Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่โหดร้ายที่เกิดขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู จำเป็นที่จะต้องมีการสอบสวนและศึกษาอย่างจริงจัง เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึง “ความเกลียดชังต่อสังคม” ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในอนาคต 

“ความเกลียดชังต่อสังคม” เกิดขึ้น เพราะ ผู้ที่กระทำการจะรู้สึกอย่างรุนแรงมายาวนานระยะหนึ่งว่าตนเองได้รับความอยุติธรรมอย่างมาก และสังคมทั้งหมดก็เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเขา คาดเดาว่าเพราะความรู้สึกเช่นนี้ปะทุขึ้นมา จนทำให้ผู้ก่อเหตุสูญเสียสติทั้งหมดและตัดสินใจกระทำการอย่างไร้มนุษยธรรมต่อผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ในสังคมและเป็นผู้ที่อ่อนแอ (ดังที่มีข้อมูลบอกเล่าจากพี่สาวของเพื่อนผู้ก่อเหตุที่กล่าวทำนองว่าผู้ก่อเหตพูดว่าจะทำให้ดังกว่าที่โคราช ซึ่งก็เป็นการลงมือต่อผู้คนที่ไม่รู้ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยเช่นกัน ) กรณีการกระทำที่โหดร้ายเช่นนี้ ไม่สามารถตอบสรุปได้อย่างง่ายๆดังที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สรุปเชิงชี้นำเอาไว้

การทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้จำเป็นต้องสอบสวนในทุกประเด็นให้ลึกซึ้ง เพราะในขณะนี้ กรณีของฆาตกรในการฆาตกรรมหมู่ กำลังถูกผลักให้กลายเป็นเกิดขึ้นจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การเสพติดยาบ้าและความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุมีผลจนทำให้กลไกอำนาจรัฐถาโถมเข้าสู่กระแสนี้ด้วยการประกาศ “ ทำสงครามกับยาเสพติด” ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรและสอดคล้องไปกับอารมณ์ความรู้สึกของสังคม แต่หากไม่คิดกันให้ดีว่ามีเหตุปัจจัยอื่นหรือไม่ การประกาศสงครามกับยาเสพติดมีโอกาสที่จะกลายเป็นการยื่นอำนาจให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมแบบที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2540

ประเด็นที่สังคมควรจะตั้งคำถามและร่วมกันกดดันให้เกิดการสอบสวนและศึกษา ก็คือ ปัญหาการปฏิบัติงานของตำรวจทั้งหมดภายใต้วัฒนธรรมองค์กรซึ่งเชื่อมต่อมายังวัฒนธรรม “ โรงพัก” คืออะไร และก่อให้เกิดวิกฤติในกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับไหน อย่างไร กล่าวให้ง่าย ก็คือ การทำงานเป็นตำรวจในระบบความสัมพันธ์ในองค์กรที่ดำเนินมานั้นแหละก่อให้เกิดความตึงเครียดทวีสูงมากขึ้นอย่างไร 

ปัญหาที่ทำให้ต้องคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรม “โรงพัก” เป็นประเด็นสำคัญในกรณีโหดร้ายนี้ ได้แก่ คดีที่ทำให้ผู้ก่อเหตุต้องออกจากราขการตำรวจ เป็นคดีครอบครองยาเสพติด 1 เม็ด ( ย้ำ หนึ่งเม็ด) ซึ่งเป็นโทษที่เล็กน้อยมาก หากผู้ก่อเหตุมีความสัมพันธ์ที่ดีตามวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมโรงพัก ความผิดเช่นนี้ก็อาจจะไม่เป็นคดีความหนักหนาอะไร หรือ ก็ถูก “ เป่า” ไป แต่ที่กลับมาเป็นคดีจนทำให้ต้องออกจากราชการน่าจะเป็นเพราะผู้ก่อเหตุมีปัญหาในระบบความสัมพันธ์วัฒนธรรม “ โรงพัก” จนทำให้เกิดการบุกเข้าตรวจค้นห้อง ( ซึ่งก็น่าจะอยู่ในบริเวณโรงพัก ) และพบยาเสพติดหนึ่งเม็ด ความขัดแย้งใน “วัฒนธรรมโรงพัก”นี้น่าจะรุนแรง เพราะข้อมูลจากคนในพื้นที่ก็ระบุว่าเคยได้ยินผู้ก่อเหตุพูดทำนองว่าจะฆ่าทั้งโรงพัก แม้กระทั่งเมื่อผู้ก่อเหตุเสียชีวิต ก็มีคำถามสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งตั้งข้อสงสัยในการชัณสูตรศพผู้ก่อเหตุว่ามีลักษณะแปลกๆ เหมือนกับว่าไม่ใช่การฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยาและลูก ซึ่งน่าสะท้อนปมปัญหาในความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมในโรงพัก

เพื่อนร่วมรุ่นของผู้ก่อเหตุระบุว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนดีและไม่มีทีท่าว่าจะเกี่ยวกับยาเสพติด และการตรวจเลือดก็พบว่าไม่มีสารเสพติดในร่างกายอย่างน้อยภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งผู้บังคัญบัญชาบอกว่าต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง ( เพราะขัดแย้งกับการอธิบายของตนก่อนหน้า ) ต่อมาก็ได้โยงการอธิบายไปสู่การทะเลาะกับภรรยาว่าเป็นสาเหตหลักแทนเรื่องยาเสพติด ซึ่งทำให้สามารถที่จะเพิกเฉยต่อปัจจัยอื่นๆได้ง่ายขึ้น

สังคมต้องช่วยกันกดดันให้เกิดการสอบสวนและศึกษาให้ชัดเจนว่า “วัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมโรงพัก” ได้ทำให้เกิด”คนอย่างผู้ก่อเหตุ” นี้ได้อย่างไร ดังจะเห็นว่าไม่ใช่การก่อเหตุเช่นนี้เท่านั้น แต่อัตราการฆ่าตัวตายของตำรวจมีมากเป็นถึงสองเท่าของการฆ่าตัวตายของคนทั่วไป กลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มตำรวจชั้นประทวน ซึ่งอยู่ข้างล่างของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรในวัฒนธรรม “โรงพัก” ( การศึกษาการฆ่าตัวตายในตะวันตกพบว่าปัจจัยหลักประการสำคัญมาจากสภาพการทำงาน)

โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนตำแหน่งด้วยปัจจัยอื่นๆนอกเหนือระบบคุณธรรม ได้สร้างระบบ “วัฒนธรรมองค์กร/วัฒนธรรมโรงพัก” อย่างไร และมีผลต่อเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆอย่างไร และจะมีแนวทางในการปฏิรูปองค์กรสร้างวัฒนธรรมใหม่อย่างไร เป็นคำถามหลักของสังคม เพราะหากเราไม่ทำให้เกิดการสอบสวนและศึกษา “วัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมโรงพัก” ให้เข้าใจได้มากขึ้น จนอาจจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางการรปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรทั้งหมดแล้ว (การยอมรับลงความเห็นในกรณีนี้เพียงแค่ปัญหาส่วนตัวก็จะทำให้ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ) ก็เชื่อได้ว่าสังคมไทยก็จะได้เห็นหรือมีโอกาสที่จะมีการฆาตกรรมหมู่โดยคนในองค์กรต่อไป หรืออย่างน้อยก็จะพบการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ต่อไปอีก

ขอภาวนาให้การฆาตกรรมหมู่ที่โหดร้ายนี้ดลบันดาลให้เกิดกระแสของสังคมกดดันให้นำไปสู่การปฏิรูปองค์กรตำรวจด้วย
 
ชีวิตของผู้สูญเสียทั้งหมดจะมีคุณค่าอย่างยิ่งต่ออนาคตสังคมไทย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net