Skip to main content
sharethis

'พรรคร่วมฝ่ายค้าน' ออกแถลง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ปม 8 ปี ประยุทธ์ ระบุน่าจะมีความคลาดเคลื่อน 5 ประเด็น แนะ 'ประยุทธ์' ควรใช้โอกาสนี้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกฯ โดยไม่ต้องไปกล่าวอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป 

30 ก.ย.2565 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ นั้น

พรรคร่วมฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล 5 ประเด็น  แม้ พล.อ.ประยุทธ์ มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่พล.อ.ประยุทธ์ โดยประการใดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกฯคือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจ ทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทย ตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน

"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรใช้โอกาสนี้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียโดยไม่ต้องไปกล่าวอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป" แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน ระบุตอนท้าย

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา     

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ จากกรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งมาแล้วครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยให้เหตุผลสรุปว่า การดำรงตำแหน่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับนั้น

พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องต้องกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมี  ความคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล ดังนี้

1. การพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องหาความหมายจากถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษรแล้ว ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย โดยต้องพิจารณาในขณะเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าได้มีการพิจารณา ถึงสาระสำคัญหรือเหตุผลเบื้องหลังของแต่ละมาตราไว้อย่างไร เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงไป ตามความคิดและความรู้สึกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลาได้
  
เมื่อในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี โดยมิได้บัญญัติข้อยกเว้นใดๆ ไว้ ได้มีความเห็นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรากฏชัดในบันทึกการประชุม อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี      ที่ดำรงอยู่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย และมาตรา 264 ให้นับความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จึงไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้เลยว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไปเท่านั้น
  
2. การวินิจฉัยให้เริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีผลใช้บังคับนั้น จะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลัง ครบวาระในครั้งนี้แล้วอีก 2 ปี จนถึงปี 2568 นั้น น่าจะเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเป็นลายลักอักษรที่มีถ้อยคำชัดเจนและพี่น้องประชาชนทั่วไปเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว เพราะจะส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี ซึ่งเกินกว่า 8 ปี และเกินกว่า 2 วาระ ปกติของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 และรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ต้องการจำกัดวาระและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิให้เกิน 2 วาระ หรือเกินกว่า 8 ปี และยังขัดต่อการรับรู้ทั่วไปของพี่น้องประชาชนและขัดต่อข้อเท็จจริงว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งการตีความในลักษณะนี้ จะมีผลแปลกประหลาดคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ระยะเวลา 8 ปี ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับไม่นำมานับ แต่หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2560 กลับนำมานับ ทั้งๆ ที่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกัน 

อนึ่ง ในชั้นเริ่มต้นของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 158 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้บัญญัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีจึงถือว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 

3. เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกอ้างความชอบธรรมจากผู้มีอำนาจบ่อยครั้งว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการลงประชามติของประชาชน การตีความให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีได้ นอกจากขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยด้วย อันถือเป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ  

4. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่การวินิจฉัยที่อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แม้ผลคำวินิจฉัยจะทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประโยชน์แต่ก็จะเป็นการทำลายบรรทัดฐานทางกฎหมายและอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม และเกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้

5. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้  มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้
  
พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าแม้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคงมิใช่เป็นการฟอกขาวให้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยประการใดๆ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าภาพจำของประชาชนที่มีต่อตัวนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่พยายามจะสืบทอดอำนาจ  ทุกวิถีทางเท่าที่จะหาวิธีทำให้ได้ ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนมาตั้งแต่ต้นที่ทำรัฐประหารว่าจะอยู่ ไม่นาน ผู้ที่ผิดสัญญากับประชาชนในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จนทำให้ประเทศไทย ตกขบวนลดชั้นลงไปจากผู้นำในอาเซียน การที่จะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้อยู่ ในอำนาจได้ต่อไป จึงมีแต่ความว่างเปล่าในสายตาของประชาชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรใช้โอกาสนี้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียโดยไม่ต้องไปกล่าวอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป และขอให้พี่น้องประชาชนได้ให้บทเรียนกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคร่วมฝ่ายค้าน
30 กันยายน 2565

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ยังมีแถลงการณ์แยกดังนี้

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง
     

ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดลง โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับ นั้น

จะเห็นได้ว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวเชื่อได้ว่าจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและประชาชนในวงกว้าง ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคารพในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและผลผูกพันแห่งคำวินิจฉัย แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เนื่องจากรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร การตีความต้องยึดตามบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกัน เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 บัญญัติห้ามการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี และให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แต่เมื่อถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ก็ยังคงมีผลใช้อยู่ต่อเนื่องมาภายหลังวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การตัดตอนเอาวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นวันเริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อาจหาตรรกะใดมาอธิบายได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏชัดในบันทึกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับรวมด้วย อันถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รับรู้เป็นการทั่วไปว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
  
พรรคจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความที่นักวิชาการกฎหมาย และสังคมต้องร่วมกันคิดว่าหลักคิดและเหตุผลในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีเหตุผล ที่สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงช่วยกันทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะมีการทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร
  
พรรคเพื่อไทยมิได้กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปจนถึงครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 และยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า แต่สิ่งที่พรรคห่วงและกังวลก็คือ ปัญหารากเหง้าที่กลืนกินสังคมไทยที่สั่งสมมาตั้งแต่การรัฐประหาร      เมื่อแปดปีที่ผ่านมา จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่สังคมประชาธิปไตย มีหลักนิติรัฐนิติธรรมโดยแท้จริงอย่างไร และที่น่าห่วงกังวลอีกประการคือ บรรทัดฐานความความถูกต้องของการใช้และการตีความรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าน่าจะมีปัญหาแต่ไม่มีกลไกใดที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ที่ทุกคน ในสังคมต้องช่วยกันคิดและหาทางออกต่อไป     


จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
พรรคเพื่อไทย
30 กันยายน 2565

 

แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี “8 ปี ประยุทธ์”

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นอีกครั้งที่ทำให้ประชาชนไทยรู้สึกสิ้นหวัง

มิใช่สิ้นหวังเพียงเพราะบุคคลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แม้ขาดทั้งความชอบธรรมทางการเมืองและความสามารถในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤตที่รุมเร้า

แต่สิ้นหวัง เพราะคำวินิจฉัยในวันนี้ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจ ว่าสถาบันตุลาการของบ้านเมืองที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กลับกำลังปกป้องคุ้มครองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มากกว่าปกป้องคุ้มครองหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ จะตรงกันข้ามกับคำวินิจฉัยตามสามัญสำนึกของประชาชน แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมายาวนานเกินกว่า 8 ปีแล้ว ผ่านการทำรัฐประหารและการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

ตราบใดที่สังคมไทยยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สถาบันทางการเมืองต่างๆ ก็จะยังถูกใช้เป็น “อาวุธ” ของระบอบการเมืองที่อำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง  หนทางเดียวในการคืนประเทศให้กับประชาชน คือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แม้การเลือกตั้งครั้งใหม่ จะเป็นโอกาสให้ประชาชนได้พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยมือของตนเอง แต่ตราบใดที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ถูกรื้อ ประเทศไทยจะยังไม่หลุดพ้นจากวังวนของระบอบรัฐประหาร

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนอีกครั้ง มาร่วมกันเข้าชื่อเพื่อให้มีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อทำให้วันเลือกตั้งไม่เป็นเพียงโอกาสในการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่เป็นโอกาสในการเปลี่ยนโครงสร้างและกติกาของประเทศ ให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

เราทราบดีว่า 8 ปีภายใต้ระบอบประยุทธ์ ได้สร้างความเจ็บปวดที่ชินชา และบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าจะยังคงเป็นไปได้หรือไม่ แต่พรรคก้าวไกลขอยืนหยัดและยืนยัน ว่าความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎร แม้อาจยังไม่มากพอที่จะกำจัดระบอบอยุติธรรมที่กัดกินประเทศได้ในทันที แต่หากพวกเรา ประชาชน ไม่สิ้นหวัง และเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยที่มี “อนาคต” จะรออยู่ข้างหน้า

อนาคตของเศรษฐกิจที่เติบโตเพื่อทุกคน

อนาคตของสังคมที่คนเท่ากัน

อนาคตของประชาธิปไตยเต็มใบที่ไม่มีใครอยู่เหนือหัวประชาชน

หากเหตุการณ์วันนี้ทำให้พี่น้องประชาชนคับแค้นผิดหวัง โปรดเปลี่ยนความคับแค้นผิดหวังนั้นให้เป็นพลัง เพื่อใช้ขีดเขียน “อนาคตใหม่” ไปด้วยกัน หนึ่งเสียงของทุกคนในการแสดงออก หนึ่งคะแนนของทุกคนในคูหาเลือกตั้ง และหนึ่งชื่อของทุกคนในการสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือหนึ่งพลังของความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศไทยที่ก้าวหน้า

พรรคก้าวไกล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net