ตัวแทนผู้นำสูงสุดอิหร่านเชื่อ ฝนตกน้อยลง เพราะผู้หญิงไม่สวมฮิญาบ

ตัวแทนของผู้นำสูงสุดอิหร่านในเมืองคาราจ ระบุว่าสาเหตุที่อิหร่านฝนตกน้อยลง เพราะผู้หญิงไม่สวมฮิญาบ พร้อมขอให้ทางการช่วยตักเตือนและสั่งปิดร้านค้าที่ยังให้บริการแก่ผู้หญิงไม่สวมฮิญาบ อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งในอิหร่านดูเหมือนจะมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลเสียมากกว่า 

คำพูดที่ว่าอิหร่านฝนตกน้อยลง เพราะผู้หญิงไม่ใส่ฮิญาบ สำนักข่าว Iran International รายงานเมื่อ 13 ม.ค. 2566 ว่ามาจากปากของ โมฮัมหมัด-เมห์ดี ฮอสเซนี่ ฮาเมดานี อิหม่ามละหมาดวันศุกร์ และตัวแทนของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านประจำเมืองคาราจ 

เขาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยตักเตือน "สถาบัน ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา และอื่นๆ" ให้หยุดบริการแก่ผู้หญิงที่ไม่สวมฮิญาบ หากร้านค้ายังคงดึงดันให้บริการอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ไม้แข็งด้วยการสั่งปิดกิจการ  เขาระบุว่าการเห็นผู้หญิงไม่สวมฮิญาบเข้าไปใช้บริการร้านค้า เป็นสิ่ง "จินตนาการถึงไม่ได้เลย เวลาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิสลาม" 

โมฮัมหมัด-เมห์ดี ฮอสเซนี่ ฮาเมดานี ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังผู้หญิงไม่สวมใส่ฮิญาบมากขึ้นในอิหร่าน นับตั้งแต่ ก.ย. 2565 การไม่สวมฮิญาบเป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิหร่าน หลัง มาห์ซา อามินีเสียชีวิตระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจศาสนา เนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบการแต่งกายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในอิหร่าน เชื่อมโยงพิธีกรรมศาสนาอิสลามกับภัยแล้งและภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำสาธารณรัฐอิสลามพยายามเสนอให้ใช้พิธีกรรมทางศาสนาในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศ หรือไม่ก็เชื่อมโยงพฤติกรรมบางอย่างกับเหตุอาเพศอยู่บ่อยๆ 

ตัวอย่างเช่น อาหมัด อัลอามอลโฮดา นักเผยแผ่ศาสนา และนักปลุกระดมอาวุโส ที่เป็นพ่อตาของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้ประชาชนสวดภาวนาขอฝน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงขึ้นทุกขณะ

มูฮัมหมัด จาฟาร์ มอนทาเซรี อัยการสูงสุดของอิหร่านก็เคยพยายามอธิบายชี้แจงในปี 2562 ว่า "ระบบตุลาการไม่อนุญาตให้ผู้หญิงถอดฮิญาบในที่สาธารณะ เพราะมันก่อให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและแผ่นดินไหวภายในประเทศ" 
 
ยูเซฟ ทาบาทาไบ เนจาด ตัวแทนของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ประจำเมืองอิสฟาฮาน เคยระบุในปี 2559 ว่าผู้หญิงไม่สวมฮิญาบ และถ่ายภาพ "เหมือนพวกยุโรป" เป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำซายันเดรุดเหือดแห้ง และเสริมว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป แหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้ก็จะเหือดแห้งตามไปด้วย

แม้มีคำอธิบายเช่นนี้ออกมาเป็นระยะ แต่ดูเหมือนว่าภัยแล้งในอิหร่านจะมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น การสร้างเขื่อนที่ไม่จำเป็น การลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำสูง และปัญหาเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองในการจัดสรรทรัพยากรน้ำเสียมากกว่า 

ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

ในรายงานเมื่อวันปีใหม่ (1 ม.ค. 2566) ของสำนักข่าว Iran International ระบุว่าเมืองกว่า 270 แห่งในอิหร่าน กำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนหลายแห่งในอิหร่านลดน้อยลงอย่างมากจนขณะนี้ถึงขีดอันตราย 

อาทาบัก จาฟารี ซีอีโอของบริษัท Iran Water and Waste Water ออกประกาศในวันต้อนรับปีใหม่ว่า ราคาน้ำจะมีการปรับตัวสูงขึ้น เขาชี้แจงว่าน้ำแพงขึ้น "ไม่ใช่เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล แต่เป็นการปรับเปลี่ยนแบบแผนพฤติกรรมการบริโภคให้ถูกต้อง"

เขาระบุอีกว่าสาเหตุที่อ่างเก็บน้ำของเมืองต่างๆ ใกล้แห้งขอด เป็นเพราะปัญหาภัยแล้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นและทางการอิหร่านระบุว่าขณะนี้อ่างสำรองในอิหร่านมีปริมาณน้ำน้อยเป็นประวัติการณ์ และอาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำทั่วประเทศในอีกไม่นาน

สื่อในอิหร่านรายงานในช่วงปลายปีอีกว่าน้ำในเขื่อนที่สำคัญ 10 แห่ง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของช่วงหลายปีก่อนหน้า พบว่ามีปริมาณลดลงตั้งแต่ 25 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่รวมว่าระดับปริมาณการฝนตกยังต่ำมากในหลายจังหวัด ขณะที่อิหร่านกำลังอยู่ในฤดูหนาว

ตัวเลขอย่างเป็นทางการล่าสุดของบริษัท Iran Water Resources Management ระบุว่าอิหร่านมีปริมาณสำรองน้ำอยู่ที่ประมาณ 18 พันล้านลูกบาศก์เมตร และโดยเฉลี่ยแล้วเขื่อนทั้งหมดของประเทศมีพื้นที่ว่างรับน้ำอยู่กว่า 63 เปอร์เซ็นต์ 

สาเหตุปัญหาภัยแล้งในอิหร่าน

รายงานหนึ่งของสำนักข่าว Fararu ในปี 2564 ระบุว่าสาเหตุหลักของปัญหาภัยแล้งในอิหร่านมาจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะกับอิหร่าน แต่ยังก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในซีเรีย อิรัก และซาอุดีอาราเบีย ด้วย ในกรณีของอิรัก พบว่าภาวะขาดแคลนน้ำส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงกว่าครึ่ง

นอกจากภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำในอิหร่านยังมาจากปัจจัยมนุษย์ ได้แก่ การเติบโตของประชากร และความต้องการน้ำของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่รัฐบาลก็บริหารจัดการผิดพลาดจากการใช้น้ำจำนวนมากไปกับอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 อิหร่านเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ากว่า 30 ล้านตัน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก โรงงานผลิตเหล็กของอิหร่านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศ เช่น จังหวัดอิสฟาฮาน อารัก ยาซด์ และเคอร์แมน ขณะที่การผลิตเหล็ก 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำกว่า 700 ลิตร 

สื่อของอิหร่านวิจารณ์ว่า "กลุ่มทางสังคมที่เป็นผู้ได้ประโยชน์รายใหญ่จากการผลิตและส่งออกเหล็กของอิหร่าน" นั้นหากพิจารณาไตร่ตรองดูแล้วจะพบว่า "ปกติแล้วไม่ใช่ประชาชนทั่วไปตามท้องถนน" นอกจากอุตสาหกรรมเหล็กยังพบการลงทุนในพืชเกษตรกรรมที่ใช้น้ำสูง เช่น การปลูกข้าวและอ้อยด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีสุดโต่งคงหนีไม่พ้นการปลูกแอปเปิล ซึ่งต้องใช้น้ำกว่า 125 ลิตรในการผลิตแอปเปิ้ล 1 ผล ในจังหวัดอาเซอร์ไบจานตะวันตกพบแอปเปิ้ลเน่าทิ้งในปี 2564 กว่า 1 แสนตัน จากผลิตผลทั้งหมด 1 ล้านตัน เพราะขาดความต้องการในตลาด ขณะที่ทะเลสาบอูร์เมียได้รับผลกระท น้ำลดเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

แปลและเรียบเรียงจาก
Iran Imam Says Less Rain Result Of Women Without Hijab
270 Cities In Iran Facing Critical
Water Shortage: Official

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท