Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทยน่าจะถูกถามเป็นร้อยๆ ครั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง ว่าจะจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

แม้พรรคเพื่อไทยยืนยันยังไม่จับมือกับใคร ขอแลนด์สไลด์ก่อน แต่จะไม่วายถูกถามไปเรื่อยๆ

ทำไมสื่อหรือนักวิเคราะห์ทั้งหลายจึงมองว่า พท.จะจับมือ พปชร. ตอบอย่างตื้นคือ สื่อเชื่อว่าทักษิณ-พจมาน มีความสัมพันธ์อันดีกับ “ป้อม เกาะโต๊ะ” ต่อสายต่อท่อเคลียร์เรื่องต่างๆ แม้เคลียร์ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าเพื่อไทยหวังเป็นรัฐบาล นอกจากชนะเลือกตั้ง ยังต้องพึ่งป้อมซึ่งกุม 250 ส.ว. “คนละครึ่ง” กับตู่

ขณะเดียวกัน คนของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าธรรมนัส สามมิตร สมศักดิ์ สุริยะ สันติ วิรัช ก็ล้วนเคยอยู่กับทักษิณมาก่อน โดยเฉพาะธรรมนัส สื่อเชื่อว่าไปเจรจาดูไบถึงขั้นเกือบย้ายกลับเพื่อไทยแล้วด้วยซ้ำ ถ้าไม่ช้ำเพราะ “แป้ง”

มองให้ลึกลงหน่อย พลังประชารัฐคือพรรคเฉพาะกาล ที่จะลงเลือกตั้งอีกสมัยเดียว ประวิตรอายุเท่าไหร่แล้ว สมัยหน้าถ้า ส.ส.ไม่ย้ายกลับเพื่อไทย ก็แตกกระสานซ่านเซ็นไม่เป็นคู่แข่ง

เทียบภูมิใจไทยยิ่งเห็นชัด พรรคบุรีรัมย์โมเดลเป็นคู่แข่งที่อันตรายกว่าในระยะยาว หรือถ้าเอาระยะสั้น ใครจะร่วมรัฐบาลกับภูมิใจไทย ก็ต้องยอมให้ศักดิ์สยามกลับมาคุมคมนาคม สานต่อหัวลำโพงคอมเพล็กซ์ เพื่อไทยยอมหรือ

สำหรับเพื่อไทย พลังประชารัฐจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าภูมิใจไทย โดยไม่ต้องนับความแค้นจากโดนดูด หรือความแค้นจากอดีต “มันจบแล้วครับนาย” แตกพรรคไปกอดอภิสิทธิ์ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองถึงเหตุผลที่แท้จริง ก็เข้าใจได้ว่า ต่อให้เพื่อไทยแลนด์สไลด์มโหฬาร ต่อให้ 19 ล้านเสียง 377 ส.ส. ก็ต้องเจรจาต่อรองกับขั้วอำนาจอนุรักษ์ ขอ “ไฟเขียว” เป็นรัฐบาล เพราะภายใต้โครงสร้างอำนาจปัจจุบัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 อำนาจจากเลือกตั้งมีน้อยนิด น้อยกว่ายุครัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเลือกตั้ง 54 ชนะถล่มทลายยังถูกโค่น

เลือกตั้ง 66 ต่อให้แลนด์สไลด์ ก็ยังเป็นแค่ฐานเจรจาต่อรอง ประนีประนอม ขอโอกาสเป็นรัฐบาล ซึ่งหากจะสร้างความไว้วางใจให้อำนาจอนุรักษ์ ก็อาจต้องอาศัยประวิตรเป็นตัวกลาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

นี่ไม่ใช่แค่จับมือป้อมเพื่อแบ่งโควตา 250 ส.ว. เพราะประเด็นสำคัญกว่า ส.ว.แยกข้าง คือถ้าอำนาจอนุรักษ์ไฟเขียว 250 ส.ว.ก็พร้อมขวาหันตามใบสั่ง

ในทางกลับกันนี่ก็เป็นสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถประกาศว่า จะจับมือร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน ทั้งที่โดยสปิริตทางการเมือง ควรประกาศเช่นนั้น

โดยสปิริตทางการเมือง พรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้งแข่งกับพรรครัฐบาล มักจะประกาศเลือกร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านก่อน เว้นแต่หลังเลือกตั้ง ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องนโยบายหรือแบ่งกระทรวง จำเป็นต้องทางใครทางมัน

การเลือกตั้งครั้งนี้ยิ่งกว่าฝ่ายค้าน Vs ฝ่ายรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะฝ่ายค้านถือว่าตัวเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ต่อสู้กับฝ่ายรัฐประหารสืบทอดอำนาจ

ถ้าเช่นนั้น ทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเพื่อไทย จึงไม่ประกาศว่าจะเลือกร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันก่อน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล

คนอาจมองหลายสาเหตุ เป็นคู่ขัดแย้ง แย่งฐานมวลชน จนวิวาทะกันบ่อยๆ แต่ลึกลงไปประเด็นสำคัญน่าจะเป็นเพราะเพื่อไทยกลัว “ใบสั่ง” ไม่ให้เอาพรรคแก้ 112 ร่วมรัฐบาล

พูดอย่างเข้าใจคือ ในด้านหนึ่ง เพื่อไทยมีทั้งความไม่พร้อม มีจุดอ่อนบาดแผล ที่ไม่สามารถปะทะหักหาญ ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อไทยก็เป็นพรรค Mass มองว่าประชาชนวงกว้างต้องการสังคมสงบ แก้ปัญหาปากท้อง ไม่อยากให้รบรากัน

ในด้านหนึ่ง นักการเมืองเพื่อไทยก็กระหายที่จะเป็นรัฐบาลจนพร้อมทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือดึงผู้สมัครบ้านใหญ่จากขั้วตรงข้ามโดยไม่คำนึงถึงจุดยืน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปีกก้าวหน้าในพรรคเพื่อไทยก็มองว่า ในระยะสั้นไม่สามารถปะทะชนอำนาจอนุรักษ์ในเชิงโครงสร้าง มีแต่ต้องเจรจาประนีประนอมขอเป็นรัฐบาล ชี้ให้เห็นว่าการผูกติดกับประยุทธ์มีแต่ทำให้เสื่อมลง โน้มน้าวให้ Compromise โดยเพื่อไทยก็มุ่งหวังจะขอนิรโทษกรรมให้แกนนำคนรุ่นใหม่

ในขณะที่พรรคก้าวไกลรู้ว่าไม่ชนะ แต่นี่คือโอกาสแสดงพลังคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน

ความขัดแย้งแตกต่างระหว่าง 2 พรรค เป็นธรรมชาติของขบวนประชาธิปไตยที่ต้องมีแถวหน้าแหลมคม มีทัพใหญ่ที่ต้องประนีประนอมกับคนหลากหลาย แต่น่าเศร้าใจว่าเงื่อนไขของการเลือกตั้งและแรงกดดันของอำนาจอาจนำไปสู่ความแตกร้าวผกผัน

ลองนึกภาพเพื่อไทยเป็นรัฐบาลกับพลังประชารัฐ แล้วประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านกับก้าวไกล คงดูไม่จืด

อะไรจะเกิดก็ว่ากันไปทีละขั้น กระนั้นในเบื้องต้น มวลชนประชาธิปไตยควรเรียกร้องกดดันให้ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ ประกาศร่วมรัฐบาลกันไว้ก่อน แม้ไม่ถึงกับให้สัตยาบัน ก็ควรมีสัญญาประชาคมว่าจะเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเป็นอันดับแรก เว้นแต่หลังเลือกตั้งเงื่อนไขไม่ลงตัวค่อยแยกทาง

ถ้าไม่มีสปิริตร่วมกัน จะเรียกว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้สื่อถามอยู่ตลอดว่าจะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐไหม ก็อาจกลายเป็นดาบย้อนในสนามเลือกตั้ง

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7467728

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net