Skip to main content
sharethis

แรงงานพม่าในนามกลุ่ม ‘Bright Future’ ยื่นหนังสือถึง กมธ.การแรงงาน เพื่อขอให้แรงงานพม่าทำ ‘บัตรชมพู’ ใบเดียว เพื่อขออนุญาตอยู่อาศัยและทำงานในไทยชั่วคราว หลังประสบปัญหาการเข้าถึงการทำหนังสือเล่มเขียว เพราะทางการเมียนมาขอปิดศูนย์ทำ CI จำนวน 7 จังหวัด เหลือสมุทรสาครที่เดียว

 

17 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความบนสื่อโซเชียลมีเดียวันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 11.00 น. จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะ กมธ.การแรงงาน พร้อมด้วย เซีย จำปาทอง รองประธานคณะ กมธ.การแรงงาน คนที่ 3 รับยื่นหนังสือจาก วีระ แสงทอง ตัวแทนผู้ใช้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในนามกลุ่ม ‘Bright Future’ เรื่องขอให้รัฐบาลไทยช่วยลดขั้นตอนด้านเอกสารที่คนต่างด้าวต้องใช้ในการทำงานที่ถูกกฎหมาย โดยยกเลิกการใช้หนังสือรับรองสถานะบุคคล หรือสมุดเขียว ‘CI’ ของคนต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทยขอใช้แค่ "บัตรชมพู" ใบเดียว เพื่อลดภาระการขอเอกสารอย่างซ้ำซ้อน ‘บัตรชมพู’ หรือ ‘บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย’ เป็นบัตรที่กรมการปกครองออกให้ เป็นบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ ที่มีนายจ้าง รวมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ขณะที่ 'เล่มเขียว' หรือ Certificate of Identity (CI) เป็นเอกสารอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน เมียนมาอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง คนงานชาวเมียนมาต้องขอกับทางการเมียนมา เพื่อใช้รับรองการอยู่ในไทยควบคู่กันไป แต่ว่าในวันที่ 7 ก.ค. 2567 กลับมีการปิดทำการศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จในไทย ทั้งหมดจำนวน 7 แห่ง ทำให้ในปัจจุบันเหลือศูนย์ทำ CI เพียงแห่งเดียวที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งจะต้องรับรองชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคแรงงานที่ต้องการทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การบังคับให้คนกลุ่มเปราะบางต้องทำเอกสารที่ซ้ำซ้อนจะผลักให้ผู้สุจริตกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ จึงขอให้คณะ กมธ.ผลักดันให้แรงงานต่างด้าวใช้บัตรชมพู เพียงใบเดียวในการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของไทย

อนึ่ง จากบทความของ Cofact ระบุว่า หนังสือเล่มเขียว หรือเรียกชื่อเล่นว่า ‘หนังสือ CI’  เป็นเอกสารที่ทางการเมียนมาและลาวออกให้พลเมืองของตนที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพื่อยืนยันสัญชาติ ซึ่งทางการไทยกำหนดให้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้วขอเอกสารนี้จากประเทศต้นทาง เพื่อรับรองสัญชาติของตน หนังสือเล่มหนึ่งมีอายุเล่ม 4 ปี

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Cofact ชี้ว่าข้อมูลแหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย ระบุว่าปัจจุบันในไทย มีแรงงานข้ามชาติพม่าถือบัตรชมพู ประมาณ 2.4 ล้านคน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า คณะ กมธ.การแรงงาน ขอรับเรื่องดังกล่าวไว้ เพื่อให้คณะทำงานกลั่นกรองเรื่องดังกล่าวว่าอยู่ในกรอบอำนาจ และหน้าที่ของคณะ กมธ.การแรงงานหรือไม่ ซึ่งได้สอบถามไปที่กระทรวงแรงงานแล้วว่ามีศูนย์ จ.สมุทรสาคร เพียงที่เดียว ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการเปิดศูนย์เพิ่ม คณะ กมธ.จะเร่งดำเนินการพิจารณแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว เพื่อลดความเดือดรร้อนของแรงงานต่างด้าวต่อไป

(กลาง) สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

เซีย จำปาทอง กล่าวว่า คณะ กมธ.การแรงงาน ขอรับเรื่องดังกล่าวไว้ ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรอง ของ คณะ กมธ.จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และจะดำเนินการตามกระบวนการของ คณะ กมธ.เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมของคณะ กมธ.โดยเร่งด่วนต่อไป

ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวเคยสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติพม่าต่อประเด็นการปิดศูนย์ CI หลายจังหวัดว่า พวกเขามีความกังวลว่าถ้าอยู่ไกล แรงงานต้องลาหยุดงานเพื่อเดินทางมาทำ CI และถ้าหยุดงานหลายวันติดต่อกัน พวกเขาอาจถูกนายจ้างเลิกจ้างได้

ศิววงษ์ สุขทวี สมาชิกองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ MWG เคยให้สัมถาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การปิดศูนย์ CI ทำให้แรงงานพม่าเข้าถึงการทำหนังสือ CI ยากขึ้น และอาจเป็นช่องทางให้นายหน้าเอาเปรียบแรงงานพม่า โดยการขึ้นราคาค่าบริการทำเล่มเขียว หรือหนังสือ CI แพงมากขึ้น ดังนั้น สุขทวี เลยมีหนึ่งในข้อเสนอว่า รัฐไทยต้องมีมาตรการการจัดการจองคิวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่านี้

ทั้งนี้ หลังรับมอบหนังสือ สฤษฏ์พงษ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กล่าวว่า ข้อเรียกร้องวันนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเปิดศูนย์ทำหนังสือเล่มเขียว หรือศูนย์ CI หลายศูนย์มากขึ้น นอกจากนี้ ประธาน กมธ.การแรงงาน กล่าวด้วยว่า เขารับทราบปัญหาที่พี่น้องชาวเมียนมาที่อยู่ไกลๆ จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อเข้ามาทำหนังสือเล่มเขียวในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสฤษฏ์พงษ์ ระบุว่าอาจจะมีการเสนอกระทรวงแรงงาน ให้มีการจัดทำ ‘ศูนย์ลอย’ หรือระบบโมบายล์ เพื่อให้บริการจัดทำหนังสือเล่มเขียวสำหรับแรงงานเมียนมาที่อยู่ไกล

สฤษฏ์พงษ์ กล่าวว่า กรณีที่การอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติอาจทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เขามองเห็นปัญหาตรงนี้เช่นกัน และแรงงานเหล่านั้นอาจจะมาผิดกฎหมาย และใช้วิธีทางลัดเพื่อนิรโทษกรรมตัวเอง ซึ่งทางเขามองว่าอยากให้มีการทำเรื่องให้เหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง พาสสปอร์ต วันที่เดินทางมาไทยต้องทราบแต่แรกว่านายจ้างคือใคร และค่าตอบแทนเท่าไร แต่ว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมืองในการที่จะมีแรงงานหลั่งไหลเข้ามา เนื่องจากประเทศเมียนมายังมีปัญหาเรื่องความมั่นคง และความเห็นที่แตกแยก ทำให้มีประชาชนพม่าหนีออกมาในประเทศไทย

รายละเอียดหนังสือ

เรียน คณะกรรมาธิการการแรงงาน

เรื่อง ขอให้มีการผลักดันการใช้ "บัตรชมพู" เป็นเอกสารหลักสำหรับรับรองสถานะของแรงงานเมียนมาในไทย เพื่อลดภาระขั้นตอนการทำเอกสารที่ซ้ำซ้อน

"บัตรชมพู" หรือ "บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย" เป็นบัตรที่กรมการปกครองออกให้ เป็นบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้าง รวมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่ "เล่มเขียว" หรือ "Certificate of Identity" ที่เรียกสั้นๆ ว่า CI ก็เป็นเอกสารอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตอนนี้คนงานยังคงต้องขอกับทางการเมียนมา เพื่อใช้รับรองการอยู่ในไทยควบคู่กันไปด้วย

ด้วยสภาวะสงครามเมียนมา รวมถึงการบังคับเกณฑ์ทหาร ประชาชนเมียนมาจำนวนมากจึงต้องพลัดถิ่นเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพในไทย แต่ว่าในวันที่ 7 ก.ค. 2024 ที่ผ่านมา กลับมีการปิดทำการ "ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ" ในไทยไปทั้งหมดจำนวน 7 แห่ง ทำให้ในปัจจุบันเหลือศูนย์ทำ CI เพียงแห่งเดียวที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจะต้องรองรับชาวเมียนมาทั่วทุกภาคในประเทศไทยมากกว่า 2.5 ล้านคน

นี่เป็นอุปสรรคขนาดใหญ่สำหรับแรงงานที่ต้องการทำงานในไทยอย่างถูกต้องถามกฎหมาย การบังคับให้คนกลุ่มเปราะบางต้องทำเอกสารที่ซ้ำซ้อน และยุ่งยาก จะผลักดันให้ผู้สุจริตกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ แทนที่จะเป็นการโอบรับแรงงานที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยได้ด้วย 

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธี และการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ Civil Disobedience Movement หรือ CDM จนต่อมาเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน People's Defense Force หรือ PDF ขึ้นมา เพื่อยกระดับการต่อต้านพวกของมินอ่องหล่าย ที่จับกุมนักโทษการเมืองกว่า 27,067 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 5,398 คน และก่อให้ต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเรียกร้องกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  1. ให้รัฐบาลไทยรับรองการใช้ "บัตรชมพู" หรือ "บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย" เป็นเอกสารชิ้นเดียวสำหรับรับรองสถานะของแรงงานเมียนมาในไทย และยกเลิกการใช้เอกสาร "สมุดเขียว" หรือ "Certificate of Identity" (CI) เพื่อลดภาระเอกสารให้กับแรงงาน
  2. ให้รัฐบาลไทยสันบสนุนประธานอาเซียนในการเร่งให้ความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมตามชายแดนเมียนมาทั้งหมด โดยให้กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นกลาง และปราศจากปฏิบัติการทางทหาร (Humanitarian Corridor) รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นภายด้วย
  3. ให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในการช่วยเหลือภารกิจด้านมนุษยธรรม
  4. ทำกินโดยสุจริตต้องไม่ผิดกฎหมาย 

    Bright Future 

    17 กรกฎาคม 2024

(ที่มา Bright Future)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net