Skip to main content
sharethis

ประชาชนร่วมทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทางการเมืองที่ศูนย์การค้า 'สยามสแควร์วัน' พร้อมจุดเทียนรำลึกให้ 2 ผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม ได้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย และมานะ หงษ์ทอง

 

17 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ต.ค.) ที่หน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เมื่อเวลา 17.16 น. ประชาชนรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 2 ปี ที่รัฐเริ่มใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม นัดหมายโดยมวลชนอิสระ บรรยากาศกิจกรรมวันนี้ มีการนำภาพถ่ายบาดแผลของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมการเมือง มาวางไว้ที่บริเวณทางเท้าให้ผู้สัญจรผ่านไป-มาได้มองเห็น

นอกจากนี้ ทางผู้จัดงานระบุด้วยว่า พวกเขาต้องการเรียกร้องให้รัฐมีการยุติการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวทางหาทางการเมือง 1,860 ราย รวมจำนวน 1,139 คดี พร้อมเสนอ 'ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. …'

'ทศพร' ชี้มีผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต หลังรัฐใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเมื่อปี'63

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่บริเวณหน้าสยามสแควร์วัน ‘ทศพร’ ปราศรัยในกิจกรรม รำลึกครบรอบ 2 ปี รัฐเริ่มใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม 

ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่เขามาจัดงานวันนี้เนื่องจากตรงกับเมื่อ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมทางการเมืองที่สยาม และหลังจากนั้นถึงมีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนมีผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย

“พอถึงตุลา 63 …มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง หลังจากนั้น ก็มีผู้ถูกกระสุนจริงยิงกระดูกหัก 2-3 ราย ซึ่งผมมีรูปเอ็กเรย์ให้ดู มีคนที่โดนยิงลำไส้แตก 3 คน คนที่โดนยิงปอดแตก 1 คน มีคนที่โดนยิงเข้ากระดูกสันหลัง เป็นอัมพาตทุกวันนี้ 1 คน มีผู้สูญเสียดวงตา 2 คน และก็มีผู้สูญเสียชีวิตอีก 2 คน”

“มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีกว่า 1,139 คดี มีผู้ต้องหากว่า 1,860 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 283 คน เป็นเยาวชน …และก็ยังมีคนที่อยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัวอีกนับสิบคน โดนขังมาร้อยสองร้อยวัน ผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหลายมีปัญหากับการดำเนินชีวิต หลายๆ คนต้องขึ้นศาลทั้งเดือน เดือนละหลายๆ ครั้ง หลายๆ คนต้องติดกำไล EM และก็กำไล EM ก็มีผลต่อการดำรงชีวิต เท้าเปื่อย ข้อเท้าเปื่อย การจะไปไหนมาไหนก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก จะไปทำงานก็มีปัญหา จะไปเรียนก็มีปัญหา หลายๆ คนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย มีปัญหาไปหมด”

ชง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง

ทศพร มองว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ และของครอบครัว ดังนั้น หลังจากหารือหลายฝ่าย เขาอยากเสนอทางออก เพื่อดึงบุคคลเหล่านี้กลับมาเป็นบุคลากรของชาติและพัฒนาประเทศ ให้พวกเขาเรียนหนังสือ สามารถไปเรียนต่างประเทศ หรือทำงานได้อย่างเป็นปกติ

สำหรับข้อเรียกร้อง ทศพร เสนอว่า ภาครัฐต้องหยุดคดีทุกอย่างเกี่ยวกับคดีการเมือง ตำรวจต้องหยุดคดีไม่ต้องส่งฟ้องอัยการ หรืออัยการไม่ส่งฟ้องศาล

ประการต่อมา ทศพร เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเขาระบุว่าร่างนี้ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นร่างที่สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เป็นร่างที่ต้องการทุกฝ่ายเข้ามาช่วยแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น และตั้งใจจะไม่รอไปถึงรัฐบาลหน้า เพราะถ้ารัฐบาลนี้อยู่ครบเทอม กว่าจะมีรัฐบาลใหม่อาจต้องรอถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งช้าเกินไป 

หลังจากนี้ ทางทศพร พร้อมด้วยคณะทำงาน จะเดินสายคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ และจะไปที่รัฐสภา เพื่อคุยประธานรัฐสภา และคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน คณะกรรมาธิการกฎหมาย และสุดท้าย ไปเจรจากับรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลเห็นด้วย ก็อาจจะมีการประกาศ พ.ร.ก.ออกมา ยิ่งทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้

เวลา 18.25 น. ประชาชนทำกิจกรรมจุดเทียนรำลึกให้ผู้เสียชีวิต 2 รายจากการถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม เมื่อปีที่แล้ว (2564) ได้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี (อายุขณะเสียชีวิต) ผู้ถูกกระสุนปืนที่หน้า สน.ดินแดง และนายมานะ หงษ์ทอง ประชาชนผู้ถูกลูกหลงโดยถูกกระสุนยางเข้าที่บริเวณศีรษะจากการสลายชุมนุมม็อบดินแดง

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อ 16 ต.ค. 2563 ถือเป็นวันแรกที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยวันนั้นมีการรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า ‘รถจีโน่’ ฉีดน้ำผสมแก๊ซน้ำตาและสี รวมถึงใช้แก๊ซน้ำตา เข้าใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมขับไล่รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใต้สถานีรถไฟฟ้า ‘บีทีเอส’ สยาม แยกปทุมวัน และบนสกายวอล์ก และมีการตามจับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอีกเป็นจำนวนมาก

บีบีซีไทย รายงานด้วยว่า ในวันดังกล่าวตำรวจมีการจับประชาชนไปมากกว่า 100 คน โดยหนึ่งในนั้นมีนายกิตติ พันธภาค อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติหน้าที่ด้วย

รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. ...

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วง หรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกายอนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวนหรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และปล่อยตัวผู้นั้น     

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ

มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัติ และทำให้คนต้องได้รับความเสียหาย

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ - เมื่อ 17 ต.ค. 2565 เวลา 23.28 น. มีการอัปเดตคำปราศรัยของ ทศพร เสรีรักษ์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net