Skip to main content
sharethis

เปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ ที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จ.ระนอง ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาด 10 กิโลวัตต์ ทุนติดตั้ง 400,000 บาท โดยที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรีถือเป็นวิทยาลัยแห่งที่ 6 จากทั้งหมด 7 แห่งที่กองทุนแสงอาทิตย์เปิดระดุมทุนจากภาคประชาชน

9 ก.ย. 2565 ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย แจ้งข่าวว่านายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)” จากการระดมทุนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ ที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ ขนาด 10 กิโลวัตต์ ซึ่งใช้เงินทุนติดตั้ง 400,000 บาท โดยที่วิทยาลัยการอาชีพกระบุรีถือเป็นวิทยาลัยแห่งที่ 6 จากทั้งหมด 7 แห่งที่กองทุนแสงอาทิตย์เปิดระดุมทุนจากภาคประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์สร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มศักยภาพด้านการใช้พลังงาน และมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน

นายสุทิน ทองพลับ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง กล่าวว่า “วิทยาลัยการอาชีพกระบุรีต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 40,000- 50,000 บาทต่อเดือนการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือในระยะเวลามากกว่า 25 ปี ทางวิทยาลัยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ราว 1,500,000 บาท ตลอดอายุการใช้งาน และหลังจากนี้วิทยาลัยมีโครงการสร้างเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเปิดการอบรมเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชนโดยรอบของวิทยาลัย”

วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนองมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 412 คน เปิดสอนในระดับ ปวช. และ ปวส.  ส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน ในวิชาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และได้รางวัลชนะเลิศเหรียญทองระดับจังหวัด และเหรียญทองแดงระดับภาคใต้จากการส่งประกวดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม “อุปกรณ์ฉีดพ่นปุ๋ยน้ำแบบเคลื่อนที่พลังงานแสงอาทิตย์”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า “สิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าด้วยตนเองจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนสนใจที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ “เราหวังว่าการมีศูนย์เรียนรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของกระบุรีในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอำเภอกระบุรีและอำเภอใกล้เคียง สามารถเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน สถานศึกษา สถานพยาบาลและอาคารต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโซลาร์เซลล์ในรูปแบบอื่น ๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น”

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า จังหวัดระนองมีความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 150 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคครัวเรือนราวร้อยละ 26 และภาคอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ56 จากอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ เป็นต้น (ข้อมูลพฤศจิกายน 2561) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า จังหวัดระนองมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพอยู่ที่ราว 25 เมกะวัตต์ และตั้งแต่ปี 2545 พื้นที่เกาะพยามได้ริเริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทั้งนี้จังหวัดระนองจึงเป็นจังหวัดที่ควรจะมีการศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในจังหวัดและวางแผนการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อปลดระวางการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

นายธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานรณรงค์การปฎิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปฎิรูประบบพลังงานและเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมต่อประชาชน การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยการอาชีพกระบุรี ของกองทุนแสงอาทิตย์นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและสามารถสร้างการจ้างงานและอาชีพจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะเป็นคำตอบสำหรับอนาคตของพวกเราได้”

 

หมายเหตุ

[1] กองทุนแสงอาทิตย์เปิดรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 โดยมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org ทั้งนี้การบริจาคเงิน สามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

[2] กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงานและสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1)คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2)คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช) (3)สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4)มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ) (5)เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6)สมาคมประชาสังคมชุมพร(7) มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต (8)บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9)Solarder (10)โรงเรียนศรีแสงธรรม (11)มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด) (12)เครือข่ายสลัม4ภาค (13)มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14)เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15)มูลนิธิสุขภาพไทย และ (16)กรีนพีซ ประเทศไทย (17) สภาองค์กรของผู้บริโภค

[3] ในช่วงปี 2562-2563 กองทุนแสงอาทิตย์ประสบความสำเร็จในการระดมเงินบริจาคจากประชาชนจนสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปกำลังการผลิตรวม 240.63 กิโลวัตต์ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก 7 แห่ง คือโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมแพ จ. ขอนแก่น โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี ได้เป็นผลสำเร็จ และสามารถลดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งรวมกัน 1.4 ล้านบาทต่อปี

[4] ในปี 2563-2564 กองทุนแสงอาทิตย์จะระดมเงินบริจาคเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้วิทยาลัยการอาชีพ 7 แห่งทั่วประเทศ แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง, วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร จังหวัดสกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพกระบุรี จังหวัดระนอง, วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามและวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

[5] สถานะการรับซื้อ SPP, VSPP คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) http://www.erc.or.th/ERCSPP/default.aspx?x=0&muid=23&prid=41

[6] รายงานการการจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย https://www.greenpeace.or.th/report/renewable-energy-job-creation-in-thailand.pdf

[7] รายงานปฎิวัติพลังงานบนหลังคา ข้อเสนอเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนและเป็นธรรมผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย (ปี 2564-2566) Thailand Solar Rooftop Revolution for Green and Just Economic Recovery 2021-2023 https://bit.ly/2WoQMkA

[8] ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐสภาไทย ประกาศสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ https://www.greenpeace.org/thailand/act/calling-thai-parliament-climate-emergency/

[9] ข้อเสนอในการลดอุปสรรคเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน
https://www.tcc.or.th/quickwin/environment/expensive-fuel/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net