Skip to main content
sharethis
  • การที่หลายประเทศประกาศมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อพยายามลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารสายการบินทั่วโลกลดลงถึง 60%, คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางบนภาคพื้นดินลงมากกว่า 50% และการที่การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์
  • แม้ทั่วโลกจะเผชิญปัญหาภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด แต่ธุรกิจพลังงานสะอาดยังเติบโตได้ดี จากมาตรการสนับสนุนของหลายประเทศ มีตัวเลขเผยว่าธุรกิจด้านพลังงานสะอาดมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 11.5 ล้านคนในปี 2563 
  • แม้สิ่งแวดล้อมดูเหมือนว่าจะได้พักและฟื้นฟู จากการที่ไม่ถูกมนุษย์เข้าไปรบกวน  แต่ภาวะเศรษฐกิจผลักดันให้ตัวเลขอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น  มีตัวเลขบ่งชี้ว่าในช่วง โควิด-19 ระบาดรุนแรง มีป่าเขตร้อนทั่วโลกที่ถูกทำลายกินพื้นที่ราว 9,583 ตารางกิโลเมตร สูงกว่าตัวเลขเดิมอยู่ที่ 4,732 ตารางกิโลเมตรถึงเท่าตัว
  • ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อ เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดที่สุดในยุคโควิด-19 พบว่ามีตัวเลขขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากจากเดิมถึง 8 ล้านตัน ทั่วโลกในช่วงเพียง 18 เดือนแรก และมีพลาสติกอย่างน้อย 25,900  ตัน เล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร รวมถึงขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว

 

การมาของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่ไม่เคยมีมาก่อน การแพร่ระบาดถูกยกให้เป็นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ของโลก ที่ส่งผลกระทบไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ซึ่งขยายวงกว้างไปทั่วโลก แม้ปัจจุบันโลกเริ่มจะถอยห่างออกจาก “ยุคโควิด”  กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นทุกที แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดต่างๆ เหล่านั้น ยังดำรงอยู่เป็นปัญหาให้ทั่วโลกต้องแก้ไขต่อไป

“สิ่งแวดล้อม” ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกมองในแง่มุมด้านดีท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาด จากภาพธรรมชาติที่ถูกฟื้นฟู ซึ่งถูกถ่ายทอดมาตามหน้าสื่อในระหว่างที่มนุษย์หลายล้านคนต้องติดอยู่ภายในบ้านจากมาตรการล็อคดาวน์ ในประเด็นสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมากมาย ทั้งสิ่งที่เป็นผลดีและเป็นปัญหา

‘เมื่อมนุษย์หยุดเคลื่อนไหว’ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ผลดีต่อปัญหา Climate change 

มีงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจาก Google และ Apple ติดตามการเดินทางของผู้คน พบว่าในเดือน เม.ย. 2563 คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางลงมากกว่า 50% | ที่มาภาพประกอบ: Anthony Quintano (CC BY 2.0)

โควิด-19 ถูกค้นพบในช่วงปลายปี 2562 เพียงไม่กี่เดือนต่อมา ราวเดือน ก.ค. 2563 มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในมากกว่า 188 ประเทศทั่วโลก ประเทศส่วนใหญ่ในโลกประกาศล็อคดาวน์ให้ผู้คนในที่พักอาศัย งดกิจกรรมการรวมกลุ่มต่างๆ ลดการเดินทาง เพื่อพยายามลดการแพร่ระบาดของไวรัส จนมีคำพูดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่คือ “Anthropause” คำว่า Anthro มาจากภาษากรีกที่แปลว่ามนุษย์ กับ pause ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าหยุด ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์หยุดทำกิจกรรม เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่มนุษยชาติบริโภคสิ่งต่างๆ น้อยลง

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ “ICAO” ได้เปิดเผยตัวเลขว่าปี 2020 มีผู้โดยสารสายการบินทั่วโลกลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับก่อนมีโควิด คือปี 2562 คิดเป็นตัวเลขผู้โดยสาร 2,703 ล้านคนที่หายไป มูลค่าความเสียหายราว 3.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ต่อมาในปี 2564-2565 สถานการณ์จะดีขึ้น เริ่มมีตัวเลขผู้โดยสารสายการบินมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สูงเท่ากับตัวเลขก่อนที่มีการแพร่ระบาด

เพียงช่วงปลายปี 2563 ก็มีการสำรวจพบว่ามีราว 48 สายการบินจากทั่วโลกที่ปิดตัวลง ในสหรัฐอเมริกาสายการบินเอกชนได้ทำการเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐบาล รวมเป็นเงินราว 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมาตรล็อคดาวน์ของภาครัฐบาล

นอกจากการบินแล้วการเดินทางอื่นๆ ยังลดลง งานวิจัยที่ใช้ข้อมูลจาก Google และ Apple ติดตามการเดินทางของผู้คน พบว่าในเดือน เม.ย. 2563 คนราวครึ่งหนึ่งของโลกลดการเดินทางลงมากกว่า 50% และยังมีภาคอุตสาหกรรมที่ลดกิจกรรมการผลิตลง แม้ภาคครัวเรือนจะมีตัวเลขการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น จากที่ผู้คนต้องอยู่กันแต่ในที่พักอาศัย แต่ก็เป็นตัวเลขเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพลังงานที่ลดลงจากการคมนาคมและอุตสาหกรรม

หากพิจารณาตัวเลขสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแยกเป็นรายภาคส่วน จะพบว่าการคมนาคม อุตสาหกรรม และพลังงาน มีสัดส่วนสูงราว 70% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของโลก การที่คนจำนวนหลายล้านถูกล็อคดาวน์อยู่กับบ้าน การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเป็นประวัติการณ์ราว 7-20% ตามแต่ละแหล่งรายงาน มีการคำนวณว่าการลดลงของก๊าซเรือนกระจกในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นขึ้น 0.01-0.005 องศาเซลเซียส หากทั่วโลกร่วมมือกันลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับช่วงล็อคดาวน์ไปต่อ จะสามารถบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement)  ที่นานาชาติลงนามเพื่อร่วมมือกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยตั้งเป้าไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกินเฉลี่ย 1.5 องศาภายในปี 2573

โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นผู้นำการใช้ถ่านหินรายใหญ่ของโลก มีประกาศมาตรการล็อคดาวน์อย่างยาวนานและเข้มข้น ทำให้จีนลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 50% ทั้งยังมีการประมาณว่าการลดลงของมลพิษทางอากาศในจีนเฉพาะช่วง 2 เดือนแรกที่มีการล็อคดาวน์ จะสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ราว 77,000 คน

ในหลายเมือง อย่างปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ มีการตรวจพบว่าน้ำในเมืองเหล่านั้นมีมลพิษน้อยลง สาเหตุจากที่มลพิษทางอากาศที่ดีขึ้น มีสารอย่างไนไตรเจน ซัลเฟอร์ หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เจือปนในอากาศน้อยลง ซึ่งเหล่านี้เป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะฝนเป็นกรดตกลงสูงแหล่งน้ำของเมือง

พลังงานสะอาดเติบโตในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ถึงการแพร่ระบาดจะตามมาด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจ ส่งผลเป็นลูกโซ่กระจายไปทั่วทุกภาคส่วน รวมถึงธุรกิจพลังงานสะอาด ที่ทำให้ราคาวัสดุที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามีราคาพุ่งสูงขึ้น จนในช่วงต้นของการแพร่ระบาด หลายคนคาดการณ์ว่าการเติบโตของธุรกิจพลังงานสะอาดจะต้องชะลอตัวลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ด้วยมาตรการอุดหนุนของนานาชาติ และกระแสการเติบโตเดิมที่มีสูงอยู่แล้ว ทำให้ธุรกิจพลังงานสะอาดยังคงเติบโตสูงขึ้นทุกๆ ปี สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจภาพรวม

หลังการแพร่ะบาดไม่กี่เดือน คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้อนุมัติแผนสนับสนุนฟื้นฟูชาติสมาชิกจากพิษโควิด-19 ในด้านต่างๆ เป็นเงิน 7.5 แสนล้านยูโร “Next Generation EU,” โดยมีส่วนที่เป็นเงินกู้ให้กับกิจการที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดโดยเฉพาะ ถึง 9.1 หมื่นล้านยูโร รวมไปถึงนโยบายด้านพลังงานหลังการเกิดโควิด-19  ของหลายประเทศอย่าง อังกฤษ จีน สหรัฐ ที่หันมาเน้นการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้ 2563 การเติบโตของพลังงานสะอาดไม่ได้ชะลอตัวตามที่เคยถูกคาดการณ์

องค์กรที่ผลักดันด้านพลังงานสะอาดอย่าง “International Renewable Energy Agency” (IRENA) และ “องค์การแรงงานระหว่างประเทศ” (ILO) ออกมาแถลงร่วมกันว่า ท่ามกลางความถดถอยทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด แต่กลับพบว่าธุรกิจด้านพลังงานสะอาดกลับมีการจ้างเพิ่ม ถึง 11.5 ล้านคน ในปี 2563 จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านๆ มาก่อนหน้านี้

ส่งผลให้ต่อมาในปี 2564 กลายเป็นปีที่พลังงานสะอาดเติบโตสูงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยที่หลายคนมองว่าเนื่องจากพลังงานสะอาดเป็นกระแสของโลก ที่จะมาแทนพลังงานรูปแบบเก่า พลังงานจากลม และแสงอาทิตย์มีต้นทุนราคาที่ต่ำลงต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปี แม้การแพร่ระบาดจะทำให้ราคาวัสดุสูงขึ้น แต่ต้นทุนโดยรวมของพลังงานสะอาดก็ยังถูกกว่าพลังงานแบบเก่า ดึงดูดให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

สัตว์และผืนป่าได้ฟื้นฟู แต่ภาวะเศรษฐกิจผลักให้เกิดอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม

ในช่วงโควิด-19 ภาพธรรมชาติที่ถูกฟื้นฟู สัตว์ป่ากลับมาปรากฎตัว ถูกถ่ายทอดมาตามหน้าสื่อในระหว่างที่มนุษย์หลายล้านคน ต้องติดอยู่ภายในบ้านจากมาตรการล็อคดาวน์ | ที่มาภาพ: Thai National Parks

ภาพผืนป่าฟื้นสีเขียวคืนสภาพ สัตว์ป่ากลับมาปรากฎตัว ระบบนิเวศน์ถูกฟื้นฟู เนื่องจากไม่มีกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปรบกวน สิ่งเหล่านี้ถูกเสนอผ่านสื่อในช่วงขณะเกิดการแพร่ระบาด ถูกยกให้เป็นแง่มุมที่ดีท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 แต่ในทางกลับกันพบว่าภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ได้บีบให้มีคนต้องตัดไม้และล่าสัตว์ผิดกฎหมายมากขึ้น

ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายชีวภาพสัตว์ทางทะเล เนื่องจากการทำประมงเกินขีดจำกัด เป็นปัญหาที่นานาชาติให้ความใส่ใจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีโอกาสนำมาสู่การล่มสลายของระบบนิเวศน์ที่ใหญ่ที่สุด และเสี่ยงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนหลายล้านคน จนมีผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด มากกว่าปัญหาอื่นๆ แม้แต่ภาวะโลกร้อนเสียอีก

นักวิจัยจากสถาบัน GEOMAR Helmholtz ในเยอรมนีคาดการณ์ว่า ปลาหลายร้อยสายพันธุ์ในยุโรปมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ร้านอาหารมากมายต้องปิดจากมาตรการภาครัฐ จนปริมาณความต้องการอาหารทะเลตกต่ำลง ส่งผลให้การทำประมงในยุโรปมีจำนวนลดน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง

ยังมีสัตว์สายพันธ์ุต่างๆ มากมาย ที่พบว่าได้รับการปกป้องสายพันธุ์ในช่วงการแพร่ระบาด อย่างเช่นพบเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนชายหาดมากขึ้นจากทั่วโลก เนื่องจากไม่ถูกการท่องเที่ยวมารบกวน หรือในสหรัฐฯ มีข้อมูลพบว่ามีสัตว์ป่าอย่างกวาง หมี สิงโตภูเขา ที่ถูกรถชนตายบนท้องถนนลดลง ถึง 58% ในช่วงเดือนมี.ค. และ เม.ย. ปี 2563 

แต่ในแอฟริกาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้สัตว์ป่าต้องอยู่ในความเสี่ยง Nature Conservancy องค์กรด้านการอนุรักษ์พบว่า มีการล่าสัตว์ป่า ทั้งเพื่อมาบริโภคเองในชุมชน และเพื่อนำชิ้นส่วนมีค่าอย่างนอแรด งาช้าง ไปขาย เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคนในพื้นที่ชนบทขาดแคลนรายได้

แรงผลักทางเศรษฐกิจเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้หลายคนต้องทำอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม อย่างการรับจ้างลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในป่าเขตร้อน ข้อมูลจาก Global Land Analysis & Discovery (GLAD) ระบุว่าในช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่โควิด-19 ระบาดรุนแรง มีป่าเขตร้อนทั่วโลกถูกทำลายกินพื้นที่ราว 9,583 ตารางกิโลเมตร สูงกว่าช่วงเดือน เม.ย. 2562 ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 4,732 ตารางกิโลเมตรถึงเท่าตัว และในประเทศบราซิลมีภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่ามีการทำลายป่าอเมซอนเพิ่มขึ้นถึง 50% ในปี 2563

พลาสติกและขยะติดเชื้อ ภาพชัดเจนของปัญหาสิ่งแวดล้อมยุคหลังโควิด-19

ขยะติดเชื้อ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระหว่างการระบาดของโควิด-19 | ที่มาภาพ: Ivan Radic (CC BY 2.0)

ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มถอยออกห่างจากยุคของ โควิด-19 มากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ โควิด-19 จะอยู่กับโลกเรามาเพียงไม่ถึง 3 ปี แต่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราหลายอย่างไปตลอดกาล พฤติกรรมการบริโภคอย่างหนึ่งที่เพิ่มสูง คือ E-commerce หรือการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้หรืออาหารการกิน ในช่วงล็อคดาวน์ที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ ตลาดการซื้อขายสินค้าออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดขึ้นมาก สหรัฐฯ ในปี 2563-2564 มีการประเมินออกมาว่าตลาด E-commerce เติบโตขึ้นถึง 55% ด้วยกัน และทั่วโลกเติบโตขึ้นราว 17-26% ถึงช่วงเวลาการแพร่ระบาดจะผ่านไปแต่ตัวเลขการเติบโตยังเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดกาล

ขยะพลาสติกและขยะติดเชื้อ จึงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดที่สุดในยุคโควิด-19 ในช่วง 18 เดือนแรกของการแพร่ระบาด มีการศึกษาพบมีตัวขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 8 ล้านต้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย และมีพลาสติกอย่างน้อย 25,900 ตัน เล็ดลอดลงสู่มหาสมุทร ถือเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศน์ทางทะเลครั้งใหญ่ เป็นอันตรายต่อสัตว์มากกว่า 700 สายพันธุ์ ซ้ำเติมปัญหาขยะในมหาสมุทรที่มีอยู่แล้ว

นอกจากขยะพลาสติกจากการบริโภคทั่วไปแล้ว ยังมีขยะจากการใช้ทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่าขยะติดเชื้อ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากศึกษาของ MIT ประเมินว่าช่วง 6 เดือนแรกของการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ มีการสร้างขยะติดเชื้อ จากการใช้ทางการแพทย์วันละ 7,200 ตัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาบอกว่าโควิด-19 ทำให้มีขยะจากระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และชุด PPE 

นอกจากนั้นรายงานของ WHO ในปี 2564 คำนวณว่าวัคซีนป้องกันโควิดราว 8,000 ล้านโดสทั่วโลก ทำให้เกิดขยะ 144,000 ตัน ชุดตรวจหาเชื้อ 140 ชิ้นทั่วโลกสร้างขยะพลาสติก 2,600 ต้น และน้ำยาตรวจการติดเชื้อ  731,000 ลิตร โดยปัญหาหลักคือการที่ขยะติดเชื้อเหล่านี้ไม่ถูกจัดการอย่างถูกวิธี แม้แต่ในโรงพยาบาลของประเทศกำลังพัฒนาก็มักจะไม่มีระบบจัดการที่ดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าประเทศไทย มีปริมาณขยะติดเชื้อจากการใช้ทางการแพทย์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 61.3 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงปกติที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 (ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมปริมาณขยะติดเชื้อที่มาจากผู้ป่วยทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) จะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อในปี 2564 น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในไทย

ถึงจะมีข้อสรุปออกมาแล้วว่าโควิด-19 ทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน มีรายงานของ United Nations Environment Programme ที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจรีไซเคิลขยะทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหา อย่างในสหรัฐฯ กว่า 34% ต้องปิดตัวลง ในประเทศแถบเอเชียอย่าง มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย มีธุรกิจด้านการจัดขยะเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ยังดำเนินธุรกิจต่อได้หลังจากการถูกผลกระทบจากมาตรการรับมือการแพร่ะระบาดของภาครัฐไม่ต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ


ที่มาข้อมูล :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net