Skip to main content
sharethis

'มาดามแป้ง' ตอบชัดว่าสยามไบโอไซเอนซ์เป็นเพียง 'บริษัทเอกชน' ที่ 'รับจ้างผลิตวัคซีน' ให้แก่บริษัทแอสตราเซเนกาเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาการส่งมอบวัคซีนระหว่างบริษัทแอสตราเซเนกาและรัฐบาลไทย รวมถึงรัฐบาลฟิลิปปินส์ พร้อมเผยว่ารัฐบาลไม่ควรแทงม้าตัวเดียว เพราะวัคซีนเป็นเรื่องสุขภาพของประชาชน

3 มิ.ย. 2564 นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีข้อสงสัยต่อการผลิตและส่งมอบวัคซีนระหว่างบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ บริษัทแอสตราเซเนกา และรัฐบาลไทย โดย นวลพรรณ กล่าวว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีฐานะเป็นผู้รับจ้างผลิตวัคซีนให้กับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์จะถูกส่งมอบให้แอสตราเซเนกา เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน หลังจากนั้นบริษัทแอสตราเซเนกาจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะส่งมอบวัคซีนให้กับผู้ซื้อรายใด ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นหนึ่งในผู้ทำสัญญาซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา เช่นเดียวกับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ดังนั้น ต้องแบ่งสัญญาออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการผลิต ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตราเซเนกา และส่วนของการส่งมอบ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างแอสตราเซเนกาและรัฐบาลไทย

"สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้รับจ้างให้กับแอสตราเซเนกา ในการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเปรียบเสมือนที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศออสเตรเลียหรือเกาหลีใต้ ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตราเซเนกา คือเป็นฐานการผลิต ส่วนเจ้าของวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์คือแอสตราเซเนกา เพราะฉะนั้นสัญญาระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตราเซเนกาเป็น 1 สัญญา ส่วนสัญญาที่แป้งไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ คือสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตามเซเนกา ดังนั้นคำถามของคุณดนัยคือประชาชนคนไทยจะได้รับวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ไหม แป้งคิดว่าเป็นคำถามที่รัฐบาลต้องถามตรงๆ กับแอสตราเซเนกา" นวลพรรณ กล่าว

นวลพรรณ เปิดเผยว่าวัคซีนโควิด-19 ที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตเสร็จล็อตแรกและส่งมอบให้แอสตราเซเนกาเมื่อวานนั้นมีทั้งหมด 1.8 ล้านโดส และจากการสืบทราบของตน พบว่าแอสตราเซเนกาจะมอบวัคซีนจำนวนดังกล่าวให้กับประเทศไทย

"1.8 ล้านโดส แป้งไปแอบสืบทราบมาเพราะไม่ได้เป็นสัญญาของสยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตราเซเนกา เป็นเรื่องของรัฐบาลกับไทยกับแอสตราเซเนกา แต่จากการสืบทราบเนี่ย แป้งคิดว่าแอสตราเซเนกาส่งมอบให้กับรัฐบาลไทย" นวลพรรณ กล่าว พร้อมกันนี้ นวลพรรณยืนยันว่าสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้ส่งมอบวัคซีนให้แอสตราเซเนกาล่าช้า ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามสัญญา

"ถ้าจะบอกว่าผิดสัญญาเนี่ย ไม่เคยผิด เพราะเดือน มิ.ย. มีตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 เราส่งวันที่ 2 เป็นล็อตแรก" นวลพรรณ กล่าว

ส่องข้อตกลงวัคซีนแอสตราเซเนกากับโรงงาน ‘รับจ้างผลิต’ ทั่วโลก

"วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์เป็นวัคซีนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยจากหน่วยงานกำกับดูแลทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงห้องปฏิบัติการของแอสตราเซเนกาซึ่งตั้งอยู่ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเป็นการยืนยันว่ามีมาตรฐานเดียวกับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาที่ผลิตที่ฐานการผลิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นฐานการผลิตที่เกาหลี หรือฐานการผลิตที่ออสเตรเลีย" นวลพรรณ กล่าว พร้อมระบุว่าก่อนหน้านี้ที่มาข่าวออกมาว่าวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตมีปัญหาเรื่องคุณภาพนั้นเป็นข่าวปลอม และยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องเอกสาร เพราะนำเอกสารเกี่ยวกับวัคซีนไปให้องค์กรอิสระในอังกฤษและยุโรปที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพรับรองแล้ว จึงถือว่าวัคซีนล็อตนี้ผ่านมาตรฐานรับรองขั้นสูงสุดแล้ว

วัคซีนที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์เป็นสิทธิของแอสตราเซเนกา

นวลพรรณ กล่าวว่า สัญญาระหว่างสยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตราเซเนกาเป็นข้อตกลงลับ (Non-disclosure) ตนจึงไม่สามารถตอบคำถามเรื่องจำนวนวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตวัคซีนให้กับแอสตราเซเนกาได้ เพราะเกรงว่าจะผิดข้อตกลงและผิดกฎหมาย แต่ตนคิดว่าสยามไบโอไซเอนซ์สามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่าที่แอสตราเซเนกาคาดหวัง พร้อมระบุว่าการใช้เวลา 6 เดือนในการผลิตวัคซีนล็อตแรกถือว่าใกล้เคียงกับโรงงานในประเทศอื่นๆ ที่แอสตราเซเนกาเลือกให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยี

ผู้ดำเนินรายการถามนวลพรรณถึงกรณีที่สื่อฟิลิปปินส์รายงานว่าได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาล่าช้า เพราะการผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ รวมถึงกรณีที่การส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาจำนวน 6.3 ล้านโดสให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งนวลพรรณตอบว่าเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลของ 2 ประเทศกับบริษัทแอสตราเซเนกา ไม่เกี่ยวข้องกับสยามไบโอไซเอนซ์ เนื่องจากบริษัทมีหน้าที่รับจ้างผลิตวัคซีนตามที่ตกลงกับแอสตราเซเนกาเท่านั้น พร้อมย้ำว่าวัคซีนที่สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตได้เป็นของแอสตราเซเนกา ไม่ใช่สยามไบโอไซเอนซ์

"ยาที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้เป็นของสยามไบโอไซเอนซ์ แต่เป็นของแอสตราเซเนกา" นวลพรรณ เน้นย้ำ

"วัคซีนเป็นของแอสตราเซเนกา เขามีสิทธิ์ให้ทั้งประเทศไทย และก็มีสิทธิ์ ซึ่งเขียนระบุไว้ในสัญญาชัดเจนว่า มีสิทธิ์ในการส่งออกไปในอีก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นวลพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ นวลพรรณ ยังตอบคำถามเรื่องงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาทที่รัฐบาลไทยมอบให้สยามไบโอไซเอนซ์ไปใช้เป็นทุนในการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่าเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่ให้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทในการพัฒนา วิจัย และผลิตวัคซีน ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าว คือ สยามไบโอไซเอนซ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"600 ล้านบาท รัฐบาลให้เป็นทุนพัฒนาศักยภาพ หรือ Capacity Building เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนนี้ ทุนนี้ผ่านมติ ครม. วันที่ 25 ส.ค. 2563 ให้เงิน 1 พันล้านบาท โดยให้สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท จุฬาฯ ได้ไป 400 ล้านบาท" นวลพรรณ กล่าว พร้อมเผยว่าสยามไบโอไซเอนซ์ได้ระบุลงในสัญญากับรัฐบาลไทยว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะคืนเงินจำนวน 600 ล้านบาทให้กับรัฐบาลก็ต่อเมื่อผลิตวัคซีนจนครบรอบการผลิต และมีการพิสูจน์ทราบได้ว่าผลิตวัคซีนสำเร็จจริง โดยสยามไบโอไซเอนซ์จะคืนเงินในรูปของวัคซีน กล่าวคือเมื่อสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนและส่งมอบให้กับแอสตราเซเนกาได้ตามเป้าแล้ว สยามไบโอไซเอนซ์จะซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาจากบริษัทแม่เพื่อส่งคืนให้กับรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ นวลพรรณ ได้ยกตัวอย่างการให้ทุนวิจัยและพัฒนาในลักษณะนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะในต่างประเทศก็ทำเช่นเดียวกัน เช่น ที่อังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลสอเมริกันให้ทุนลักษณะนี้กับบริษัทเอกชน 6-7 บริษัท รวมเป็นเงินหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือไม่ก็ได้ เพราะรัฐบาลบางประเทศมอบเงินให้เป็นทุนให้เปล่า

การแทงม้าตัวเดียว

นวลพรรณ กล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัว ตนไม่เห็นด้วยกับการแทงม้าตัวเดียว ประชาชนคนไทยควรมีวัคซีนทางเลือกหลากหลายยี่ห้อ แต่การบอกว่าสยามไบโอไซเอนซ์เป็นม้าตัวเดียวที่รัฐบาลแทงนั้นเหมือนเป็นการเอาเผือกร้อนมาโยนลงที่สยามไบโอไซเอนซ์เพียงที่เดียว เพราะจริงๆ แล้วสยามไบโอไซเอนซ์เป็นเพียงบริษัทเอกชนที่รับจ้างผลิตวัคซีนให้แอสตราเซเนกาเท่านั้น

"อันนี้พูดแทนหัวใจของประชาชนคนไทยว่าคุณต้องเลิกคำว่าแทงม้าตัวเดียว เพราะจริงๆ คุณไม่ควรแทงม้าตัวเดียว คุณควรเปิดทางเลือกวัคซีนให้กับประชาชนที่อยากจะใช้วัคซีนที่แตกต่างกัน เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คือหนึ่ง คุณจะอยากฉีดหรือไม่อยากฉีดเป็นเรื่องของคุณ กับสอง คุณมีวัคซีนที่พิสูจน์ทราบโดย WHO หลายตัวแล้ว ดังนั้นก็คือคำตอบของแป้งมันคือ 2 หมวกด้วยกัน" นวลพรรณ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นวลพรรณ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โดยได้ตอบคำถามเรื่องการผลิตและส่งมอบวัคซีน และยืนยันว่าวัคซีนที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์เป็นสิทธิของแอสตราเซเนกา ไม่ใช่เป็นสิทธิ์ของสยามไบโอไซเอนซ์ อีกทั้งสยามไบโอไซเอนซ์ยังต้องทำตามสัญญาที่ระบุว่าแอสตราเซเนกามีสิทธิส่งออกวัคซีนจำนวนนี้ไปยังอีก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

นอกจากนี้ นวลพรรณ ยังกล่าวว่า รัฐบาลไทยควรจะสั่งซื้อวัคซีนในหลายทางเลือกให้กับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพและชีวิตของประชาชน แต่ตนไม่ได้มีเจตนาจะไปก้าวล่วงการทำงานของรัฐบาลแต่อย่างใด

"คำว่าแทงม้าตัวเดียว แล้วม้าตัวนั้นเป็นสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งมันก็เป็นประเด็นที่มองแล้วก็เป็น pain point (จุดเจ็บปวด) ของสยามไบโอไซเอนซ์เช่นกัน เพราะว่าเราไม่ได้เป็นผู้มากำหนดว่าจะต้องมาแทงม้าตัวนี้ คือม้าแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอน์ จริงๆ แล้วต้องชี้ว่าเป็นบริษัทเอกชนหนึ่ง ไม่ต้องนับว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ ซึ่งขณะนี้สามารถเป็นผู้รองรับการถ่ายถอดเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง" นวลพรรณ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 ต.ค.63 ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ซึ่งมีอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข  ร่วมประชุมด้วย ได้จัดสรรจากงบกลางปี 2563 เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 600 ล้านบาท ขณะที่ต้นปีที่ผ่านมา (19 ม.ค.64)  ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 

โดยที่มติ ครม.เมื่อวันที่  19 ม.ค.ดังกล่าว เป็นการทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.63 ซึ่งในครั้งนั้น ระบุเงื่อนไขว่า โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับ ประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca (Thailand) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK จำกัด โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net