Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความนำ

ในช่วงไม่นานมานี้ กระแส ‘พหุภพ’ หรือ ‘มัลติเวิร์ส’ (multiverses) นับเป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงและถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการภาพยนตร์เป็นสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ภาพยนต์อย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) ที่ทีมผู้สร้างจาก MCU หยิบยกเอาแนวคิดมัลติเวิร์สมาใส่ไว้ในภาพยนตร์และวาดภาพจินตนาการของมัลติเวิร์สขึ้นมาให้ผู้ชมเห็นผ่านจอฟิล์ม (ทั้งนี้แนวคิดมัลติเวิร์สของ MCU ปรากฏอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ในฉบับ Comic) ภายหลังที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเข้าฉายกวาดรายได้ไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีกระแสตอบรับดีเป็นอย่างมาก สำหรับบทความนี้จะเป็นการพาผู้อ่านไปสำรวจแนวคิดมัลติเวิร์สโดยย่นย่อเบื้องต้น คุณูปการอย่างน้อยเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์ที่มีแนวคิดมัลติเวิร์ส อย่างมากเป็นการสร้างความเข้าใจ ถกเถียง และสะกิดความอยากรู้ของผู้อ่าน (อนึ่งเป็นความอยากเขียนล้วนๆ)  ในบทความ เริ่มต้นจะกล่าวถึงความหมายของมัลติเวิร์ส จากนั้นจะกล่าวถึงแนวคิดมัลติเวิร์สในวิทยาศาสตร์และแนวคิดมัลติเวิร์สในปรัชญา

ก่อนจะเป็น ‘มัลติเวิร์ส’

แนวคิดมัลติเวิร์สเป็นสมมติฐานที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเอกภพ โดยแนวคิดนี้ก่อรูปขึ้นในอดีตมาจากนักคิดในสายจักรวาลวิทยา (cosmologists) และนักฟิสิกส์ แนวคิดมัลติเวิร์ส (หรือสมมติฐาน) นี้ นำพามนุษย์ให้ไปสู่การถกเถียงและการทบทวนแนวคิดเอกภพเสียใหม่[1] โดยในอดีตที่ผ่านมาเราจะเห็นถึงการพยายามอธิบายตนเอง สรรพสิ่ง รวมถึงเอกภพของมนุษย์ ข้อเสนอแรก ๆ ที่มนุษย์พยายามเสนอเพื่ออธิบายเอกภพ คือ ข้อเสนอของคลอดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy, 100 AD – 170 AD) นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ ในงานเขียนชื่อ Almagest and Planetary Hypotheses (147 or 148. AD) เขาเสนอว่า โลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพและเป็นสิ่งซึ่งอยู่กับที่ ไม่เคลื่อนไปไหน และ ธรรมชาติของการโคจรของวัตถุในเอกภพอย่างพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเคราะห์ และดวงดาวมีการเคลื่อนที่โคจรเป็นรูปแบบเดียวกัน คือ เป็นวงกลมที่สมบูรณ์ การเสนอเช่นนี้เกิดการโต้แย้งขึ้น กล่าวคือ เมื่อสังเกตการโคจรของวัตถุในเอกภพจากโลกแล้วจะพบว่า มนุษย์จะสังเกตเห็นการโคจรได้เพียงบางส่วน ไม่เห็นการโคจรที่เป็นวงกลมสมบูรณ์ ปโตเลมีได้โต้แย้งข้อโต้แย้งนี้กลับว่า การปรากฏของการโคจรที่ไม่สมบูรณ์ที่มนุษย์สังเกตเห็นนั้นเกิดจากการโคจรที่เกิดขึ้นอย่างปกติและเกิดขึ้นอย่างซ้ำ ๆ ที่ถูกมองเห็นจากโลกที่ไม่เคลื่อนที่ แนวคิดดังกล่าวของปโตเลมีนี้เป็นแนวคิดที่รู้จักกันในชื่อ The Ptolemaic system[2] ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 16 แนวคิดของปโตเลมีถูกคัดค้านจากข้อเสนอที่ชื่อว่า การปฏิวัติของโคเปอร์นิคัส (The Copernican revolution) ที่เสนอว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของเอกภพและดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ และดวงดาวอยู่ในระยะที่ไกลจากดาวเคราะห์เป็นอย่างมากซึ่งนิโคลัส โคเปอร์นิคัส (Nicolaus Copernicus, 1473 - 1542) ผู้เสนอแนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากนักดาราศาสตร์ชาวอาหรับ นาซีร์ อัล-ดิน อัล-ตูซี (Nasir al-Din al-Tusi, 1201 – 1274) และ อิบ นุล ชาตีร์ (Ibn al-Shatir, 1304 – 1375) อย่างไรก็ตามแนวคิดของโคเปอร์นิคัสไม่ได้สร้างสิ่งใหม่หรือต่างจากแนวคิดของปโตเลมีมากนัก สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นจากโคเปอร์นิคัสคือการเสนอถึงการย้ายศูนย์กลางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์[3] อย่างไรก็ตามแนวคิดของโคเปอร์นิคัสถูกนำมาต่อยอดโดยโยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler, 1571 – 1630) นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน เคปเลอร์ได้เสนอวิถีการโคจรของดาวเคราะห์เป็นกฎ 3 ข้อ (Kepler’s three laws of planetary motion) กล่าวคือ กฏข้อที่ 1 ดาวเคราะห์แต่ละดวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางหนึ่งเดียวของวงโคจรรูปวงรี การโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวงจะโคจรตามเส้นรอบวงของรูปวงรีและจะมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์แตกต่างกันตามขณะการเคลื่อนที่ที่เปลี่ยนไปบนตำแหน่งของเส้นรอบวง กฏข้อที่สอง ดาวเคราะห์มีความเร็วการโคจรไม่คงที่ ความเร็วของการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์จะแปรผันไปตามระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับตำแหน่งโคจรบนเส้นรอบวงรี และ พื้นที่ทำมุมระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหนบนเส้นรอบวง พื้นที่การกวาดทำมุมระหว่างดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์จะเท่ากันและใช้เวลาเท่ากัน ดาวเคราะห์มีจุดที่ความเร็วสูงสุดและต่ำสุดในการโคจร จุดที่ดาวเคราะห์มีความเร็วสูงสุดคือจุดที่ดาวเคราะห์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด (perihelion) และจุดที่ดาวเคราะห์มีความเร็วต่ำที่สุดคือจุดที่ดาวเคราะห์อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากที่สุด (aphelion) กฏข้อที่ 3 ความเร็วการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์จะแปรผกผันตามความยาวของเส้นรัศมีการโคจร ดาวเคราะห์ใดที่มีรัศมีห่างจากดวงอาทิตย์น้อย ดาวเคราะห์นั้นจะมีการโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่เร็ว เช่น ดาวอังคาร ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 88 วัน ในขณะที่โลกใช้เวลา 365 วัน ในขณะที่ดาวเสาร์ใช้เวลา 10,759 วัน อย่างไรก็ตาม ณ ชั่วเวลาที่เคปเลอร์ได้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา เขาเองยังไม่รู้จักกับแรงโน้มถ่วงที่ในเวลาถัดมาไอแซค นิวตัน (Isaac Newton, 1643 – 1727) ได้ค้นพบและใช้แรงโน้มถ่วงในอธิบายแรงที่ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ในกฏวิถีการโคจรของดาวเคราะห์ของเคปเลอร์[4] ซึ่งต่อมาองค์ความรู้เหล่านี้ได้ประกอบกันขึ้นเป็นระบบ ปฏิวัติความเข้าใจของมนุษย์ว่า มนุษย์อาศัยในระบบสุริยะอันเป็นส่วนหนึ่งของแกแลกซี่ท่ามกลางหลาย ๆ พันล้านแกแลกซี่

จะเห็นแล้วว่ามนุษย์ในอดีตนั้นมีความพยายามที่อธิบายเอกภพ การดำรงอยู่ของเอกภพ และความสัมพันธ์ของวัตถุในธรรมชาติ จักรวาลวิทยาเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนมาเป็นวิชาฟิสิกส์ในภายหลัง จากการนำเสนอข้างต้น เราจะเห็นถึงการเสนอทฤษฏีมโนทัศน์เพื่ออธิบายเอกภพแตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยพอสังเขป อีกทั้งจะเห็นว่าคำอธิบายยังมีพลวัตไม่หยุดนิ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในการอธิบายการกำเนิดเอกภพคงหนีไม่พ้น ทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory) ซึ่งจะไม่กล่าวถึงอย่างละเอียดในที่นี้

มัลติเวิร์สในมุมมองวิทยาศาสตร์ VS ปรัชญา

สำหรับแนวคิดมัลติเวิร์ส ตามตัวความหมายประกอบขึ้นมาจากสองคำ คือ multiple universes อันหมายถึง แนวคิดเชิงทฤษฎีที่ชี้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มก้อนเอกภพหรือเอกภพอันมากมายมหาศาล โดยการมีอยู่ของแต่ละเอกภพนั้นไม่มีการเชื่อมต่อเกี่ยวข้องกันในเชิงสาเหตุ (causally disconnected) และยังรวมถึงอะไรก็ตามที่อาจมีอยู่เหนือไปกว่า (exist beyond) หรืออยู่ระหว่างขอบเขตพื้นที่ของเอกภพอันมากมายหลายหลากเหล่านี้[5] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มัลติเวิร์ส หมายถึง การดำรงอยู่อย่างอิสระของเอกภพอันมากมายมหาศาล[6] แนวคิดมันติเวิร์สนั้นถูกกล่าวถึงในสองบริบทหลักใหญ่ ๆ ด้วยกัน กล่าวคือ ในมุมมองวิทยาศาสตร์และมุมมองปรัชญาผู้เขียนจะขอเริ่มต้นพาผู้อ่านโจนทะยานสำรวจแนวคิดมัลติเวิร์สในมุมมองแรก นั่นคือ มุมมองวิทยศาสตร์

มัลติเวิร์สในมุมมองวิทยาศาสตร์

ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์นั้นมัลติเวิร์สเป็นสมมติฐานข้อหนึ่งที่มีความท้าทายต่อทฤษฎีทางฟิสิกส์และเป็นสมมติฐานที่ยังไม่สามารถให้ข้อสนับสนุนได้จากหลักฐานเชองประจักษ์ผ่านการทดลองได้ (ณ วันนี้) แม้ว่ายังไม่สามารถทดลองในเชิงประจักษ์ได้ แมกซ์ เทกมาร์ก (Max Tegmark, 1967 - ) นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชาวอเมริกัน-สวีเดน ผู้สนใจในแนวคิดมัลติเวิร์สได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ไว้ในบทความชื่อ Many world in context (2010) เขาเห็นว่ามัลติเวิร์สไม่ได้เป็นทฤษฎี แต่เป็นการคาดการณ์ถึงทฤษฎีบางอย่าง เทกมาร์กจัดแบ่งมุมมองที่แตกต่างกันของมัลติเวิร์สออกเป็น 4 ระดับหลัก ๆ โดยใช้พื้นฐานการวิธีคิดจากวิทยาศาสตร์ตะวันตกดังนี้

ระดับที่ 1 Regions Beyond Cosmic Horizon

ในระดับนี้มีการอ้างอิงถึงการขยายตัวของเอกภพซึ่งมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ที่ค้นพบโดย เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble, 1889 – 1953) ใจความสำคัญคือการเสนอว่าแกแลกซี่อันไกลโพ้นกำลังแผ่ขยายออกไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และ หากเอกภพยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ไม่มีจุดจบเช่นนี้ อาจมีการดำรงอยู่ของส่วนอื่นของเอกภพนี้อยู่ที่ไหนสักแห่ง หรืออาจมีการประกอบสร้างโลกที่มีองค์ประกอบเหมือน ๆ กับเราอยู่

ระดับที่ 2 Other Post-Inflation Bubbles

ระดับที่สองนี้วางอยู่บนทฤษฎีการขยายตัว (the inflationary theory) โดยเฉพาะแนวคิดการขยายตัวออกอย่างนิรันดร์ (Eternal inflation) แนวคิดนี้วางบนฐานทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang theory) ที่เชื่อว่าเอกภพของเราเกิดขึ้นจากบิ๊กแบงเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เอกภพ โดยเอกภพที่อยู่ห่างไกลออกไปอาจอุบัติขึ้นในลักษณะฟองอากาศ (Bubbles) ในภาวะแวดล้อมที่กาลอวกาศเอื้อให้เกิดการก่อรูปของเอกภพที่ไร้ขีดจำกัดและเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีแบบแผน ในลักษณะเอกภพฟองสบู่อันหลากหลาย

ระดับที่ 3 The Many Worlds of Quantum Physics

แนวคิดในระดับที่ 3 นี้อ้างอิงถึงข้อเสนอว่าด้วยควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics) ที่ถูกเสนอครั้งแรกโดย ฮิวจ์ เอเวอเร็ตต์ (Hugh Everett, 1930 – 1982) เขาเสนอว่า ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดที่แตกแขนงเป็นกิ่งก้านสาขา (every event is a branch point) และความเป็นจริงในตัวมันเองมีอยู่ในลักษณะเป็นกิ่งก้านสาขาแบบต้นไม้ ความจริงมีความเป็นไปได้หลากหลายและเป็นอยู่แบบโลกคู่ขนาน แนวคิดนี้วางอยู่บนฐานคิดการทดลองเชิงความคิดเรื่องแมวของ เออวิน ชโรดิงเจอร์ (Erwin Schrödinger, 1887 – 1861) ในข้อเสนอเรื่องแมวของ ชโรดิงเจอร์ เขาเสนอว่าเราสามารถจินตนาการความเป็นไปได้ของการมีชีวิตอยู่ของแมวในตู้ทดลองได้ในสองทาง คือ ตาย หรือ มีชีวิตรอด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นการสุ่มเดา ความจริงมีความเป็นไปได้ทั้งสองทาง อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วการทดลองทางความคิดของชโรดิงเจอร์มีความขัดแย้ง (paradox) เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่แมวจะทั้งตายและมีชีวิตอยู่ในเวลาเดียวกัน สำหรับเอเวอเร็ตต์ไม่คิดเช่นนั้น เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ว่า แมวจะสามารถมีชีวิตและไม่มีชีวิตในเวลาเดียวกันได้ เอเวอเร็ตต์นำคอนเซปท์ของชโรดิงเจอร์มาเป็นฐานคิดเขาเชื่อว่าในโลกหนึ่งแมวไม่มีชีวิตอยู่และในอีกโลกคู่ขนานอีกโลกหนึ่งแมวอาจมีชีวิตอยู่ หรือในทำนองที่ว่า เหตุการณ์จำเพาะเจาะจงบางเหตุการณ์อาจทำให้เกิดจุดที่แตกแขนงเป็นกิ่งก้านสาขาและการก่อรูปเชิงผลลัพธ์ของผลลัพธ์เชิงควอนตัมที่แตกต่างกัน

ระดับที่ 4 Other Mathematical Structures

ระดับนี้เป็นมัลติเวิร์สประเภทที่นับรวมโครงสร้างทางคณิศาสตร์ทุกรูปแบบที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้เข้าใจได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นหรือสังเกตได้ในฐานะความจริงเชิงกายภาพภายใต้เอกภพที่เรามีอยู่[7]

นอกจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์แล้ว แนวคิดมัลติเวิร์สยังเป็นที่กล่าวถึงและถกเถียงกันอยู่ในมุมมองปรัชญาเช่นกัน

มัลติเวิร์สในมุมมองปรัชญา

ในทางปรัชญานั้นคำว่า มัลติเวิร์ส ปรากฏครั้งแรกในงานเขียน Is Life Worth Living? (1895) ของวิลเลียม เจมส์ (William James, 1842–1910) ความว่า

“Truly, all we know of good and duty proceeds from nature… [which] is all plasticity and indifference – a moral multiverse, as one might call it”

(เป็นความจริงว่า ความดีและหน้าที่ทุกประเภทที่เรารู้จักนั้นเป็นกระบวนการจากธรรมชาติซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นความยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ (มีคุณสมบัติแบบพลาสติก) และเป็นความเพิกเฉย - เรียกว่า พหุภพเชิงศีลธรรม เราอาจเรียกมันเช่นนั้น)

อย่างไรก็ตามในประวัติศาสตร์ปรัชญาแนวคิดมัลติเวิร์สยังปรากฏเรื่อยมาตั้งแต่ยุคกรีก อริสโตเติล ที่เคยเสนอถึงการดำรงอยู่ของมัลติเวิร์สว่า มัลติเวิร์สนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีจริงและไร้สาระ มีเพียงโลกปรากฏเท่านั้นที่เป็นจริงหรือในยุคกลางมีแนวคิดที่ตั้งคำถาม เช่นถามว่า บางทีพระเจ้าอาจสร้างโลกที่ดีที่สุดท่ามกลางโลกที่เป็นไปได้ทั้งหมด การเสนอเช่นนี้เป็นเหมือนการยอมรับว่าพระเจ้าอาจสร้างโลกอื่น ๆ ไว้ด้วยเช่นกัน เป็นต้นข้อเสนอนี้เป็นตัวอย่างของข้อเสนอที่ถูกเสนอไปในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับมัลติเวิร์สของนักปรัชญาและเทววิทยาจากโลกตะวันออกกลางอาหรับอย่าง อัล-ฆอซาลี (al-Ghazali, 1058–1111), อาวิโรส (Averroes, 1126 – 1198), ฟัคร อัล-ดิน อัล-ราซี (Fakhr al-Din al-Razi, 1149 – 1209) และจากโลกตะวันตกอย่าง จอห์น ดันส์ สกอตัส (John Duns Scotus, 1267–1308) ถัดมาในช่วงศตวรรษที่ 17 นักปรัชญาอย่างก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ (Gottfried Wilhelm Leibniz, 1646 – 1716) ก็มีข้อเสนอว่า เป็นไปได้ว่ามีโลกที่เป็นไปได้มากมายไม่จำกัด แต่ละโลกมีกฏฟิสิกส์ที่แตกต่างกันไปและโลกแต่ละใบมีอยู่อย่างไม่ขัดแย้งกัน ทั้งนี้เขายืนยันว่าโลกที่เป็นจริงนั้นเป็นโลกที่ดีที่สุดในท่ามกลางโลกที่เป็นไปได้ทั้งหมด (the actual world is the best of all possible worlds) การเสนอเช่นนี้วางบนฐานคิดที่ไลบ์นิทซ์เชื่อว่าพระเจ้าผู้ทรงอำนาจจะไม่สร้างความขัดแย้ง และพระเจ้าได้ทรงเลือก ระบบที่เป็นไปได้ของกฏฟิสิกส์ อันจะเป็นหนึ่งเกณฑ์ที่พระเจ้าเลือกไว้ให้อยู่ในโลกที่เป็นจริง เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้ทรงมีความดี พระองค์จะทรงเล็งเห็นความเหมาะสมที่สร้างโลกที่เป็นไปได้ที่ดีที่สุด[8] มากไปกว่านั้นยังพบแนวคิดมัลติเวิร์สในปรัชญาตะวันออก อย่างเช่นแนวคิดในพุทธปรัชญามหายาน สำนักอวตังสกะ (ภาษาบาลี) /อวตัมสกะ (ภาษาสันสกฤต) (Avatamsaka) หรือรู้จักในนาม ฮัวเหยน (Huayan) ในภาษาจีน และ เคกอน (Kegon) ในภาษาญี่ปุ่น ตามตัวความหมายของชื่อเรียกนิกายนี้ หมายถึง พวงมาลาดอกไม้ และ/หรือ พวงดอกไม้ร้อยเรียงกัน สำนักอวตังสกะนี้เป็นสำนักสำคัญในฝ่ายพุทธศาสนานิกายมหายาน มีคัมภีร์สำคัญ คือ อวตังสกสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่เกิดขึ้นจากการรวมรวมและร้อยเรียงพระสูตรหลาย ๆ เล่มเข้าด้วยกัน ตามความเชื่อในสำนักนี้เชื่อว่าเนื้อหาในพระสูตรเล่มดังกล่าวเป็นความรู้ ข้อความ แนวคิด ตลอดจนคำสอนที่มาจากพระพุทธเจ้าในขณะที่พระองค์บรรลุธรรมเห็นถึงความจริงของโลก (หรือ เรียกว่า อยู่ในสภาวะธรรมกาย) โดยผู้ที่เข้าถึงหรืออยู่ในสภาวะธรรมกายจะสามารถมองเห็นและเข้าใจโลกด้วยจิตอันบริสุทธิ์ จะเข้าใจความจริงสูงสุดของโลกที่ว่า แท้จริงแล้วทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนแต่เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีอยู่ล้วนคือสิ่งเดียวกันทั้งสิ้น (ซึ่งการคิดเช่นนี้สอดคล้องไปกับความคิดแบบองค์รวม) แนวคิดเอกภพในอวตังสกะจึงเชื่อว่าเอกภพหรือจักรวาลมีอยู่ในลักษณะของจักรวาลแห่งฉัพพรรณรังสี (universe of radiance) ที่อธิบายถึงสภาวะที่จิตแผ่ขยายออกและเปิดกว้างจนถึงจุดที่ความเป็นปัจเจกในจิตหายไป อวตังสะเชื่อว่าจุดที่ความเป็นปัจเจกหายไปเป็นจุดที่ความไม่บริสุทธิ์หายไป เรียกสภาวะจิตนั้นว่าเป็นสัจภาวะและขณะเดียวกันก็เป็นจักรวาลด้วยเช่นกัน[9] จักรวาลตามแนวคิดนี้จึงถือว่าดำรงอยู่ในสรรพสิ่ง รวมถึงความเป็นพุทธะด้วยเช่นกัน จึงอาจกล่าวมัลติเวิร์สในอวกังสกะสามารถปรากฏได้ในอนุภาคทุกอนุภาค รวมถึงอนุภาคที่เล็กที่สุดด้วย แม้กระทั้งเศษฝุ่นบนใบหญ้าหรือเม็ดทรายก็เป็นจักรวาลหรือพุทธะ[10] นอกจากนี้ในแนวคิดฮินดูยังปรากฏแนวคิดที่จักรวาลอยู่ในจักรวาล ในตอนหนึ่งของภควัตปุราณะที่กล่าวถึงพระกฤษณะในวัยเยาว์ ในวันหนึ่งขณะที่พระกฤษณะและเพื่อน ๆ กำลังเล่นกันตามประสาเด็กน้อยอยู่ เพื่อน ๆ ของพระกฤษณะได้เข้าไปฟ้องนางยโสดา แม่ของพระกฤษณะ ว่า กฤษณะที่รับประทานสื่งสกปรก/ดิน/ฝุ่น เข้าไป นางยโสดาจึงเรียกพระกฤษณะมาไถ่ถามและว่ากล่าว แต่พระกฤษณะนั้นปฏิเสธและบอกว่า เพื่อน ๆ โกหก เขาไม่ได้กินสิ่งปรกเข้าไป ถ้าหากมารดาไม่เชื่อก็ขอให้มองเข้าไปในปากของตนได้เลย เมื่อพระกฤษณะอ้าปาก นางยโสดาจึงได้เห็นทุกสรรพสิ่ง โลก ดาวเคราะห์ จักรวาล สิ่งที่ทั้งเคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหวทั้งหมดในปากของพระกฤษณะ[11]

จากเบื้องต้นจะเห็นแล้วว่าแนวคิดมัลติเวิร์สในทางปรัชญานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีการกล่าวถึงอย่างมากทั้งปรัชญาในโลกตะวันตกและตะวันออก อย่างไรก็ตามแนวคิดมัลติเวิร์สที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจและมีลักษณะความคิดที่ร่วมสมัย เปิดพื้นที่ของการดำรงอยู่ให้เป็นไปได้ แนวคิดที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงคือ แนวคิด Modal Realism ของนักปรัชญาชาวอเมริกันอย่างเดวิด ลิวอิส (David Lewis, 1941 – 2001) ที่แนวคิดเสนอถึงการดำรงอยู่ของสิ่งซึ่งเป็นไปได้หรือ ‘โลกที่เป็นไปได้’ (Possible World) ลิวอิสเชื่อว่าการดำรงอยู่อื่น ๆ หรือโลกอื่น สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นไปได้ เหมือนกับที่โลกที่เราอาศัยซึ่งมันเป็นจริง (สำหรับเรา) ดำรงอยู่ ในงานเขียนชิ้นสำคัญชื่อ On the Plurality of Worlds (1986) ลิวอิสได้นำเสนอใจความสำคัญเรื่องนี้เอาไว้

เขาเชื่อว่ามีการดำรงอยู่ของโลกมหาศาลมากมายนับไม่ถ้วน (A Thesis of Plurality of Worlds) โลกที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นเพียงโลกใบหนึ่งท่ามกลางโลกอื่น ๆ อีกจำนวนมาก โลกอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันกับโลกของเรา โลกแต่ละใบมีการแยกขาดออกจากกัน (isolated) ไม่มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในมิติกาลและอวกาศ โลกแต่ละใบต่างมีกาลและอวกาศที่จำเพาะแตกต่างกัน รวมทั้งไม่มีผลต่อการกันระหว่างโลกแต่ใบในเชิงสาเหตุและผล หรือกล่าวได้ว่าเหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้นบนโลกอีกใบหนึ่งจะไม่ส่งผลต่อโลกอื่น ๆ โลกที่เป็นไปได้ใบอื่น ๆ สามารถดำรงอยู่ได้ไม่แตกต่างไปจากโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ และโลกที่เป็นไปได้ใบอื่น ๆ มีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองไม่ได้เป็นโลกที่เราสร้างมันขึ้นมา[12]

ข้อเสนอของลิวอิสที่เกิดขึ้นนี้ นักปรัชญาในสายอื่น ๆ ได้โต้กลับ มีทั้งในแง่มุมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย (ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทางปรัชญา) การพยายามโต้กลับบทวิจารณ์ที่นักปรัชญาสายอื่น ๆ โต้กลับลิวอิสข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ การใช้ความเป็นจริง (actual) เป็นประเด็นในการโต้แย้งแนวคิด Possible worlds โดยข้อเสนอที่ชูประเด็นเรื่องความเป็นจริงโต้แย้งในแง่มุมที่ว่า โลกที่เป็นไปได้อื่น ๆ ตามที่ลิวอิสเสนอนั้นจะทราบได้อย่างไรว่าโลกใบอื่น ๆ มีอยู่จริง ๆ หรือในแง่มุมที่ว่าเราจะสามารถเข้าถึงหรือพิสูจน์การมีอยู่โลกใบอื่น ๆ ได้อย่างไร คำตอบของคำถามนี้ นักคิดในกลุ่ม Modal Realism (ซึ่งลิวอิสเป็นหนึ่งในนั้น) ให้ความเห็นตอบกลับว่า เวลาที่เรา (มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้) กล่าวว่าบางสิ่งบางอย่างมีการดำรงอยู่จริง (actual existence) มันหมายถึงว่า สิ่ง ๆ นั้นดำรงอยู่จริงในโลกที่เป็นจริง (existing in the actual world) (ซึ่งคือโลกนี้) การจะใช้เกณฑ์ความเป็นจริงที่มีค่าความเป็นจริงของโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นเกณฑ์สูงสุดในการพิสูจน์การมีอยู่ของโลกที่เป็นไปได้อื่นทั้งหมด คงจะเป็นการให้อภิสิทธิ์โลกใบที่เราอาศัยอยู่มากไป เพราะถ้าหากเราวางการคิดไว้บนเงื่อนไขที่ว่าโลกทุกใบต่างก็เป็นจริงอย่างเท่าทียมกัน (equally real) การกล่าวว่าสิ่งใดจริง นับว่าเป็นการกล่าวหรือยืนยันจากผู้อยู่อาศัยในโลกนั้นเพียงทางเดียว หรือ เป็นความจริงของผู้ที่อาศัยในโลกใบนั้น ๆ เช่น มนุษย์กล่าวว่าโลกนี้เป็นจริง เพราะมนุษย์อาศัยอยู่ในโลกนี้ ผีบอกว่าโลกของวิญญาณมีจริง เพราะเขาอาศัยอยู่ สิ่งที่ชีวิต x บอกว่า โลก x เป็นจริง เพราะ x อาศัยอยู่ เป็นต้น โลกแต่ละใบต่างก็เป็นจริงต่อผู้อยู่อาศัยในโลกนั้นๆ และการกล่าวเช่นนี้เป็นเพียงการยืนยันว่า ผู้อยู่อาศัยกำลังอยู่ที่ไหน (ฉันอยู่ที่นี่ในโลก x นะ) เท่านั้น ความเป็นจริงจึงเป็นเพียงการบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ การมีอยู่ เหตุการณ์ หรืออะไรก็ตามที่อ้างอิงถึงได้ ผ่านมุมมองปัจเจกของผู้พูดที่กำลังกล่าวถึงสิ่งนั้น (‘Actual’ is a mere indexical.)[13]

เมื่อเดินทางมาถึงบรรทัดนี้แล้วผู้อ่านคงพอมองเห็นแง่มุมต่าง ๆ ของแนวคิดมัลติเวิร์สได้ในเบื้องต้น และอาจมองเห็นความเป็นไปได้ของการมีอยู่ของโลกใบอื่น ๆ ไม่แน่ว่าสิ่งที่ลิวอิสกล่าวไว้อาจเป็นจริง (หรือไม่จริง?) สำหรับในทางปรัชญานั้นตราบใดที่เรายังพิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราสงสัยไม่ได้ นักปรัชญาจะไม่ด่วนสรุปไปว่าสิ่งที่เราสงสัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นแล้วมัลติเวิร์สจึงยังคงเป็นประเด็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเด็นที่มนุษย์ต้องหาคำตอบและเปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียงต่อไป

 

 

อ้างอิง

[1] Philosophical posthumanism, Francesca Ferrando, 2019, pp. 171

[6] These days ‘multiverse’ refers to the literal existence of multiple universes. cite in https://philosophynow.org/issues/89/The_Multiverse_Conundrum

[7] Philosophical posthumanism Francesca Ferrando, 2019, pp. 171 – 173.

[8] https://philosophynow.org/issues/89/The_Multiverse_Conundrum และ Philosophical posthumanism Francesca Ferrando, 2019, pp. 175.

[9] สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2545). พุทธศาสนาสำนักอวตังสกะ พุทธแบบเต๋าหรือเต๋าแบบพุทธ. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 9(2), 31-45. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jbscu/article/view/170380/122461

[12] D. Lewis, On the Plurality of Worlds (Oxford: Basil Blackwell) 1986, pp. 2–3. อ้างใน Garrett, B. (2006). What is this thing called Metaphysics?. New York: Routledge. p. 22.

[13] Garrett, B. (2006). What is this thing called Metaphysics?. New York: Routledge. p. 23.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net