Skip to main content
sharethis

รอยเตอร์รายงาน กำไรปี 64 ของสยามไบโอไซเอนซ์ โรงงานรับจ้างผลิตวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ในไทย พุ่งสูงกว่าปีก่อนเกือบ 50 เท่า ข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยกำไรจาก 35 ล้านปี 63 พุ่งเป็น 1,698 ล้าน ในปี 64

26 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กำไรปี 2564 ของสยามไบโอไซเอนซ์ โรงงานรับจ้างผลิตวัคซีน COVID-19 ของ AstraZeneca ในไทย พุ่งสูงกว่าปีก่อนเกือบ 50 เท่า

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูล งบกำไรขาดทุน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ปี 62 กำไร(ขาดทุน) สุทธิ -69,472,266.46 บาท ปี 63 กำไร(ขาดทุน) สุทธิ 35,761,608.64 บาท ขณะที่ปี 64 กำไร(ขาดทุน) สุทธิ 1,698,763,604.65 หรือ เปลี่ยนแปลง ถึง 4,650.24%

รัฐหนุน 600 ล้าน เพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนให้สยามไบโอฯ

ทั้งนี้จาก เอกสารแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ การประชุมที่ 17/2563 ลงวันที่ 25 ส.ค. 2563 ระบุ รายละเอียดการใช้ทุน "เพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีน" ที่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 600 ล้านบาท จากงบเงินกู้โควิด-19

เงินจำนวนนี้แบ่งเป็น

1. ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าเดินทางระหว่างประเทศ 12 ล้านบาท (2%) 2. ค่าวัสดุ เช่น ซื้อสารชีวเคมี ตัวทำละลาย อาหารเลี้ยงเซลล์ วัสดุสิ้นเปลือง ฯลฯ 430 ล้านบาท (71.7%)

3. ค่าใช้สอย เช่น การนำเข้า ส่งออก ค่าจ้างวิเคราะห์เพื่อการสอบเทียบโดย Third Party การตรวจประเมินคุณภาพ 78 ล้านบาท (13%)

4. งบลงทุน เช่น ซื้อชุดเครื่องตรวจการปนเปื้อนอัตโนมัติในขวดแก้วอัตโนมัติด้วยความเร็วสูง ชุดเครื่องบรรจุกล่องพร้อมระบบ 80 ล้านบาท (13.3%)

ตั้งพระราชปณิธาน ร.9 ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน

เมื่อ 25 ม.ค.64 ไทยโพสต์รายงานคำแถลงของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผ่านนวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ส่งเอกสารข้อมูลชี้แจงสถานะของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยระบุว่า "เป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552 ตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทย

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ  อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง  และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรคให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)  และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

คำชี้แจงระบุด้วยว่า ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์,  บริษัท เอสซีจี, แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่างแอสตร้าเซเนก้า และสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่าสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูงสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้าส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก"
ยึดหลักไม่กำไร-ไม่ขาดทุน

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้านั้น ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ระบุว่า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศ และส่งออก สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด  เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้าเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับเพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

ก.ค.64 'อิศรา' รายงานสยามไบโอฯ กำไรครั้งแรกรอบ 5 ปี - 18 นิติบุคคลไม่เปิดเผยนามถือหุ้นใหญ่สุด

เมื่อ 11 ก.ค.64 สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2564 พบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2552 ทุนปัจจุบัน 4,800,000,000 บาท 

แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 นิติบุคคลไม่เปิดเผยนามรวม 18 ราย ถือหุ้นใหญ่สุด 47,999,998 หุ้น (เกือบ 100%) มีพันตำรวจเอกธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม และพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ถือคนละ 1 หุ้น

นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 4,863,765,439 บาท หนี้สินรวม 429,461,383 บาท มีรายได้รวม 301,730,279 บาท เป็นรายได้จากการขายและบริการ-สุทธิ 180,873,946 บาท รายได้อื่น 120,856,332 บาท ต้นทุนขายและบริการ 195,066,907 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 70,363,955 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 537,807 บาท กำไรสุทธิ 35,761,608 บาท ทั้งนี้งบการเงินของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2559-2562 พบว่า ขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 59

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักข่าวอิศรา 

วิจารณ์โดน ม.112

อย่างไรก็ตาม ประเด็นบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับการจัดการเรื่องวัคซีน COVID-19 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตลอด โดยเฉพาะกรณีที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อภิปรายการจัดการวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” เมื่อ 18 ม.ค. 2564 เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย วิจารณ์รัฐบาลดำเนินการล่าช้าและตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ "แทงม้าตัวเดียว" จากแอสตร้าเซนเนก้า รวมทั้งแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทเอกชนซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน แต่ต่อมาถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือ ม.112

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก รายงานไว้ตั้งแต่ 27 พ.ย.63 ว่า ในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีน COVID-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัท AstraZeneca จำกัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นประธานในพิธีกล่าวว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลพร้อมน้อมนำพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10  รักษา สืบสาน ต่อยอด เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ประเทศชาติ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net