Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่จัดกิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” จัดต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองเดือนพฤษภาคม 2565 แนวโน้มการดำเนินคดีทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นคดีตามมาตรา 112

14 มิ.ย. 2565 เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา กลุ่ม “We, The People” จัดกิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที ขึ้นที่ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้

อาทิ สมบัติ ทองย้อย ที่ถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 6 ปี โดยไม่รอลงอาญาในคดี ม.112 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2565, เวหา แสนชนชนะศึก ผู้ต้องขังคดี ม.112 หลังแชร์เพจ ‘เยาวชนปลดแอก’, เอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกจำคุกโดย 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา จากการเล่าประสบการณ์ทางเพศในเรือนจำ, คฑาธร, คงเพชร อายุ 18 ปี, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง หรือ "เพชร พระอุมา", ปฏิมา ผู้ถูกหาในคดีปาระเบิดหน้าราบ 1 บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ และ 'ใบปอ - บุ้ง' ทะลุวัง ที่อยู่ในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลา 43 วัน และอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่ตนเองมาแล้ว 11 วัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองว่า เดือนพฤษภาคม 2565 แนวโน้มการดำเนินคดีทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นคดีตามมาตรา 112 ที่ยังคงมีการใช้กล่าวหานักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวหรือประชาชนในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการประกันตัวและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในคดีข้อหานี้ก็ยังดำรงอยู่ ขณะที่คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่เริ่มต่อสู้ถึงชั้นศาล ก็ยังพบแนวโน้มที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สร้างภาระให้กับผู้ถูกดำเนินคดีเป็นระยะเวลายาวนาน

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 9 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,605 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 211 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี 3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,452 คน ในจำนวน 631 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 151 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี

จากจำนวนคดี 1,074 คดีดังกล่าว มีจำนวน 190 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 11 คดี

 

 

“ยืนหยุดทรราช” เชียงใหม่ จัดขึ้นทุกวันเสาร์ เวลา 17.00-18.12 น. บริเวณลานท่าแพ

ผู้ที่สนใจสามารถไปร่วมกิจกรรมได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net