Skip to main content
sharethis
  • ผุดแคมเปญล่าชื่อหยุดสาธารณสุขชี้นำให้สวมหน้ากากเยี่ยงคนป่วย คืนวิถีชีวิตปกติให้แก่ชาติเสียที 
  • นิสิตจุฬาฯ ร้อง อาจารย์ไม่ใส่แมสก์สอน ทำติดโควิด 8 คน กลุ่มเสี่ยงเพียบ

14 ก.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้ชื่อ 'มูลนิธิ โรงเรียนแห่งชีวิต' ตั้งแคมเปญรณรงค์เว็บไซต์ Change.org ในชื่อ "หยุดสาธารณสุขชี้นำให้สวมหน้ากากเยี่ยงคนป่วย คืนวิถีชีวิตปกติให้แก่ชาติเสียที" ร้องเรียนถึงอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

โดยระบุเหตุผลประกอบแคมเปญว่า 

“การเอาหน้ากากมาปิด ทำให้ออกซิเจนตกลง ภูมิต้านทานยิ่งลดลง” 

“การสวมหน้ากากอนามัยทำให้ออกซิเจนในร่างกายต่ำ มีผลต่อการทำงานของสมอง และทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์สูง มีผลต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกาย” อ.นพ.อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด -19 ได้คลี่คลายลง จนประชาชนทั่วโลกดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติแล้ว แต่ประเทศไทยกลับมีสภาพที่แตกต่างสิ้นเชิง เพราะบุคคลระดับผู้บริหารประเทศ ข้าราชการ และองค์กรต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป ยังคงสวมหน้ากากอนามัยอย่างแน่นหนาตลอดเวลา โดยกระทรวงสาธารณสุข ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อวิถีชีวิตที่ผิดปกตินี้ ยังคงชี้นำให้ประชาชนใช้ชีวิตราวกับเป็นผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้ประเทศมีสภาพเหมือนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีสภาพน่าหดหู่ ผู้คนไม่กล้าจะเปิดหน้ากากหายใจสูดออกซิเจนให้เต็มที่เข้าสู่ปอด แต่กลับเต็มใจสูดคาร์บอนไดออกไซด์ย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา  

และนี่คือข้อมูลที่สาธารณสุขไม่เคยพูดกับคนไทย

“การให้เด็กสวมหน้ากากมีผลต่อพัฒนาการด้าน EQ ของเด็กมาก เพราะเด็กไม่สามารถเดาได้ว่าคนที่กำลังพูดอยู่รู้สึกอะไร ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลระยะยาวไปตลอดชีวิต ที่สำคัญคือ เรากำลังสอนให้เด็กกลายเป็นคนที่กลัวตลอดเวลา”

จากบทสัมภาษณ์อาจารย์ นายแพทย์อรรถพล สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.อรรถพลยังกล่าวอีกว่า

“กระบวนการสวมหน้ากาก มีผลทางจิตวิทยา คือการปิดปากดี ๆ นี่เอง”*

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปไม่เคยได้ฟังจากกระทรวงสาธารณสุขเลย สธ.มีแต่พูดย้ำให้กลัวโควิดและให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยไม่เคยพูดถึงผลเสียของการสวมหน้ากากอนามัยแม้แต่น้อย ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างไร จนประเทศไม่มีวี่แววว่าจะคืนสู่วิถีชีวิตปกติเพราะประชาชนถูกฝังความกลัวโควิด 

 “การดูแลสุขภาพด้วยตนเองมีหลักสำคัญ คือ การได้รับออกซิเจนเต็มปอดซึ่งจะดีต่อสุขภาพ แต่ที่เป็นอยู่คือ การเอาหน้ากากมาปิด ทำให้ออกซิเจนตกลง ภูมิต้านทานยิ่งลดลง และอีกประการหนึ่งคือ อารมณ์ หากประชาชนมีอารมณ์ดี แจ่มใสไม่หวาดกลัว ไม่ตื่นตระหนก จะนอนหลับได้ดี จึงมีภูมิต้านทานดี ส่วนคนที่จิตตก ตื่นตระหนก กลัวทุกอย่าง นอนไม่หลับ ภูมิต้านทานจะตกลง”* นพ.อรรถพล

เป็นเวลาร่วม 3 ปีแล้ว ที่คนไทยต้องใช้ชิวิตเยี่ยงคนป่วย แม้จะมีประกาศให้การสวมหน้ากากอนามัยเป็นทางเลือกแล้ว แต่สาธารณสุข และรัฐบาลกลับย้ำให้ข้าราชการและประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนระยะยาว ที่ไม่กล้าสูดออกซิเจนให้เต็มปอด เพราะเชื่อหมอที่ชี้นำให้จมอยู่กับความกลัวโควิดจนใช้ชีวิตอย่างไร้เหตุผล  

จากผลวิจัยโฟเกนเอฟเฟคต์”(Foegen effect) - กลไกที่ทำให้หน้ากากอนามัยมีผลต่อการเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ตัวเลขจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การบังคับสวมหน้ากากอนามัยกลับทำให้ตัวเลขเสียชีวิตสูงขึ้นมากกว่า 1.5 เท่า (เพิ่มขึ้นประมาณ 50%) สาเหตุเพราะผู้ที่ไอเอาละอองฝอยออกมา ได้สูดหายใจเอาละอองฝอยที่หนาแน่นเหล่านั้นกลับเข้าสู่ปอด ทำให้ละอองดังกล่าวจะเข้าไปสู่ปอดในระดับลึกขึ้น ผ่านจากหลอดลมเข้าสู่ถุงลม ทำให้เกิดอาการปอดบวม แทนที่จะเป็นเพียงหลอดลมอักเสบซึ่งเป็นอาการปกติของการติดเชื้อไวรัส และเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสเข้าสู่หลอดเลือดโดยผ่านทางถุงลมด้วย 

นอกจากนี้ การสูดเอาละอองฝอยกลับเข้าสู่ปอด ยังเป็นการเพิ่มจำนวนไวรัส ซึ่งควรจะออกมาทางการหายใจออก ให้กลับเข้าไปสู่ปอดมากยิ่งขึ้น การใช้หน้ากากอนามัยประเภทที่มีคุณภาพการกรองละเอียดมากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก เพราะจำนวนไวรัสในละอองฝอยที่ผู้ป่วยหายใจกลับเข้าไปก็ยิ่งมีจำนวนมากกว่า

อาจารย์นพ.อรรถพล ยังกล่าวอีกว่า “คนที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยคือ คนป่วย เพราะจะได้ช่วยป้องกันคนอื่น”

ก่อนไวรัสโควิดจะระบาด มนุษย์ชาติไม่เคยต้องใส่หน้ากากตลอดเวลาเช่นนี้แม้ในโรงพยาบาลก็ตาม การสวมหน้ากากนอกเหนือจะไม่ได้ส่งผลแล้ว ยังเป็นการสร้างความกลัวจนเกินเหตุ สร้างภาพจำแก่ผู้ที่ใส่ว่า อากาศรอบตัวเป็นอันตราย ภาพจำนี้ค่อย ๆ ซึมซับโดยไม่รู้ตัวและฝังรากลึกลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีผลในระยะยาวแน่นอน  

เพราะความกลัวที่ยังฝังหัวคนไทย แม้มีใครสักคนถอดหน้ากากในที่สาธารณะ ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบในทันที ไม่เว้นแม้แต่พระเอกหนุ่มชื่อดัง ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่ถูกมือดีถ่ายภาพลงสื่อโซเชียลในวันที่ขึ้นรถไฟฟ้าโดยไม่ใส่หน้ากาก ทั้งที่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ผ่อนปรนมาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2565 แล้ว

ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหรือให้บริการ ก็ยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา เพราะกลัวจะขายของไม่ได้ กลัวจะไม่มีคนมาใช้บริการ 

"จะตายเพราะสวมหน้ากากนี่แหละ" คือคำกล่าวจากแม่ค้าที่งานโอทอปแห่งหนึ่ง

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า “โควิดเป็นเรื่องปกติ” ยกเลิกคำเตือนมาตรการโควิดต่าง ๆ ตามสื่อและพื้นที่สาธารณะ แนะนำให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันคนอื่น และให้ความรู้รอบด้านกับประชาชนถึงผลกระทบจากการสวมหน้ากากอนามัย ให้ข้าราชการเป็นแบบอย่างในการเลิกสวมหน้ากากอนามัย เพื่อให้ความมั่นใจให้แก่ประชาชน และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายการปรับ “โควิดเป็นโรคประจำถิ่น” ​ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่จะถึงนี้ โดยคืนวิถีชีวิตปกติให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ หยุดขังคนในชาติไว้กับความกลัวโควิดเสียที 

*ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับเดือนกันยายน 2565 ที่จะเผยแพร่ในวันที่ 20 กันยายนนี้

นิสิตจุฬาฯ ร้อง อาจารย์ไม่ใส่แมสก์สอน ทำติดโควิด 8 คน กลุ่มเสี่ยงเพียบ

ประเด็นสวมหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊กชื่อ 'สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ตามที่มีนิสิตได้ร้องเรียนกับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ กรณีที่อาจารย์ท่านหนึ่งไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยและมีปฏิสัมพันธ์กับนิสิตเป็นระยะภายในชั้นเรียน ซึ่งภายหลังอาจารย์ตรวจพบเชื้อ และทำให้มีการแพร่ระบาดกับนิสิตในชั้นเรียนไปแล้วอย่างน้อย 8 คน และมีผู้มีอาการแล้วกว่า 10 คน

สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงคณบดี เพื่อขอให้ท่านพิจารณามาตรการและแนวทางการเรียนการสอน รวมถึงการเยียวยานิสิต อาจารย์ และบุคลากรที่ติดเชื้อและอาจติดเชื้อในอนาคต”

พร้อมกับแนบเอกสารระบุว่า สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกหนังสือด่วนที่สุดถึง รศ.ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ เรื่อง ขอให้ทบทวนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในชั้นเรียนและแนวทางการเรียนการสอน

เอกสารระบุต่อว่า เนื่องด้วย สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ได้รับการร้องเรียนจากนิสิตภายในคณะว่า อาจารย์ท่านหนึ่งเข้าบรรยายรายวิชาโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยและเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับนิสิตภายในชั้นเรียนเป็นระยะ ปรากฏว่าอาจารย์ท่านนั้นได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเวลาต่อมา

ซึ่งเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 ได้พบว่ามีนิสิตจากชั้นเรียนดังกล่าวตรวจพบเชื้อโควิด-19 แล้วอย่างน้อยจำนวน 8 คนและมีนิสิตเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อแล้วจำนวนกว่า 10 คน

สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ขอแสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าว และขอเรียนท่านโปรดพิจารณาทบทวนแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสม (เช่น หากอาจารย์เสี่ยงติดเชื้อหรือมีอาการเสี่ยงติดเชื่อให้เปลี่ยนเป็นการสอนในรูปแบบออนไลน์) เน้นย้ำมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเบื้องต้นในชั้นเรียนหากมีการเรียนการสอนในพื้นที่ตั้งของคณะ

(เช่น หากอาจารย์ไม่สะดวกสวมหน้ากากอนามัยขณะบรรยาย ให้อาจารย์และนิสิตรักษาระยะห่างภายในชั้นเรียนอย่างเหมาะสม) และแนวทางการเยียวยานิสิต อาจารย์ และบุคลากรด้านอื่น ๆ หากติดเชื้อโควิด-19 เพราะมหาวิทยาลัยและรัฐบาลไม่มีมาตรการใดรองรับในเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและสวัสดิภาพของนิสิต อาจารย์ และบุคลากรโดยรวม จึงขอให้ท่านพิจารณามาตรการและแนวทางอย่างเหมาะสม เพื่อลดการแพร่ระบาด ตลอดจนเลี่ยงผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net