Skip to main content
sharethis

ในช่วงเวลาหนึ่ง สังคมม้งได้เปิดโอกาสให้ผู้ชายสามารถฉุดผู้หญิง เพื่อให้แต่งงานเป็นภรรยาของตนเองได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพวกเธอ และแม้ว่าการกระทำที่ว่านี้ จะไม่เป็นที่ยอมรับอีกแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีผู้ชายม้งบางคนในบางครอบครัว ยังกระทำในลักษณะนี้อยู่ และแม้ว่าข่าวคราวการฉุดสาวม้งจะไม่ค่อยมีให้เห็นในสื่อออนไลน์ แต่เมื่อได้ไปพูดคุยกับชาวม้งแบบรายบุคคลแล้วกลับพบว่า กระทำที่ว่านี้ ได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่สาวม้งจำนวนมาก บางคนมีประสบการณ์ตรง ส่วนบางคนก็ได้รับบทเรียนมาจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง เพื่อน หรือคนในหมู่บ้าน ซึ่งก็ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงและบังคับให้ผู้หญิงแต่งงาน ผ่านการนำใช้ประเพณีการฉุด แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็ถือว่ายังปรากฏให้เห็นในสังคมม้ง

การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทำไมต้องถูกบังคับ

ในสังคมคนม้ง ถ้าเห็นว่าผู้หญิงคนใดมีรูปร่างหน้าตาดีหรือมีความสามารถ ผู้ชายม้งที่สนใจก็สามารถฉุดไปเป็นภรรยาได้ ซึ่งที่ผ่านมา สาวม้งส่วนใหญ่ไม่อยากตกเป็นเหยื่อของการฉุด เนื่องจากในหลายๆ ครั้ง ผู้หญิงที่ถูกฉุดจะต้องยอมแต่งงาน โดยที่ไม่รู้จักกับผู้ชายมาก่อน เพราะไม่อยากให้คนรอบข้างมองว่าเธอเป็นคนไม่ดีในแบบที่ว่ามีสามีแต่ไม่ยอมแต่งงาน และถึงแม้ว่า คนม้งส่วนมากจะไม่เห็นด้วยกับความคิดความเชื่อเช่นนี้แล้ว แต่พวกเธอก็ยังถูกผู้ใหญ่ในครอบครัวบังคับให้ปฏิบัติตาม ดังที่ ฝน สาวม้งวัย 27 ปี อยู่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประสบการณ์ถูกหนุ่มม้งฉุดและถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่รู้จัก ได้บอกเล่าว่า “การฉุดและคลุมถุงชนไม่ต่างกัน เพราะเป็นการบังคับให้แต่งงาน เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่สาวม้งปฏิเสธไม่ได้”

ฝน ยังเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของตนเองให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เธอและเพื่อน เดินทางไปเยี่ยมคุณครูในช่วงปิดเทอม ระหว่างทาง เธอถูกผู้ชายม้งต่างชุมชนฉุด แต่เธอแสดงความไม่ยินยอมและพยายามหนีจนรอดออกมาได้[1] แต่หลังจากนั้น ประมาณ 2 เดือน หนึ่งในเพื่อนของเธอก็ถูกผู้ชายม้งกลุ่มเดียวกันนี้ ฉุดตัวไป

“เหมือนฝ่ายชายเข้ามาฉุดเราเแล้วไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนมาฉุดเพื่อนเราแทน เขารู้สึกว่า คนไหนก็ได้ ขอให้ได้เมียกลับบ้าน มันไร้ซึ่งความเป็นคนมาก รอบสองนี้ มีผู้ชายมา 7 คน แล้วผู้หญิงตัวเล็กๆ 2 คน ช่วยกันยื้อ แต่สู้ไม่ได้ เพื่อนเราก็เลยโดนฉุด แต่เพื่อนไม่ยอม เลยหนีออกมาตอนตี 2 ตอนที่ฝ่ายชายหลับ” ฝน กล่าว

เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของฝน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอยังเคยถูกครอบครัวจับคลุมถุงชนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 2 จนอายุ 18 ปี ถึง 5 ครั้ง “หลังจากปฏิเสธขันหมาก เราก็ถูกครหานินทาว่า เป็นผู้หญิงหยิ่ง หัวแข็ง ไม่เคารพผู้ใหญ่ และคงไม่มีใครอยากเอาเป็นเมียแน่นอน”

ฝน คิดเสมอว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และไม่น่าจะเกิดขึ้นกับใครได้ง่ายๆ ในยุคสมัยปัจจุบัน แต่เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา หลานสาววัย 17 ปีของเธอก็ถูกหนุ่มม้งฉุด ระหว่างเดินทางเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 และทันทีที่รู้เหตุการณ์ เธอไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ 3 แห่ง ว่า หลานสาวยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกลักพาตัว และถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการแจ้งความ เพราะไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดชอบ

ฝน และเพื่อน พาหลานสาววัย 17 ปี ที่ถูกหนุ่มม้งฉุด ไปซ่อนตัวอยู่ในป่า หลังหลบหนีออกจากบ้านของหนุ่มม้งได้ (ที่มา: ฝน)

“ฝ่ายชายที่ฉุดหลานสาวไป เอาเพื่อนผู้ชายอีก 4-5 คน ขับรถกระบะปะกบข้าง และรถมอเตอร์ไซต์วิบากปะกบหน้า-หลัง เพื่อตามล่าพวกเรา 3 คน ที่นั่งซ้อนกันอยู่บนมอเตอร์ไซค์คันเล็ก ทางก็เปลี่ยว อันตราย เราตัดสินใจขี่รถไปอีกทาง แต่ก็พบว่าฝ่ายชายตั้งด่านรอ เพื่อขอเจรจาให้ยกหลานสาวให้ แต่เราไม่ยอมและหาทางหนี เรากลัวถูกข่มขืนและฆาตกรรม แต่โชคดี ไปเจอหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ตอน 4 ทุ่ม เขาช่วย เราเลยรอดกลับมาได้” ฝน กล่าว

บรรยากาศที่ผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย และผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง มาเจรจาตกลงกันในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใน จ.เชียงใหม่ หลังเกิดเหตุฉุดสาวม้งขึ้น (ที่มา: ฝน)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ หนุ่มม้งและกลุ่มเพื่อนของเขา ไม่ได้รับการลงโทษใดๆ ตามประเพณี มีแต่เพียงเสียค่าปรับในความผิดที่ก่อความวุ่นวายเป็นเงิน 1,000 บาท ให้แก่ครอบครัวของฝ่ายหญิงตามกฎหมาย ขณะที่ ฝน เพื่อน และหลานสาว กลับถูกคนใกล้ชิดต่อว่าว่า เป็นคนหัวแข็งไม่ปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของชาวม้ง ดังที่ ฝน เล่าว่า “ไม่มีการลงโทษผู้ชายที่มาฉุดหลายเรา เพราะสังคมม้งปกป้องผู้ชาย ขนาดที่ว่าเขาเป็นฝ่ายผิด ยังผลักความผิดมาให้เรา”

บันทึกข้อตกลงระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หลังเกิดเหตุฉุดผู้หญิงม้ง ที่ได้ระบุว่า (1) ทั้งสองฝ่ายจะไม่เอาความกัน (2) ญาติฝ่ายชายจะไม่รับผิดชอบต่อเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจของฝ่ายหญิง และ (3) ฝ่ายชายจะไม่ระรานฝ่ายหญิงอีก พร้อมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1,000 บาท (ที่มา: ฝน)

การลักพาตัวในนามของประเพณีการฉุด สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้ในฐานใช้ความรุนแรง, กักขังหน่วงเหนี่ยว และการพรากผู้เยาว์ แต่กลับไม่ถูกนำไปพิจารณาความผิด เพราะญาติผู้ใหญ่และสมาชิกในครอบครัวของสาวม้งที่ถูกฉุดส่วนหนึ่ง มักไม่ติดใจเอาความกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมองว่าเป็นประเพณีของชาวม้งที่ส่งต่อกันมา ดังที่ ฝน บอกว่า “เราเคยถูกฉุด แล้วร้องเรียนไปที่ผู้ใหญ่บ้าน แต่ผู้ใหญ่บ้านวางเฉย และพูดบอกกับเราว่า แต่ไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก แต่งงาน เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน”

เช่นเดียวกับ เขียว สาวม้งวัย 19 ปี อยู่จังหวัดตาก ก็เล่าว่า การที่ผู้หญิงม้งต้องแต่งงานด้วยความไม่เต็มใจตั้งแต่อายุประมาณ 13-15 ปี ที่อยู่ระหว่างการเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นนั้น ได้ทำให้สิ่งที่พวกเธอคาดหวังว่าอยากจะทำหรืออยากจะเป็น ก็จำเป็นต้องได้ยุติไป ดังเช่นเพื่อนคนสนิทของเธอ ที่ถูกบังคับให้แต่งงาน และครอบครัวฝ่ายสามีไม่อนุญาตให้เรียนหนังสือต่อ เมื่อชีวิตครอบครัวเดินต่อไปไม่ไหว จนต้องหย่าร้าง เพื่อนของเธอก็ไปทำอะไรลำบาก เพราะเรียนหนังสือไม่จบ

ถึงแม้การฉุดหรือการคลุมถุงชนบังคับให้แต่งงาน จะเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับสาวม้งอีกหลายคน แต่ผู้หญิงม้งส่วนใหญ่ก็ต่างไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวนี้ เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อใด อีกทั้งถ้าถูกบังคับให้แต่งงานเข้าจริงๆ  ก็คงเป็นเรื่องลำบากใจ ที่จะหลุดออกมาจากพันธะที่ว่านี้ได้ [2]เช่นกรณีที่ เขียว พบเห็นจากคนใกล้ชิดว่า “ผู้หญิงบางคนพยายามหนี แต่ก็ไม่มีใครช่วย เพราะคนรอบข้างมองว่า เธอกลายเป็นคนฝั่งสามีไปแล้ว ส่วนฝั่งสามีก็ยังมาขู่เข็นว่าไม่ให้หนี จนทำให้ผู้หญิงกดดันจนฆ่าตัวตาย เพราะรู้แล้วว่าไม่มีทางที่จะหนีรอด”

สำหรับสาเหตุหนึ่ง ที่มักทำให้ผู้หญิงม้ง ประสบปัญหาชีวิตหลังแต่งงานแล้ว มักไม่ได้รับการช่วยเหลือนั้น เป็นเพราะความเชื่อที่ว่า ถ้าแต่งงานและย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ผี ที่คุ้มครองก็จะอยู่กับพวกเธอที่บ้านของฝ่ายชายด้วย ดังนั้น การหย่าร้างเพื่อกลับมาอยู่กับพ่อแม่จึงเป็นไปได้ยาก เพราะผู้หญิงที่ผ่านการแต่งงานแล้ว ก็เท่ากับว่าพวกเธอได้ย้ายทั้งร่างกายและจิตวิญญาณไปอยู่กับครอบครัวของสามีแล้ว ดังเช่น น้ำ สาวม้งวัย 19 ปี อาศัยอยู่ตัวเมืองในจังหวัดเชียงราย เล่าว่า

“จะกลับมาอยู่บ้านเป็นแม่หม้ายธรรมดา แบบคนเมืองไม่ได้ เพราะตั้งแต่แต่งงาน สาวม้งจะออกจากบ้านของตัวเองไปพร้อมกับร่างกายและจิตวิญญาณ แต่เมื่อหย่าร้าง ก็จะกลับมาได้แค่ร่างกาย ส่วนจิตวิญญาณ ถือว่าหล่นหายไป ไม่ได้อยู่ที่เดิม และไม่ได้มาที่บ้านกับเรา” น้ำ กล่าว

ถึงแม้ชาวม้งหลายคนจะมองว่า ผู้หญิงที่หย่าร้างกับสามีและกลายเป็นแม่หม้าย เป็นผู้หญิงไม่ดีและไม่มีใครต้องการ แต่อย่างไรก็ตาม ชุดความคิดแบบนี้ ก็ยังคงเป็นคำถามและข้อสงสัยที่ค้างคาใจของชาวม้งอีกจำนวนมากในลักษณะที่ว่า เพราะเหตุใด จึงต้องตีตราว่าแม่หม้ายเป็นคนไม่ดี ทั้งที่ในหลายๆ กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะผู้หญิงไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่มาทำร้ายร่างกาย นอกใจ หรือใช้ให้เธองานหนักอย่างหนัก

ความเท่าเทียมอยู่ที่ใด และทำไมผู้หญิงจึงเป็นฝ่ายยอม

“…เพราะคนม้งนิยมมีลูกเยอะ เพื่อเป็นแรงงานในการทำมาหากิน ตั้งแต่โบราณมาจนปัจจุบัน เรื่องการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยก็ยังมีอยู่ เพราะแต่งช้า ก็จะมีลูกช้า”

คำพูดข้างต้นนี้ของ ฝน แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวของชาวม้งส่วนหนึ่ง ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกเขตตัวเมือง และหาอยู่หากินด้วยการทำไร่ทำนา ด้วยแรงงานของคนในบ้าน ซึ่งทำให้ครอบครัวชาวม้งนิยมมีลูกหลายคน เพราะหวังให้สมาชิกในครอบครัวมาช่วยกันทำมาหากินและหารายได้ ฉะนั้น ผู้หญิงม้งหลายคนในหลายครอบครัวจึงต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างเช่น ถ้าหากอายุ 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่แต่งงาน ก็จะถูกคนรอบข้างตั้งคำถามว่า ทำไมถึงยังไม่แต่งงาน?

คำถามที่ว่านี้ สร้างความหนักใจให้ เขียว และคนรอบตัวของเธอพอสมควร เพราะการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย เท่ากับว่าพวกเธอต้องออกจากระบบการศึกษา เพื่อมาใช้ชีวิตหลังแต่งงาน และช่วยครอบครัวฝ่ายสามีทำมาหากิน อีกทั้ง เมื่อแต่งงานไปแล้ว ครอบครัวฝั่งสามีต้องการให้ทำหรือเป็นอะไร ก็ต้องปฏิบัติตามแบบไม่มีเงื่อนไข ดังที่ เขียว กล่าวเสริมว่า

“ถ้าบ้านฝั่งสามีเป็นขโมย เราต้องเป็นขโมยไปด้วย เขาเป็นอย่างไง เราก็ต้องเป็นอย่างนั้น ในพิธีกรรมเขาจะมีคนมาพูดให้ฟัง เป็นขั้นตอนหนึ่งในงานแต่ง ถึงจะเป็นคำสอนที่ส่งต่อมา แต่เราก็คิดว่าไม่ถูกต้อง” เขียว กล่าว

สาวม้งที่แต่งงานและย้ายมาอยู่กับครอบครัวของสามี ต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถูกคนรอบข้างติฉินนินทา (ที่มา: ฝน)

เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตแต่งงาน สาวม้งทุกคนจะถูกสั่งสอนว่าให้ปฏิบัติตัวเป็น “ภรรยาที่ดี” หรือ “ลูกสะใภ้ที่ดี” ซึ่งความหมายของคำว่า ดี ในที่นี้ก็คือ ผู้หญิงม้งจะต้องขยันและอดทน ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4-5 เพื่อมาตั้งไฟ หุงข้าว เตรียมอาหารทุกๆ มื้อให้กับทุกคนในครอบครัว รวมถึงให้อาหารหมู-ไก่ ก่อนที่จะออกเดินทางไปทำการเกษตรในเวลาประมาณ 6-7 โมงเช้า มิเช่นนั้นก็จะถูกติฉินนินทาว่าเป็นคนขี้เกียจ ดังเช่นที่ เขียว เล่าว่า

“ไปฉีดต้นหญ้า ขนขี้ไก่ไปใส่ผัก ใส่ปุ๋ยให้ต้นดอกหอม ถอนต้นหญ้า แบกต้นหญ้าไปทิ้ง ปลูกกะเพรา พริก มะเขือเทศ กระเทียมก่อนจะไปไร่ จะมาหาของกินไปกินที่ไร่ กล้วย อโวคาโด ลูกพลับ ฟักทอง ถั่วฝักยาว ดีเอี๊ยะขมๆ หน่อย ต้นหอม ผักชี มะละกอ ถั่วแดง แตง ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักชี ตัดฟืน แบกฟืนไกลมาก ผักเขียว มะเขือเปราะ ถั่วแขก” เขียว กล่าว

เขียว ยังเล่าอีกว่า สาวม้งจะต้องทำงานตลอดวัน ส่วนมากจะเป็นการทำนาข้าว แต่เมื่อว่างเว้นจากกิจกรรมที่ว่านี้ พวกเธอต้องทำไร่ทำสวนต่อ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนเวลาประมาณ 5 โมงเย็น จึงจะกลับได้ เมื่อถึงบ้านในเวลาพลบค่ำ พวกเธอก็ต้องทำงานบ้านต่ออีก เช่นเดียวกับตอนเช้า ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมอาหารเย็นให้คนในบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม ปัดกวาดเช็ดถูบ้าน ซักตากผ้า ให้อาหารสัตว์ และอื่นๆ  ส่วนคนใดที่มีลูกน้อย ก็ต้องเลี้ยงไปทำงานไป “พอมีลูก จะเอาลูกไปเลี้ยงที่สวน คือเอาลูกแบกไว้ข้างหลัง แล้วก็ทำไร่ไปด้วยเลย วนเวียนอยู่กับงานสวนงานบ้าน”

เป็นภาพวาดสะท้อนชีวิตได้อย่างชัดเจนที่ว่า สาวม้งต้องเลี้ยงดูแลลูกน้อย ไปพร้อมกับการทำงานบ้านและงานสวนตั้งแต่เช้าตรู่จรดค่ำ

การทำงานทั้งในและนอกบ้าน เริ่มตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ แต่จะสิ้นสุดในตอนใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าสาวม้งจะจัดการสะสางภาระต่างๆ ได้สำเร็จแล้วหรือไม่ และจะหยุดได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อหมดงานที่จะต้องรับผิดชอบแล้วในแต่ละวัน ส่วนเรื่องวันหยุดที่ชัดเจนนั้นไม่เคยปรากฏ ขณะที่รายได้ที่ช่วยกันหามาได้ ครอบครัวฝ่ายสามีจะเก็บไว้ทั้งหมด นานๆ ครั้ง พวกเธอจึงจะส่งเงินกลับไปช่วยเหลือครอบครัวของตัวเองได้ แต่บางคนก็ไม่สามารถส่งเงินให้พ่อแม่ตัวเองได้ ถ้าครอบครัวฝ่ายชายไม่เอื้ออำนวย

“แต่งงานแล้ว แทบจะไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่ด้วยซ้ำ เหมือนตัดขาด กลายเป็นคนฝั่งบ้านสามี เรากลายเป็นคนอื่นแล้ว แต่บางครอบครัวก็ยอมให้ไปดูแลพ่อแม่ตัวเองได้ แล้วแต่พ่อแม่ของสามี ถ้าเขาไม่ให้ไป เราก็ไปไม่ได้ เพราะถ้าไป จะถูกมองว่าเป็นสะใภ้ไม่ดี ชอบออกข้างนอก ไม่อยู่บ้านดูแลครอบครัว” เขียว กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อย้ายไปอยู่กับสามี นอกจากจะต้องปฏิบัติหน้าที่ภรรยาแล้ว ยังต้องดูแลพ่อแม่ของสามีในฐานะลูกสะใภ้อีกด้วย ด้วยเหตุผลนี้ สังคมม้งจึงให้ความสำคัญกับลูกผู้ชาย เพราะเมื่อแต่งงานไป ลูกชายจะเป็นฝ่ายนำภรรยาเข้ามาในบ้านให้มาช่วยดูแลพ่อแม่ของตนเองได้ ขณะที่ลูกสาว เมื่อแต่งงานไป ก็จะต้องไปอยู่บ้านของสามี ทำให้ไม่สามารถอยู่ดูแลพ่อแม่ของตัวเองได้ ด้วยการปฏิบัติที่สืบต่อกันมานี้ ชาวม้งบางครอบครัวจึงต้องมีลูกถึง 9 คน จนได้ลูกชาย เพราะลูก 8 คนแรกเป็นผู้หญิงทั้งหมด

เขียว เล่าว่า สำหรับผู้ชายม้ง มีหน้าที่รับผิดชอบหลักคือการออกไปทำสวนทำไร่นอกบ้านเช่นเดียวกับผู้หญิง แต่งานในบ้านเขากลับไม่ต้องรับผิดชอบเท่าไหร่ และแม้ว่าบางครั้ง จะเห็นผู้ชายม้งบางคนช่วยเหลืองานบ้าน ก็เป็นเพราะเขาอาสาว่าจะช่วย ขณะที่ผู้หญิงไม่สิทธิเลือกว่าจะทำ ทั้งที่ งานในบ้านก็ควรที่จะต้องช่วยกัน เพราะผู้หญิงและผู้ชายต่างทำงานหารายได้นอกบ้านเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

นอกจากเรื่องทำงานหนัก เขียว ยังเล่าอีกว่า ที่ผู้หญิงม้งหลายคนไม่อาจเรียกร้องความเป็นธรรมได้แล้วนั้น บางคนยังถูกสามีต่อว่าด้วยคำพูดหยาบคายและทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บได้ ครั้นจะขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวของสามีก็ยาก หรือขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ของตัวเอง ก็ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพวกเขามองว่า เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้ว ร่างกายและจิตวิญญาณจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวของสามี เป็นสมาชิกใหม่ในบ้านของฝ่ายชาย แต่เป็นคนอื่นไปในครอบครัวแท้ๆ ของตัวเอง

“ผู้หญิงบางคนบอกให้พ่อแม่ช่วย แต่เขาไม่ช่วย เพราะคิดว่าลูกสาวกลายเป็นคนฝั่งโน้นไปแล้ว จะโดนทุบตีอย่างไรก็ต้องยอมรับ บางคนถึงขนาดไล่ลูกสาวตัวเองเลยว่าให้กลับไปอยู่กับผู้ชาย ถึงจะโดนทุบตีก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ยังมีที่ตาย” เขียว กล่าว [3] 

เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ชายม้งบางคนที่ประพฤติผิดประเวณี ด้วยการไปคบหากับผู้หญิงอื่นทั้งที่ตนเองก็แต่งงานแล้วนั้น เมื่อผู้หญิงนำเรื่องที่ว่านี้ไปขอร้องให้ผู้ใหญ่ช่วยตักเตือน แต่หลายครั้งคำตอบที่ได้กลับกลายเป็นการให้ท้ายฝ่ายชาย เช่น การเจ้าชู้เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย พร้อมบอกให้ผู้หญิงอดทนรอวันที่เขากลับตัวกลับใจมาเอง แต่ในกรณีที่ผู้หญิงนอกใจสามีหรือแสดงพฤติกรรมเจ้าชู้นั้น เธอจะถูกประจานให้เสียชื่อเสียง ซึ่ง เขียว มองก็ว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม เราทุกคนก็มีชีวิตเหมือนกัน ผู้หญิงจะโดนทำร้ายหรือถูกกดขี่อยู่ทางฝั่งเดียว มันไม่ยุติธรรม”

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้ใหญ่จะเปิดใจฟังคนรุ่นใหม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น้ำ มีความเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร จะเติบโตมาในสังคมแบบไหน หรือจะเป็นผู้หญิงม้งหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่คงมีความคิดความเห็นไม่แตกต่างกันมากนักกับประเด็นที่ว่า การแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต เสมือนพันธะที่เราต้องอยู่และใช้ชีวิตร่วมกับใครคนหนึ่ง และในเมื่อเรื่องที่ว่านี้มีความสำคัญ พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ก็ควรจะมีสิทธิอย่างเสรีในการเลือกคู่ครองของตนเอง ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน การตัดสินใจที่จะไม่แต่งงาน ก็ควรจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้เช่นกัน

เธอยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อการแต่งงานเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดก็คือ การบังคับให้แต่งงานแบบไม่ยินยอม เช่น การฉุดและการคลุมถุงชนที่เกิดขึ้นในบางครอบครัวของชาวม้ง ที่ชาวม้งรุ่นใหม่จำนวนมากก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเป็นเสียงด้วยกันแล้วว่า อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคม สิ่งนั้นก็ควรจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้วัฒนธรรมของชาวม้งสามารถส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ พร้อมอธิบายว่า ประเพณีการฉุดในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมสามารถมีต่อไปได้ แต่จะต้องเป็นการกระทำที่ไม่นำไปสู่การบังคับแต่งงาน

“เราไม่อยากใช้ชีวิตที่ผิดพลาด รักใครชอบใครเราอยากเลือกเอง ประเพณีฉุดยังมีต่อได้ แต่ถ้าเป็นการฉุดเพื่อให้แต่งงานแบบไม่เต็มใจ โดยที่เราไม่รู้จัก ไม่ได้รักเขา แล้วก็ต้องจำใจใช้ชีวิตกับเขา แบบนี้เราไม่ต้องการ” น้ำ กล่าว

ขณะเดียวกัน น้ำ ยังบอกอีกว่า สำหรับผู้หญิงม้งที่ก้าวเข้าสู่การมีชีวิตครอบครัวแล้ว ถ้าต้องการหย่าร้างจากสามี ก็ควรจะกระทำได้ และเมื่อสถานภาพของเธอเปลี่ยนจากการมีคู่สมรสมาสู่การเป็นแม่หม้ายนั้น พวกเธอก็ควรที่จะได้รับการเคารพจากคนรอบข้างในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มิควรแสดงอาการรังแครังคัดหรือตั้งแง่ว่าพวกเธอเป็นผู้หญิงไม่ดี และถึงแม้ปัจจุบัน สังคมม้งจะยอมรับแม่หม้ายมากขึ้น และอนุญาตให้พวกเธอกลับมาใช้ชีวิตกับพ่อแม่ของตนเองได้ ผ่านประเพณีรับลูกสาวกลับบ้าน [4] แต่อย่างไรก็ตาม สาวม้งอีกหลายคนก็ยังอยากให้สังคมเลิกตีตราเสียทีว่า แม่หม้ายเป็นคนไม่ดี ควรอยู่ห่างๆ และอย่าไปคบค้าสมาคมด้วยนัก

“ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ภาษาม้งจะใช้ว่า ผิดผี ไปแล้ว แต่ก็ยอมรับไม่ได้ เพราะถ้าวันหนึ่งเกิดขึ้นกับเรา พ่อกับแม่จะรับเรากลับบ้านไหม เรากลัว ก็ไม่อยากมีเรื่องราวแบบนี้” น้ำ กล่าว

นอกจากนี้ น้ำยังเล่าเพิ่มว่า ผู้ใหญ่ยังกำหนดให้หนุ่มสาวชาวม้งต้องแต่งงานกับคนที่ใช้แซ่ (นามสกุล) ต่างจากตนเอง เนื่องจากคนม้งเชื่อว่า คนที่มีแซ่เดียวกัน สืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน มีศักดิ์เป็นเครือญาติกันนั้น ก็ได้กลายมาเป็นปัญหาร่วมสมัยของชาวม้งในยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่า ชาวม้งทั่วโลกจะมีนับล้านคน แต่ในจำนวนที่ว่านี้ กลับมีแซ่ใช้ร่วมกันเพียง 18 แซ่ ซึ่งก็มีความเป็นได้พอสมควรที่ว่า หนุ่มสาวที่คบหากันจะต้องเลิกลากันไปก่อนที่จะได้แต่งงาน ถ้าหากว่าทั้งคู่ใช้แซ่เดียวกัน [5]

หนุ่มสาวชาวม้งออกมาตั้งคำถามและแสดงความอึดอัดใจผ่าน tiktok เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดคนแซ่เดียวกัน จึงไม่สามารถแต่งงานกันได้

น้ำเล่าว่า เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจชาวม้งว่า เพราะเหตุใดจึงต้องห้ามไม่ให้หนุ่มสาวม้งที่คบหากัน พัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแต่งงานได้ เนื่องจากใช้แซ่เดียวกัน เพราะ “เชื่อ” ว่าเป็นพี่น้องกัน แต่กลับอนุญาตให้ผู้ชายสามารถฉุดผู้หญิงและบังคับให้แต่งงานด้วยแบบไม่เต็มใจได้

“ก็ถามว่าทำไม พ่อก็บอกว่าถ้าเราแต่งงานกับแซ่เดียวกันไม่ได้ เพราะถือว่าแต่งกับพี่ชาย ซึ่งเราก็งงว่าแล้วจะไปเป็นพี่ชายได้ไง เพราะไม่ได้เกิดจากท้องเดียวกัน ไม่ใช่ญาติกัน อยู่คนละที่กัน ถามใครก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครตอบได้” น้ำ กล่าว

น้ำ ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า คนม้งรุ่นใหม่ได้ออกมาตั้งคำถามต่อเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นก่อนหน้ากำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถแสดงการต่อต้านหรือความไม่พอใจแบบตรงไปตรงมาได้ เพราะเกรงจะถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว ไม่เคารพผู้ใหญ่ เนื่องจากชาวม้งรุ่นใหม่ยังอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และสังคมรอบข้างของพวกเขา ที่ยังคงยึดถือและนำใช้หลักปฏิบัติที่ว่านี้อยู่ อีกทั้ง บางบ้านบางครอบครัว ยังห้ามปรามไม่ให้ลูกหลานในบ้านตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวงกว้าง เพราะจะทำให้คนภายนอกมีภาพจำต่อวัฒนธรรมของชาวม้งในทางเสียหาย

ขณะเดียวกัน เขียว ก็ให้ความเห็นว่า เพราะการแต่งงานและการมีชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ชาวม้งรุ่นใหม่จึงพากันเดินหน้าบอกเล่าถึงเรื่องราวที่อัดอั้นอยู่ในใจของพวกเขาต่อไป ในโอกาสที่เหมาะสมเท่าที่จะแสดงออกได้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนใจที่เกิดขึ้นกับพวกเขา อันเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นก่อนกำหนดไว้

“งานปีใหม่ม้ง งานประกวดธิดาดอย ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม สาวม้งจะใช้โอกาสเอาเรื่องพวกนี้ออกมาพูด เพราะมีผู้ใหญ่และเป็นงานใหญ่ หรือคนที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ก็จะเอาเรื่องนี้ไปพูด พูดเพื่อให้ผู้ใหญ่รับรู้ แต่ถ้าถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม มันก็แล้วแต่พื้นที่” เขียว กล่าว

เขียว ยังเล่าเพิ่มอีกว่า เหตุการณ์หนึ่งที่มีความสำคัญต่อชาวม้งก็คือ การจัดให้มีประเพณีรับลูกสาวกลับบ้าน ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถหย่าร้างกับสามีและกลายเป็นแม่หม้ายที่กลับมาใช้ชีวิตกลับพ่อแม่ของพวกเธอได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประเพณีที่ว่านี้ ก็ยังเป็นที่ยอมรับในบางพื้นที่ เนื่องจากผู้ใหญ่ส่วนมากยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก อีกทั้ง หนุ่มสาวชาวม้งก็ไม่กล้าออกมาพูด เพราะกลัวจะถูกต่อว่าว่าไม่เคารพประเพณีความเชื่อของตนเอง

“ผู้ใหญ่ชาวม้งที่เชียงใหม่ ออกมาต่อต้านพิธีกรรมฉุด และคืนสิทธิให้ผู้หญิง ด้วยพิธีต้อนรับลูกสาวกลับบ้าน ดีใจที่ผู้ใหญ่ตั้ง แต่มันยังไม่กระจาย มีแต่ที่เชียงใหม่ เช่นหมู่บ้านที่เราอยู่ เรื่องความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรค เพราะเดียวนี้มีเฟซบุ๊ก แต่ผู้ใหญ่ไม่สนใจจะเปลี่ยนแปลง เพราะผู้ชายมีสิทธิกว่า” เขียว กล่าว

เขียว อธิบายเพิ่มว่า ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในบางสังคมอาจมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถรับมือได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาอยู่ในสังคมที่บทบาทของผู้หญิงได้รับการยอมรับ หรือช่องว่างระหว่างหญิงชายไม่ได้ห่างเหินกันจนเกินไปนัก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีอีกหลายสังคมที่ยังปรากฏให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ ดังเช่นสังคมของชาวม้งในบางพื้นที่ ซึ่งเรื่องที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้หญิงม้งตัดสินใจหรือเสนอความคิดความเห็นได้น้อยกว่าผู้ชายม้ง แต่ยังทำให้พวกเธอสูญเสียอิสรภาพในการใช้ชีวิตอีกหลายด้านตามมา

“เราต้องการความเท่าเทียมทางเพศ เพราะถ้าไม่มีตรงนี้ ด้านอื่นๆ ก็ถูกกระทบไปด้วย เรื่องงานบ้าน การงาน ชีวิตก่อนแต่ง หลังแต่ง การเรียน ชีวิตส่วนตัว เพื่อน พ่อแม่ คือถ้าไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นสักจุดหนึ่ง ความไม่เท่าเทียมในส่วนอื่นก็จะตามๆ กันมา แล้วเรื่องเพศในสังคมม้งเป็นเรื่องใหญ่ มันกระทบไปทุกอย่างเลย” เขียว กล่าว

ทั้ง ฝน เขียว และน้ำ ต่างเห็นตรงกันว่า ถึงแม้นว่า ชาวม้งรุ่นใหม่อยากจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีม้งที่ส่งทอดสืบต่อกันมา แต่ก็ดูจะเป็นไปได้ยาก เพราะในเมื่อผู้ใหญ่ในสังคมยังเห็นว่าธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมา ก็ควรจะสืบต่อกันต่อไป ส่วนรุ่นพ่อแม่ที่แม้จะมีอายุลดน้อยลงมาหน่อย และดูเหมือนจะใกล้ชิดกับชาวม้งรุ่นใหม่มากกว่า แต่ก็กลับเห็นด้วยกับผู้เฒ่าผู้แก่ว่าอยากให้สืบต่อ เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ซึ่งพวกเขาก็เคยประสบและผ่านมาได้

เมื่อสังคมรอบข้างปิดรับ การออกมาพูดในสิ่งที่คิดของคนรุ่นใหม่ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น และจะยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ หากวันที่คนรุ่นก่อนจะเปิดใจฟังคนรุ่นใหม่ เดินทางมาไม่ถึงเสียที ทั้งที่เส้นทางที่ว่านี้ใกล้สุดแสนใกล้ เพียงใจต่อใจ เท่านั้น

หมายเหตุ: ขอขอบคุณสาวม้งรุ่นใหม่ ฝน เขียว และน้ำ (นามสมมติ) ที่ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์และความคับคล่องใจเกี่ยวกับการแต่งงานและชีวิตครอบครัวที่สาวม้งต้องเผชิญ ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ได้ขออนุญาตนำเรื่องราวและภาพถ่ายของทั้ง 3 ท่าน มาเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว โดยผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะสร้างความหม่นหมองให้แก่วัฒนธรรมของชาวม้งในด้านที่ดีงามแต่อย่างใด


[1] สาวม้งที่ถูกฉุดสามาดแสดงออกถึงความไม่ยินยอมได้ เช่น ติดต่อให้พ่อแม่ของตนเองมาเจรจากับครอบครัวของฝ่ายชายว่าขอไม่แต่งงาน หรือหลบหนีออกมาจากบ้านฝ่ายชายภายใน 3 วัน แต่อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่ว่านี้ก็เป็นไปได้ยาก เพราะฝ่ายชายอาจยึดโทรศัพท์เพื่อไม่ให้เธอสามารถติดต่อใครได้ และในกรณีที่พวกเธอจะหลบหนี ก็ไม่อาจทำได้ เพราะการฉุดบ่อยครั้งเกิดขึ้นข้ามพื้นที่ โดยที่ผู้หญิงไม่รู้ตัวว่าบ้านของผู้ชายที่เธอถูกฉุดมานี้ ตั้งอยู่ที่ใด ทั้งนี้ ถ้าสาวม้งคนใด ถูกกักอยู่ในบ้านของฝ่ายชายครบ 3 วัน พวกเธอก็จำเป็นต้องแต่งงานกับฝ่ายชายโดยปริยาย เพราะถือว่ามาใช้ชีวิตร่วมกับผู้ชายแล้ว หรือบางกรณี เพียงแต่การไปเที่ยวกับแฟน ก็ถูกบังคับให้แต่งงานแล้ว เพราะคนม้งเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ “ผิดผี” ถ้าไม่ยอมแต่งงาน คนในหมู่บ้านก็จะมองไม่ดี

[2] การหย่าร้างและอยู่ในสถานะแม่หม้าย เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ เพราะคนม้งเชื่อว่าเมื่อเราแต่งงานและย้ายไปอยู่กับครอบครัวของฝ่ายชายนั้น เท่ากับเราเป็นคนของฝ่ายชายแล้ว ถ้าเรากลับมาอยู่กับครอบครัวของตัวเองจะถูกมองว่า “ผิดผี” เป็นความผิดทางความเชื่อที่ว่า เมื่อแต่งงานแล้ว ผีที่คุ้มครองผู้หญิงจะเป็นผีของบ้านฝ่ายชาย ทำให้การหย่าร้างและกลับมาอยู่กับพ่อแม่ของตัวเองเป็นเรื่องยาก เพราะคนม้งบางพื้นที่เชื่อว่า แม่หม้ายนำมาหายนะมาสู่ครอบครัว เช่น ถ้าหมูตาย เขาก็จะตีความไปว่าเป็นเพราะแม่หม้ายมาอยู่ด้วย

[3] การไล่ให้ลูกสาวที่มาขอความช่วยเหลือกลับไปอยู่กับสามีเช่นเดิมของบางครอบครัวนั้น เพราะไม่อยากให้ลูกต้องหย่าร้างและกลายเป็นแม่หม้าย เนื่องจากสถานภาพที่ว่านี้ไม่ถูกยอมรับในสังคมม้ง ถึงขนาดที่บางครั้งถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน ให้ไปปลูกบ้านอยู่ตามลำพัง และถ้าเสียชีวิตก็ไม่มีใครรับเป็นญาติ

[4] การรับลูกสาวกลับบ้าน หรือพิธีผู่ มีขั้นตอนปฏิบัติคล้ายกับพิธีก่อนส่งตัวลูกสาวออกจากบ้านเพื่อไปแต่งงานกับสามี หรือพิธีตัดผี เมื่อลูกสาวแต่งงานไปแต่ไม่สามารถใช้ชีวิตครอบครัวได้ และต้องการกลับมาอยู่กับพ่อแม่ ทางครอบครัวก็จะต้องทำพิธีผู่ เพื่อสื่อสารให้บรรพบุรุษได้รับทราบว่า ลูกสาวจะกลับมาอยู่กับต้นตระกูลและครอบครัวแล้ว (พิธีผู่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ เพื่อช่วยให้แม่หม้ายที่ไม่สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวของตัวเองได้ หลังหย่าร้างกับสามี)

[5] สำหรับหนุ่มสาวม้งที่มีแซ่เดียวกัน และต้องการแต่งงานกันจริงๆ นั้น ทั้งคู่จะต้องตัดสินใจออกจากการใช้แซ่ หรือออกไปตั้งแซ่ขึ้นมาใหม่ แต่เงื่อนไขที่ว่านี้ ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ และถึงแม้ว่าบางคนจะตัดสินใจออกไป แต่สุดท้ายก็ต้องกลับเข้ามาสู่สังคมม้งเช่นเดิม ซึ่งก็มักจะมีปัญหาต่างๆ ตามมา ส่วนเรื่องที่ว่าจะแยกไปตั้งแซ่ใหม่ ก็ต้องถามว่าบุคคลที่จะตั้งแช่ใหม่นั้นว่ามีทุนทรัพย์และความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net