Skip to main content
sharethis

เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ นักข่าวผู้เชี่ยวชาญประเด็นพม่า ให้สัมภาษณ์สื่อ 'อิรวดี' กรณีที่ทูตจีนเดินทางเยือนพม่าครั้งแรกหลังการรัฐประหาร พร้อมคำถามที่ว่าแท้จริง จีน ต้องการอะไรจากกองทัพพม่า และทำไมต้องเข้าหาทั้งฝ่ายเผด็จการ พรรค NLD และกองกำลังชาติพันธุ์บางกลุ่ม

 

6 ก.ค. 2565 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-4 ก.ค.) หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินทางเยือนประเทศพม่าครั้งแรกหลังรัฐประหาร เพื่อประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘แม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7’ ที่เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ซึ่งในโอกาสดังกล่าว อ่องซอ บรรณาธิการสำนักข่าวอิรวดี สัมภาษณ์ ‘เบอร์ทิล ลินต์เนอร์’ นักข่าวผู้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมามานานหลาย 10 ปี ต่อประเด็นที่ว่า จีนมียุทธศาสตร์และเป้าหมายต่อพม่าอย่างไร รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

การประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7 เมื่อ 3-4 ก.ค. 2565 

อ่องซอ : คิดว่าจะต้องมีการหารือกันยาวแน่ๆ เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องกระบวนการสันติภาพและรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่ององค์กรกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations - EAOs) ในตอนนี้ผมต้องการให้คุณพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับจีน ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจใกล้เคียงพม่า ผมต้องการรับฟังความคิดเห็นจากคุณเกี่ยวกับอำนาจอิทธิพลทางการเมืองของจีน และความทะเยอทะยานในทางภูมิศาสตร์การเมืองของจีน เพราะพวกเรามักจะถกเถียงกันและพูดถึงเกี่ยวกับบทบาทของจีนที่ส่งผลต่อกิจการภายในของพม่า และส่งผลต่อความขัดแย้งภายในของพม่า จีนทำการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าได้อย่างไร และมีเรื่องของความทะเยอทะยานทางภูมิศาสตร์การเมืองของจีน กับการเข้าถึงทะเลอินเดียของจีน

ลินต์เนอร์ : ก่อนอื่นเลย ถ้าหากคุณมองดูแผนที่ของจีน มันเป็นจักรวรรดิผืนแผ่นดินที่ห่างจากชายฝั่ง มีพื้นที่ชายฝั่งน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของทั้งประเทศ แล้วหลังจากนั้นจีนก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม โมเดลการพัฒนาของพวกเขาคือการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของจีนถูกพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและเพื่อเรื่องอื่นๆ รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต

แผนพัฒนาดังกล่าวนี้ทำให้มณฑลติดชายฝั่งของจีนมีการพัฒนาโดยทันที เพราะว่ามีท่าเรืออยู่ที่นั่น และเนื่องจากว่าในพื้นที่เหล่านี้เป็นฐานการผลิตด้วย มณฑลที่ได้รับการพัฒนาเหล่านี้คือกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน และต่อมา ก็คือเซี่ยงไฮ้ ในขณะที่มณฑลที่ไม่ได้อยู่ติดชายฝั่งจะได้รับการพัฒนาล่าช้ากว่า

เรื่องนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างพื้นที่มณฑลติดชายฝั่งกับพื้นที่มณฑลที่ไม่ได้ติดชายฝั่ง ความเหลื่อมล้ำนี้หนักมากจนทำให้เกิดปัญหาต่อความสามัคคีในประเทศได้ เพราะประเทศจีนมีพื้นที่ใหญ่เทียบเท่ากับทวีปหนึ่งมากกว่าจะเป็นพื้นที่ประเทศ มันใหญ่มาก แล้วก็มีกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในจีนหลากหลายกลุ่มด้วย

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 (ประมาณ พ.ศ. 2523-2533) จีนเริ่มจะมองหาลู่ทางในการพัฒนาแบบที่เน้นการส่งออกจากมณฑลที่ไม่ได้อยู่ติดชายฝั่ง เรื่องนี้มีการตีพิมพ์ในวารสารของทางการ "ปักกิ่งรีวิว" เมื่อปี 2528

อ่องซอ : ใช่ ผมได้อ่านวารสารนั่น

ลินต์เนอร์ : วารสารทางการจีนเล่มนั้นระบุว่า มณฑล 3 แห่งคือ เสฉวน ยูนนาน และ กวางโจว ที่มีประชากรรวมกัน 100 ล้านคน ไม่มีทางที่พวกเขาจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่นั่นแล้วส่งสินค้าให้ท่าเรือที่มีจีนเป็นเจ้าของได้เลย ทำให้พวกเขาต้องเอาประเทศอื่นเป็นที่ลงสินค้า แล้วก็มีอยู่เพียงแค่ 3 ประเทศเท่านั้นที่มีพรมแดนติดกับจีน และมีเส้นทางออกสู่ทะเลอินเดีย ทำให้สามารถข้ามขั้นตอนการผ่านช่องแคบมะละกา และทะเลจีนใต้ และทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นในการส่งเสริมการส่งออกจากท่าเรือของจีนเอง ประเทศที่ว่านี้คือพม่า อินเดีย และปากีสถาน กับอินเดียแล้วจีนควรจะล้มเลิกที่จะหารือในเรื่องนี้ ไม่มีทางที่อินเดียจะยื่นมือช่วยเหลือจีน

สำหรับปากีสถานนั้นจริงอยู่ที่ว่ามีทางหลวงอยู่ที่นั่น คือ ทางหลวงคาราโครัม แต่มันก็จัดเป็นหนึ่งในทางหลวงสายที่อันตรายที่สุดในโลก แล้วนอกจากนี้ปากีสถานก็ยังมีความวุ่นวายทางการเมืองอยู่ ซึ่งอาจจะน่าหวาดหวั่นสำหรับจีน ทำให้เหลืออยู่ประเทศเดียวที่จะให้การเข้าถึงเส้นทางออกสู่ทะเลอินเดียต่อจีนได้ แล้วนั่นก็คือ...

อ่องซอ : พม่า

ลินต์เนอร์ : ถูกต้อง ดังนั้นแล้ว จีนจึงเริ่มแผนการยุทธศาสตร์ในพม่าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองซึ่งในประเทศอื่นไม่สามารถให้ได้ ชาติตะวันตกสามารถพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยและอะไรพวกนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี แต่มันไม่ได้มีผลกระทบอย่างแท้จริงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพม่า แล้วแน่นอนว่าอินเดียก็กำลังกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีน ซึ่งมาจนถึงตอนนี้อินเดียก็ยังไม่สามารถต่อต้านอิทธิพลจีนได้สำเร็จ ในขณะที่จีนเร่งความเร็วอย่างเต็มที่ในการพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าใครก็ตามจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำพม่าจีนก็จะเข้าหา แม้กระทั่งในตอนที่อองซานซูจีดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ สถานทูตจีนก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่แสดงความยินดีที่อองซานซูจีชนะการเลือกตั้งในตอนนั้น แล้วมันก็เป็นอะไรประมาณนั้น

อ่องซอ : แล้วอองซานซูจีเองก็เคยเชิญชวนให้จีนเข้าพบตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2558 แล้วเธอก็ได้พบปะกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน

หวังอี้ รมต.ต่างประเทศของจีน พบ อองซานซูจี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่มนตรีแห่งรัฐ เมื่อ ม.ค. 2564 (ที่มา เว็บไซต์ สถานทูตจีน ในสหภาพยุโรป)

ลินต์เนอร์ : แน่นอนว่าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่าสำหรับจีนแล้ว พวกเขาต้องการให้รัฐบาลทหารที่พวกเขามองว่า "มีเสถียรภาพ" อยู่ในอำนาจมากกว่า

อ่องซอ : แต่ก็อ่อนแอ

ลินต์เนอร์ : ใช่ ไม่ได้เข้มแข็งอะไรขนาดนั้น

อ่องซอ : แล้วก็ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย

ลินต์เนอร์ : ไม่ พวกเขาจะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่แม้กระทั่งในตอนนั้นอองซานซูจีก็ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศอย่างแท้จริง ตอนนั้นรัฐบาลทหารยังเป็นผู้ปกครองประเทศอยู่ พวกเราควรจะต้องจดจำไว้ว่า อย่างน้อยอองซานซูจีก็เป็นคนที่บริหารรัฐบาล ในตอนนั้นจีนพยายามจะกระชับความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและชื่นมื่นกับอองซานซูจี และพรรค NLD ดังนั้นแล้ว ประเด็นของผมคือ ถ้าหากคุณมองดูยุทธศาสตร์ผลประโยชน์ของจีนในระยะยาวแล้ว พวกเขาอยากได้รัฐบาลที่จะยอมตกลงกบพวกเขาได้ง่ายกว่า นั่นก็คือรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าหากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยพวกเขาก็ยังจะทำข้อตกลงด้วยวิธีการของตัวเอง แล้วความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มก็มีการดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน...

อ่องซอ : ใช่แล้ว นั่นล่ะที่จะเป็นคำถามต่อไปของผม คุณรู้แล้วว่าในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยส่งออกการปฏิบัติของตัวเองไปสู่ประเทศใกล้เคียงรวมถึงพม่าด้วย แต่ในทุกวันนี้พวกเขาส่งออกสินค้าและต้องการทำขัอตกลงค้าขายกับประเทศใกล้เคียง แล้วพวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ของจีน พวกเรามีโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ฝั่งตะวันออก (CMEC)

ทั้งจีนและพม่าต่างก็ลงนามในข้อตกลงที่จะดำเนินการโครงการเมกะโปรเจกต์จำนวนมาก มีบางโครงการที่เริ่มทำแล้วในรัฐฉาน มีการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ที่ทำให้เราพอจะทราบว่ามีองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมาก และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่ปฏิบัติการในพื้นที่รัฐฉาน มีโครงการ CMEC จำนวนมากที่จะเริ่มโครงการในรัฐฉานแล้ว ในพื้นที่นี้ก็มีองค์กรติดอาวุธอย่างกองกำลังสหรัฐว้า โกก้าง กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกระทั่งอาระกันอาร์มี (AA)

จีนเริ่มจะให้อาวุธในการสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ กลุ่มทางตอนเหนือซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของที่ๆ ถูกห้อมล้อมด้วยแผ่นดินจีน ดังนั้น ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาพวกเราจะเห็นว่าจีนมีการแทรกตัวเข้ามามีบทบาทในกระบวนการสันติภาพพม่าอย่างดุดัน คุณพอจะบอกให้พวกเราทราบมากขึ้นได้ไหมในเรื่องนี้ แล้วผมก็อยากจะถามคำถามสั้นๆ ว่า "จีนไว้ใจได้หรือ"

ลินต์เนอร์ : คำถามนี้ตอบได้ง่ายมาก คำตอบคือ "ไม่" ความเชื่อใจในแง่ที่ว่าพวกเขามีความสนใจในสันติภาพของประเทศอย่างจริงใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะเชื่อใจจีนได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในผลประโยชน์ของพวกเขา ถ้าหากเรามองกองกำลังแห่งสหรัฐว้า และโกก้างด้วยแล้ว ...พวกเขาต่างก็เป็นผู้สืบทอดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากจีนอย่างมากในช่วงยุคสมัยคริสตทศวรรษที่ 1960-1970 มาจนถึง 1980 (ราวตั้งแต่ พ.ศ. 2503-2533) ในช่วงนั้นจีนกำลังส่งออกการปฏิวัติของพวกเขาแต่ในตอนนี้พวกเขาส่งออกสินค้า

ดังนั้นแล้ว มันจึงเป็นเรื่องโง่ๆ ถ้าหากจีนจะยอมล้มเลิกสิ่งที่ตัวเองปลูกสร้างไว้ให้กับ CPB ในประเทศพม่า เพียงเพราะการกบฏแข็งข้อในปี 2532 ในตอนนี้จีนอาจจะยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำว้าบางคนมากกว่าที่เคยมีกับ CPB ก็ได้ เพราะพวกเขาพูดภาษาเดียวกันมาตั้งแต่แรก แล้วผู้นำว้าส่วนใหญ่ก็พูดภาษาจีนเป็นภาษาที่สอง ซึ่งมีอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่าจำนวนน้อยที่ทำเช่นนี้ แล้วถ้าคุณดูอาวุธที่กลุ่มกองกำลังว้ามีอยู่ มันก็เป็นอาวุธที่ดีกว่า พวกเขาได้รับการติดอาวุธมากกว่า CPB เคยได้รับ แล้วอาวุธปืนทั้งหมดตอนนี้ก็มาจากจีน เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย ไม่ว่ากลุ่มคลังสมองของจีนจะพยายามปฏิเสธอย่างไรก็ตาม

แต่ถ้าหากคุณมองในภาพกว้างๆ ลองสมมุติว่าถ้าหากวันพรุ่งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มนั่งลงแล้วมาตกลงกันว่า "ใช่แล้ว พวกเราต้องการสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐที่มีรูปแบบนี้ มาลงนามข้อตกลงกัน ไม่มีการสู้รบในประเทศนี้อีกต่อไป มีแต่สันติภาพ แล้วคนที่เคยเป็นกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดก็กลายไปเป็นตำรวจในท้องถิ่นหรือทำอย่างอื่น" ใครจะเป็นฝ่ายเสียตรงจุดนี้ จีนนั่นเอง จีนไม่ได้ผลประโยชน์ถ้าหากมีสันติภาพแบบนี้เกิดขึ้น พวกเขาอาจจะอยากให้มีสันติในแค่ระดับหนึ่ง... พวกเขาเองก็ไม่ต้องการให้ถึงขั้นอยู่ในภาวะโกลาหลโดยสิ้นเชิง เพราะมันจะก่อปัญหาให้มีกลุ่มผู้ลี้ภัยทะลักเข้าไปที่ยูนนานหรือปัญหาอื่นๆ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ถึงขั้นอยากได้เสถียรภาพในระดับสงบสุขโดยสิ้นเชิงด้วยเหมือนกัน เพราะพวกเขาจะไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย แล้วพวกเขาก็ต้องการแค่เสถียรภาพในระดับหนึ่งเพื่อที่พอจะให้พวกเขาสามารถใช้อิทธิพลควบคุมได้บ้าง แล้วนั่นก็เป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้

อ่องซอ : จีนต้องการให้กองกำลังต่างๆ สู้รบกันเอง

ลินต์เนอร์ : ใช่ แน่นอนว่าเป็นอย่างนั้น การที่กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้จะวางอาวุธจะไม่ส่งผลประโยชน์กับจีน อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ในอนาคตมันอาจจะส่งผลประโยชน์กับพวกเขาก็ได้ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่แน่ๆ จีนไม่ได้อยากให้มีสันติภาพ พวกเขามีผลประโยชน์จากการที่พม่าอยู่ท่ามกลางสถานการณ์แบบตอนนี้ มันไม่ควรจะมีเสถียรภาพมากเกินไปเพราะจีนจะควบคุมมันไม่ได้

แล้วจีนก็มีคอนเนคชั่นกับทุกฝักทุกฝ่าย แต่จีนก็มีนโยบายการต่างประเทศที่ลักษณะเฉพาะตัวด้วยเช่นกัน พวกเขาปฏิบัติแตกต่างออกไปเวลาปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ต่างกัน ปฏิบัติต่างกันเวลาที่ปฏิสัมพันธ์กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ มันน่าตลกที่การปฏิบัติต่างกันแบบนี้มาจากประเทศที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวแล้วพรรคนั้นก็เป็นผู้ควบคุมรัฐบาลจีน

ดังนั้นแล้ว มันจึงทำให้จีนมีความสัมพันธ์ต่อรัฐบาลไหนก็ได้ในพม่าไม่ว่าใครก็ตามจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล กับเรื่องความสัมพันธ์ต่อพรรคหรือกลุ่มต่างๆ นั้น จีนมีร่วมกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นว้า หรือคะฉิ่น หรือพรรค NLD หรือพรรค USDP (พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา พรรคของรัฐบาลทหาร) ถึงแม้จะมีคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการที่จีนมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม หรือพรรคต่างๆ มากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับรัฐบาล แต่แน่นอนว่าทั้งหมดนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่กุมบังเหียนรัฐบาลจีนอยู่

อ่องซอ : ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ‘หวังอี้’ เชิญชวนให้รัฐมนตรีต่างประเทศของ ‘สภาบริหารแห่งรัฐ’ (SAC) ‘วันนาหม่องลวิน’ ไปเยือนจีน หวังอี้บอกว่า "ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม จีนจะสนับสนุนพม่าในการปกป้องอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพของเขตแดน ในการสำรวจเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพของประเทศ" แต่พวกเรากำลังหารือว่า แล้วจีนจะพยายามควบคุมกลุ่มอำนาจภายในพม่าได้อย่างไร พวกเราเคยพูดถึงการที่จีนปิดล้อมพม่ากันมาก่อน แล้วในตอนนี้จีนก็กำลังให้สัญญากับพม่าว่าพวกเขาจะเคารพในบูรณภาพของเขตแดนพม่า

วันนาหม่องลวิน รมต.ต่างประเทศ ของ SAC พบ หวังอี้ รมต.ต่างประเทศจีน เมื่อ เม.ย. 2565 (ที่มา เว็บไซต์สถานทูตจีน ประจำอเมริกา)

ลินต์เนอร์ : แต่จีนก็ไม่เคยทำเช่นนั้น เดิมทีจีนก็สนับสนุนกองกำลัง CPB มาเป็นเวลายาวนาน 20 ปี แล้วพวกเขาก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มในแถบชายแดนของพม่ากับจีน พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ส่งอิทธิพลต่อการเมืองภายในของพม่ามาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มติดอาวุธและเรื่องกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพม่า

อ่องซอ : ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับพม่า โดยเฉพาะกับรัฐฉานที่กำลังจะมีโครงการจำนวนมากเกิดขึ้นในอีก 10-20 ปีถัดจากนี้ ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากกับการที่จีนกำลังจะเข้ามา แม้กระทั่งกองกำลังว้าที่เป็นตัวแทนอำนาจให้กับจีนก็กำลังเริ่มเคลื่อนย้ายไปที่ตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศไทยก็กำลังมองเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วง

ลินต์เนอร์ : ผมไม่เชื่อว่าจีนต้องการจะผนวกรวมดินแดนของพม่าเข้ากับจีน มันไม่ใช่วิธีการที่จีนจะใช้อิทธิพลหรือแผ่ขยายอิทธิพลตัวเอง จริงๆ แล้วสิ่งที่จีนกำลังทำกับพม่าในตอนนี้เป็นแผนการที่มีมาก่อนหน้าโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road - BRI) ตั้งแต่ช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 1980s จีนเริ่มมองพม่าเป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะสร้างทางน้ำ, ทางรถไฟ, ทางถนน ตัดผ่านจากมณฑลยูนนานไปสู่มหาสมุทรอินเดีย

จีนพูดถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่าจะมีการพัฒนาอย่างไร แต่มันนับเป็นการแทรกแซงไม่ได้แค่ต้องการให้ความช่วยเหลือ พวกเขาไม่ได้ทำมันด้วยความมีจิตใจดีงามหรืออะไร พวกเขามีผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในการควบคุมสิ่งที่พวกเขาเรียกกันทุกวันนี้ว่าระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า แล้วจีนก็จะทำแบบนี้ต่อไป

แต่ถ้าหากให้กลับมามององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์แล้ว คุณต้องจำไว้ว่าถึงแม้พวกเขาจะต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก เพราะพวกเขาอยู่ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนข้ามพรมแดนจากจีน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้สนับสนุนจีน เช่น คะฉิ่น พวกเขาเป็นชาวคริสต์ พวกเขาไม่เชื่อใจจีน และจีนก็ไม่เชื่อใจพวกเขาเช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจีนถึงไม่ให้อาวุธกับกลุ่มนี้แล้วพวกเขาต้องไปหาอาวุธจากแหล่งอื่น แม้กระทั่งว้า พวกเขาก็ไม่ได้ชอบที่จะเห็นจีนมีอำนาจนำ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ต้องการอิสระอย่างมาก แล้วพวกเขาก็รู้ว่ารัฐบาลกลางของจีนเคยปฏิบัติต่อว้าไว้อย่างไรในช่วงยุคคริสตทศวรรษที่ 1950s (ราวปีพ.ศ. 2493-2503)

 

เรียบเรียงจาก

China’s Complicated Game in Myanmar, The Irrawaddy, 02-06-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net