ศาลยกฟ้อง ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่ผิด หากไม่เป็นสาระสำคัญในการสืบสวน

ศาลแขวงปทุมวัน ยกฟ้อง ‘ยิ่งชีพ’ iLaw หลังถูก จนท.กล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง เหตุเจ้าตัวปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือตอนรายงานตัวคดีชุมนุม ศาลชี้ไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ หากไม่เป็นประโยชน์ในการรวมหลักฐานสืบสวน

 

15 ธ.ค. 2565 เฟซบุ๊ก ‘iLaw’ โพสต์ข้อความวันนี้ (15 ธ.ค.) ศาลแขวงปทุมวัน นัดยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานด้วยการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี รวม 3 ครั้งฟังคำพิพากษา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่า แม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ในคดีนี้การให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี เพราะจำเลยรับว่าร่วมชุมนุมและเป็นบุคคลตามภาพ รวมถึงสู้คดีเพียงข้อกฎหมายและยืนยันในเสรีภาพการชุมนุม จึงไม่มีเหตุในการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทั้งหากต้องการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมบัตรประชาชนก็สามารถเข้าถึงได้

เหตุพนักงานสอบสวนให้พิมพ์นิ้วมือโดยไร้เหตุจำเป็นหลายคดี

มูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ยิ่งชีพ เข้าร่วมการชุมนุม 3 ครั้ง ได้แก่ การชุมนุม #ม็อบ3กันยาราษฎรไม่ไว้ใจมึง ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 การชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 และการชุมนุม #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 จนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งทั้ง 3 คดีอยู่ในท้องที่รับผิดชอบของ สน.ลุมพินี ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกยิ่งชีพ รายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีทั้งสาม ยิ่งชีพ เข้ารายงานตัวตามนัด แต่ปฏิเสธที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะเห็นว่าได้เคยพิมพ์ลายนิ้วมือ และมีประวัติอยู่ที่สถานีตำรวจดังกล่าวอยู่แล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายอาญามาตรา 368 โดยตามคำฟ้องคดีนี้ระบุว่า คำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นคำสั่งที่อ้างอำนาจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2554 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ในชั้นศาล ยิ่งชีพ ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีโดยนำสืบว่าตัวเองไม่ได้มีเจตนาที่จะขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้ง 3 คดีก็ได้ให้การยอมรับกับพนักงานสอบสวนว่า เขาเข้าร่วมการชุมนุมจริง และเป็นบุคคลที่ปรากฎตามภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู และการต่อสู้คดีทั้งสามก็เป็นการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย ทั้งก่อนถูกดำเนินคดีนี้ตัวจำเลยก็เคยถูกดำเนินคดีการชุมนุมคดีอื่นในสถานีตำรวจเดียวกันนี้และได้เคยให้พนักงานสอบสวนพิมพ์ลายนิ้วมือไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นอันใดที่พนักงานสอบสวนจะต้องพิมพ์นิ้วมือในแต่ละคดีไป

‘ยกฟ้อง’ เหตุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

สำหรับคำพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีนี้พอสรุปได้ว่า การที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาปฏิเสธหรือไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนแต่อย่างหนึ่งอย่างใดนั้น จะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายกรณีไปว่ามีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานสั่งการให้ผู้ต้องหาปฏิบัติเช่นนั้นได้หรือไม่ และผู้ต้องหามีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ มีหน้าที่รวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อทราบถึงข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และเพื่อพิสูจน์ทั้งความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ในส่วนของการพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานที่น่าจะทำให้ข้อเท็จจริงในคดีชัดเจนขึ้นเท่านั้น 

ที่มา iLaw 

ข้ออ้างว่าถ้าไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออัยการจะไม่รับสำนวนฟังไม่ได้ เพราะเป็นแนวปฏิบัติภายในคดีนี้ จำเลยนำสืบว่าไม่มีเจตนาในการก่ออุปสรรคในการสอบสวน เหตุที่ปฏิเสธ เนื่องจากว่าเขายอมรับข้อเท็จจริงทุกประการแล้วว่าเข้าร่วมการชุมนุมในวันและเวลาที่เกิดเหตุตามที่ถูกกล่าวหาและรับว่าเป็นบุคคลตามภาพถ่ายที่พนักงานสอบสวนให้ดู แต่ให้การปฏิเสธโดยสู้ในข้อกฎหมายเท่านั้นว่าไม่ได้กระทำความผิด เนื่องจากมีเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงไม่มีเหตุที่พนักงานสอบสวนจะต้องใช้ลายพิมพ์นิ้วมืออีก และการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำให้พนักงานสอบสวนได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้จำเลยได้เคยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ที่ สน.ลุมพินี สังกัดของพนักงานสอบสวนที่เป็นเหตุในคดีนี้ และที่ สน.สำราญราษฎร์แล้วครั้งหนึ่ง ดังนั้น พนักงานสอบสวนควรตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อถามถึงเหตุผลทางกฎหมายที่จะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือในคดื พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ถ้าไม่มีการพิมพ์นิ้วมือติดสำนวนไว้ อัยการจะไม่รับสำนวนการสอบสวน

อำนาจการสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ 2554 ออกตามความ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เห็นว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 เป็นบทบัญญัติที่เป็นฐานในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจฯ เรื่องการพิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ใช่กฎหมายที่มีบทบัญญัติมุ่งใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปแต่เป็นระเบียบที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการภายในหน่วยงาน ระเบียบที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่สั่งให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือได้ทุกคดีไม่อาจใช้อ้างหรือบังคับแก่จำเลยได้ ไม่อาจอ้างว่า หากไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออัยการจะไม่รับสำนวนสอบสวน เพราะเป็นแนวปฏิบัติระหว่างหน่วยงานรัฐโดยทั่วไป ข้ออ้างว่าต้องพิสูจน์ตัวตนผู้ต้องหาฟังไม่ได้ เพราะจำเลยรับว่าเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาและ พนักงานสอบสวนไม่ได้สงสัย

ประเด็นการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลและตรวจสอบประวัติของจำเลย จำเลยระบุว่า เคยให้ความร่วมมือพิมพ์ลายนิ้วมือกับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี และสำราญราษฎร์แล้ว พนักงานสอบสวนสามารถใช้ลายนิ้วมือดังกล่าวในการตรวจสอบประวัติกระทำความผิดได้ ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ใหม่ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินีให้การว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือจะจัดทำไว้สองชุดคือ ไว้ที่สน.ท้องที่และกองทะเบียนประวัติอาชญากรรมเพื่อบันทึกในระบบฐานข้อมูล และเบิกความว่า เขาไม่เคยสงสัยว่า ผู้ที่มาปรากฏตัวในการรับทราบข้อกล่าวหาเป็นบุคลอื่น แอบอ้างเป็นจำเลยแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสั่งให้พิมพ์นิ้วมือจึงฟังไม่ได้ว่า กระทำไปเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล แม้จะมีอำนาจ แต่อำนาจนั้นจำกัดเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐานให้ชัดเจนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 (1) จำเลยรับตามข้อเท็จจริงและไม่มีข้อสงสัยเรื่องการแอบอ้าง รวมถึงไม่ปรากฏว่า จะต้องนำลายนิ้วมือไปเทียบกับวัตถุพยาน หรือการโต้แย้งพยานหลักฐานชิ้นใด มีเพียงการสู้ในเรื่องข้อกฎหมายเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม จึงฟังไม่ได้ว่า ต้องการลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลย

ข้ออ้างว่าต้องตรวจประวัติฯ ฟังไม่ได้ มีบัตรประชาชนก็ตรวจสอบได้ไม่ต้องใช้ลายนิ้วมือ กรณีที่โจทก์อ้างว่าต้องการลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจประวัติอาชญากรรม ข้อเท็จจริงคือจำเลยเคยให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้แล้วในคดีก่อนหน้าและในคดีนี้ก็ได้มอบบัตรประชาชนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลได้ทุกประการ แม้จำเลยไม่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนสามารถใช่บัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบได้ และในทางนำสืบของจำเลยระบุว่า สน.ลุมพินี เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดระบบข้อมูลเกี่ยวกับลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาอันถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็น เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์และยกเลิกเมื่อมีความจำเป็นตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ 2540 และอ้างถึง พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล 2562 ที่มีเหตุผลเป็นไปเพื่อบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน ประชาชนได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการ ดังกล่าวการผลักภาระให้จำเลยที่เคยพิมพ์นิ้วมือไว้แล้ว เพื่อติดไว้ในสำนวนการสอบสวนจึงฟังไม่ได้และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ข้างต้น และแม้จำเลยจะยอมพิมพ์ก็ไม่ก่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์แต่อย่างใด  

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเป็นข้ออ้างที่พอรับฟังได้ว่ามีเหตุและข้อแก้ตัวอันสมควร เนื่องจากไม่ได้ก่อให้เกิดอุปสรรคในการสอบสวน รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ยกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท