Skip to main content
sharethis

Summary

  • ในช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประชาชนราว 600 ล้านคนในจีน มีรายได้เพียง 1,000 หยวนต่อเดือน
  • แรงงานอพยพ 181 ล้านคน เดินทางออกจากท้องถิ่นของตนเพื่อหางานทำ พบไตรมาสที่ 2/2565 พวกเขามีรายต่ำกว่าตัวเลขช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 
  • หลายท้องถิ่นในจีนยังไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีฐานคิดในการจัดลำดับความสำคัญให้กับธุรกิจมากกว่าคนทำงาน


ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

China Labour Bulletin (CLB) สื่อที่จับตาประเด็นแรงงานในจีน เปิดเผยว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. 2565 พลเมืองคนหนึ่งในมณฑลยูนนานเขียนจดหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่น โดยแนะนำให้ทางการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเสนอเหตุผลในการทำเช่นนั้น ในข้อความบนกระดานข้อความของเลขาธิการมณฑลยูนนานเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2565 พลเมืองนิรนามเขียนว่า:

เรียนผู้นำ! จนถึงปีนี้ มณฑล เขตปกครองตนเอง และเขตเทศบาลส่วนใหญ่ทั่วประเทศได้ปรับมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่มาตรฐานปัจจุบันในมณฑลยูนนานยังคงเหมือนเดิมมานานกว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561 ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องค่าแรงขั้นต่ำนั้น ควรปรับปรุงมาตรฐานทุก 2 ปี ปัจจุบันในมณฑลยูนนาน มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำและรายได้เฉลี่ยของคนทำงานกลับต่ำที่สุดในประเทศ เพื่อจำกัดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ในภูมิภาค เพื่อช่วยธุรกิจที่ประสบปัญหาในการจ้างงาน เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่มีความสามารถไหลออกจาก [ยูนนาน] และเพื่อเพิ่มรายได้ของคนทำงานและลดภาระของครอบครัว ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของยูนนาน ขอขอบคุณ.

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) ระบุว่าแรงงานอพยพ 181 ล้านคน เดินทางออกจากท้องถิ่นของตนเพื่อหางานทำในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 พวกเขามีรายได้เฉลี่ย 4,362 หยวนต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ที่ 5,103 หยวนต่อเดือน


ที่มาภาพ: Yaorusheng/Shutterstock.com (อ้างใน China Labour Bulletin)

ในเดือน พ.ค. 2565 NBS ได้เปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแรงงานอพยพ โดยแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างแรงงานอพยพภายในมณฑลเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับค่าจ้างของแรงงานอพยพระหว่างมณฑลและค่าจ้างเฉลี่ยทั่วประเทศ

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เผยแพร่ในเดือน ก.ค. 2565 จาก NBS เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับครึ่งปีแรก การว่างงานของคนหนุ่มสาวทำสถิติสูงสุดในเดือน มิ.ย. 2565 คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปี กว่าร้อยละ 20 ไม่มีงานทำ

รายได้ที่แท้จริง* เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 3 จากปี 2564 เทียบกับอัตราการเติบโตประมาณ ร้อยละ 6.8 ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามรายได้ที่แท้จริงสำหรับประชากรในเมืองกลับลดลง ร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขณะที่พื้นที่ชนบทมีการเติบโตบ้าง

* รายได้ที่แท้จริง หรือรายได้ ณ ราคาคงที่ (Real Income or Income at Constant Prices) มูลค่าของรายได้ประชาติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยคิดในราคาของปีใดปีหนึ่งที่ต้องการใช้เป็น ปีหลักสำหรับการเปรียบเทียบ ซึ่งปีหลักดังกล่าวเรียกว่าเป็น "ปีฐาน"

ในช่วงเริ่มต้นการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนราว 600 ล้านคน มีรายได้เพียง 1,000 หยวนต่อเดือน เขาเน้นย้ำว่าประชาชนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือและต้องได้รับการป้องกันตลอดช่วงการระบาดใหญ่

แต่แนวโน้มมากกว่า 2 ปี ยังไม่ดีขึ้น ที่จริงแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นของจีนหลายแห่ง รวมถึงในเมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ กลับเลือกที่จะสนับสนุนธุรกิจมากกว่าคนทำงาน โดยเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไป

ช่วงเดือน ก.ค. 2565 กรุงปักกิ่งตัดสินใจไม่เพิ่มระดับค่าแรงขั้นต่ำของเมืองหลังจากการศึกษาสภาพเศรษฐกิจโดยสำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมของปักกิ่ง (MOHRSS):

"โดยคำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจและสังคม และหลังจากการศึกษาไตรภาคีด้านแรงงานสัมพันธ์ร่วมกันในปักกิ่ง มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำในปักกิ่งในปี 2565 จะไม่ถูกปรับขึ้น"

ค่าแรงขั้นต่ำของเมืองหลวงจะอยู่ที่ 2,320 หยวนต่อเดือนสำหรับงานเต็มเวลา และ 25.3 หยวนสำหรับการจ้างงานรายชั่วโมง

เซี่ยงไฮ้ ตัดสินใจเมื่อสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ว่าจะไม่เพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกัน คนทำงานในเซี่ยงไฮ้ต้องประสบกับภาวะล็อกดาวน์เป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานพุ่งสูงขึ้นถึง 12.5% ในไตรมาส 2/2565 ตามตัวเลขของทางการ ในขณะที่ GDP ของเมืองลดลงถึง ร้อยละ 13.7

คนทำงานหลายคนหมดหวังที่จะได้รับการจ้างงานรวมทั้งค่าแรงใด ๆ CLB ได้ทำการค้นหางานจากเว็บไซต์จัดหางานแห่งหนึ่ง พบว่างานที่โฆษณาในเว็บมีค่าจ้างเฉลี่ย 1,000 หยวนต่อเดือน สำหรับการจ้างงานที่มีทักษะซึ่งรวมถึงผู้จบระดับวิทยาลัยด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ พบโฆษณาหางานในกรุงปักกิ่ง ประกาศรับสมัครงานที่มีค่าจ้างรายชั่วโมงเพียง 24 หยวน ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงที่ 25.3 หยวน


ประกาศโฆษณาหางานในกรุงปักกิ่ง ที่ให้ค่าแรงต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

ตามที่พลเมืองนิรนามในยูนนานชี้ให้เห็นในโพสต์ของเขาถึงรัฐบาลท้องถิ่น ตามข้อบังคับค่าแรงขั้นต่ำปี 2547 ของจีน รัฐบาลท้องถิ่นควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 2 ปี แต่ในทางปฏิบัติ ได้ขยายเวลาไปถึง 3 หรือ 4 ปีแล้วในหลายมณฑล

นอกจากนี้ ตามข้อบังคับค่าจ้างขั้นต่ำยังระบุว่าควรกำหนดค่าแรงขั้นต่ำระหว่าง ร้อยละ 40-60 ของค่าจ้างเฉลี่ยในท้องถิ่น แต่ปัจจุบันไม่เพียงแต่ค่าจ้างเฉลี่ยที่ชะลอตัวลงเท่านั้น แต่ค่าแรงขั้นต่ำก็อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 25-35 ของค่าจ้างเฉลี่ยเท่านั้นในหลายภูมิภาค

อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกแช่แข็งไว้ ควรได้รับการตอบรับจากสหภาพแรงงานในการเรียกร้องค่าแรงให้เหล่าคนทำงาน ทั้งนี้ฝ่ายแรงงานของรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องปรึกษากับสหภาพแรงงาน และสหภาพแรงงานท้องถิ่นควรรายงานขึ้นไปในระดับประเทศหากท้องถิ่นไม่ได้ปฏิบัติตามตามข้อบังคับค่าแรงขั้นต่ำ

แต่เพียง 5 วันหลังจากพลเมืองยูนนานโพสต์คำแนะนำ คำตอบอย่างเป็นทางการมาจาก MOHRSS ของมณฑลยูนนาน ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงลำดับความสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในการสนับสนุนธุรกิจมากกว่าคนทำงานดังนี้:

เพื่อนชาวเน็ตที่รัก สวัสดี!

คณะกรรมการพรรคประจำมณฑลและส่วนราชการประจำมณฑลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการปรับมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ เราเริ่ม [กระบวนการ] ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 หลังจากการวิจัยอย่างครอบคลุม การคำนวณทางวิทยาศาสตร์ และการศึกษาเชิงลึก เราได้กำหนดแผนปรับค่าแรงขั้นต่ำตามสถานการณ์จริงของมณฑลของเรา อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงที่ว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เศรษฐกิจของมณฑลได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นแรงกดดันด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการขนาดเล็กมักประสบปัญหาในการผลิตและการดำเนินงาน และมณฑลอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการปกป้องการจ้างงานและผู้อยู่ในตลาดแรงงาน หลังจากการประเมินอย่างรอบคอบ เราจึงระงับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้ก่อน

ขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนและความเข้าใจสถานการณ์ในมณฑลของเรา และเราหวังว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่มีความสุข!

 

ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net