Skip to main content
sharethis

'One Card to Certify Everyone' แรงงานพม่าชุมนุมหน้า UNESCAP เรียกร้องให้ทางการไทยช่วยอำนวยความสะดวกรับรองสถานะแรงงานข้ามชาติ ใช้ 'บัตรชมพู' เป็นหลักฐานเพียงใบเดียว ลดภาระและขั้นตอนซ้ำซ้อน ไม่ต้องทำหนังสือ CI

 

7 ก.ค. 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ถ.ราชดำเนิน (นอก) กรุงเทพฯ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ "Bright Future" นัดหมายทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีนโยบายผ่อนผันและอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

กลุ่ม Bright Future เรียกร้องให้ทางการมีมาตรการใช้ "บัตรสีชมพู" หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเป็นหลักฐานชิ้นเดียว สำหรับการรับรองตัวตนของแรงงานข้ามชาติพม่าในประเทศไทย เพื่อลดความซ้ำซ้อน ภาระค่าใช้จ่าย และความยุ่งยาก ในการขอเอกสาร "เล่มเขียว" หรือบัตร CI (Certificate of Identity) รวมไปถึงพาสสปอร์ต และวีซาจากทางการเมียนมา 

ทั้งนี้ บัตรสีชมพู คือบัตรประจำตัวบุคคล ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นบัตรประจำตัวแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะที่บัตร CI หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล เป็นเหมือนบัตรที่รับรองสถานะว่าแรงงานข้ามชาติพม่าคนดังกล่าวเป็นพลเมืองประเทศเมียนมา มีอายุประมาณ 4 ปี ผู้ถือหนังสือ CI สามารถเดินทางเข้าออกไทย-เมียนมา ได้เพียงแค่ 2 ประเทศ 

บรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ มีผู้เข้าร่วมถือป้ายประท้วงภาษาอังกฤษ และภาษาเมียนมา ปรากฏข้อความว่า "One card to certify everyone" อ้างอิงถึงข้อเรียกร้องการใช้บัตรชมพูใบเดียว และ "Go ask money from your own mother" อ้างอิงถึงการคัดค้านมาตรการการบังคับโอนเงินได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ทุกเดือนกลับเมียนมาผ่านช่องทางการเงินที่กองทัพรับรองเท่านั้น ซึ่งบางคนกังวลใจว่า การโอนผ่านช่องทางที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) รับรอง เงินของพวกเขาจะถูกเอาไปใช้ซื้ออาวุธปราบประชาชน

'มยาอินดรี' แรงงานข้ามชาติจากชลบุรี และอยู่เมืองไทยมา 16 ปีแล้ว กล่าวว่า เธอรับไม่ได้กับการบังคับแรงงานข้ามชาติส่งเงิน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน กลับประเทศผ่านช่องทางทางการของกองทัพพม่าทุกเดือน เพราะเธอมองว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชน และคิดว่าอาจจะมีการหักเงินค่าธรรมเนียมเข้ากระเป๋าสตางค์ของกองทัพ 'มินอ่องหล่าย' 

'มยาอินดรี' ไม่เห็นด้วยฝากเงินเข้า ธ.ที่ทางการพม่ารับรอง (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชอสุไปง์ แรงงานข้ามชาติจากชลบุรี และผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวถึงข้อเรียกร้องทำบัตรชมพูใบเดียวว่า เธอมองว่าทำบัตรชมพูใบเดียวมันดีกว่า เพราะว่าค่าทำบัตรมันแพง และแรงงานต้องจ่ายเงินค่ากิน ค่าเช่าห้อง และอื่นๆ ซึ่งมันเยอะมาก เพราะฉะนั้น ทำบัตรชมพูใบเดียวจะช่วยลดภาะแรงงานได้

ชอสุไปง์ สะท้อนด้วยว่า ตอนนี้การทำหนังสือ CI มีช่องโหว่ที่ทำให้ทางการเมียนมาสามารถเอาเปรียบ และรีดไถเงินค่าธรรมเนียมจากประชาชนได้ และเธอกังวลด้วยว่าเงินที่ถูกเอาไปจะนำไปสู่การซื้ออาวุธปราบประชาชนในประเทศเมียนมาด้วย เธอเลยไม่อยากทำหนังสือ CI

ชอสุไปง์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ศูนย์ CI ตามจังหวัดต่างๆ มีการปิดชั่วคราว ยังต้องรอว่าเขาจะเปิดอีกทีเมื่อไร ซึ่งส่งผลให้แรงงานข้ามชาติต้องเดินทางไกลเข้ามาทำหนังสือ CI ที่สมุทรสาครทั้งหมด ปัญหาคือแรงงานข้ามชาติบางคนที่อยู่ไกลต้องลางาน 1 วันเต็มๆ เพื่อเข้ามาทำหนังสือ CI ซึ่งถ้าหยุดบ่อยๆ ก็เสี่ยงตกงาน เลยอยากให้ตอนนี้สามารถใช้บัตรชมพูใบเดียวเป็นหลักฐานรับรอง

อนึ่ง จากการสอบถามภาคประชาสังคม ระบุว่า ทางการเมียนมาระบุให้เปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ จ.สมุทรสาคร เพียงที่เดียว จากเดิมมีทั้งหมด 8 แห่ง โดยทั้ง 7 แห่งเปิดทำการวันสุดท้ายคือวันที่ 7 ก.ค. 2567 นี้

บรรยากาศการปราศรัย (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

ด้านสุรัช กีรี แกนนำกลุ่ม Bright Future กล่าวว่า เขาอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือแรงงาน เพราะว่าแรงงานข้ามชาติเป็นคนที่ช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และช่วยสร้างประเทศไทย เพราะฉะนั้น กฎต่างๆ น่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนพม่าบ้าง

ต่อมา บรรยากาศการชุมนุมมีการผลัดกันขึ้นปราศรัยของแรงงานข้ามชาติ โดยมีการกล่าวสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย กล่าววิจารณ์และด่าทอหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา และเรียกร้องประเด็นการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ควรทำแค่บัตรสีชมพูเพียงใบเดียว

ต่อมา สุรัช ได้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทย หัวข้อ “ใช้บัตรชมพูใบเดียว ช่วยให้แรงงานทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย” โดยกล่าวเน้นย้ำว่า นับตั้งแต่เมื่อ 10 ก.พ. 2567 กองทัพพม่ามีการบังคับใช้มาตรการบังคับเกณฑ์ทหาร ประชาชนเมียนมาชาย อายุระหว่าง 18-35 ปี ส่งผลให้มีประชาชนเมียนมาอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพื่อหนีการประหัตประหาร และต้องการหางานทำ

สุรัช อ่านแถลงการณ์ (ถ่ายโดย แมวซาโบ)

อย่างไรก็ตาม มาตรการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติของไทยกลับสร้างอุปสรรคให้กับแรงงานในการขึ้นทะเบียน มีความซ้ำซ้อน และยุ่งยาก ทำให้ผู้สุจริตกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ กลายเป็นการสร้างปัญหาให้ทุกฝ่ายแทนที่จะสร้างผลผลิตให้กับเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ แถลงการณ์มีข้อเรียกร้องจำนวน 3 ข้อถึงทางการไทย ประกอบด้วย

1. ให้รัฐบาลไทยรับรองการใช้ “บัตรชมพู” (Work Permit) เป็นเอกสารหลักเพียงชิ้นเดียว 
สำหรับรับรองแรงงานข้ามชาติในไทย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการรับรองสถานะบุคคลหรือ CI (Certificate of Identity) กับทางการเมียนมาอย่างซ้ำซ้อน

2. ให้รัฐบาลไทยสนับสนุนประธานอาเซียนในการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามชายแดนเมียนมาทั้งหมด โดยให้กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นกลางและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร (Humanitarian Corridor) รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นด้วย

3. ให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในการช่วยเหลือภารกิจด้านมนุษยธรรม

เวลา 13.00 น. สุรัช ได้กล่าวปิดกิจกรรม และประชาชนแยกย้ายออกจากพื้นที่

รายละเอียดแถลงการณ์

'บัตรชมพู' หรือ 'บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย' เป็นบัตรที่กรมการปกครองออกให้ เป็นบัตรประจำตัวของแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้าง รวมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อให้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ในขณะที่ 'เล่มเขียว' หรือ 'หนังสือรับรองสถานะบุคคล' ที่เรียกสั้นๆ ว่า CI ก็เป็นเอกสารอีกประเภทหนึ่งซึ่งต้องขอจากทางการเมียนมาเพื่อการเดินทางไป-กลับระหว่างเมียนมาและไทย

ด้วยสภาวะสงครามในเมียนมา รวมถึงการบังคับเกณฑ์ทหารที่จะทำให้ชาวบ้านเข่นฆ่ากันเอง ประชาชนเมียนมาจำนวนมากจึงต้องพลัดถิ่นเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพในไทย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถขอทำเอกสารทางการกับฝั่งเมียนมาได้ ด้วยเหตุจากความล่าช้าของเจ้าหน้าที่ หรือจากมาตรการรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา เช่น การบังคับโอนเงินกลับเข้าธนาคารที่กองทัพรับรองถึงเดือนละ 25% จากรายได้ เป็นต้น

นี่เป็นอุปสรรคขนาดใหญ่สำหรับแรงงานที่ต้องการทำงานในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยากใช้ชีวิตหลบซ่อน แต่กระบวนการที่ซ้ำซ้อนยุ่งยากจะผลักให้ผู้สุจริตกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายและสร้างปัญหาให้กับทุกฝ่าย แทนที่จะสร้างผลิตผลให้กับเศรษฐกิจไทย

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา คนธรรมดาได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหารทั้งด้วยสันติวิธีและการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศ Civil Disobedience Movement หรือ CDM จนต่อมาเกิดรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน People's Defense Force หรือ PDF ขึ้นมาเพื่อยกระดับการต่อต้านพวกของมิน อ่อง หล่าย ที่จับกุมนักโทษการเมืองกว่า 26,994 คน ใช้อาวุธปืนไปจนถึงการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ เข่นฆ่าประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 5,358 คน และก่อให้ต้องมีผู้ลี้ภัยอีกนับไม่ถ้วน

ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเรียกร้องกับรัฐบาลไทย

1. ให้รัฐบาลไทยรับรองการใช้ “บัตรชมพู” (Work Permit) เป็นเอกสารหลักเพียงชิ้นเดียว 
สำหรับรับรองแรงงานข้ามชาติในไทย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการการรับรองสถานะบุคคลหรือ CI (Certificate of Identity) กับทางการเมียนมาอย่างซ้ำซ้อน

2. ให้รัฐบาลไทยสนับสนุนประธานอาเซียนในการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามชายแดนเมียนมาทั้งหมด โดยให้กำหนดเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นกลางและปราศจากปฏิบัติการทางทหาร (Humanitarian Corridor) รวมถึงจัดหาสถานที่พักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่นด้วย 

3. ให้รัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลพลัดถิ่น National Unity Government of Myanmar หรือ NUG และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในการช่วยเหลือภารกิจด้านมนุษยธรรม

ทำกินโดยสุจริตต้องไม่ผิดกฎหมาย
- Bright Future
7 กรกฎาคม 2024

แถลงการณ์ของ Bright Future

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net