Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ทันทีที่ได้รับจากอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา ความเศร้าซึมได้ประทับในใจของผมหลังจากอ่านจบในครั้งนั้น และตัดสินใจว่าจะต้องเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเขียนได้ในช่วงนั้น เวลาผ่านไป ก็ยังระลึกอยู่ว่าอยากจะเขียน/อยากจะพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เร้นซ่อนอยู่ในหนังสือ เวลาผ่านไปหลายปี จึงได้กลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง และลองนำเสนอในความเรียงนี้

2.
“บ้านที่กลับไม่ได้“ มีชื่อรองว่า “รวมเรื่องสั้นมานุษยวิทยา” เรื่องสั้นทั้งหมดเป็นการเสนอ “ความรู้สึก”ของมนุษย์คนหนึ่งที่ได้มีโอกาสรับข้อมูลชีวิตของผู้คนที่เป็นคนไร้บ้านในประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้ข้อมูลมาจากสถานะของนักศึกษามานุษยวิทยา การเก็บข้อมูลชีวิตผู้คนย่อมทำให้ผู้เก็บพบกับ “ปมของความรู้สึก” ที่สำคัญและน่าสนใจอาจารย์บุญเลิศได้เลือก “ปมของความรู้สึก” ที่มีต่อข้อมูลที่เก็บมาได้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องสั้นแปดเรื่อง ส่วนท้ายสุด เป็นบทสัมภาษณ์อาจารย์บุญเลิศทางวิชาการเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของท่านที่ทำให้เข้าใจ “ปมของความรู้สึก” ดีขึ้น

เรื่องสั้นแปดเรื่องที่รวมเล่มนี้ เรื่องแรกจะแตกต่างจากเรื่องอื่นๆในประเด็นการเล่าเรื่อง ส่วนหกเรื่องต่อมาจะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นเรื่องเล่าชีวิตผู้คนที่เป็นคนไร้บ้านฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการเล่าโดยผ่านสายตาของ “บุน” หรืออาจารย์บุญเลิศเอง ส่วนเรื่องที่แปดชื่อ “ คำสัญญา” เป็นเรื่องเล่าผ่านความรู้สึกของหนูน้อยวิคตอเรียที่เป็นลูกสาวของคนไร้บ้านที่ได้เข้าเล่นสวนสนุกเพราะ “น้าบุน” เป็นคนพาไป

เรื่องแรก “ผู้ที่ยังไม่ได้กลับบ้าน” เป็นเสมือนการบรรยายถึงความรู้สึกซ้อนทับกันสองมิติของ “บุน” นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ใช้/เรียนรู้ชีวิตกับคนไร้บ้านในต่างแดนมาในช่วงเวลากว่าหนึ่งปี และเมื่อจะถึงเวลาที่จะต้องกลับบ้านที่ห่างมานาน “บุน” รู้สึกถึงความหมายที่แตกต่างของความรู้สึกของตนที่กำลังจะได้กลับบ้านกับความรู้สึกที่มองเพื่อนคนไร้บ้านว่าคงจะลำบากในการกลับบ้าน “บุน” บรรยายความรู้สึกนี้ว่า

“ ถนนสายที่บุนกำลังเดิน ไม่ใช่แค่ถนนที่พาบุนมุ่งหน้ากลับไปห้องเช่าที่เขาเช่าไว้เก็บข้าวของเท่านั้น ยังเป็นถนนสายที่พาเขากลับบ้าน การโลดแล่นบน ถนนชีวิตข้างถนนของเขามีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด แต่ถนนของคนไร้บ้าน ดูเหมือนยิ่งนานวันพวกเขายิ่งห่างไกลจากบ้านที่ตัวเองจากมามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นถนนที่มีเส้นทางวกวน เหมือนเขาวงกต ไม่มีทางโค้งหรือทางแยกใดที่จะพาชีวิต ของคนไร้บ้านได้หวนกลับบ้าน”

“แด่ผู้ที่ยังไม่ได้กลับบ้าน” เป็นเสมือนกับการขมวดปมอารมณ์ทั้งหมดของอาจารย์บุญเลิศทีมีต่อชีวิตของเพื่อน พี่น้อง คนไร้บ้านที่เขาคลุกคลีอยู่แรมปี และเป็นหัวใจของการดำเนินเรื่องสั้นเรื่องต่อๆ ไป

เรื่อง “ลอรานซ์หายไป” อาจารย์บุญเลิศได้เลือกเรื่องนี้มาเป็นเรื่องที่สอง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนระหว่างความจริงของคนไร้บ้านชื่อ “ลารานซ์” กับความเชื่อในธรรมชาติของคนไร้บ้านว่าไร้สัจจะ โดยบุนเล่าถึงการมองลอรานซ์ด้วยความรู้สึกที่ว่าเขาดูดี ดูสะอาดสะอ้าน แปลกไปจากคนไร้บ้านคนอื่นๆ และเมื่อเขามาช่วยบุนในการหั่นผักเพื่อทำอาหาร บุนยิ่งรู้สึกดีกับลอรานซ์มากขึ้น ต่อมาก็ได้รับรู้ถึงประวัติของลอรานซ์ว่าการที่เขาต้องออกจากบ้านมาเป็นคนไร้บ้านก็เพราะลอรานซ์เป็นเพศทางเลือก จึงทำให้เกิดความตึงเครียดในครอบครัว จนเขารู้สึกว่า “ฉันเป็นแกะดำของครอบครัว”

ความรู้สึกว่าคนในครอบครัวไม่มีใครรักเขาเลยผลักให้ลอรานซ์เดินทางชีวิตออกนอกกรอบโดยเฉพาะการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงรักและผูกพันธ์กับแม่มาก ซึ่งเมื่อมาเป็นคนไร้บ้าน ความหวังของลอรานซ์ก็เป็นการทำงานหาเงินเพื่อซื้อยาแก้โรคหอบหืดให้แม่ เมื่อลอรานซ์คิดจะขายบุหรี่แบบแบ่งขาย ซึ่งมีกำไรมากพอสมควรสำหรับการค้านอกระบบของฟิลิปปินส์ บุนจึงตัดสินใจให้เขายืมเงินเพื่อเป็นต้นทุนซื้อบุหรี่มาแบ่งขาย แต่หลังจากนั้น ลอรานซ์ก็หายไปจากที่ที่เคยอยู่ร่วมกับบูน
.
แม้ว่าบุนรำพึงถึงความไม่น่าไว้วางใจของคนไร้บ้านและคิดถึงลอรานซ์ แต่เมื่อลอรานซ์กลับมาเพื่อคืนเงินแก่เขาและบอกว่าเขาสามารถซื้อยาให้แม่ได้ด้วย บุนสะท้อนใจอย่างมาก กล่าวคำขอโทษลอรานซ์อย่างตะกุกตะกักและพูดในใจอีกว่า “ผมขอโทษ”

“รามิลก็หายไป” อาจารย์บุญเลิศเลือกเขียนเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อจาก “ลอรานซ์หายไป” เหมือนกับตั้งใจจะไม่ให้ผู้อ่านหลุดไปติดอยู่กับภาพความซื่อสัตย์ของลอรานซ์ที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ รามิลเป็นคนล่ำสั่น แข็งแรงทำงานแบกของ (รีแบ็ก ; re-bag ) ที่จัดแบ่งจากล๊อดใหญ่เพื่อส่งให้แก่ร้านค้าต่างๆ ทั่วไป บุนรู้สึกสนิทกับรามิล เพราะรามิลแสดงน้ำใจต่อเขาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะช่วยการหั่นผัก หรือขนของที่หนักเกินกว่ากำลังของบูน ขณะเดียวกัน บุนสังเกตว่ารามิลมีความเป็นมิตรที่ดีต่อคนไร้บ้านซึ่งแตกต่างไปจากอาสาสมัครที่มาช่วยทำหรือแจกอาหารให้คนไร้บ้าน และเมื่อรับรู้เรื่องราวของชีวิตที่ผ่านมาของรามิล ยิ่งทำให้บุนรู้สึกนับถือรามิลมากขึ้น

รามิลปากกัดตีนถีบมาโดยตลอดตั้งแต่เล็ก เพราะถูกพ่อที่เจ้าชู้มาก ทิ้งแม่แล้วยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น ต่อมาพ่อบุญธรรมเสียชีวิต แม่บุญธรรมติดเหล้า รามิลจึงเริ่มเป็นภาระแก่ญาติบุญธรรมและถูกขอให้ออกจากโรงเรียน แต่รามิลพยายามสู้ชีวิตด้วยการทำงานในตลาดเพื่อหาเงินส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือจนจบประถมต้น จากนั้นก็ทำงานสารพัดอย่างพร้อมกับเลี้ยงดูแม่บุญธรรมที่ติดเหล้าไปด้วย จวบจนแม่บุญธรรมเสียชีวิต เขาก็เข้ามาหางานทำในเมืองมนิลา รามิลทำงานแบกของอย่างขยันขันแข็ง จนนายจ้างเห็นความสามารถจึงให้เขามีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคนงาน ซึ่งจะต้องดูแลลูกน้องเก้าคนซึ่งจะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น แต่เมื่องานเสร็จ นายจ้างได้ให้เงินค่าจ้างทั้งหมดแก่รามิลเพื่อให้จำไปจ่ายแก่ลูกน้อง แต่รามิลกลับหายตัวไปพร้อมเงิน ลูกน้องจึงมาหาที่โครงการแจกอาหารเพื่อทวงถามเงินเพราะพวกเขาไม่มีเงินแม้จะกินข้าว

รันดีอยากไปมินดาเนา ทันทีที่รู้ข่าวว่ารันดี คนไร้บ้าน ที่บุนรู้นิสัยค่อนข้างดี จะสมัครไปทำงานในโครงการหางานให้คนไร้บ้าน บุนไม่ค่อยสบายใจและอยากจะไปบอกแก่หน่วยงานที่รับสมัครคนไร้บ้านไปทำงานก่อสร้างที่มินตาเนาว่ารันดีไม่เหมาะสมเลย เพราะประวัติของรันดีไม่เหมาะสมกับงานที่จะไปทำ รันดีเป็นคนหัวแข็งไม่ยอมคน จึงมีเรื่องมีราวกับผู้คนรอบข้าง ต่อมาก็ติดคุก เมื่อออกมาก็ทำงานขับรถจักรยานรับจ้างส่งคนไปยังป้ายรถเมล์ ซึ่งก็ไม่ทำงานตรงไปตรงมา กลับนำเอาจักรยานมาเป็นของตัวเอง และใช้มันในการเก็บของเก่า การดิ้นรนในการดำเนินชีวิตของคนเคยผ่านคุกได้นำเขาเข้าไปสัมพันธ์กับเครือข่ายนักการเมืองและต่อมาก็เป็นคนช่วยในการหาคนคะแนนเสียงด้วยการนำคนไร้บ้านไปรับบัตรสถานะที่จะใช้ลงคะแนนเลือกตั้งได้ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้รันดีต้องการที่จะหนีไปให้ไกลถึงมินดาเนา

ความต้องการเดินทางไกลของรันดี เป็นคนละเรื่องกับลอรานซ์ อาจะคล้ายคลึงกับรามิลอยู่บ้าง กล่าวคือ ความต้องการหายไปของรันดีเกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปหักหลังนักการเมืองในการหาคนไร้บ้านให้สวมสถานะพลเรือนไปเลือกตั้งแต่กลับให้ไปเลือกคนอื่นที่ไม่ใช่คนที่รามิลรับเงินค่าจ้างมา นักการเมืองคนนั้นเริ่มจะหาทางแก้แค้น รันดีจึงต้องทำให้เขาหายไปด้วยการไปทำงานที่มินดาเนา

ริคกี้ไม่อยากไปไหน ริดกี้มีงานทำประจำ เป็นคนงานก่อสร้าง แต่ยังคงแวะเวียนมาที่สวนลูเนต้าแทบทุกอาทิตย์ ริคกี้เป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนๆเสมอ และเคยช่วยบุนให้เอากระดาษรองนั่งไปขายก่อนและไม่ยอมรับกำไรที่บุนคืนให้ ความหลังฝังใจที่ทำให้ริคกี้ไม่ยอมไปจากสวนและเพื่อนคนไร้บ้านเปิดเผยหลังจากที่มีแม่และลูกชายเด็กเล็กเข้ามาร่วมอยู่กับคนไร้บ้าน ริคกี้ไม่ได้แสดงความสนใจในแม่ที่เป็นสาวสวยเหมือนเพื่อนคนไร้บ้านผู้ชายคนอื่น หากแต่สนใจและดูแลเล่นหัวกับลูกชายของแม่อย่างสนิทสนมรวมไปถึงซื้อของเล่นที่มีราคาแพงสำหรับคนไร้บ้านมาให้เด็ก

วันหนึ่งเมือแม่ลูกหายไป ริคกี้แสดงความเป็นห่วงเด็กน้อยคนนั้นอย่างชัดเจน และสุดท้านก็ได้บอกเล่าให้บุนและเพื่อนรู้ว่าเภรรยาของเขาพาลูกหนีไปจากเขา หนีไปจากสวนลูเนต้า ในวันนั้น เขาพยายามจะหาภรรยาและลูกอย่างสุดชีวิตแต่ไร้เงาของทั้งสองคน ริดกี้คงประเมินว่าภรรยาของเขาคงมีชีวิตที่ไปได้ไม่ไกลจากสวนจึงทำให้เขายังแวะเวียนมาที่สวนตลอด บุนมองเห็นและสรุปได้ว่าที่ริคกี้ไม่ไปจากสวนก็เพราะความเจ็บปวดรวดร้าวของริคกี้ที่ถูกเมียพาลูกหนี ทำให้เขายังผูกติดกับสวนสาธารณะที่เคยอยู่สามคนพ่อแม่ลูก และลึกลงไปก็เป็น “ความหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้เจอลูก…เขาจะกลับมาสวนลูเนต้า ด้วยความหวัง…ว่าเมียเขาอาจจะหอบลูกกลับมาที่นี่”

มาร์ลีนมีคนคอย น่าสนใจมากที่อาจารย์บุญเลิศเลือกเขียนเรื่องนี้ต่อจากเรื่อง ริคกี้ไม่อยากไปไหน เหมือนกับอยากจะเน้นให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความผูกพันทางสายเลือดที่มีความหมายต่อผู้คนแม้ว่าจะอยู่ในสถานะคนไร้บ้านก็ตาม ตัวเอกของเรื่องคือ มาร์ลีนซึ่งเป็นผู้ทีมีลักษณะเป็นทอมบอย และเมื่อสนิทสนมกับบูนมากพอ บูนก็ถามว่าตกลงเธอเป็นผู้หญิงหรือทอมบอยกันแน่ ต่อมาบุนรบเร้าให้มาร์ลีนพาไปงานเฟียตต้า (งานฉลองนักบุญประจำโบสถ์) ที่บ้านของเธอแทนการไปงานเฟียสต้าที่บ้านเพื่อนที่เธอเป็นคนชวนบุนไป มาร์ลีนขัดบุนไม่ได้จึงต้องพาไป แต่เมื่อไปถึงบ้านญาติจริงๆกลับไม่ได้การต้อนรับที่เหมาะสม อาจารย์บุญเลิศเขียนถึงคำบ่นว่าของมาร์ลีนหลายครั้งถึงการที่เธอไม่อยากมา แต่บูนขอให้เธอพามาด้วยคำพูดว่า “เพราะมึงแท้ๆ ที่อยากให้กูพามาที่นี่ กูไม่อยากมาเลย เห็นรึยังว่าเป็นยังไง”

แต่การมาที่ที่ครั้งหนึ่งเป็นบ้านของเธอเมื่อประกอบกับความรู้สึกที่คับแค้นกับการไม่ได้รับการยอมรับกลับเป็นการกระตุ้นให้มาร์ลีนพาบุนไปยังอีกบ้านหนึ่งที่อยู่ในย่านชุมชนแออัดที่มีสภาพแย่กว่าเดิม เพื่อพาไปพบกับ “ชีวิต” ที่สูญหายไปของมาร์ลิน เธอพาบุนไปยังบ้านมานานายโรซี่ ซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงดูลูกสาวของเธอทั้งๆที่ไม่ได้เป็นญาติหรือเกี่ยวดองอะไรกันเมื่อสิบแปดปีก่อน นานายโรซี่ต้อนรับมาร์ลีนอย่างมีหัวใจและเผื่อแผ่มายังบูนด้วย เธอเล่าเรื่องลูกสาวให้มาร์ลีนฟัง จนกระทั่งลูกสาวของมาร์ลีนกลับจากทำงานมาถึงบ้าน นานานโรซี่จึงบอกลูกสาวเธอว่า “แม่ของแกมาหา” ลูกสาวมาร์ลีนเงียบงันไป หลังจากนั้นไม่นานก็พูดคำว่า “ แม่” พร้อมสะอื้นร่ำไห้ เมื่อทั้งหมดลาจากกัน มาร์ลีนได้ส่งโทรศัพท์ที่มีข้อความจากลูกสาวให้บูนอ่าน

“แม่ หนูดีใจที่สุดที่วันนี้ได้เจอแม่ หนูไม่เคยคิดต่อว่าแม่เลยสักครั้ง แม่ทิ้งหนูไป หนูมีแต่สวดอ้อนวอนพระเจ้าขอให้หนูได้เจอหน้าแม่ ขอให้แม่ดูแลตัวเองดีๆ นะ ที่ข้างถนนนั้นอันตราย มาหาหนูอีกนะ หนูรักแม่ “

อาจารย์บุญเลิศปิดท้ายเรื่องด้วยการเขียนว่า “ถึงตอนนี้ไม่สำคัญแล้วว่า มาร์ลีนจะเป็นอะไร สิ่งสำคัญ คือ มาร์ลีนเป็นแม่” เหมือนกับตั้งใจจะให้ผู้อ่านเห็นถึงสายสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงการรอคอยของคนที่รอเราอยู่

หลังพิงของโจเซฟ หลังจากที่คนไร้บ้านรู้ข่าวว่าโจเซฟพาบูนไปบ้านลูกสาวของเขา หลายคนก็ถามบูนว่าไปบ้านลูกสาวโจเซฟแล้วเป็นอย่างไรบ้าง บุนซึ่งคงอยากจะลืมเรื่องราวนั้นจึงได้หวนนึกถึงการไปหาลูกสาวของโจเซฟขึ้นมา บุนให้ภาพของโจเซฟที่เป็นช่างซ่อมร่มที่ชมชอบการดื่มสุรา และเป็นคนที่มีน้ำใจต่อผู้ใกล้ชิด โจเซฟมักจะคุยให้เพื่อนๆ ฟังเสนอหลังจากกลับไปเยี่ยมลูกสาวมาว่าลูกสาวขอร้องให้เขากลับไปอยู่ด้วยกันที่บ้าน ไม่อยากให้มาอยู่เป็นคนไร้บ้าน บุนได้ฟังจึงสนใจและขอติดไปเยี่ยมลูกสาวโจเซฟด้วย แต่โจเซฟอิดออดและตอบว่าขอคิดดูก่อน ซึ่งบุนได้สังเกตในแววตาของโจเซฟพบว่ามีแววโศกอยู่ลึกๆ แม้มีรอยยิ้มก็เป็นรอยยิ้มที่แต้มด้วยความรู้สึกหม่นๆ

เมื่อโจเซฟตัดสินใจพาบุนไปหาลูกสาวสองคน การไปบ้านลูกสาวคนแรกนั้นมีความอึดอัดพอสมควรเพราะลูกสาวของโจเซฟเป็นเพียงสะใภ้ที่เข้าอาศัยกับญาติทางสามี เมื่อบุนถามว่าไม่ดื่มเหล้าหรือโจเซฟจึงปฏิเสธที่จะดื่มเหล้าที่บ้านนี้ หลังจากนั้นโจเซฟพาบุนไปบ้านลูกสาวคนที่สองซึ่งโจเซฟผ่อนคลายขึ้นและเริ่มดื่มเหล้าพร้อมกับเล่นกันหลาน แต่บรรยากาศเริ่มตึงเครียดเมื่อใกล้ถึงเวลาที่สามีของลูกสาวกำลังจะกลับจากที่ทำงาน ลูกสาวเริ่มรบเร้าให้พ่อและบุนกลับไปก่อนที่สามีเธอจะกลับถึงบ้านเพราะเกรงว่าสามีจะว่าเธอว่าเอาเงินไปซื้อเหล้าให้พ่อกิน และเริ่มผลักดันให้บูนพาโจเซฟกลับสวนลูเนต้า

หลังพิงของโจเซฟคือความพยายามจะบอกกับตัวเองและคนอื่นๆว่า “ลูกสาวฉันมีบ้าน และอยากให้ฉันอยู่ด้วย ฉันอยากจะอยู่กับลูกสาวเมื่อไรก็ได้” อย่างน้อย ความรู้สึกเช่นนี้ได้หล่อเลี้ยงโจเซฟมาโดยตลอด จึงทำให้ในตอนแรกนั้น บุนไม่สามารถตอบคำถามของเพื่อนที่ว่าบ้านลูกสาวโจเซฟเป็นอย่างไร เพราะบุนคงไม่อยากไปกระทบหลังพิงของโจเซฟ

จำใจจาก ในวันขึ้นปีใหม่ รัฟเพื่อนสนิทของบุนได้ชวนบุนไปเที่ยวบ้านของเขาที่อยู่ไกลออกไป รัฟสนิทกับบุนในระดับที่นอนเอาหัวชนกันที่ข้างถนน ซึ่งคนที่นอนหัวชนกันได้ต้องไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะกระเป๋าที่ใช้หนุนหัวก็อยู่ติดกัน รัฟท้าทายความคิดของคนไร้บ้านในฟิลิปปินส์ที่มักจะพูดว่าอยู่ที่นี่ลำบากแต่มีความสุข ด้วยการบอกกับบูนว่าเขาทุกข์แสนสาหัส เขาเคยอยู่บ้าน เคยเล่นกับหลาน คิดถึงหลาน แต่กลับบ้านไม่ได้ รัฟเคยติดยา น้องสาวที่ไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับบ้านเคยส่งเงินมาให้เขาเข้าสถานบำบัดการติดยา แต่เมื่อเขากลับมาอยู่บ้าน เขาก็หวนกลับมาติดยาอีกทำให้พี่น้องโดยเฉพาะน้องสาวที่ทำงานต่างประเทศเสียใจ ในที่สุด เขาก็ตัดสินใจออกจากบ้านมาอยู่ที่ตึกแถวแถวสวนลูเนต้า

บรรยากาศของการดื่มฉลองปีใหม่ระหว่างโจเซฟและบุนหน้าบ้านน้องสาวเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะเปิดเหล้าพื้นเมืองถึงสองขวด แม้เมื่อเพื่อนของโจเซฟจะมาชวนให้เขาไปเสพยาด้วยกัน เขาก็ปฏิเสธ ทั้งสองคนดื่มกินจนบุนไม่รู้ว่าตนเองหลับไปตอนไหน เมื่อตื่นขึ้นโจเซฟก็ชวนนอนค้างคืนที่บ้านน้องสาวและปลุกเขาสวนกับลูกเนต้าในตอนเช้ามืดเพื่อหลบเลี่ยงการจราจร บุนแปลกใจที่ทำไมโจเซฟไม่ยอมอยู่ที่บ้านทั้งที่น้องสาวก็ยินดีที่จะให้อยู่ด้วย โจเซฟตอบบูนว่าหากเขาอยู่บ้าน เขาก็คงกลับไปเสพยาเสพติดอีก เพราะแถวบ้านนั้นเต็มไปด้วยยาเสพติด การจำใจจากของโจเซฟ จึงเป็นการจากเพื่อที่จะได้รักษาน้ำใจของน้องสาวและทุกคนในครอบครัวที่ไม่อยากให้เขาติดยา เป็นการจำใจจากทั้งๆ ที่เขาก็อยากจะอยู่ที่บ้าน

คำสัญญา เป็นเรื่องสั้นที่ไม่เดินในแนวทางเรื่องข้างต้น อาจารย์บุญเลิศเลือกให้วิคตอเรีย ลูกสาวของวิคเตอร์คนไร้บ้านที่ประสพอุบัติเหตุจนเดินเหินลำบากอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องแทนบุน วิคตอเรียได้เล่าเรื่องชีวิตของครอบครัวเธออย่างละเอียด พ่อเป็นคนงานก่อสร้าง แม่เป็นโสเภณี มีน้องสาวอีกหนึ่งคนชื่อวิเวียน ซึ่งก่อปัญหาขโมยเงินในออฟฟิศของหมู่บ้าน พ่อเธอเอามีดไปขู่เพื่อให้ปล่อยวิเวียน และต้องหลบหนีมามนิลา ส่วนแม่เธอนั้น ทะเลาะกับพ่อแล้วหนีจากพ่อและเธอหลังจากมีลูกวิเวียนและตั้งท้องลูกคนที่สาม ซึ่งเธอก็ไม่เคยพบน้องคนที่สาม ส่วนแม่ก็นานๆ พบที่สวนสาธารณะบ้าง

วิคตอเรียเล่าถึงความสนิทสนมกับน้าบุนที่เริ่มจากน้าบุนแบ่งข้าวให้เธอ น้องและพ่อไว้กินในช่วงแรกๆที่พ่อเธอมาอยู่ที่สวนลูเนต้าและเดินเหินไม่สะดวก จากนั้น การแบ่งปันอาหารระหว่างกันก็ได้ถักสานความสัมพันธ์ให้แนบแน่นกันมากขึ้น บุนยังได้ออกเงินค่าเดินทางให้พ่อ วิคตอเรีย ร่วมเดินทางไปหาน้องวิเวียนที่บ้านพักเด็กกำพร้าที่เมืองเกซอนซิตี้ น้าบุนก็อยากให้เธอไปอยู่ที่เดียวกับวิเวียนเพื่อจะได้เรียนหนังสือจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าอยู่ข้างถนน แต่เธอยังไม่ตัดสินใจเพราะเป็นห่วงพ่อที่จะต้องอยู่คนเดียว ด้วยความสนิทสนมเมื่อเธอบอกน้าบูนว่าอยากจะเข้าไปเล่นที่สนามเด็กเล่นในสวนริซัล ซึ่งต้องเสียเงินค่าเข้า น้าบุนจึงสัญญาว่าในวันรุ่งขึ้นจะพาเธอเข้าสนามเด็กเล่น

เมื่อเข้าเล่นสนามเด็กเล่นแล้ว วิคตอเรียก็รู้ว่าน้าบุนนั้นกำลังจะกลับบ้าน เธอไม่อยากให้น้าบุนกลับ แต่ก็ขอเพียงให้น้าบุนสัญญาว่าจะมาหาเธออีก พร้อมพูดถึงเรื่องที่เธอยังไม่ตัดสินใจด้วยว่า “ถ้าหนูไปอยู่บ้านเด็กแล้ว น้าบุนจะไปเยี่ยมหนูเหมือนที่ไปเยี่ยมวิเวียนหรือเปล่า” และขอคำสัญญาจากน้าบูนว่า “น้าสัญญากับหนูซิว่า น้าจะกลับมา น้าจะไปเยี่ยมหนูที่บ้านเด็ก” แต่น้าบุนไม่ตอบเธอ น้าบุนกลับเอามือลูบหัวเธอ เธอไม่อยากให้ลูบหัวเธออีก อยากจะปัดมือออก แต่ “ไม่รู้ทำไม หนูกลับซบหน้าลงที่ตักน้าบุนแทน”

คำสัญญา เป็นเรื่องปิดท้ายที่เหมาะสม อาจารย์บุญเลิศได้บอกกับชีวิตของผู้คนนั้นมีเงื่อนไขมากมาย แม้ว่าคำสัญญาก็ย่อมที่ไม่สามารถจะให้ได้อย่างไม่มองเงื่อนไขความเป็นจริง

3.
เรื่องสั้นทั้งหมดใน “บ้านที่กลับไม่ได้” สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความตึงเครียดและความพยายามสลายความตึงเครียดในชีวิตของผู้ที่ถูกโครงสร้างสังคมกดทับอยู่ “บ้าน” ยังคงมีความหมายอย่างลึกซึ้งสำหรับมนุษย์ แต่เงื่อนไขทางโครงสร้างทำให้การตัดสินใจเพื่อที่จะรักษาตัวตน รักษาความหมายของชีวิต ของผู้คนจึงดำเนินไปในหลายรูปแบบหลายลักษณะ ที่จะต้องอยู่ห่างไกลจาก “บ้าน” ที่ตนโหยหา

“บ้าน” ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ทางกายภาพ หากแต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกแฝงฝังไว้อย่างลึกซึ้ง ความรู้สึกปีติของลอรานซ์ที่ได้หาเงินไปซื้อยาให้แม่แม้ตนเองจะถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากพี่น้อง ริคกี้ที่ยังคงรู้สึกเจ็บปวดโหยหากับลูกของเขาและพื้นที่สวนลูเนต้าที่เสมือนกับบ้านของเขาสำหรับลี้ภัยทางอารมณ์ มาร์ลีนกับการรื้อคืนความรู้สึกของความเป็นแม่กับความรู้สึกทีดีที่มีต่อนานายโรซี่ บ้านของลูกสาวที่โจเซฟร่ำพันถึงจึงเป็นความรู้สึกถึงความสัมพันธ์ชุดหนึ่งที่ช่วยพยุงหลังของเขาให้ยืนตรงอยู่ได้

“บ้าน” จึงไม่ใช่แค่ “บ้าน” หากแต่เป็นความหมายของความสัมพันธ์ที่ให้ “ความหมาย” ต่อจิตใจของผู้คน เรื่องสั้นที่อาจารย์บุญเลิศได้บรรจงเขียนขึ้น และเรียงลำดับในแต่ละเรื่องได้สอดคล้องกัน ได้ทำให้มองเห็นถึงความหมายของ “บ้าน” ที่จรรโลงความรู้สึกของคนให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้

อาจารย์บุญเลิศ ได้ทำให้เห็นถึงการ “ต่อสู้/อยู่ร่วมกับชีวิต” ของผู้ที่ถูกโครงสร้างสังคมกดทับอย่างหนัก ด้วยการสร้างความรู้สึกที่ช่วยหล่อเลี้ยงความแห้งผากของความรู้สึกแห่งชีวิต การสร้างความรู้สึกที่ว่า “ชีวิตที่นี่ลำบาก แต่ก็มีความสุข” รวมทั้งการที่จะสามารถรู้สึก “สุข” ได้กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับมา เช่น ขนมหวาน ก็เพียงพอหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ภายใต้การกดทับได้อย่างพอทน ขณะเดียวกัน ชีวิตที่ถูกกดทับก็ไม่ได้สยบยอมอย่างสิ้นเชิง การแสวงหาทางออกเล็กๆน้อยตามรูโหว่ของระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ด้วยการทำงานในระบบที่ไม่เป็นทางการ/ นอกระบบทุกอย่างก็พอจะช่วยพยุงชีวิตผู้คนได้บ้าง เรื่องสั้นทั้งหมดทำให้เห็นว่าการสร้างการทำงานนอกระบบเป็นหนทางเดียวของคนไร้บ้านที่ไร้ทั้งโอกาสและทางเลือกของชีวิต

อาจารย์บุญเลิศได้เลือกชื่อเรื่องสั้นทั้งหมดที่สัมพันธ์อยู่การเคลื่อนหรือไม่เคลื่อนย้าย เพื่อแสดงให้ผู้อ่าน “รู้สึก” ถึงชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน/เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ไม่ว่าการเคลื่อนนั้นจะเกิดจากอะไร และจะส่งผลอย่างไร เรื่อง แด่ผู้ที่ยังไม่ได้กลับบ้านสะท้อนการเคลื่อนย้ายชีวิตสองชุด ระหว่างบุนที่จะเดินทางกลับไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น กับการยังหาทางกลับบ้านไม่ได้ของคนไร้บ้าน การหายไปของลอรานซ์ รามิล และความต้องการจะหายไปของรันดี้ สะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัดของทางเลือกของชีวิตที่อาจจะจำเป็นที่จะต้อง “หายไป” โจเซฟจำเป็นที่จะต้องอยู่ที่สวนลูเนต้าต่อไปแต่ก็จะไปเยี่ยมลูกสาวได้บ้างในบางจังหวะเวลา มาร์ลีนก็คงเหมือนกับโจเซฟที่ยังต้องติดอยู่ที่สวนลูเนต้า หากแต่หัวใจและความรู้สึกได้เคลื่อนเข้าสู่การรื้อฟื้นความรู้สึกของเป็นแม่ไปเสียแล้ว

4.
“บ้านที่กลับไม่ได้” จึงเป็นรวมเรื่องสั้นที่แสดงให้เห็นส่วนที่ “ลึกลงไปในความรู้สึกของชีวิต” ชีวิตต้องมีความหมายไม่ว่าจะเป็นชีวิตของใคร ชนชั้นใด และความหมายของชีวิตย่อมสัมพันธ์กับความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างแนบแน่น หากระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแปรเปลี่ยนไป ความหมายของชีวิตก็ย่อมแปรผันตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากกลับมามองสังคมไทย ปรากฏการณ์ “บ้านที่กลับไม่ได้” ขยายตัวไปไม่น้อยกว่าสังคมฟิลิปปินส์แน่ๆ ความเหินห่างของครอบครัวไทยปรากฏชัดเจนขึ้นมาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบมิติแห่ง “ความมั่นคง” ของความรู้สึกของผู้คน อาจจะพบว่าความเคร่งศาสนาคริสต์ คาทอลิก อาจจะทำให้ผู้คนในสังคมฟิลิปปินส์รู้สึกถึง” ความมั่นคงภายใต้ความศรัทธาในพระเจ้า” มากกว่าสังคมไทย เพราะสังคมไทยมองไม่เห็นความมั่นคงทางใจที่จริงจังได้ในที่ใดเลย

สำหรับคนหนุ่มสาวในสังคมไทยที่ผ่านความมืดมนทางการเมืองในช่วงยี่สิบปี สังคมไทยก็อาจจะเป็น “บ้านที่ไม่อยากกลับ” เพราะการกดทับเชิงโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจได้เพิ่มแรงมากขึ้นตามลำดับ การเสียสละชีวิตของ “บุ้ง” กับความโหดร้ายอำมหิตของเครือข่ายชนชั้นนำไทยเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า “บ้าน” ไม่ใช่ “บ้านของพวกเขา” อีกต่อไป

ความเศร้าซึมทีเกิดจากการอ่าน “บ้านที่กลับไม่ได้ “ เพราะเมื่อขยายการคิด/ขยายความรู้สึกถึง “บ้าน” ไปให้กว้างขวาง ผมคิดว่าไม่มีใครในสังคมไทยจะไม่รู้สึกเศร้า และรู้สึกซึม กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีกนาน

ขอขอบคุณอาจารย์บุญเลิศและทุกคนที่อยู่ในหนังสือ “บ้านที่กลับไม่ได้” ครับ

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net