Skip to main content
sharethis
  • สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เทียบมาตรฐานให้ประกันตัว 'เมียตู้ห่าว' ที่มีการข่มขู่พยานยังได้สิทธิฯ กับ 'แบม-ตะวัน' และผู้ต้องหา-จำเลยในคดีการเมือง ขอสถาบันศาลประสาทความยุติธรรม 
  • มูฟเมนท์ #จับมือทะลุวัง ร้องพรรคการเมืองลงนาม MOU ยกเลิก ม.112 เรียกร้องสิทธิประกันตัว ให้คำมั่นสัญญาผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะที่ผู้รณรงค์ล่ารายชื่อ จ่อยื่นข้อเรียกร้องประธานศาลฎีกา 30 ม.ค.นี้

27 ม.ค.2566 จากกรณีทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมและผู้ถูกกล่าวหาคดี มาตรา 112 จากการทำโพลล์ติดสติกเกอร์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ที่เพิ่งกลับเข้าไปในเรือนจำเนื่องจากการประท้วงด้วยการยื่นถอนประกันตัวเองพร้อมประกาศ "อดน้ำและอาหาร" เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องต่อศาลให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง พร้อม 3 ข้อเรียกร้องคือ 1. ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกเป็นอย่างแรก 2. ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง รวมทั้ง 3. พรรคการเมืองทุกๆ พรรค ต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116 นั้น

วันนี้ (27 ม.ค.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมือง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ศาลพึงเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ สนส. ยังเปรียบเทียบกับ พ.ต.อ.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 8 ภรรยา ตู้ห่าว ชาวจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันของศาล ศาลกลับไม่ถอนประกัน โดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปเเล้ว แต่พนักงานสอบสวนมายื่นเอกสารแบบกระชั้นชิด ทำให้การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว พ.ต.อ.หญิง วันทนารีย์ ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องที่ประกอบการพิจารณา กรณีที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและปัญหาการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้ :

แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

ข้อเรียกร้องต่อสถาบันตุลาการให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และ อุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ

ตลอดระยะเวลาของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรมอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบถูกใช้เป็นกลไกเพื่อสนองนโยบายรัฐในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การปล่อยชั่วคราวถูกใช้เป็นกลไกสำคัญในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผ่านการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ห้ามไปกระทำการในลักษณะเดียวกันกับคดีเดิมอีก การกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานในบางช่วงเวลาร่วมกับการใส่กำไล EM การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ใส่กำไลติดตามตัว (EM) ร่วมกับคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่เข้มงวดกว่าอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม และการมีคำสั่งถอนประกันได้โดยง่าย เหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของศาลในการเข้ามามีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเสียเองทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของศาล เพราะมีองค์กรอื่นทำหน้าที่อยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่รักษาและดำรงความยุติธรรมในสังคมอย่างเป็นอิสระโดยอาศัยหลักกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความยุติธรรมแม้จะมีข้อพิพาทกับรัฐหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐก็ตาม

แต่ปรากฏว่ากรณีที่ไม่ใช่คดีการเมือง เช่นกรณีของ พ.ต.อ.หญิงวัทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ จำเลยที่ 8 ภรรยานายตู้ห่าว ชาวจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่ามีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน เป็นการผิดเงื่อนไขการประกันของศาล ศาลกลับไม่ถอนประกัน โดยอ้างว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปเเล้ว แต่พนักงานสอบสวนมายื่นเอกสารแบบกระชั้นชิด ทำให้การยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการประกันตัว พ.ต.อ.หญิง วัทนารีย์ ดังกล่าวจึงเป็นเพียงคำร้องที่ประกอบการพิจารณา กรณีที่แตกต่างกันดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นและปัญหาการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง

การถูกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไร้ซึ่งมนุษยธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวนำมาสู่การอดอาหารและน้ำของตะวันและแบมเพื่อทวงถามหาความยุติธรรม และเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันร่างกายของทั้งสองเข้าขั้นวิกฤติและสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถาบันศาลจะพิจารณาทบทวนบทบาทในการใช้ดุลพินิจในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคำนึงถึงอุดมการณ์ของผู้พิพากษาตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการในการประสาทความยุติธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความคิดเห็นทางการเมือง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้ง ศาลพึงเป็นสถาบันที่พิจารณาอรรถคดีไปในทางส่งเสริมความเป็นมนุษย์ให้ดำรงอยู่ พัฒนา และงอกงามขึ้นในสังคม ไม่ใช่สถาบันที่พรากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปจากประชาชน หรือกดความเป็นคนให้ต่ำลงเพื่อให้ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

27 มกราคม 2566

มูฟเมนท์ #จับมือทะลุวัง ร้องพรรคการเมืองลงนาม MOU ยกเลิก ม.112 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่ม มูฟเมนท์ #จับมือทะลุวัง ออกจดหมายเปิดผนึกผ่าน @RsdSolidarity เรียกร้อง 4 ข้อต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ประกอบด้วย ลงนามข้อตกลงร่วมกันในการเสนอร่างกฎหมาย ยกเลิก ม.112 แสดงจุดยืนเรียกร้องสิทธิประกันตัว ให้คำมั่นสัญญาแก่ประชาชนว่าภายหลังการเลือกตั้งจะต้องมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษทางการเมือง และผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเมือง รวมถึงผู้ถูกคุมขังและผู้ถูกกล่าวหาในคดีหรือการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง และผลักดันการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้มีมาตรฐานรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และดำเนินการให้สอดคล้องต่อหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ยุติการใช้ฝ่ายตุลาการเข้ามาก่อนิติสงครามต่อประชาชน โดยแผนการปฏิรูปนี้ต้องบรรจุไว้ในนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค

 

"ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ยึดโยงต่อหลักการและคุณค่าพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องต่อทุกพรรคการเมือง ให้แสดงจุดยืนขั้นพื้นฐานอันพึงกระทำ หากยังตระหนักว่าตนเองเป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ไม่ใช่สถาบันการเมืองในระบอบจำแลงแฝงรูปอื่นที่อำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชน" แถลงการณ์กลุ่ม มูฟเมนท์ #จับมือทะลุวัง ระบุ

จดหมายกลุ่มมูฟเมนท์ #จับมือทะลุวัง

ผู้รณรงค์ล่ารายชื่อ จ่อยื่นข้อเรียกร้องประธานศาลฎีกา 30 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า เวลา 13.00 น. วันที่ 30 ม.ค.นี้ ทางผู้รณรงค์ล่ารายชื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวันและแบม ผ่าน change.org/3Demands ประกาศว่าจะเดินขบวนยื่น 5,000 ก่าวรายชื่อถึงประธานศาลฎีกาหรือตัวแทนด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net