ศาลนราฯ พิพากษาคดีม.112 ‘กัลยา’ 6 ปี ยังรอผลประกัน

ศาลนราธิวาสพิพากษาจำคุก “กัลยา” 6 ปี คดีม.112 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนคอมเมนท์และโพสต์ข้อความรวม 4 ข้อความ แม้เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์และในตอนสืบพยานฝ่ายโจทก์จะมีเพียงภาพแค๊ปหน้าจอที่ไม่มี URL และพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ตรวจสอบยืนยันว่ามีการโพสต์ข้อความหรือไม่

2 ส.ค.2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานถึงคำพิพากษาขอศาลนราธิวาสในคดีของ “กัลยา” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในนนทบุรี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแสดงความเห็นและโพสต์ข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก โดยคดีนี้อัยการฟังด้วยมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 แยกเป็น 2 กรรม

ข้อความที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีกับกัลยาทั้ง 4 ข้อความมาจากคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี โดยเธอแสดงความคิดเห็นไปว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม ในเมื่อเป็นคนยังไม่ได้เลย”, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยเขียนข้อความประกอบว่า “กระสุนพระราชทานเข้าหนึ่ง” และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

ศูนย์ทนายความรายงานว่า ศาลมีคำพิพากษาจำคุกกัลยารวม 6 ปีจากความผิดทั้ง 2 กรรม โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้ผลตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แสดงความเห็นและโพสต์ข้อความเหล่านี้ แต่โจทก์มีผู้กล่าวหาเบิกความรู้เห็นเป็นลำดับว่าจำเลยเป็นบุคคลใด และจำเลยยังให้การในชั้นสอบสวนว่าตนเปลี่ยนรหัสให้เข้าถึงเฟซบุ๊กได้คนเดียวแล้ว

ศาลยังเห็นอีกว่า ข้อความตามฟ้องนั้นเมื่อประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน จึงเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์แบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายส่งผลกระทบต่อความมั่นคง

ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่าขณะนี้ทนายความอยู่ระหว่างการยื่นประกันตัวกัลยาในชั้นอุทธรณ์

อย่างไรก็ตามสำหรับคดีนี้ กัลยาได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนว่าเธอไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความเหล่านี้ และบัญชีเฟซบุ๊กนี้สามารถเข้าได้มากกว่าหนึ่งคนคือแฟนหนุ่มของเธอที่เลิกรากันไปแล้ว นอกจากนั้นพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ก็เป็นเพียงภาพแค๊ปหน้าจอที่อาจตัดต่อแก้ไขภายหลังได้ อีกทั้งข้อความเหล่านี้ก็ยังตีความได้หลากหลายและแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

ก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายฯ เคยรายงานว่าคดีนี้เป็น 1 ใน 15 คดีที่พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่ อ.สุไหงโก-ลก ใช้ข้อหาตามมาตรา 112 ดำเนินคดกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ที่สภ.สุไหงโก-ลก โดยในคดีนี้เขาเบิกความในศาลว่าเขาเพียงแต่เจอข้อความเหล่านี้จากการใช้เฟซบุ๊กในเวลาว่างจากการทำงาน เมื่อเจอแล้วจึงได้แค๊ปภาพหน้าจอมาใช้ในการดำเนินคดี และเขาปฏิเสธว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.)

ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า พสิษฐ์เบิกความว่าการแจ้งความมาตรา 112 แก่ผู้อื่น ไม่ได้ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียเพราะเป็นการมาทำตามหน้าที่ของผู้จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์

ส่วนพนักงานสอบสวนก็เบิกความในระหว่างสืบพยานว่ามีเชิญพยานหลากหลายอาชีพเพื่อทราบความเห็นเกี่ยวกับข้อความในคดี แต่ในส่วนหลักฐานในคดีมีเพียงภาพแค๊ปหน้าจอที่ไม่ปรากฏ URL และเขาเองก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบว่าข้อความเหล่านี้จำเลยได้มีการโพสต์เอาไว้จริงหรือไม่

นอกจากคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้แล้วก่อนหน้านี้ศาลนราธิวาสเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุก “อุดม” พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในปราจีนบุรีเป็นเวลา 6 ปีในคดีม.112 ซึ่งคดีนี้ก็เป็นหนึ่งในคดีที่พสิษฐ์เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีเช่นเดียวกัน

ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อเวลา 11.15 น. โดยประมาณ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม นอกจากต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มเติมอีก 50,000 บาท จากเดิมที่วางไว้ 150,000 บาท รวมเป็นวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท