Skip to main content
sharethis

ศาลนราธิวาสพิพากษาจำคุกภัคภิญญาคดม.112 9 ปีจาก 3 โพสต์ กรณีแชร์โพสต์จากหลายเพจที่มีการวิจารณ์การใช้สนามหลวงจัดงานศพ ปัญหาจัดสรรวัคซีน และการสลายการชุมนุมม็อบเยาวชน ปี 63 ยังอยู่ระหว่างรอประกันตัว

19 ต.ค.2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าที่ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาคดีของภัคภิญญา(สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี คดีแชร์โพสต์จากหลายเพจจำนวน 6 โพสต์ ที่อัยการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ศาลมีคำพิพากษาจำคุกภัคภิญญาเป็นเวลา 9 ปี จาก 3 โพสต์ ทนายความได้ยื่นประกันตัวแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการประกัน

คดีนี้เป็น1 ในอย่างน้อย 8คดีที่พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยเป็นการจับภาพหน้าจอที่มีโพสต์ข้อความทั้ง 6 ข้อความไปแจ้งความดำเนินคดี และต่อมาอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามข้อหาดังกล่าวทั้ง 6 ข้อความได้แก่

1. วันที่ 17 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH’ ซึ่งโพสต์ภาพตำรวจควบคุมผูงชนฉีดน้ำ พร้อมข้อความว่า “ด่วน ตํารวจฉีดน้ำพยายามสลายการชุมนุมแล้วถึง 5 ครั้ง ใส่แนวหน้าของเราที่เข้าไปแสตนบายที่พื้นที่ก่อนมวลชนจะมาถึง! และประกาศจะใช้กระสุนยาง!!!…” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ถ้าใส่เสื้อเหลืองเมื่อเช้านี่เปิดให้เข้าได้เลยนะ พ่อเขาบอกว่ารักทุกคน เราเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอมอ่ะ สับปลับ!”

2. วันที่ 24 พ.ย. 2563 แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก ‘KTUK-คนไทยยูเค’ ซึ่งโพสต์ข้อความในทำนองว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้สั่งเตรียมรับมือการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา เมื่อปี 2563 โดยสั่งการให้มวลชนเสื้อเหลืองเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม และเตรียมใช้ 112 จับแกนนำ โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

3. วันที่ 31 ธ.ค. 2563 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “ถ้าจะเก็บสนามหลวงไว้เผาศพอย่างเดียว กูก็ขอให้พวกมึงได้ใช้บ่อยละกัน” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “รับสิ้นปีเลยนะ”

4. วันที่ 17 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากบัญชีเฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นําภา’ ที่มีข้อความว่า “อุ้มหายบ่อยๆ จะทําให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับเยอรมันลําบาก พวกทําไปกะเอาใจนายรับรู้ไว้ด้วย อย่าขยันแต่โง่” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “5555 ว้ายยยย”

5. วันที่ 18 ม.ค. 2564 แชร์โพสต์จากเพจ ‘ราษฎร’ ซึ่งมีเนื้อหาตั้งคำถามถึงเหตุผลในการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างล่าช้าของรัฐบาล และการให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผูกขาดการผลิตวัคซีนเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยจำเลยไม่ได้พิมพ์ข้อความใดประกอบ

6. วันที่ 10 เม.ย. 2564 แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่มีข้อความว่า “เพื่อคนๆ เดียวมา 7 ปี ยอมล้มทั้งกระบวนการนิติบัญญัติ ล้มกระบวนการยุติธรรม ล้มแม้กระทั่งหลักการสาธารณสุขพื้นฐานของประเทศ จนประเทศล้มเหลวขนาดนี้ นับมาสิบห้าปี ประเทศไทยมีอะไรดีขึ้นบ้าง นอกจากพอร์ทของเจ้าสัวใหญ่สิบห้าตระกูล ถามผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยังมีสติในบ้านเมืองนี้หน่อยเถอะ ยอมไปได้ไง” โดยจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบว่า “ฆ่าคนกว่าหกสิบล้าน เพื่อคนๆ เดียว แปลว่าถ้าคนๆ เดียวตาย มันอาจจะดีขึ้นไหมนะ”

ทั้งนี้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความฯ ทราบว่าข้อความที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดทั้ง 3 ข้อความ คือข้อความในข้อที่ 1-3 ข้างต้น

ศูนย์ทนายความฯ รายงานเพิ่มเติมว่า 13.29 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภัคภิญญาแล้ว โดยทนายความวางหลักทรัพย์ 200,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกันระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

คดีนี้เป็น 1 ใน 4 คดีตามมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาแล้วโดยทั้งหมดเป็นคดีที่พสิษฐ์ จันทร์หัวโทนเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีได้แก่คดีของ กัลยา อุดม และวารี โดยทั้ง 4 คดีนี้มีเพียงวารีเพียงคนเดียวที่ศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอว่าจำเลยได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง

นอกจากนั้นคดีทั้งหมดที่มีพสิษฐ์เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีจำเลยในคดีเหล่านี้ต่างต้องเดินทางข้ามจังหวัดระหว่างจังหวัดตามภูมิลำเนากับจังหวัดนราธิวาสเช่น กรุงเทพ นนทบุรี ลำพูน เป็นต้น ตลอดการต่อสู้คดีเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net