วย) ตัวเลขนี้ยังสูงสุดในรอบหลังจากที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2552 แต่ยังถือว่าน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ซึ่งอัตราว่างงานอยู่ที่ 5%

อนึ่งนิยาม 'ผู้มีงานทำ' ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. ได้ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป โดยได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ผลกำไร เงินปันผล ค่าตอบ

แทนที่มีลักษณะอย่างอื่นสำหรับผลงานที่ทำ เป็นเงินสด หรือสิ่งของ

2. ไม่ได้ทำงาน หรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่เป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (ซึ่งจะถือว่าเป็น ผู้ที่ปกติมีงานประจำ)

3. ยังได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงานหรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน

4. ไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงาน หรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีงานหรือธุรกิจที่จะกลับไปทำ

5. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวิสาหกิจหรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือนหรือของสมาชิกในครัวเรือน

ส่วน 'ผู้ว่างงาน' หมายถึง บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์

2. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ

ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ COVID-19 สร้าง 'หลุมรายได้ขนาดใหญ่' ประเมินปี 2563-65 รายได้จากการจ้างงานจะหายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2564 ระบุว่าสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวอย่างมาก ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการและประชาชนถูกเลิกจ้าง ปัญหาที่ชัดเจนคือรายได้ที่หายไปและจะหายไปเป็นเวลานาน โดยวิกฤต COVID-19 ได้สร้าง 'หลุมรายได้' ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท ซึ่งหากมองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 หลุมรายได้อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

การจ้างงานถูกกระทบรุนแรงโดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบ 20% จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้จ้างงานเพียง 8% ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึง 52% ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่แม้จะยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง แต่ยังไม่จ้างงานเพิ่ม โดยในไตรมาส 1/2564 ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์กลับมาสูงกว่าระดับก่อน COVID-19 แล้ว แต่งบลงทุนยังหดตัวจากช่วงก่อน COVID-19 อยู่ถึง 49% และการจ้างงานของธุรกิจขนาดใหญ่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 ที่ 4.7%

การจ้างงานไม่มั่นคงทั้ง ‘ระยะสั้น-ฟรีแลนซ์-แพลตฟอร์ม’ พุ่งสูงขึ้น

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 พบคนไทยหันมาทำงานผ่านแพลตฟอร์มโดยเฉพาะการส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น | แฟ้มภาพประชาไท

ข้อมูลจากแมนพาวเวอร์กรุ๊ป บริษัทด้านการจัดหาบุคลากรและที่ปรึกษาด้านแรงงาน ที่สำรวจและประเมินตลาดแรงงานช่วง COVID-19 ระลอก 3 (ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564) พบว่านายจ้างเริ่มปรับโมเดลให้ความสนใจการจ้างงานระยะสั้นในงานประเภทต่างๆ ทั้งแบบชั่วคราวและสัญญาจ้างที่มีความต้องการและโดดเด่นในตลาดแรงงานยุค COVID-19 คือ สายงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ งานคลังสินค้าและการขนส่ง ได้แก่ งานการจัดการคลังสินค้า, งานจัดส่งสินค้าหรือไรเดอร์, งานขับรถส่งอาหาร (Delivery), งานขับรถส่งสินค้าและพัสดุ เป็นต้น

ส่วนสายงานธุรการและบริการลูกค้า ได้แก่ พนักงานคีย์ข้อมูล, พนักงานขายของออนไลน์ และพนักงานบริการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ (Call Center) สายงานฝั่งไอทีลูกค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มของตลาดอี-คอมเมิร์ซ, โลจิสติกส์, ฟินเทค และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งแม้แต่สายงานในโรงงานอุตสาหกรรมตำแหน่งงานที่ต้องการ ได้แก่ วิศวกรและพนักงานฝ่ายผลิต ในบางอุตสาหกรรมเลือกใช้บริการในรูปแบบการจ้างงานแบบชั่วคราว หรือเป็นแบบสัญญาจ้าง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนจากการระบาดของ COVID-19 ยังไม่สิ้นสุด

ศูนย์วิจัย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ข้อมูลระดับประเทศบ่งชี้ว่าอาชีพฟรีแลนซ์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทยเติบโตสูง แม้การจ้างงานภาพรวมลดลง จากข้อมูลล่าสุดของการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ณ ไตรมาสที่ 1/2563 อาชีพคนทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันประกอบไปด้วย บริการด้านศิลปะ ความบันเทิงและสันทนาการ ไอที วิทยาศาสตร์ และบริการวิชาชีพต่าง ๆ มีจำนวนอยู่ที่ 1.3 แสนคน แม้จะมีสัดส่วนต่อการจ้างงานรวมไม่มากเพียง 0.3% ต่อการจ้างงานทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่สูงต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 29.9% ต่อปี ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำในภาพรวมกลับลดลง -0.2% ต่อปี

EIC ยังวิเคราะห์จำนวนฟรีแลนซ์ที่ลงทะเบียนกับ Fastwork.co ซึ่งเป็นเว็บไซต์หางานฟรีแลนซ์ยอดนิยม พบว่ามีจำนวนฟรีแลนซ์มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการปิดเมือง โดยจำนวนฟรีแลนซ์บนเว็บไซต์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2563 เพิ่มขึ้น 1,241 คน จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีจำนวน 4,390 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ลงทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 621 คนต่อไตรมาส สูงกว่า 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2559-2562 ที่จำนวนลงทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 271 คนต่อไตรมาส (ที่ผ่านมาจำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มมากที่สุดต่อไตรมาสอยู่ที่ 351 คน) การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้น่าจะเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ที่กระทบกับรายได้จากการทำงานในวงกว้างทั้งการลดชั่วโมงทำงาน การลดค่าแรง และการเลิกจ้าง แรงงานส่วนหนึ่งจึงหันมารับงานฟรีแลนซ์เพื่อเป็นทางเลือกในการหารายได้เสริมหรือทดแทนงานที่ถูกกระทบ ประกอบกับในช่วงที่มีมาตรการปิดเมืองผู้มีงานประจำบางส่วนอาจมีเวลาว่างมากขึ้นจากชั่วโมงทำงานที่ลดลงรวมทั้งเวลาการเดินทางไป-กลับจากที่ทำงานที่ลดลง เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีเวลาในการรับงานฟรีแลนซ์เป็นรายได้เสริมเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีผู้สนใจรับงานฟรีแลนซ์เพื่อรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น แต่การแข่งขันในตลาดฟรีแลนซ์นั้นถือว่าค่อนข้างสูงสะท้อนจากการจ้างงานและค่าจ้างที่ไม่ได้สูงมากนัก ฟรีแลนซ์บน Fastwork.co ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันเริ่มต้นอยู่ที่ 329 บาทสำหรับ 1 ชิ้นงาน อีกทั้งฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มีเฉลี่ยค่าของการได้งานอยู่ที่เพียง 7 ชิ้นงานเท่านั้น และกว่า 50.8% ของการประกาศรับจ้างงานทั้งหมดยังไม่เคยได้รับการว่าจ้าง

นอกจากนี้การทำงานผ่านแพลตฟอร์ม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในด้านอาชีพใหม่ของคนไทย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มของธุรกิจ Food delivery ที่ได้เติบโตท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทั้งมาตรการล็อกดาวน์ตลอดจนการทำงานที่บ้าน ประกอบกับแพลตฟอร์ม Food delivery ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น นับเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทั้งปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์, จำนวนร้านอาหาร และไรเดอร์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มในปี 2563 เติบโตแบบก้าวกระโดด

EIC ประเมินมูลค่าตลาด Food delivery ของไทยในปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ราว 6.5 หมื่นล้านบาท โดยในแต่ละแพลตฟอร์มมีปริมาณร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มเติบโตกว่า 2-4 เท่าตัวจากปี 2562 ตัวอย่างเช่น GrabFood เพิ่มจาก 20,000 ร้าน เป็น 80,000 ร้าน foodpanda เพิ่มจาก 50,000 ร้าน เป็นราว 120,000 ร้าน และ LINE MAN เพิ่มจาก 50,000 ร้าน เป็นมากกว่า 200,000 ร้าน ส่วน Robinhood ที่เพิ่งเปิดให้บริการปลายปี 2563 ในเดือน ต.ค. 2564 มีร้านอาหารอยู่ที่ราว 164,000 ร้าน ในขณะเดียวกันไรเดอร์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มในปี 2563 ก็เติบโตค่อนข้างสูง เช่น ไรเดอร์ในระบบ foodpanda เพิ่มขึ้นจาก 30,000 คน เป็นถึงราว 100,000 คน ขณะที่ Robinhood ในเดือน ต.ค. 2564 มีไรเดอร์อยู่ที่ราว 26,000 คน เป็นต้น

แรงงานไทยยังเปราะบาง ส่วนใหญ่ ‘ไร้เงินเก็บ’

ผลสำรวจแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,256 คน พบว่า67.6% ไม่มีเงินเก็บ มีเพียง 32.4% ที่มีเงินเก็บและเก็บเพียง 9.14% ของรายได้ลดลงจากปี 2562 ที่มีการเก็บ 14.9% ของรายได้ | ที่มาภาพ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

จากการสำรวจแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,256 คน ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 18-22 เม.ย. 2564 พบผลการสำรวจที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่าง 98.1% มีหนี้สินครัวเรือน เฉลี่ยต่อครัวเรือน 205,809.81 ผ่อนชำระรวม 8,024.47 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นหนี้สินในระบบ 71.6% ผ่อนชำระต่อเดือน 7,781.31 บาทต่อเดือน ดอกเบี้ย 11.25%ต่อปี นอกระบบ 28.4% ผ่อน 3,223.02 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 19.00% ต่อเดือน

โดยเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การชำระหนี้เก่า ส่งผลทำให้สภาพคล่องของแรงงานลดลง มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายจนต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้หนี้ของแรงงานในปีนี้ขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 29.56% ส่งผลต่อเงินสะพัดในช่วงวันแรงงานปีนี้เหลือ 1,790 ล้านบาท ลดลง 19.7% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือปี 2562 กับปี 2564 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในปี 2562 ใช้จ่ายเท่าเดิม 50.1% จำนวนปริมาณการซื้อ ส่วนใหญ่น้อยลง 49.1%

ทัศนะของแรงงานที่มีต่องานที่ทำในปัจจุบันว่าไม่มีความมั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีอาชีพรับจ้างได้เงินเป็นรายเดือน และผู้ที่รับจ้างรายวัน รายสัปดาห์ รับเป็นชิ้นงาน และส่วนใหญ่จะเร่งหางานใหม่ทำก่อนจะออกจากงานเดิมโดย 58.2% ระบุว่าเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันนสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่เกิน 3 เดือน 4-6 เดือน 25.9% ระยะเวลา 7-9 เดือน 2.4% ระยะเวลา 10-12 เดือน 2.6% มากกว่า 12 เดือน 2.6% และโดยเฉลี่ยอยู่ได้ 4.6 เดือน สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าการเก็บออมในปัจจุบันของแรงงานพบว่า 67.6% ไม่มีเงินเก็บ มีเพียง 32.4% ที่มีเงินเก็บและเก็บเพียง 9.14% ของรายได้ลดลงจากปี 2562 ที่มีการเก็บ 14.9% ของรายได้ โดยปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างระบุการเก็บออมแบ่งเป็นต่ำกว่า 500 บาทต่อเดือน 9.0% เก็บ 500-1,000 บาท 57.4% เก็บ 1,001-2,500 บาท 28.7% เก็บ 2,501-5,000 บาท 4.9% รวมเฉลี่ยต่อเดือนเก็บออม 896.93 บาทต่อเดือน

โดยกลุ่มแรงงานยังมีความกังวลต่อประเด็นต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจของประเทศไทย การแพร่ระบาดของ COVID-19 การไม่ได้รับวัคซีน ราคาสินค้าในปัจจุบัน ราคาสินค้าในอนาคต รายได้ปัจจุบัน การตกงานน รายได้ในอนาคต การชำระหนี้ที่อาจไม่เพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากลุ่มตัวอย่างเคยผิดนัดชำระหนี้ 85.1% โดยระบุสาเหตุที่ต้องผิดนัดชำระหนี้คือขาดสภาพคล่อง รายจ่ายเพิ่ม เงินไม่พอจ่าย รายได้ไม่พอ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตกงาน เศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่สถานภาพทางการเงินของแรงงานกรณีที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน 71.5% ระบุมีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย

อนาคตตลาดแรงงานไทยหลัง COVID-19

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ระบุถึงความเสี่ยงของตลาดแรงงานในอนาคต ไว้ 2 ประเด็นคือ 1.การปรับตัวของธุรกิจทำให้ความต้องการแรงงานลดลง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 โดยเน้นการซื้อขาย หรือทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อลดการพึ่งพิงแรงงานลง และ 2.กระแสธุรกิจใหม่ทำให้ทักษะที่จำเป็นของแรงงานเปลี่ยนไป การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจพลังงานสะอาด (Clean Energy) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV car) ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการยกระดับและเรียนรู้ทักษะใหม่ (Up-skill & Re-skill) จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่าสำหรับแรงงานนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่จะต้องเร่งปรับตัว ทั้งการรู้ลึกรู้จริงในสาขาที่เชี่ยวชาญ และรู้รอบรู้กว้างในสาขาอื่นๆ อีกทั้งยังต้อง Upskill/Reskill ให้มีทักษะที่จำเป็นที่เป็นที่ต้องการสำหรับภาคธุรกิจแห่งอนาคต ที่สำคัญก็คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านภาษา ความยืดหยุ่นในการปรับตัว เป็นต้น ตลอดจนคงต้องสร้างอุปนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

องค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้ประเมินตลาดแรงงานไทยหลังยุค COVID-19 ไว้ว่าตลาดแรงงานจะเผชิญกับ 'ภาวะเศรษฐกิจโตช้า' (Slow-growing economy) ซึ่งไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำสุดในภูมิภาค เป็นผลสืบเนื่องจากการติดกัปดักความวุ่นวายทางการเมืองที่ยังเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารปี 2557 การหาทางออกเกี่ยวข้องกับการยอมรับความคิดเห็นที่ต่างกันซึ่งยังคงเป็นปัญหาของประเทศต่อไป มีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนทั้งในประเทศ จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและอาจต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทรัพยากรที่ลดน้อยถอยลงและต้นทุนการผลิตรวมถึงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการค้าของยุค 4.0

โดยองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้เสนอว่านายจ้างและแรงงานต้องร่วมมือเพื่อก้าวผ่านหลังยุค COVID-19 อันมีแนวทางดังนี้

1. การประเมินสถานการณ์ร่วมกัน เพื่อให้เห็นภาพอนาคตของธุรกิจและแรงงานภายใต้บริบทของ “Next Normal Content” เกี่ยวข้องกับความอยู่รอดทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง

2. ทบทวนศักยภาพและจุดแข็งที่ยังคงเหลืออยู่ แล้วนำมาปรับรูปแบบธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์และศักยภาพและจุดแข็งที่ยังคงมีอยู่ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ธุรกิจของตนเองและการเปลี่ยนแปลง

3. บริบทของลูกจ้าง/แรงงานซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 21 คงไม่สามารถใช้วิธีแบบเดิมๆ เช่น รอปรับค่าจ้างขั้นต่ำและ/หรืออยู่ใต้ร่มของการคุ้มครองและสวัสดิการจากรัฐ จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเข้าสู่แรงงานภายใต้บริบท “Next Normal Content” ที่มาพร้อมกับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

4. การอยู่รอดคือการปรับตัวเองและสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ยุค “Technology Transform” อย่าให้เทคโนโลยีที่จะเข้ามาใหม่เป็นภัยคุกคามธุรกิจและ/หรือมาแทนที่งานของตนเอง

5. ยุทธวิธีที่นำมาใช้ไม่มีสูตรสำเร็จและต้องมีความยืดหยุ่น ซึ่งรูปแบบย่อมแตกต่างกันไปตามศักยภาพและตามปัจเจกบุคคลและต้องสอดคล้องกับสถานประกอบการที่ตนทำงาน แรงงานหรือลูกจ้างคงไม่ต่างกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการซึ่งตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มากจากวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้ภูมิทัศน์ธุรกิจและธุรกรรมการค้ารวมถึงกระบวนการผลิตแตกต่างไปจากอดีต

6. ค้นหาศักยภาพและจุดแข็งมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเสริมจุดแข็ง-ขจัดจุดอ่อน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับทักษะ “Up Skill” หรืออาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนทักษะใหม่ “New Skill” จากการที่ต้องถูกออกจากงานหรือธุรกิจนั้นๆ ไม่อาจมีที่ยืนอยู่ในเศรษฐกิจใหม่เนื่องจากขาดศักยภาพหรือเป็นอุตสาหกรรม-บริการที่ตกยุค

7. ความโปร่งใสไม่ระแวงซึ่งกันและกัน ปัจจัยแห่งความล้มเหลวของการก้าวผ่าน การทำงานต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบและทุกคนที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต้องสามารถแสดงความเห็นร่วมกันได้โดยไม่มีการปิดกั้น

8. Next Normal Challenges/โจทย์ใหม่ที่ท้าทาย นายจ้าง-ลูกจ้างคือจะก้าวผ่านได้อย่างไรไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้มากกว่าตัวเองช่วงเวลาที่ผ่านมาประวัติศาสตร์บอกว่าทุกครั้งหลังผ่านยุควิกฤตเศรษฐกิจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อตลาดแรงงาน ประเด็นคือหลังการผ่านพ้นของวิกฤตจากไวรัสโควิด ซึ่งคงไม่ได้เห็นในปีนี้แต่เศรษฐกิจค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวได้ในปีต่อๆ ไป ประเด็นคือยังมีที่ยืนของตัวเราอยู่หรือไม่เป็นโจทย์สำคัญของชีวิตที่ต้องแก้ให้ได้

9. เป้าหมายการปรับตัวของลูกจ้าง คือ การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อไม่ให้ “ถูกเท” ออกจากงาน โดยเฉพาะแรงงานสูงวัยซึ่งตามนิยามของ “ILO” คนที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปซึ่งกลุ่มเหล่านี้การเปลี่ยนงานในยุคดิจิทัลแพลตฟอร์มมีความเสี่ยงสูง

10. เป้าหมายการปรับตัวของผู้ประกอบการ คือการปฏิรูปองค์กรทุกวิถีทางเพื่อธำรงขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เพื่อรองรับภูมิทัศน์ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเร่งตัวหลังการผ่านพ้นของยุค COVID-19

 

ที่มาข้อมูล
EIC เผยเทรนด์อาชีพทางเลือกมาแรงยุคโควิด-19 "ฟรีแลนซ์ออนไลน์" (โพสต์ทูเดย์, 1 สิงหาคม 2563)
ผลสำรวจแรงงานไทยพบหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ไร้เงินเก็บ (Workazine, 27 เมษายน 2564)
แรงงานไทย รับผลโควิด-19 กว่า 2.7 ล้านคน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 1 พฤษภาคม 2564)
การขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ธนิต โสรัตน์, เอกสารประกอบการบรรยายออนไลน์สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน), 23 กรกฎาคม 2564)
“จับอาการเศรษฐกิจ สร้างทางออกวิกฤตไทย” (เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 16 สิงหาคม 2564)
มาตรการแรงงานที่เหมาะสม ยืดหยุ่น และพร้อมรับการอยู่ร่วมกับโควิด-19 (มณฑลี กปิลกาญจน์ และ พรชนก เทพขาม, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 21 กันยายน 2564)
SET Note Volume 8/2564 : ส่องแรงงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 (กุลนิดา จิราจินดากุล, วชิร มนัสเมธีกุล ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 21 กันยายน 2564)
"การจ้างงานระยะสั้น" โมเดลมาแรงรับ สถานการณ์โควิด-19 (แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย, กันยายน 2564)
อินไซด์ธุรกิจ Food delivery: เดินหน้าขยายตลาดพร้อมบริการที่หลากหลาย (ปุญญภพ ตันติปิฎก และภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์, 2 พฤศจิกายน 2564)
ว่างงานพุ่ง 8.7 แสนคน สูงสุดในรอบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ประชาชาติธุรกิจ, 22 พฤศจิกายน 2564)
รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือนมกราคม 2565 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท