Skip to main content
sharethis

‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์’ ออกแถลงการณ์เรียกร้องหยุดใช้ความรุนแรงด้านอารมณ์ต่อนักแสดงเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในอนาคต และไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมเสนอมาตรฐานแรงงานเด็ก-เยาวชนในกองถ่าย 6 ข้อต่อ กมธ.แรงงาน 

 

18 ก.ย. 2565 สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ (Crative Worker Union of Thailand - CUT) ออกแถลงการณ์เมื่อ 15 ก.ย. 2565 ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ เรื่อง ‘หยุดใช้ความรุนแรงด้านอารมณ์ต่อนักแสดงเด็กในกองถ่าย’

รายละเอียดแถลงการณ์

สืบเนื่องจากเพจช่อง GMM 25 ได้มีการเผยแพร่วิดีโอตัวอย่างของละคร “พรหมไม่ได้ลิขิต” บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 เพื่อโฆษณาการฉายรีรันของละครดังกล่าวที่ออกอากาศครั้งแรกในปี 2561 โดยวิดีโอชุดนี้ปรากฎให้เห็นภาพของนักแสดงชายที่กำลังตะคอกใส่นักแสดงเด็กช่วงวัยราว 1 ขวบ ในเชิงข่มขู่ให้เด็กหยุดร้องไห้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพความรุนแรงในครอบครัว ส่งผลให้นักแสดงเด็กมีท่าทีหวาดกลัวและร้องไห้อย่างรุนแรงนั้น
.
CUT ในฐานะของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ผลักดันการคุ้มครองนักแสดงเด็กและเยาวชนในกระบวนการผลิตสื่อ ผ่าน “ข้อเสนอมาตรฐานแรงงานเด็กในกองถ่าย” จึงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสภาพจิตใจของนักแสดงเด็กในช่วงวัยอันเปราะบาง และไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงและการแสดงได้ การกระทำดังกล่าวที่ปรากฎในวิดีโอจึงสามารถส่งผลต่อพัฒนาการทั้งทางกาย อารมณ์ และจิตใจ อันมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจของเด็กอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต 

จากงานศึกษาพบว่า เด็กที่ถูกกดดันตะคอกด้วยถ้อยคำทำให้หวาดกลัว เช่น ถ้อยคำที่รุนแรงและน้ำเสียงกระโชกโฮกฮาก สามารถทำให้พฤติกรรมของเด็กเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดีในอนาคต และส่งผลลบต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็ก นอกจากนั้นผลการศึกษาในวารสาร The Journal of Child Development ยังพบว่าการตะโกนและดุด่าเด็ก มีผลต่อจิตใจเด็กได้เท่ากับการลงโทษทางร่างกาย อีกทั้งส่งผลให้เด็กมีความวิตกกังวล มีความเครียด และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญยิ่งคือการที่ในปัจจุบันประเทศไทยนั้นไม่มีมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของเด็กในกองถ่ายอย่างชัดเจน กรณีของนักแสดงเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในอุตสาหกรรมการผลิตสื่อของไทย รวมไปถึงการใช้งานเด็กโดยไม่มีการกำหนดชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อมและความปลอดภัยในการถ่ายทำ ที่ทำให้นักแสดงเด็กและเยาวชนดังกล่าวสูญเสียโอกาสในการได้ “เป็นเด็ก” ไป

ข้อเสนอมาตรฐานแรงงานเด็กในกองถ่ายของ CUT ที่ได้เสนอต่อกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 มีดังนี้

1. คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ, สํานักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน,  และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องนำมาตรฐานในการกำหนดเวลาทำงานที่เหมาะสมต่อช่วงวัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ไปปรับใช้เป็นขั้นต่ำของการคุ้มครองนักแสดงเด็กและเยาวชนในอุตสาหกรรมสื่อ และให้มีผลต่อการอนุมัติของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติให้ถ่ายทำสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง

2. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ต้องนำมาตรฐานนี้เป็นเงื่อนไขของการสนับสนุนการผลิตสื่อที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง

3. กระทรวงวัฒนธรรม ต้องปรับแก้กฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อนําเนื้อหาเกี่ยวกับสวัสดิการการคุ้มครองแรงงานเข้าเป็นเนื้อหาทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้

4. รัฐและหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น ยูนิเซฟ, องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ต้องเฝ้าระวังและบังคับใช้มาตรฐานความปลอดภัย ชั่วโมงการทํางาน สัญญาจ้าง มาตรฐานแรงงานเด็กในการผลิตสื่อ และเวลาในการทํางานที่เป็นธรรม

5. ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่มีนักแสดงเด็กภายในกอง ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว

6. ให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนภายในกองถ่ายที่มีการใช้นักแสดงเด็ก
โดยในวันพรุ่งนี้ (15 กันยายน 2565) ทาง CUT จะมีการติดตามการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในกองถ่าย ในการประชุมกรรมาธิการการแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และจะรายงานผลการประชุมผ่านช่องทางของสหภาพฯต่อไป 
.
แม้ละครดังกล่าวจะได้ปิดกองการถ่ายทำตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่บาดแผลและความเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่ค้างอยู่ในจิตใจของนักแสดงเด็กจะส่งผลต่อตัวเขาเองในอนาคตหรือไม่ก็ไม่สามารถทราบได้

เนื่องจากเด็กไม่สามารถส่งเสียง จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะปกป้องเยาวชนเหล่านั้นและปกป้องอนาคตของวงการสื่อบันเทิงไทยต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net