Skip to main content
sharethis

เผด็จการทหารพม่าต่ออายุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 6 เดือน โดยจะมีผลถึง ก.พ. 2566 และทำให้พม่าจะต้องอยู่ใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน 2 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564

 

2 ส.ค. 2565 สื่อทางการพม่าชื่อว่า “Global New Light of Myanmar” รายงานว่า พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้นำคณะรัฐประหาร ขอสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) "อนุญาตให้เขาปฏิบัติหน้าที่ไปอีก 6 เดือน" โดยสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติสนับสนุนคำร้องนี้อย่างเป็นเอกฉันท์

ในการอ่านแถลงการณ์ถ่ายทอดสดในวันจันทร์ (1 ส.ค.) มินอ่องหล่าย ระบุว่าจะมีการจัดเลือกตั้งขึ้นหลังจากที่ประเทศ "สงบเรียบร้อย" แล้วเท่านั้น ก่อนหน้านี้คณะรัฐประหารเคยระบุว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และจัดเลือกตั้งขึ้นภายใน ส.ค. 2566 ซึ่งเป็นการยืดระยะเวลาออกไป จากที่เดิมระบุว่าจะลงจากอำนาจภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า (เครดิต Chindwin News Agency)

มินอ่องหล่าย เผยว่าจะต้องมีการ "ปฏิรูป" ระบบการเลือกตั้ง โดยเปลี่ยนจากใช้ระบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียวมาเป็นระบบผสม โดยเพิ่มการเลือกตั้งผู้แทนจากระบบสัดส่วนเข้าไปด้วย เขาอ้างว่าอิทธิพลของ "พรรคการเมืองใหญ่" ทำให้เสียงของกลุ่มการเมืองอื่นๆ ไม่ได้รับการรับฟังเท่าที่ควร

ในระบบการเลือกตั้งแบบเดิม ทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นำโดยอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ก่อนถูกโค่นอำนาจในการรัฐประหารเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกองทัพอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้ง ทั้งที่กลุ่มสิทธิภายในประเทศและประชาคมโลกลงความเห็นว่าการเลือกตั้งจัดขึ้นอย่างสุจริต และยุติธรรม 

ทั้งนี้ การต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการต่อเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 และเพิ่งหมดอายุเมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมาไม่นาน 

ก่อนหน้านี้ มินอ่องหล่าย เชิญกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมเจรจาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ทั้งนี้ กองกำลังชาติพันธู์ในพม่ามีทั้งหมดประมาณกว่า 20 กลุ่ม โดยบางส่วนประณามการรัฐประหารของมินอ่องหล่าย และให้การสนับสนุนแก่กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) 

นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่า กองกำลัง PDF ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) สามารถต่อกรกับกองทัพพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพจนน่าแปลกใจ หลังการประหาร 4 นักกิจกรรม รัฐบาลเงา NUG ประกาศว่าจะยกระดับการโจมตี และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้การสนับสนุนกำลังอาวุธเพิ่มเติม  

ตั้งแต่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นต้นมา ข้อมูลสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า หรือ AAPP เผยว่าตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2564 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 2,100 คน และมีผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดี หรือตัดสินโทษโดยรัฐบาลทหารพม่าไปแล้วอย่างน้อย 14,800 คน 

ล่าสุด มีรายงานจากนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในพม่าอีกด้วยว่า นักข่าวของญี่ปุ่นถูกควบคุมตัวโดยกองกำลังความมั่นคงของพม่า ขณะที่กำลังรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในย่างกุ้ง เมื่อเสาร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค. 65) รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันแล้วว่าพลเมืองของตนถูกจับกุม และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวโดยทันที 

ในด้านการเมืองระดับภูมิภาค การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ สมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ (1-5 ส.ค.) โดยเผด็จการพม่าปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วม ขณะที่มาเลเซียตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้มีมาตรการแข็งกร้าวขึ้นกับพม่า แม้ว่าการหาฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศจะเกิดขึ้นได้ยากก็ตาม 

หลังการประหาร 4 นักกิจกรรม อาเซียนออกแถลงการณ์ประนามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาอาเซียนพยายามฟื้นฟูสันติภาพในพม่า แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม อาเซียนระบุว่า "ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้พม่ากลับสู่ภาวะปกติ และเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย และทางออกจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้โดยสันติ"

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar prolongs state of emergency for 6 months

Myanmar Junta Extends State of Emergency

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net