Skip to main content
sharethis

17 พ.ย.2565 ที่ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร กลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022” ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้

APEC: ผู้ชุมนุมออกนอกลานคนเมือง 'ชัชชาติ' ย้ำ ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง หากมีพื้นที่ให้แสดงออกได้ก็ดี

พชร คำชำนาญ ในฐานะตัวแทนสหพันธ์เกษตรกร กล่าวว่า 19 พ.ย.2517 หรือเมื่อ 48 ปีที่แล้วเป็นวันก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรกว่า 1 ล้านครอบครัวที่ถูกกดขี่และถูกเอารัดเอาเปรียบมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อเรียกร้องพ.ร.บ.ค่าเช่านา และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในปี 2518 ขบวนการต้องต่อสู้กับทั้งนายทุนและรัฐเผด็จการ ถึงแม้กฎหมายทั้งสองฉบับที่ผ่านออกมาจะมีปัญหาในการบังคับใช้และสุดท้ายประชาชนก็ยังไม่ได้ตามที่หวัง แต่การเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้พวกเราทั้งเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง

พชรกล่าวต่อว่าแต่รัฐทรราชย์ก็ยังมีปฏิบัติการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวที่เป็นชาวไร่ชาวนามากถึง 46ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 33 คน จากนั้นเขาได้อ่านรายชื่อของผู้ที่ถูกลอบสังหารนับตั้งแต่ปี 2517-2522

ภายหลังจากพชรอ่านรายชื่อจบแล้ว ยังมีการแสดงสดและเผาหุ่นจำลองเพื่อแสดงถึงความสูญเสียและรำลึกถึงเกษตกรที่เสียชีวิตเหล่านี้

ภายหลังการแสดงจบลง เริ่มเวทีปราศรัยโดยมียิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw โดยเขากล่าวถึงประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ที่มีนักกิจกรรมและคนทำงานภาคประชาสังคมมากกว่า 26 คนที่ได้รับแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กว่ามีผู้โจมตีระบบที่มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเพื่อล้วงข้อมูลส่วนตัว ซึ่งตรงกับการประชุมเอเปคที่มีผู้นำจากหลายประเทศเดินทางมาประชุม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

“เป็นวันเดียวกับที่เฟซบุ๊กกำลังบอกเราว่าประเทศนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา ไม่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ไม่ปลอดภัยสำหรับใครเลย แขกบ้านแขกเมืองที่กำลังเดินทางมาก็ขอให้รู้เอาไว้ว่าวันนี้ประเทศนี้ไม่สิทธิเสรีภาพ สิทธิส่วนบุคคลเพราะรัฐบาลของไทยทำอะไรก็ได้กับมือถือของเรา สามารถส่งเครื่องมืออะไรก็ได้เข้ามาล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของเรา สามารถใช้อุปกรณ์แพงๆ ไฮเทคๆ ระดับโลกมาทำอะไรก็ได้ อันนี้คือรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่าปีที่แล้วก็ได้รับอีเมลเตือนจากแอปเปิลเรื่องเดียวกันนี้และตรวจสอบได้ว่ามีการใช้สปายแวร์เพกาซัสเจาะเข้ามือถือประชาชนถึง 35 คน แล้ววันนี้ก็ครบปีพอดีที่เฟซบุ๊กบอกว่ามีความพยายามอีกครั้งที่มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในการล้วงข้อมูล และไม่ว่าจะเป็นนักข่าว นักสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมยิ่งไม่มีความปลอดภัยเพราะเครื่องมือเหล่านี้ใช้กับกลุ่มคนเหล่านี้มาแล้วทั่วโลก

นอกจากนั้น ยิ่งชีพยังกล่าวถึงแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีที่ออกมาเมื่อ 2 ปีก่อนคือ 19 พ.ย.2563 ที่ระบุว่าหน่วยงานความมั่นคงจะต้องบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและคงรู้สึกว่าไม่สามารถหยุดขบวนการเคลื่อนไหวได้ นั่นก็คือการนำมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญากลับมาใช้เพราะเคยเป็นมาตราที่ถูกประกาศว่าจะไม่ใช้ในช่วง 2561-2563 แล้วเมื่อประกาศฉบับนี้ออกมามาตรา 112 ก็ถูกนำกลับมาใช้อย่างมากมายมหาศาลและกว้างขวางปัจจุบันมีคดีตามมาตรา 112 มากกว่า 200 คดีมีผู้ต้องหามากกว่า 200 คน ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการใช้มาตรานี้

“มาตรา 112 เป็นมาตราที่จะสั่งให้ใช้ก็ได้ สั่งไม่ให้ใช้ก็ได้ วันหนึ่งจะไม่ใช้ก็ประกาศว่าจะไม่ใช้ วันนึงจะใช้ก็ประกาศว่าจะใช้ มันไม่ใช่กฎหมายปกติธรรมดา ไม่ได้เหมือนกฎหมายจอดรถห้ามจอดตรงที่ห้ามจอด ถ้าจอดรถที่ห้ามจอดไม่ว่าเมื่อไหร่อย่างไรคุณโดนบังคับเท่ากันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แต่กฎหมายพิเศษแบบนี้วันนึงมันจะใช้ก็ใช้ วันนึงมันไม่ใช้มันก็ไม่ใช้”

ยิ่งชีพกล่าวว่าการใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างกว้างขวางขนาดนี้กำลังบอกว่าคนใช้เป็นคนดีหรือว่ากำลังจะบอกว่าประชาชนคิดอะไรและกำลังพูดเรื่องอะไรกันอยู่ เขาคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ผู้นำต่างๆ ที่เดินทางมาประชุมครั้งนี้ก็ทราบว่าประเทศไทยขณะนี้ไม่มีเสรีภาพแสดงความคิดเห็นมากที่สุดและขอให้รู้ว่าประเทศไทยมีผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันมากที่สุด

พัชนีย์ คำหนัก จากกลุ่มสังคมนิยมแรงงานขึ้นปราศรัยต่อในปัญหาการพัฒนาประเทศที่นายทุนอตุสาหกรรมและการเงินและรัฐเป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ค่าครองชีพสูงไปจนถึงการก่อสงคราม แต่กลับมาใช้เวทีประชุมเอเปคครั้งนี้ในการครอบงำและกำหนดอนาคตของประชาชน 

พัชนีกล่าวต่อว่าเวทีประชุมนี้เลือกที่จะไม่แตะต้องความขัดแย้งทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสงครามที่เกิดขึ้นอยู่ แม้กระทั่งปัญหาทางการเงินในประเทศต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ มาจนถึงปัญหาค่าครองชีพสูงที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงไทย มีแต่เพียงเรื่องว่าจะกอบโกยทรัพยากรต่างๆ ไปจากประชาชน และที่ประชาชนออกมาประท้วงก็เพราะรู้ว่าการประชุมนี้ก็เพื่อการกอบโกยแสวงหากำไร 

สิ่งที่ถูกพูดถึงในเวทีประชุมนั้นก็เป็นเรื่องเดิมๆ คือรัฐให้ทุนใหญ่เข้ามาพัฒนาโดยตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ที่ประชาชนไทยก็ออกมาประท้วงมาตั้งแต่การประชุมเอเปค 2003 ไม่ว่าจะเป็นการเอาทรัพยากรไปขาย การเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นต้น แล้ววันนี้ก็จะเอาที่ดินไปขายปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิตไปขายทั้งที่ปัญหาโลกร้อนคือยอดของภูเขาน้ำแข็งที่อุตสาหกรรมของทุนใหญ่ปล่อยมลพิษออกมา

พัชนีย์กล่าวถึงประเด็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเอเปคหลังจากการระบาดขงอโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เอเปคสนใจก็คือการฟื้นฟูกำไรของตัวเองด้วยการออกนโยบาย BCG หรือแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลอย่าง GIG economy ที่เป็นเพียงการปรับโครงสร้างเท่านั้นโดยการไปเชิญนายทุนญี่ปุ่นมาร่วมโครงการรถไฟหรือนายทุนจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มในเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้เกิดการเวนคืนที่ดิน ซึ่งเป็นการให้นายทุนเข้ามาครอบงำตลาดแรงงานและทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิต รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร

พัชนีย์ขยายความเรื่องการเข้ามาควบคุมความมั่นคงทางอาหารว่าคือให้นายทุนเข้ามาทำลายอาชีพเกษตรกรรายย่อยให้เหลือผู้เล่นเดียวในภาคการเกษตรและเป็นผู้เล่นเดียวที่จะพูดเรื่องความมั่นคงทางอาหารให้ทุกอย่างอยู่ในมือของทุนโดยมีรัฐที่ปลดล็อกทางกฎหมายและภาษีไม่ยอมให้มีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ากับมหาเศรษฐี นอกจากนั้นยังพยายามหาแรงงานราคาถูกด้วยการกีดกันแรงงานข้ามชาติกดค่าแรง ไม่ยอมทำให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายทั้งที่เวทีประชุมก็พูดเรื่องการเชื่อมต่อกันในภูมิภาคแสดงถึงความไม่จริงใจในการเปิดโอกาสให้แรงงานเข้ามาได้อย่างเสรีและถูกต้อง 

"ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้วคนก็ตกงาน เราจะเห็นการตกงานเป็นเรื่องปกติในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คิดอะไรไม่ออกก็เลิกจ้างอย่างเดียว เขาไม่ได้มีความจริงใจที่จะสร้างงานแล้วก็รักษางาน การสร้างงานของเขาก็เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของเขาเท่านั้น แล้วเขาก็จะปลดเราออก" พัชนีย์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายคือปัญหาตกงานที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มคนอายุเกินกว่า 45 ปีที่มีจำนวนหลักล้านแต่ไม่มีการช่วยเหลืออะไรและทำให้พวกเขาไม่มีปัจจัยการผลิตเหลืออยู่อีกแล้วคนเหล่านี้ก็ต้องกลับมาขายแรงงานราคาถูกในเมืองต่อไป 

นอกจากการปราศรัยแล้วบนเวทียังมีวงเสวนาประเด็น ฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาด โดยวิทยากรที่มาร่วมได้แก่ กอเฉม สะอุ จากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, จำนงค์ หนูพันธ์ จาก PMOVEและเครือข่ายสลัมสี่ภาค, ตัวแทนจากกลุ่มราษฎรโขง-ชี-มูล และธารา บัวคำศรี จาก Greenpeace Thailand 

กอเฉม สะอุ เริ่มกล่าวถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปคครั้งนี้ว่านโยบาย BCG ที่พูดกันในเวทีเอเปคเป็นเพียงนโยบายสวยหรู เพราะถึงประชาชนในท้องที่จะบอกว่าพื้นที่มีทรัพยากรสมบูรณืมีป่าไม้มีทะเลมีแหล่งผลิตอาหารให้คนทั้งประเทศและทั้งโลก เราต้องการเศรษฐกิจชีวภาพภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่นายทุนกลับจะเอานิคมอุตสาหกรรมจะนะมาทำร้ายคนในพื้นที่เอาพื้นที่ไปจากคนจะนะโดยไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย รัฐบาลอ้างธุรกิจสีเขียวแต่กลับไม่ฟังเสียงประชาชนที่เรียกร้องเลย

กอเฉมกล่าวถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตว่า เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ว่าประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุดคือจีนรองลงมาก็คือสหรัฐฯ แต่กลับไม่หาวิธีหยุดประเทศเหล่านี้ไม่ให้สร้างมลพิษแต่กลับมายึดพื้นที่ป่าของไทยไปให้นายทุน ประชาชนทุกภาคส่วนจะต้องมาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ของเอเปค

"พวกเรา(จะนะ) ถูกกระทำมาตั้งแต่ยุคท่อก๊าส มายุคนิคมอุตสาหกรรม ที่นำข้ออ้างของกลุ่มทุนนิยมที่มาออกแบบควบคุมโดยสมคบกับกลุ่มทุนในประเทศไทยที่มีกลุ่มทุนที่เป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมืองแล้วพยายามสร้างวาทกรรมสวยหรูหลากหลายที่จะล่อให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าคนจะมีงานทำ คนจะได้ปลูกป่าเอาไว้ขาย คุณเคยเชิญผมหรือเพื่อนๆ ผมไปถามไหมว่าต้องการอย่างไร วันนี้เอเปคต้องฟังเสียงพวกเรา" กอเฉมกล่าว

จำนงค์ หนูพันธ์ กล่าวว่าเรื่องที่มักมีนักข่าวถามว่าการมาชุมนุมอย่างนี้กังวลว่าประเทศไทยจะเสียหายหรือเปล่านั้น ต้องย้อนกลับไปว่าประเทศไทยเสียหายมานับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 แล้ว นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ก็ยังออกประกาศออกมาว่าให้นักลงทุนมาลงทุนแค่ 40 ล้านบาทในเวลาแค่ 3 ปีก็ได้ที่ดินไปเลย 1 ไร่โดยที่ไม่ต้องออกกฎหมายอะไรมารองรับ 

ตัวแทนจาก PMOVE กล่าวต่อว่านอกจากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ยังไปลงนามใน BOI ที่จะให้กลุ่มทุนต่างชาติมาลงทุน 50 ล้านบาทสามารถใช้ที่ดินเพื่อตั้งสำนักงานและที่อยู่อาศัยได้ 35 ไร่ซึ่งแย่ยิ่งกว่ามติ ครม.ดังกล่าว 

"วันนี้พี่น้องใน PMOVE และสลัมสี่ภาค ยังไม่มีที่ดิน หลายคนยังไม่สามารถเข้าถึงที่ดินเพื่ออยู่อาศัยที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานได้เลย" จำนงค์กล่าวถึงปัญหาของประชาชนในเครือข่าย แต่ทุกวันนี้นายทุนเพียงรายเดียวก็มีที่ดินมากถึง 630,000 ไร่ แต่รัฐบาลกลับจะเอาที่ดินไปขายให้กับนายทุน ไม่ยอมแจกแจงกับประชาชนว่าการประชุมครั้งนี้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ประโยชน์อะไร แต่กลับมีเพียงนายทุนที่เป็นคน 1% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการประชุมครั้งนี้

จำนงค์ยังกล่าวต่อว่านอกจากรัฐบาลจะไม่พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว เมื่อพวกเขาออกมาเรียกร้องว่าต้องการอะไรก็เอาตำรวจทหารมาสกัดกั้นไม่ให้ชาวโลกได้รู้ว่าประชาชนในประเทศเดือดร้อนเรื่องอะไร แล้วก็ยังมีการดำเนินคดีปิดปากประชาชนอีกด้วย ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความชอบธรรมเลยในการจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในครั้งนี้

ตัวแทนจากกลุ่มราษฎรโขง-ชี-มูล สะท้อนปัญหาที่ประชาชนในอีสานต้องเจออยู่บ่อยๆ คือการตั้งโรงงานน้ำตาลของบริษัทมิตรผลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลซึ่งเป็นบริษัทในเครือและชี้ว่าอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานบริษัทในขณะนี้ก็ยังเข้าไปเป็นกรรมการในการประชุมเอเปคครั้งนี้ด้วย

ตัวแทนของราษฎรโขง-ชี-มูล ชี้ว่าการตั้งโรงงานของบริษัทที่เขาพบคือยังมีปัญหาในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่หรือที่เรียกว่า EIA เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยโสธรปรากฏว่ามีแต่ประชาชนนอกพื้นที่ตั้งโรงงานที่เข้าแสดงความเห็นได้แต่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่ตั้งโรงงานกลับไม่ได้เข้าร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็นและไม่ได้เลือกว่าจะต้องการโรงงานหรือไม่หรือต้องการอะไรจากพื้นที่ที่อาศัยอยู่กันแน่ ทั้งที่ผลกระทบจากโรงงานเหล่านี้มีผลต่อพื้นที่มาก

"ความน่าเป็นห่วงคือถ้าสมมติว่าโครงการ BCG มันผ่านแล้วถูกนำมาใช้จริงจะยิ่งหนักกว่าเดิม โรงงานที่ยังไม่ได้ตั้งก็จะสามารถตั้งได้ โรงงานที่มีปัญหาในขั้นตอน EIA หรือกฎการตั้งโรงงานที่จะต้องมีระยะทางห่างจากชาวบ้าน 5 กิโลเมตร จะทำให้ตั้งโรงงานน้ำตาลและชีวมวลได้ง่ายขึ้นมาก" ตัวแทนของราษฎรโขง-ชี-มูล

ธารา บัวคำศรี กล่าวถึงว่าวันนี้นักธุรกิจรายใหญ่จากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจที่ประชุมกันวันนี้ก็ได้ร่วมกันลงนามในเอกสาร "คำประกาศกรุงเทพมหานครว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว" หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า BCG และคงจะผ่านที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ก่อนจะประกาศใช้ในวันที่ 19 พ.ย. 

ธารากล่าวว่าสิ่งที่เขียนอยู่ใน BCG นี้มีเรื่องใหญ่อยู่สองเรื่องที่เมื่อได้ทราบแล้วเขาก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจคือ แผนการลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 0 ภายในปีพ.ศ. 2608 และอีกเรื่องคือการเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอน เพราะหลังจากเศรษฐกิจที่พังมาจากรัฐบาลประยุทธ์เมื่อไม่รู้จะเอาอะไรมาแทนที่เสียไปก็เลยคิดถึงเศรษฐกิจนี้ขึ้นมาโดยเอาเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นเสื้อคลุมให้แก่สิ่งที่เป็นปัญหาดูดึขึ้น

ประธานกรีนพีชกล่าวว่าหากมีการประกาศใช้ BCG แล้วแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม BCG ก็จะยังถูกใช้ต่อไป การค้าคาร์บอนก็จะยังมีอยู่ซึ่งเป็นการยอมให้ปล่อยมลพิษขึ้นไปบนอากาศได้โดยอาศัยการแปลงให้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนของพื้นที่ป่าหนึ่งแห่งสามารถนำไปขายในตลาดคาร์บอนได้แล้วก็จะปั่นราคา ซึ่งเรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็อ้างว่าจะช่วยสร้างงานให้ประชาชนแล้วก็ยังรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ได้และยังช่วยลดโลกร้อนได้แต่เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องโกหก

"ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก็มีการซื้อขายคาร์บอนกันมาตลอดแล้วก็บอกว่ามันจะช่วยลดโลกร้อนแต่อุณหภูมิโลกก็ยังเพิ่มสูงขึ้น เราก็เห็นภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้นไม่ได้ลด" ธาราชี้ปัญหาของการซื้อขายคาร์บอนที่เกิดขึ้นและเรื่องนี้ก็จะทำให้บรรดานายทุนทั้งหลายได้ฟอกเขียวตัวเองได้เงินเพิ่มขึ้น 

หมายเหตุ - เพิ่มเนื้อหาเวลา 22.26 น. 17 พ.ย.2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net