Skip to main content
sharethis

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮกมีมติให้ดำเนินการไต่สวนคดีฆ่าล้างโรฮิงญาเต็มรูปแบบแล้ว โดยระบุว่าคดีนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาล และหักล้างข้อโต้แย้งของรัฐบาลทหารพม่าทั้งหมด

คำไต่สวนที่ว่านี้ถูกประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ค. 65) สำนักข่าวอิรวดีรายงานคำพูดของประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โจน โดนอกฮูว ระบุว่าศาล "มีอำนาจในการไต่สวนคดี เพื่อพิจารณาคำร้องของสาธารณรัฐแกมเบีย และพบว่าคำร้องดังกล่าวสามารถรับพิจารณาได้"

เมื่อ 5 ปีก่อน รัฐบาลพม่าได้ทำปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา และพบรายงานว่ามีการฆาตกรรม ข่มขืน และเผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ปัจจุบัน ชาวโรฮิงญาว่า 850,000 คนต้องอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของพม่า ขณะที่ชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คน ยังอยู่ในรัฐยะไข่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า

ออง ซาน ซู จี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล เคยเป็นผู้แทนของพม่าในคดีนี้ ก่อนจะเกิดการรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 64 และการดำเนินคดีกับเธอในเวลาต่อมา จนขณะนี้เธอถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำขังเดี่ยว ปัจจุบันตัวแทนของคณะรัฐประหารเป็นผู้แทนของคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ทั้งนี้ รัฐบาลของแกมเบียเป็นผู้ฟ้องร้องคดีต่อศาลเมื่อ พ.ย. 2562 โดยกล่าวหาว่าพม่าละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491

รัฐบาลทหารพม่าพยายามโต้แย้งว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดี เพราะรัฐบาลแกมเบียถือเป็น "ตัวแทน" ขององค์การความร่วมมืออิสลามซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 57 ประเทศ รัฐบาลทหารพม่าอ้างว่ามีแต่รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องคดีกับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศไม่มีสิทธิฟ้องร้องคดี ศาลจึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ปัดตกข้อโต้แย้งนี้ของรัฐบาลทหารพม่า

รัฐบาลทหารพม่าพยายามโต้แย้งด้วยว่ารัฐบาลแกมเบียไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีในสนธิสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มีผลบังคับใช้รัฐบาลพม่า อย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปัดตกข้อโต้แย้งนี้อย่างเป็นเอกฉันท์เช่นกัน ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่าตนเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยคดีนี้ อย่างไรก็ตาม การไต่สวนอาจยังคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีคำพิพากษาใดๆ ออกมา

นอกจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว ก็มีความเคลื่อนไหวจากตัวแสดงอื่นๆ เช่นกัน โดยเมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา แอนโทนี บลินเคน ได้ประกาศว่าความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาที่กระทำโดยกองทัพม่าถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกเช่นกัน ก็ได้เริ่มทำการสอบสวนเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาแล้วด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net