โรม 'ก้าวไกล' รับหนังสือชาวอุยกูร์ 56 ราย ถูกขังลืมในห้องกักเกือบ 10 ปี ร้องรัฐไทยไม่ส่งกลับจีน

'โรม' พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องผู้ลี้ภัยชาวอุย์กูร์ 56 คนที่ถูกขังอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ปี 2558 ร้องทางการไทยไม่ผลักดันกลับจีน-ปล่อยตัวในสถานที่เหมาะสม หรือให้ไปตั้งรกรากประเทศที่ 3

 

15 มิ.ย. 2565 สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (15 มิ.ย.) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเป็นคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รับยื่นหนังสือเรื่อง ‘ผู้ลี้ภัยชาวอุย์กูร์ 56 คน ที่ถูกขังลืมอย่างไร้กำหนดตั้งแต่ปี 2558’

บรรยากาศการยื่นหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า ชาวอุยกูร์คือชาวมุสลิมในประเทศจีนซึ่งถูกคุกคามกดขี่จากรัฐบาลจีน จึงตัดสินใจลี้ภัยผ่านมายังประเทศไทย เพื่อไปประเทศที่ 3 ในปี 2556 ก่อนหน้านี้ทางการไทยส่งผู้หญิงและเด็กไปยังประเทศตุรกี 1,700 คน และส่งกลับประเทศต้นทางหรือจีน 109 คน ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม ปัจจุบันมีชาวอุยกูร์อยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองราว 56 คน ซึ่งถูกกักมาแล้วกว่า 10 ปี จึงขอร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ทางการไทยต้องไม่ส่งตัวพี่น้องอุยกูร์กลับประเทศจีน 2.ต้องการให้ปล่อยตัวชาวอุยกูร์ออกมาในสถานที่เหมาะสม หรืออนุญาตให้ตั้งรกรากในประเทศที่ 3 แต่ทราบว่าทางการไทยไม่อนุญาต เนื่องจากรัฐบาลจีนกดดันให้ไทยส่งกลับ

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ ชาวอุยกูร์ทั้ง 56 คนถูกกักตัวโดยไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเมื่อปี 2558 ทางการไทยส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน 109 คน ซึ่งเป็นการละเมิดอธิปไตย และเป็นตราบาปที่ไม่ควรถูกผลิตซ้ำ ประเทศไทยไม่ใช่ปลายทางของชาวอุยกูร์ เพราะประเทศปลายทางคือประเทศมุสลิม เช่น ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย ฉะนั้น ไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศนั่นคือห้ามส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย หรือส่งไปยังสถานที่ที่คุกคามต่อเสรีภาพ

รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเองมีจุดยืนสนับสนุนแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย จากประสบการณ์ลงพื้นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู พบว่า สภาพภายในไม่พร้อมที่จะกักใครนานถึง 8 ปี หากต้องไปอยู่นาน จินตนาการไม่ออกว่า สภาพร่างกายและสภาพจิตใจจะเป็นอย่างไร ทั้งยังพบว่ามีการแยกเด็กและผู้หญิงส่งไปยังตุรกีและจีน เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจมาก จึงต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศ 

ข้อเรียกร้องสำหรับชาวอุยกูร์จึงไม่ได้มากเกินไปที่รัฐบาลไทยจะสามารถทำได้ ตนเองในฐานะ กมธ.จะนำเรื่องนี้เรียนต่อประธาน กมธ.เพื่อพิจารณาร่วมกันหาทางออกต่อไปเพื่อยุติปัญหา 

สำหรับกรณีที่ชาวอุยกูร์ 109 คน ถูกส่งกลับในรัฐบาล คสช.จะต้องเชิญรัฐบาลไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาหารือในขั้นกรรมาธิการถามถึง สภาพความเป็นอยู่หลังส่งกลับ แม้ไทยจะไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา แต่ถือเป็นจารีตประเพณีที่ต้องปฏิบัติตาม หากพิสูจน์เรื่องนี้ได้ รัฐบาลไทยจะไม่ได้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจภายในประเทศเท่านั้น แต่หมายถึงภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของต่างชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท