Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' ซัดเปิดสภาฯ สมัยสุดท้ายไม่คุ้มค่า ไม่สนใจปัญหาของบ้านเมืองอย่างแท้จริง การยุบสภาคือคำตอบที่ดีที่สุด มากกว่าการรักษาเก้าอี้นายกให้อยู่ครบเทอม - หลังเมื่อวันที่ 4 พ.ย. สภาล่มรับเปิดสมัยประชุมเพียง 3 วัน วิปรัฐบาลอ้างตรงช่วงเทศกาล ด้านฝ่ายค้านชี้คุณภาพการประชุมในวันศุกร์ไม่มีเพราะ ส.ส. เป็นกังวลพอตกบ่ายก็อยากจะกลับ รองประธานสภาระบุมี ส.ส. โอด “เครื่องบินก็เต็ม กลับก็ยาก”


นายสุธรรม แสงประทุม อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกพรรคเพื่อไทย

5 พ.ย. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวว่านายสุธรรม แสงประทุม อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญครั้งที่สอง อันเป็นสมัยสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ควรเป็นการระดมความสามารถของนักการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทย

แต่ปรากฎว่า มีพฤติกรรมที่สะท้อนในลักษณะของสภาอัมพฤกษ์ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นอัมพาต การล่มของสภาในการประชุมครั้งแรกของสมัยสุดท้าย เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงสำหรับอนาคตของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา

คนที่มาจากการยึดอำนาจนอกจากจะไม่ให้ค่าต่อความสำคัญของสภาแล้ว บ่อยครั้งที่กระทำการด้อยค่าในหลายรูปแบบ เมื่อประชาชนเห็นว่าสภาไม่ใช่ช่องทางที่จะปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองและความเดือดร้อนของประชาชนได้ การยึดอำนาจ ล้มสภาจึงทำได้ง่าย

การทำลายภาพลักษณ์โดยเฉพาะการแจกกล้วยหรือซื้อเสียงกันในสภาอย่างที่เป็นอยู่เป็นภาวะที่เลวร้ายสุดๆ ผมเป็นศิษย์ตถาคนผู้มีความเชื่อว่า ผลที่เป็นอยู่ล้วนมาจากเหตุ สาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ยังมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่เกื้อกูลให้ได้รัฐบาลที่แปลกประหลาดจึงก่อให้เกิดความแปรปรวนรวนเรขึ้นในทุกระดับ

อย่างไรก็ตามสภายังคงเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญที่มาจากประชาชน ความอ่อนแอแปรปรวนของสภาไม่ได้มาจากประชาชน อย่างที่ประธานชวน หลีกภัย สส.อาวุโสสูงสุดผู้เป็นประมุขของสภาเคยย้ำอยู่เสมอว่า-สภาล่ม -องค์ประชุมไม่ครบ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ประธานชวนน่าจะแนะนำให้รัฐบาลรับผิดชอบโดยการยุบสภาให้ประชาชนใช้อำนาจอันศักดิ์เลือกรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบเข้ามาแก้ปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะเลวร้ายเกินกว่าที่จะแก้ไข

ดังนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนครบวาระ ไม่สนใจปัญหาของบ้านเมืองอย่างแท้จริง การยุบสภา คือ คำตอบที่ดีที่สุด มากกว่าการรักษาเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้อยู่ครบเทอม โดยปล่อยให้สภาผู้แทนราษฎรไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตเป็นอยู่ในเวลานี้

สภาล่มรับเปิดสมัยประชุมเพียง 3 วัน

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 ว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเริ่มเวลา 09.30 น. โดยก่อนที่จะเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ประธานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปรึกษาหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข มีปัญหาถนนชำรุดเสียหาย มีปัญหาพนักงานขับส่งสินค้า หรือ ไรเดอร์ ไม่ได้รับสวัสดิการจากการทำงาน และไม่อยู่ในระบบประกันสังคม อีกทั้งยังถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ปัญหาถนนชำรุดเสียหายหลายพื้นที่ ปัญหาขาดแคลนระบบน้ำประปาและระบบไฟฟ้า  ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกษตรได้รับความเดือดร้อน ไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ปัญหาศูนย์วิสาหกิจเกษตรกรทำนา จังหวัดสงขลา ไม่สามารถสาผลิตข้าวสารได้ เนื่องจากเครื่องจักรไม่ได้มาตรฐาน

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการปิดอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเสร็จแล้ว มีนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นว่าการบริหารจัดการอ่าวมาหย่า มีความล้มเหลว ขาดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน  ที่ผ่านมามีการอนุญาตให้กองถ่ายละครเข้าไปในพื้นที่ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังพบว่า มีการทุจริตค่าเข้าชมอุทยานกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ นอกจากยัง ขอให้มีการปรับปรุงระบบการปิดอ่าวมาหย่า ต้องมีการกำหนดเขตให้ชัดเจน ว่าปิดส่วนใดบ้าง เพราะการปิดหาดทั้งหมดจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งเสริมการมีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใส ประชาชนต้องมีส่วนเสนอความเห็นด้วย  

ขณะที่ มีการอภิปรายอยู่นั้น นายพิเชษ เชื้อเมืองพาน ส.ส.จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการโหวตลงคะแนนเกี่ยวกับรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากรายงานฉบับนี้มีผู้รับฟังอย่างบางตา ทำให้ทางด้านสมาชิกส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกบางส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างลุกขึ้นโต้แย้งว่า ไม่จำเป็นต้องโหวตลงคะแนน หากสมาชิกไม่ครบ อาจทำให้รายงานฉบับนี้ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาฯ 

โดยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ยืนยันว่าการขอโหวตลงมติถือเป็นสิทธิ์ที่สมาชิกสามารถกระทำได้ ตามข้อบังคับการประชุมฯ

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมในวันศุกร์โดยปกติเป็นการประชุมเพื่อรับทราบเรื่องของกรรมาธิการไม่ได้มีการลงมติ ประกอบกับในสัปดาห์นี้เป็นช่วงเทศกาล มีงานทอดกฐินและในวันอังคารก็จะเป็นเทศกาลลอยกระทง จึงทำให้อาจจะมีสมาชิกมาประชุมน้อยต้องขออภัยประชาชนด้วย

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าสัปดาห์หน้าเป็นวันหยุดและมีเทศกาลสำคัญ อีกทั้งเป็น ช่วงปลายสมัยซึ่งนายก  ก็ทำท่าว่าจะยุบสภาหรือไม่ ส.ส.ทุกคนก็อยากกลับพื้นที่ แต่พรรคเพื่อไทย ได้รับการกำชับจากหัวหน้าพรรคและประธานวิทย์ฝ่ายค้านให้อยู่ประชุม แต่ส่วนตัวเห็นว่าคุณภาพการประชุมในวันศุกร์ไม่มีเพราะ ส.ส.เป็นกังวล พอตกบ่ายก็อยากจะกลับ โดยเฉพาะตอนนี้ยังไม่ชัดว่า 24 ธันวาคม นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาหรือไม่ จึงขอเรียกร้องว่าไม่ควรนัดประชุมในวันศุกร์ขอให้ประชุมเพียงวันพุธและพฤหัสบดีเท่านั้น

จากนั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานในที่ประชุมได้แจ้งว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในห้องประชุม จำนวน 183 คน คือ 177 ที่กดออด และมารายงานตัวเพิ่มอีก 6 ซึ่งองค์ประชุมคือ 238 คนถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ประธานในการประชุมจึงสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 12.21 น. ทั้งนี้ ด้มี ส.ส. โอดครวญว่านัดประชุมวันศุกร์  "เครื่องบินก็เต็มกลับก็ยาก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net