Skip to main content
sharethis

กำไรก่อนหักภาษีของบริษัทญี่ปุ่นพุ่งสูงสุดรายไตรมาส

ยอดรวมกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทญี่ปุ่นพุ่งสู่ระดับสูงสุดรายไตรมาส บริษัทในธุรกิจแขนงต่าง ๆ เห็นว่ารายรับของตนพุ่งสูงขึ้นในช่วงระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2022 เนื่องจากมีการยกเลิกข้อจำกัดทางธุรกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

การสำรวจโดยกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นพบว่ากำไรก่อนหักภาษีทั้งหมดของภาคธุรกิจในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 28.3 ล้านล้านเยน หรือ ราว 7.4 ล้านล้านบาท นับเป็นตัวเลขรายไตรมาสสูงสุดตั้งแต่ปี 1954 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีข้อมูลเปรียบเทียบได้

ยอดรวมทั้งหมดของกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 6 ไตรมาสติดต่อกัน การสำรวจดังกล่าวยังพบด้วยว่ากำไรรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านเงินสำรองภายในซึ่งเป็นรายได้สะสมภายในบริษัทก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 มีมูลค่า 516 ล้านล้านเยน หรือราว 135 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ที่มา: NHK World, 1/9/2022

เกาหลีเหนือแสดงความสนใจส่งแรงงานก่อสร้างไปดินแดนยึดครองของรัสเซียทางตะวันออกของยูเครน 

มีรายงานว่าเกาหลีเหนือแสดงความสนใจส่งแรงงานก่อสร้างไปช่วยฟื้นฟูดินแดนยึดครองของรัสเซียทางตะวันออกของยูเครน โดยอาจจะเริ่มต้นส่งไป 100-200 คนก่อน และอาจส่งเพิ่มเข้าไปถึง 10,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ารัฐบาลเปียงยางอาจมีเป้าหมายไกลกว่าแค่รายได้จากการส่งออกแรงงาน แต่หวังผลในการกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลมอสโกและรัฐบาลปักกิ่งเพื่อร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของอเมริกา และส่งเสริมระบบโลกหลายขั้วด้วย

ที่มา: Daily Sabah, 1/9/2022

ออสเตรเลียเพิ่มโควต้าผู้อพยพถาวร หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ออสเตรเลียประกาศเพิ่มจำนวนการเปิดรับผู้อพยพที่จะเข้ามาอาศัยอย่างถาวร (Permanent Immigration) อีก 35,000 ราย เป็น 195,000 ราย ในปีงบประมาณปัจจุบัน เพื่อหวังแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานที่มีทักษะ 

รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในประเทศของออสเตรเลียประกาศว่าออสเตรเลียจะเพิ่มจำนวนการเปิดรับผู้อพยพที่จะเข้ามาอาศัยอย่างถาวรในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. 2023 ในระหว่างการประชุมตัวแทนจากหน่วยงานรัฐบาล, สหภาพแรงงาน, ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอันเนื่องมาจากโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ออสเตรเลียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่กำหนดข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดที่สุดเป็นเวลา 20 เดือนในช่วงโควิด-19 และเพิ่งค่อยๆ เปิดรับแรงงานที่มีทักษะสูงอีกครั้งตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2021

ที่มา: CNBC, 1/9/2022

ไต้หวันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีใหม่ 26,400 เหรียญ เพิ่มขึ้นเดือนละ 1,150 เหรียญหรือ 4.56% ปรับเพิ่มเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน 

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2022 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักวิชาการ พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2566 ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนจากปัจจุบัน 25,250 เหรียญไต้หวัน เพิ่มเป็น 26,400 เหรียญไต้หวัน หรือปรับเพิ่มเดือนละ 1,150 เหรียญหรือปรับขึ้นในอัตราส่วน 4.56% คาดจะมีผู้ใช้แรงงาน ซึ่งรวมแรงงานต่างชาติได้อานิสงส์ 1,752,100 คน ส่วนค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ทำงานเป็นรายชั่วโมง ปรับขึ้นจาก 168 เหรียญเป็นชั่วโมงละ 176 เหรียญ หรือปรับขึ้น 4.8% คาดว่าจะมีผู้ใช้แรงงานที่ได้รับอานิสงส์ 574,600 คน ทั้งนี้ มติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 26,400 เหรียญของที่ประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะต้องรอการอนุมัติจากสภาบริหารก่อน จากนั้นกระทรวงแรงงานจะประกาศอย่างเป็นทางการและเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2023 เป็นต้นไป

ที่มา: Radio Taiwan International, 2/9/2022

ญี่ปุ่นเริ่มใช้หุ่นยนต์สต็อคของตามร้านสะดวกซื้อ

กรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น เริ่มใช้หุ่นยนต์ขนาดเล็ก ช่วงเติมของในชั้นวางสินค้าตามร้านสะดวกซื้อ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับกิจการร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ตามรายงานของเอพี

หุ่นยนต์ TX SCARA หุ่นยนต์แขนกล ที่มีกล้องขนาดจิ๋ว และระบบปัญญาประดิษฐ์ของ Nvidia และควบคุมด้วยรีโมตของ Azure บริษัทคลาวด์คอมพิวติ้งของไมโครซอฟต์ คอยจัดแจงเครื่องดื่มที่วางขายในตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อยอดนิยมแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น FamilyMart

โดยหุ่นยนต์ TX SCARA เข้ามาเติมเต็มงานในร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก ที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน หรือ conbini ที่มีสาขามากมายในแดนปลาดิบ ซึ่งเป็นร้านที่มีสินค้ามากกว่า 3,000 ชนิดวางจำหน่าย แต่พนักงานมีเพียงหยิบมือ

ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้เข้ามาช่วยทุ่นแรงให้กับพนักงานในแผนกเครื่องดื่มเย็น ที่อยู่ห่างไกลจากแคชเชียร์ในร้านอยู่มาก ช่วยร่นเวลาที่พนักงานต้องคอยเฝ้าหน้าร้านและเดินเข้าไปเติมของหลังร้าน อีกทั้งยังแก้ปัญหาพนักงานที่ต้องทนหนาวในการเติมเครื่อมดื่มเย็นที่ตู้แช่เป็นเวลานานหลายชั่วโมงได้อีกทางหนึ่ง

ทางบริษัท Telexistence ผู้ผลิตหุ่นยนต์ TX SCARA ไม่ได้เปิดเผยราคาของหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่สามารถเติมเครื่องดื่มได้ถึง 1,000 ขวดต่อวัน แต่ซีอีโอของบริษัท จิน โทมิโอกะ กล่าวกับเอพีว่า “เราต้องการใช้ระบบอัตโนมัติมาแทนที่งานที่ทำซ้ำซากและน่าเบื่อสำหรับมนุษย์ นั่นคือทิศทางของบริษัทที่จะมุ่งไปในเรื่องนี้ และหนทางที่ดีที่สุดคือการใช้หุ่นยนต์มาแทนที่งานเหล่านี้นั่นเอง”

หุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปในโรงงานต่าง ๆ ก็จริง แต่สำหรับบริษัทที่มีพนักงาน 50 คน ของโทมิโอกะ เห็นศักยภาพของหุ่นยนต์เหล่านี้ในคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าต่าง ๆ โดยหุ่นยนต์ของบริษัทเขามีราคาที่เข้าถึงได้มากกว่าเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไป แต่สามารถเติมเต็มความต้องการทางสังคม มีการออกแบบที่สามารถใช้งานหรือทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานรายวันได้ ท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงอายุและปัญหาขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้นในญี่ปุ่น

ตอนนี้หุ่นยนต์ TX SCARA ปฏิบัติหน้าที่ใน 300 จาก 16,000 สาขาของ FamilyMart ทั่วญี่ปุ่น ขณะที่ทั่วประเทศมีร้านสะดวกซื้อในลักษณะนี้ราว 40,000 สาขา ส่วนที่อเมริกา มีร้านสะดวกซื้อในขนาดเดียวกันนี้ราว 150,000 สาขา

ที่มา: VOA, 6/9/2022

รายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องการเคลื่อนย้ายแรงงาน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ออกสมุดปกขาวที่กล่าวแนะว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นทางออกต่อการขาดแคลนคนทำงานซึ่งกำลังส่งผลกระทบในหลายอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

สมุดปกขาวนี้ระบุว่า การขาดแคลนแรงงานเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคก่อสร้าง การขนส่ง และไปรษณีย์ รวมทั้งอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร

แต่รายงานก็ระบุด้วยว่า อัตราการไม่มีงานทำระยะยาวเพิ่มขึ้นเช่นกัน จำนวนผู้ที่ไม่มีงานทำเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนพุ่งขึ้นเป็น 670,000 คนในปี 2564 เพิ่มขึ้น 140,000 คนจากปีก่อนหน้า

ตัวเลขในรายงานยังกล่าวเป็นนัยด้วยว่าผู้คนลังเลใจที่จะเปลี่ยนอาชีพ จำนวนผู้ที่เปลี่ยนงานลดลง 310,000 คน มาอยู่ที่ 2,900,000 คนในปี 2564 เป็นสองปีติดต่อกันที่เห็นกันว่าตัวเลขผู้เปลี่ยนงานลดลงมาก

สมุดปกขาวนี้ระบุว่า หนทางในการเติมเต็มช่องว่างนี้ คือ การปรับปรุงการให้คำปรึกษาเรื่องอาชีพและการฝึกทักษะอาชีพ

ที่มา: NHK, 6/9/2025

ไต้หวันจับแรงงานผิดกฎหมายครั้งใหญ่

ในไต้หวัน แรงงานผิดกฎหมายที่ยังไม่ถูกจับกุมพุ่งสูงกว่า 70,000 คนแล้ว เริ่มจากเดือน ก.ค. 2022 ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทั่วไต้หวันปฏิบัติการกวาดล้างและจับกุมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายครั้งใหญ่ เฉพาะที่นครเถาหยวน เดือน ส.ค. 2022 ที่ผ่านมาตรวจพบแล้ว 139 ราย ในจำนวนนี้ ยังพบหลายรายเสพและขายยาเสพติดด้วย

ข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ณ วันที่ 31 ก.ค. 2022 แรงงานต่างชาติในไต้หวันที่หลบหนีนายจ้างและยังไม่ถูกตรวจพบ เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 72,655 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเวียดนามมากที่สุด 42,230 คน ตามด้วยแรงงานอินโดนีเซีย 26,479 คน อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 2,534 คน แรงงานไทยที่หลบหนีและยังไม่ถูกจับกุมมีจำนวน 1,411 คน 

ที่มา: Radio Taiwan International, 6/9/2022

ผลสำรวจชี้การล่วงละเมิดทางเพศในกองทัพสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

มีรายงานข่าวอ้างอิงผลสำรวจใหม่จากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้น 13% ในหมู่สมาชิกรับราชการทหารในปี 2021 โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าได้รับรายงานการล่วงละเมิดทางเพศ 8,866 ครั้งในปีงบประมาณ 2021 เพิ่มขึ้นจาก 7,816 ปีก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ผู้หญิงในกองทัพเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศในระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มติดตามข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศ

ที่มา: Spectrum News NY1, 7/9/2022

สหภาพแรงงานการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่งของอังกฤษ ยกเลิกการผละงานประท้วง เพื่อไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

สหภาพแรงงาน RMT ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของคนทำงานการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่งของอังกฤษ ออกแถลงการณ์ยกเลิกการหยุดงานประท้วงในวันที่ 15 และ 17 ก.ย. 2022 เพื่อไว้อาลัยต่อการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ 

ทั้งนี้สมาชิกสหภาพแรงงาน RMT ได้งานประท้วงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2022 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่มา: BBC, 9/9/2022

ผู้ตัดสินฟุตบอลหญิงลีกสเปนนัดหยุดงานประท้วง เรียกร้องค่าแรงเพิ่ม

ผู้ตัดสินฟุตบอลหญิงลีกสเปน นัดหยุดงานประท้วงในฤดูกาลใหม่จนกว่าจะได้รับค่าแรงเพิ่ม ปัจจุบันผู้ตัดสินหญิงสเปนได้รับค่าแรง 320 ยูโรต่อเกม ขณะที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินจะได้ 160 ยูโรต่อเกม

ในแถลงการระบุว่าผู้ตัดสินฟุตบอลหญิงตัดสินใจที่จะไม่ลงทำหน้าที่ในเกมลีกสูงสุดฟุตบอลหญิง ถ้ามันยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการทำงานและค่าแรงแบบเดิม โดยผู้ตัดสินฟุตบอลหญิงระบุว่าอยากกลับลงสนาม แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม 

ที่มา: ESPN, 9/9/2022

พนักงานท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ เตรียมหยุดงานประท้วงอีกครั้ง

พนักงานที่ท่าเรือ Felixstowe ซึ่งเป็นท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอังกฤษ เตรียมหยุดงานประท้วง 8 วัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในปลายเดือน ก.ย. 2022 ในขณะที่อังกฤษกำลังมีการเคลื่อนไหวด้านแรงงานหลายแห่ง เพราะไม่พอใจเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูงแต่ค่าจ้างยังไม่ปรับขึ้นตามที่เรียกร้องไว้

ด้านสหภาพแรงงาน UNITE ระบุว่าท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ Felixstowe ลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์มากถึง 48% ของที่เข้าสหราชอาณาจักรทั้งหมด จึงถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจนี้ของอังกฤษ

ที่มา: Sky News, 13/9/2022

ผู้นำญี่ปุ่นเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและความสามารถในการหารายได้

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้สั่งเจ้าหน้าที่หามาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้มีการขึ้นค่าจ้างต่อเนื่องและกระตุ้นอำนาจการหารายได้ของชาติด้วยการใช้ประโยชน์จากค่าเงินเยนที่อ่อนลง

ในการประชุมคณะกรรมการของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและนโยบายงบประมาณเมื่อวันพุธที่ 14 ก.ย. 2022 ผู้นำญี่ปุ่นได้สั่งการให้บรรดารัฐมนตรีศึกษาหามาตรการที่เป็นรูปธรรม สำหรับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีการร่างในเดือนตุลาคม

นายคิชิดะกล่าวว่า จำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ที่รายได้ของประเทศยังคงไหลออกไปต่างประเทศ จากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ผู้นำญี่ปุ่นได้ย้ำถึงความสำคัญ ในการสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายการผลิตกลับประเทศและกระตุ้นศักยภาพด้านอุปทาน นอกจากนั้นยังได้กล่าวอีกว่า ต้องพยายามขยายการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรและประมง รวมถึงฟื้นการท่องเที่ยวขาเข้า

ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวเสริมว่า การขึ้นค่าจ้างอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับภาวะเงินเฟ้อเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้ด้วยการลงทุนในทรัพยากรบุคคล และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานในอุตสาหกรรมที่เติบโต

ที่มา: NHK, 15/9/2022

แรงงานต่างชาติในไต้หวันไม่อยากให้มีสงคราม เพราะจะทำให้เสียโอกาสการทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว

หลังการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2022 เป็นต้นมา วงการต่าง ๆ โดยเฉพาะจากโลกภายนอกต่างวิเคราะห์และห่วงใยสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน แต่มีความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกละเลย พวกเขาคือแรงงานต่างชาติจากประเทศอาเซียนที่เดินทางมาทำงานหาเลี้ยงชีพและช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไต้หวันเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Nikkei Asian Review นิตยสารทางเศรษฐกิจรายสัปดาห์ของญี่ปุ่นรายงานว่า จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2022 ในไต้หวันมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวน 695,133 คน พวกเขาเหล่านี้มาจาก 4 ประเทศผู้ส่งออกแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย แรงงานต่างชาติเหล่านี้สะท้อนความในใจ ขณะให้สัมภาษณ์นักข่าวของนิตยสารฉบับนี้ว่า หากสถานการณ์เลวร้าย พวกตนอาจหมดโอกาสทำงาน อยากอยู่ทำงานในไต้หวันเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวต่อไป

ที่มา: Radio Taiwan International, 16/9/2022

ผลสำรวจเผย ชาวอเมริกันทำงานออนไลน์จากบ้านมากขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด

ในช่วงสองปีแรกของการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ที่ทำงานจากบ้านในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสามเท่า ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น และชาวอเมริกันต้องควักเงินจ่ายค่าเช่าบ้านมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามผลสำรวจโดยสำนักงานสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ตามรายงานของ AP

การสำรวจนี้เป็นรายงานข้อมูลเชิงเจาะลึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโรคระบาด โดยผลสำรวจดังกล่าวประมาณการว่าเมื่อปี 2021 ผู้ที่ใช้ชีวิตคู่โดยยังไม่แต่งงานกันเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนพึ่งพาอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และผู้ที่ระบุว่าตนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน มีผู้ย้ายที่อยู่น้อยลง มีเด็ก ๆ ลงทะเบียนก่อนวัยเรียนน้อยลง และมีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะน้อยลงครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนถึงสถานการณ์ในสหรัฐฯ ยุคโควิด-19 ที่เชื่อถือได้มากที่สุด เนื่องจากผลสำรวจเมื่อปี 2020 ถูกมองว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะมีปัญหาในการตอบแบบสอบถามในช่วงเดือนแรก ๆ ของการระบาด ทำให้ข้อมูลในสหรัฐฯ ว่างเว้นไปหนึ่งปี โดยยอดตอบแบบสอบถามในปี 2021 สูงกว่าในปี 2020 มาก

ผลสำรวจดังกล่าวมักสำรวจประชากรจาก 3.5 ล้านครัวเรือน เพื่อรวบรวมการประมาณการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเวลาที่ใช้เดินทาง การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ชีวิตครอบครัว รายได้ ระดับการศึกษา ความพิการ การรับราชการทหาร และการจ้างงาน โดยข้อมูลนี้จะช่วยกำหนดการใช้จ่ายภาครัฐมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์แก่ภาคส่วนต่าง ๆ

ผลสำรวจระบุว่า มีครอบครัวที่แต่งงานในสัดส่วน 47% ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวเลขคงที่ต่อเนื่องสองปี ขณะที่มีครอบครัวที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงานกันในปี 2021 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.2% จากราว 6.6% ในปี 2019 และจำนวนสมาชิกในครอบครัวลดลงจาก 2.6 คนต่อครัวเรือน เหลือ 2.5 คน ต่อครัวเรือน ซึ่งขัดกับความเชื่อทั่วไปที่ว่า สมาชิกครอบครัวจะย้ายมาอยู่ด้วยกันมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 87% ในปี 2021 ยังอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันจากเมื่อปีที่แล้ว เทียบกับผู้ตอบแบบสอบถาม 86% เมื่อปี 2019 ผู้คนยังพึ่งพาการทำงานที่บ้านและการเรียนทางไกลมากขึ้น โดยมีครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์มากขึ้น จาก 92.9% ในปี 2019 เป็น 95% ในปี 2021 นอกจากนี้ ครัวเรือนที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตยังเพิ่มขึ้นจาก 86% เป็น 90%

ผู้ที่ระบุว่าตนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติยังเพิ่มขึ้น จาก 3.4% ในปี 2019 เป็น 12.6% ในปี 2021 และมีผู้ที่ระบุว่าตนเป็นคนผิวขาวอย่างเดียวลดลง จาก 72% เหลือ 61.2% ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในช่วงปี 2019-2021 เกิดกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติจากการสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำโดยตำรวจผิวขาว และการโจมตีชาวเอเชียนอเมริกันในช่วงโควิดระบาดหนัก ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่อาจเคยระบุว่าตนมีเชื้อชาติเดียว ต้องการการยอมรับอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเชื้อชาติของตนมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่า ผู้ที่ทำงานในภาคศิลปะ การบันเทิง และโรงแรม ลดลงจาก 9.7% เหลือ 8.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิงและร้านอาหารในช่วงการระบาดของโควิด ขณะที่จำนวนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังมีจำนวนเท่าเดิม และมีผู้ที่เป็นนายจ้างตัวเองเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากเดิม 5.8%

ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยจำนวนบ้านที่ไม่มีผู้อาศัยลดลงจาก 12.1% เหลือ 10.3% ขณะที่ราคาบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 240,500 ดอลลาร์ เป็น 281,400 ดอลลาร์ ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่จ่ายค่าเช่าบ้านมากกว่า 30% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 48.5% เป็น 51% โดยปกติแล้ว ผู้ที่จ่ายค่าเช่าบ้านเกินสัดส่วนดังกล่าว จะเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีภาระค่าเช่าบ้าน

นอกจากนี้ ผู้คนยังใช้เวลาเดินทางไปที่ทำงานลดลงจาก 27.6 นาที เหลือ 25.6 นาที ขณะที่มีผู้ที่ทำงานจากบ้านเพิ่มขึ้นจาก 5.7% ในปี 2019 เป็นเกือบ 18% ในปี 2021 โดยผู้ที่ทำงานในกรุงวอชิงตันเกือบครึ่งหนึ่งทำงานจากบ้าน ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุดในสหรัฐฯ ขณะที่รัฐมิสซิสซิปปีมียอดผู้ทำงานจากบ้านต่ำที่สุดที่ 6.3% และในช่วงสองปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อไปทำงานลดลงจาก 5% เหลือ 2.5% เนื่องจากผู้คนกลัวติดไวรัสจากรถเมล์และรถไฟใต้ดิน

ที่มา: VOA, 19/9/2022

มาเลเซียช่วยเหยื่อแก๊งล่อลวงคนทำงานออนไลน์ผิดกฎหมายในกัมพูชา

กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียแจ้งว่าสามารถช่วยเหลือชาวมาเลเซีย 15 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งล่อลวงคนทำงานออนไลน์ผิดกฎหมายในกัมพูชาและได้นำตัวกลับประเทศแล้ว

ปฏิบัติการช่วยเหลือเหยื่อชาวมาเลเซียมีขึ้นในช่วงที่ทางการกัมพูชาออกตรวจค้นสถานที่ก่ออาชญากรรมไซเบอร์ทั่วประเทศที่ต้องสงสัยว่าล่อลวงคนเข้ากัมพูชามาทำงานด้านการพนันผิดกฎหมายและหลอกลวงทางโทรศัพท์ 

กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียระบุว่าได้รับรายงาน 301 ครั้งเรื่องมีคนถูกล่อลวงให้ทำงานกับแก๊งหลอกลวงออนไลน์ในกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย ขณะนี้มีผู้ได้รับการช่วยเหลือแล้ว 168 คน มีผู้อยู่ในศูนย์กักตัวคนเข้าเมือง 34 คน และมีผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการค้นหาอยู่ 99 คน

ที่มา: Malay Mail, 22/9/2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net