รองเลขาฯ ประชาธิปัตย์ ชี้ขอยกหนี้ กยศ. มีกลุ่มการเมืองชักใย - กยศ.แจงยกเลิกหนี้ไม่ใช่ทางออก

'ชัยชนะ เดชเดโช' ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ความเคลื่อนไหวขอยกหนี้ กยศ. มีกลุ่มการเมืองชักใย พยายามสร้างประเด็นให้คนในสังคมวิตกกังวลอยู่เสมอ - ผู้จัดการกองทุน กยศ. แจงล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา ส่งผลต่อบรรทัดฐานความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ยืนยันขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ถึงสิ้นปี พร้อมชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี และงดการขายทอดตลาด

20 ส.ค. 2565 กรณีโซเชียลมีเดียมี แฮชแท็ก #ล้างหนี้กยศ วานนี้ (19 ส.ค.) และมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ภายหลัง ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ จัดล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ ร่างฉบับประชาชน พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. .......... ผ่านเว็บไซต์ https://welfarewillwin.com/sign/ โดย แก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกินสองปีและยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้ กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (20 ส.ค.) เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่านายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีความเคลื่อนไหวของบางฝ่ายที่พยายามชูประเด็นในการขอยกเลิกการชำระหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อให้การศึกษา (กยศ.) ว่าตนเข้าใจว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าว เป็นเยาวชนที่มีกลุ่มการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง พยายามสร้างประเด็นให้คนในสังคมวิตกกังวลอยู่เสมอ ซึ่งกลุ่มการเมืองนี้ได้เสนอว่า ควรจะยกเลิกหนี้คงค้างคนที่เรียนจบครบ 2 ปีแล้วและให้เก็บเงินจากรัฐบาล

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า การอ้างว่าการเป็นหนี้สินที่ลดแรงจูงใจในการเริ่มต้นชีวิต และเกิดความเหลื่อมล้ำนั้น ถือเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะทาง กยศ.มีการกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ภายหลังจากจบการศึกษา 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือเพื่อให้บัณฑิตที่จบใหม่ สามารถมีระยะเวลาในการหางานเพื่อนำเงินบางส่วน มาแบ่งชำระให้กับทาง กยศ. นำเงินเหล่านั้นมาสร้างโอกาสให้กับน้องๆ ที่ต้องการโอกาสในการเรียนในระดับสูงต่อไป และเป็นการสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า กลุ่มการเมืองดังกล่าวมักจะอ้างตัวเสมอๆ ว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักประชาธิปไตยและสนใจการเมืองอย่างแท้จริงนั้น ควรจะทราบด้วยว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. และไมีการทำงานจนกระทั่งมีการเตรียมที่จะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณารายมาตราในวาระ 2 และลงมติในวาระ 3 เร็วๆ นี้

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ซึ่งทาง กมธ.วิสามัญฯ ได้มีการแก้ไขและขยายประโยชน์ให้กับผู้กู้จำนวนมาก เช่น กำหนดให้ไม่มีผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินสำหรับการเรียนจนถึงขั้นปริญญาตรี เพื่อไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน เช่น บิดา มารดา ครูอาจารย์ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้ำประกันตัวเองแทน ขยายเหตุที่ทำให้หนี้ระงับมากขึ้นกว่ากฎหมายปัจจุบันที่กำหนดไว้เฉพาะลูกหนี้ถึงแก่ความตาย คือเพิ่มเติมในกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย ยกเว้นล้มละลายจากการทุจริต

รวมทั้งยกหนี้กรณีพิการทุพพลภาพ และโรคอันตรายร้ายแรง จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ลดดอกเบี้ยจากไม่เกิน 7.5 ต่อปี เป็นไม่เกิน 0.25 ต่อปี ไม่คิดเบี้ยปรับลูกหนี้กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้คืนกองทุน จากเดิมเบี้ยปรับตามกฎหมายที่ใช้กันอยู่คือกำหนดถึงร้อยละ 18 เพราะถือเป็นอัตราที่สูงเกินความจำเป็น

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการขยายโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้มีสถานะบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างขอสัญชาติไทย ให้เข้าถึงกองทุนฯ ได้ เพื่อสร้างความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองเอาไว้

ดังนั้น หากกลุ่มดังกล่าว ต้องการเสนอแนวคิดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนและคุณภาพชีวิตของเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันแล้ว ก็ย่อมสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ใช่การเสนอแนวคิดเพื่อสร้างค่านิยมแบบบิดเบี้ยวและไร้ความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติด้วย

“ผมเชื่อว่า การเคลื่อนไหว ดำเนินการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมาย กยศ. โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ เพื่อให้ยกหนี้ผู้ที่กู้ยืมฯ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์โดยรวม หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลในอนาคต ก็จะต้องแบกรับงบประมาณไปอีกราวๆ 50,000 ล้านบาทต่อปี และไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า คนเหล่านั้นจะสามารถหางานทำเพื่อนำเงินรายได้มาชำระคืนในรูปแบบภาษีเพื่อกลับมาจัดสรรงบประมาณในการให้เด็กเรียนรุ่นหลังได้เรียน รวมทั้ง เงินจำนวนนี้ ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาในด้านอื่นๆ ที่จำเป็นอีกมาก”

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ดังนั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคของนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้คำนึงถึงข้อจำกัดทางการเงินของประเทศ และเห็นถึงโอกาสของเด็กที่ต้องการโอกาสทางการศึกษาในระดับสูง จึงได้จัดตั้งกองทุน กยศ. ในรูปของกองทุนหมุนเวียน ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทาง กมธ. วิสามัญร่าง พ.ร.บ. กองทุน กยศ.ได้แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันมากยิ่งขึ้น และเป็นไปตามอุดมการณ์ที่กลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้แล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหลักการทั่วไปก็คือ “มีหนี้ก็ต้องจ่ายคืน” และอย่าไปให้ความเชื่อถือกับอาจารย์หรือนักการเมืองที่ชอบให้ท้ายแบบผิดๆ อีกด้วย

กยศ.แจงยกเลิกหนี้ไม่ใช่ทางออก ส่งผลต่อบรรทัดฐาน ซื่อสัตย์สุจริต-วินัยการเงิน

วานนี้ (19 ส.ค.) ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ตามที่ปรากฏเป็นประเด็นที่มีข้อโต้แย้งในสื่อสังคมออนไลน์ "ล้างหนี้ กยศ." โดยการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายยกเลิกหนี้ กยศ. นั้น กองทุนขอชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการในลักษณะทุนหมุนเวียนที่ไม่ได้มีการแสวงหาผลกำไร เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์โดยการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 15 ปี

ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และกองทุนมีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยในปีการศึกษา 2565 กองทุนได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้กู้ยืมจำนวนกว่า 600,000 ราย

ที่ผ่านมากองทุน กยศ. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสและช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาโดยตลอด ซึ่งการยกเลิกหนี้ กยศ. ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา นอกจากจะส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินแล้วยังส่งผลต่อบรรทัดฐานของสังคมด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความรับผิดชอบและวินัยทางการเงินของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท หากยกเลิกหนี้ดังกล่าวจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม กองทุนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้มีความผ่อนปรนและช่วยเหลือลดภาระของผู้กู้ยืม โดยจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระ และลดอัตราเบี้ยปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และในขณะนี้กองทุนได้ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ช่วยเหลือผู้กู้ยืมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดยลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้, ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว, ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี และลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) อีกทั้ง กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืม หรือผู้ค้ำประกันอีกด้วย

ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่า กองทุนจะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ ที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท