Skip to main content
sharethis

สปสช. จับมือ กทม. จัดเสวนา “ทศวรรษที่ 3 สู่การสร้างความเชื่อมั่นเครือข่ายระบบบริการสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร” ฉายภาพเป้าหมายระบบสุขภาพ สร้างเครือข่าย-เพิ่มหน่วยบริการ-พัฒนาระบบส่งต่อ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคนกรุง ชี้ สิ่งสำคัญ คือ ‘ความร่วมมือ’ 

13 พ.ย. 2565 ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระบบบริการสาธารณสุขพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 โดยภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ทศวรรษที่ 3 สู่การสร้างความเชื่อมั่นเครือข่ายระบบบริการสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร” ซึ่งได้พูดคุยถึงเป้าหมายของระบบบริการสุขภาพต่อจากนี้ รวมถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้ารับบริการ 

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ใน กทม. มีจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด 12 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์สาขาอีก 13 แห่ง ที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทว่า ทาง กทม. ทราบดีว่ายังไม่สามารถดูแลได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด โดยหากอิงตามทะเบียนราษฎร์ กทม. มีประชากรราว 5 ล้านคนในพื้นที่ รวมถึงถ้าดูข้อมูลประชากรที่ลงทะเบียนระบบบัตรทองใน กทม. มีถึง 7.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ทาง กทม. สามารถให้บริการได้เพียง 20% เท่านั้น จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทาง ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะสั้น 90 วัน เช่น การจัดตั้งศูนย์ผู้พิการเบ็ดเสร็จ คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride Clinic) ฯลฯ ซึ่งต่อจากนี้จะมีการพัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูล เช่น ระบบบัตรทอง การตั้งศูนย์ฟื้นฟูเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Rehab Center) ฯลฯ รวมถึงยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเข้มแข็งให้ชุมชน  

นพ.สุขสันต์ กล่าวอีกว่า กทม. จะขยายการสร้างเครือข่ายระบบบริการตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ซึ่งมีการดำเนินการและประสบความสำเร็จไปแล้วบางส่วน ได้แก่ กรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ดุสิตโมเดล ราชพัฒน์โมเดล โดยได้สร้างบริการ เช่น การมีรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ โมบายแล็ป (Mobile Lab) การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ตลอดจนกระบวนการรักษาแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น  

“กรุงเทพมหานครไม่สามารถทำโดยลำพังได้ คงจะต้องมีความร่วมมือจากภาคเครือข่ายในกรุงเทพมหานครทั้งหมด สปสช. สบส. ที่จะต้องมาจับมือกันเพื่อทำให้เกิดระบบการให้บริการ” นพ.สุขสันต์ ระบุ 

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แม้ทาง กทม. จะมีหน่วยบริการด้านปฐมภูมิเป็นหลักที่ให้บริการอยู่ แต่ในจำนวนที่มีอยู่ยังไม่สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทั้งหมด ดังนั้นต่อจากนี้อาจต้องเพิ่มหน่วยบริการเสริมในส่วนนี้ โดยอาศัยระบบการดูแลรักษาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาให้เป็นโอกาสที่จะต่อยอดให้เกิดขึ้น เช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่นที่สามารถแนะนำและคัดกรองโรคทั่วไปได้ ซึ่งมีการเปิดให้บริการแล้วบางพื้นที่  

“เราน่าจะมีทางเลือกหลายๆ ทาง ในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งสิ่งที่ สปสช. น่าจะช่วยได้มากที่สุดคือ ระบบฐานข้อมูล และสนับสนุนการเบิกจ่าย เพื่อให้เกิดการวางแผนร่วมกันและบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้ สปสช. สามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าบริการเกิดขึ้นจริงด้วย” พญ.ลลิตยา ระบุ 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีคนบริหารจัดการระบบ สปสช. ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการทั้งหมด รวมถึงออกแบบการเบิกจ่ายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นจึงอยากให้มี ผู้บริหารจัดการพื้นที่ (Area Manager) ที่จะสามารถจัดการทั้งข้อมูลและระบบในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น 

พลอากาศเอก นพ.ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจะทำระบบส่งต่อที่พึงประสงค์และมีประสิทธิภาพ โดยหลักแล้วไม่มีอะไรที่ซับซ้อน แต่ประเด็นอยู่ที่ความพึงประสงค์ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วนที่เป็นตัวกำหนด ได้แก่ 1. ผู้รับบริการ 2. สถานพยาบาลที่ส่งต่อ 3. สถานพยาบาลที่รับส่งต่อ และ 4. สปสช และโดยทั่วไปในแต่ละส่วนจะใช้เกณฑ์ทั้งหมด 5 มิติ  ได้แก่ 1. คุณภาพ 2. ความปลอดภัย 3. ประสบการณ์ 4. เจ้าหน้าที่ และ 5. การเงิน ในการพิจารณา 

พลอากาศเอก นพ.ทวีพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ระบบเกิดความซับซ้อนและแปรปรวน และจะยิ่งมีมากขึ้นเมื่อแต่ละฝ่ายมีความคาดหวังของตนเอง จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการที่จะลดความแปรปรวนของระบบได้คือ โรงพยาบาลต้องร่วมมือกันตั้งแต่ต้นโดยสร้างเครือข่ายในการแบ่งปันและสนับสนุน 3 สิ่ง ดังนี้ 1. บุคลากร 2. ทรัพยากร และ 3. ความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การออกแบบต่อเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงทำมาตรฐานคลินิกที่มาร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อให้เกิดความไหลลื่นในการส่งต่อ ตลอดจนเชื่อมฐานข้อมูลแต่ละหน่วยบริการ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net